Skip to main content
sharethis
'ธีรภาพ โลหิตกุล' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ขอคนเห็นคุณค่า 'หมุดคณะราษฎร' เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ไม่ทำผิดซ้ำรอย ชี้ไม่ใช่ถอดเพื่อรักษาแต่จงใจเปลี่ยนเพื่อล้างความทรงจำยุคเปลี่ยนแปลงปกครอง 2475 ด้านนักวิชาการประวัติศาสตร์เผยการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรยิ่งกระตุ้นสังคมรู้จัก หลังไร้คนสนใจมานาน
 
15 เม.ย. 2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวถึงกรณีที่มีการถอดหมุดคณะราษฎร ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ออกและแทนที่โดยหมุดใหม่ ซึ่งมีความหมายปลุกใจให้ประชาชนร่วมเป็นพลังของแผ่นดิน ว่า ถือเป็นสิ่งที่น่าเสียดายกับการกระทำที่เกิดขึ้น เนื่องจากหมุดคณะราษฎรนั้น มีความสำคัญและเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยุคการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ เมื่อ ปี2475 และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตนมองว่าเป็นการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสร้างความเสียหายเป็นอย่างยิ่ง 
 
ทั้งนี้ตนไม่คิดว่าการนำหมุดคณะราษฎรออกไปนั้นจะเป็นการนำออกไปเพื่อเก็บรักษา เนื่องจากวิธีรักษาสมบัติของชาติชิ้นสำคัญที่ผ่านมา เช่น พระรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้นำของจริงเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ และสร้างแบบจำลองตั้งไว้ที่ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น อีกทั้งยังพบว่าหมุดใหม่ที่นำมาปักแทนที่ได้เปลี่ยนข้อความและเปลี่ยนเนื้อหาของหมุดไปแล้ว ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นตนมองว่าเป็นความจงใจเปลี่ยน โดยมีนัยของการเปลี่ยนหมุดและข้อความนั้่น เพื่อไม่ให้มีความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรเหลืออยู่ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือจะทำให้ประชาชนออกค้นคว้า ตามหา และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับหมุดคณะราษฎร 
 
"ผมขอเรียกร้อง ว่า หลักฐานประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านบวก หรือ ด้านลบ ควรอนุรักษ์ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเรา หมุดถือเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ ที่ชัดเจนและสำคัญมาก รวมถึงมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของอนุชนรุ่นหลัง แม้แต่สถานที่ที่ประชาชนถูกสังหาร เช่น ตรวนเสลง ประเทศกัมพูชา, ค่ายกักกันนาซี ประเทศเยอรมนี ยังถูกเก็บรักษาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ดังนั้นขอให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และไม่ทำผิดซ้ำรอยประวัติศาสต์อีก" นายธีรภาพ กล่าว
 
นักวิชาการประวัติศาสตร์เผยการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรยิ่งกระตุ้นสังคมรู้จักหลังไร้คนสนใจมานาน
 
ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่า ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่า ในเบื้องต้น ควรมีการทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถือเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไข “เหตุการณ์” ได้ ขอให้คนรุ่นหลังเป็นผู้ตัดสิน ส่วนตัวของ “วัตถุ” คือ หมุดคณะราษฎรนั้น ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงควรมีคำตอบที่ดีกว่าคำว่า ไม่ทราบ
 
“ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องราวที่ผ่านพ้นไปไม่สามารถแก้ไขใดๆๆ นอกจากจะเป็นอุธาหรณ์และไม่มีคำว่า ถ้าหากไม่เกิด ทั้งนี้เพราะมันเกิดไปแล้ว ดังนั้นอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องก็ล้วนเป็นหลักฐาน ซึ่งเราไม่สามารถไปปฎิเสธมันได้ เรื่องที่ผ่านมาแล้วให้อนุชนรุ่นหลังเขาตัดสินตามหลักฐาน และไม่ควรไปปฎิเสธด้วยว่าไม่ทราบ เพราะคุณทำหน้าที่ปกป้องสมบัติชาติและเที่ยวไปจับหรือจับผิดคนที่ทำลายหลักฐานประวัติศาสตร์ อย่างน้อยควรต้องคำตอบที่ดูดีกว่านี้”
 
ผศ.ดร. รุ่งโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า ความจริงแล้ว หมุดคณะราษฎร มีลักษณะเป็น “สัญลักษณ์” อย่างมาก โดยถูกติดตั้งไว้บนพื้น ซึ่งเดิมแทบไม่มีใครรู้จักหรือให้ความสนใจมากนัก  ยิ่งเมื่อเทียบกับองค์พระบรมรูปทรงม้า ต้องถือว่าหมุดดังกล่าวแทบไร้ความหมาย แต่เมื่อมีการไปเปลี่ยนหมุด จึงกลายเป็นการให้ความสำคัญ สังคมหันมาสนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างมาก
 
“หมุดนี้มีความเป็นสัญลักษณ์มากจนทำให้มันไร้ความหมายมานาน เมื่อเทียบกับองค์พระบรมรูป เพราะแสดงสัญลักษณ์ที่สูงส่งแต่หมุดนี้กลับติดดิน และไม่มีใครสนใจ นั่งรถผ่านไปผ่านมา น้อยคนที่จะรู้ แต่การไปเปลี่ยนจึงกลายเป็นการไปให้ความสำคัญอีกครั้ง”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net