Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา Media Inside Out มีการจัดเวทีสนทนาเรื่อง"เสรีภาพสื่อ กรณีพักใบอนุญาตVOICE TV" หลังจากเหตุการณ์พักใบอนุญาตออกอากาศของ VOICE TV เป็นเวลา 7 วัน ภายในงานได้มีการพูดถึงประเด็นความผิดของ VOICE TV ที่ถูกอ้างถึง ความจำเป็นการลงโทษสื่อ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อ รวมถึงการกลับมาออกอากาศของ VOICE TV จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวอย่างไรบ้าง โดยมีผู้ร่วมสนทนา 3 คนคือ รศ. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อ อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา จากสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) และนวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวรอาวุโส

ช่วงแรกของการสนทนาได้กล่าวถึงความผิดของ VOICE TV และสาเหตุที่ทาง กสท.พักใบอนุญาตออกอากาศของ VOICE TV โดยอุบลรัตน์กล่าวว่าถือเป็นครั้งแรกของทีวีดิจิตอลที่มีการลงโทษพักใบอนุญาต ก่อนหน้านี้จะเห็นได้ว่าสื่อซึ่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐ หรือสัมปทานจากรัฐ ตามกฎหมายเดิมมักจะได้รับการยกเว้น หรือกำกับดูแลโดยหน่วยงานที่ให้สัมปทานและมักจะได้รับการผ่อนปรนเป็นพิเศษ สำหรับการพักใบอนุญาต 7วันนี้ถือว่าเป็นการลงดาบอย่างเข้มงวดและเป็นสิ่งที่สั่นสะเทือนวงการ เพราะทำให้เกิดความเสียหายในแง่ของธุรกิจ แต่ก็อาจมีสาเหตุตามที่ กสท.ชี้แจงว่าเคยลงโทษมาแล้วหลายแบบ อีกทั้งทำ MOU ไว้แล้วแต่ผิดสัญญา แต่ถ้ามองในอีกแง่มุมจะเห็นว่าสิ่งที่น่าวิตกสำหรับคนดูและคนทำทีวีคือ สิทธิเสรีภาพเสียหายอย่างรุนแรง และไม่รู้ว่าจะมีช่องอื่นโดนอีกหรือไม่

อรพิณ กล่าวเสริมว่าคำว่า “ความผิดซ้ำซาก” ตามที่ทาง กสท.ได้ชี้แจงว่าทำผิดแล้ว ผิดอีกไม่แก้ไข เพราะทำMOU ไว้แล้วเพราะฉะนั้นทางช่องควรต้องระมัดระวังให้ดีพอ ที่ผ่านมาอาจมีการแก้ไขไปแล้วแต่ปรากฏว่าอาจจะยังไม่ดีพอตามที่หน่วยงานควบคุมคาดหวัง นี่คือสิ่งที่พลโทพีรพงษ์ มานะกิจ กสทช.กล่าวเอาไว้ในวันที่เป็นข่าวว่าจะต้องพักใบอนุญาตทั้งสถานี’ สำหรับความผิดของ VOICE TV ทางพลโทพีระพงษ์ชี้แจงว่า

“อย่างเช่นเวลายกตัวอย่างก็นำมาจากนิตยสารรายสัปดาห์ซึ่งก็ทราบกันอยู่ว่าวิธีคิดต่างกัน ถ้าเป็นสื่อจริงๆ ก็ควรยกมาให้รอบด้าน หรือถ้าจะยกมาก็ต้องยกทั้งสองทาง ยกมาอย่างเดียวทำให้ไม่สมดุล ลำเอียง เราไม่มีสิทธิไม่ให้สื่อวิจารณ์แต่การวิจารณ์ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ต้องกระจาย ต้องกว้าง ซึ่งบางครั้งขึ้นอยู่ที่พิธีกร ถ้าเอาคนแนวเดียวกันมาเล่ามันก็เป็นไปในแนวเดียวกัน มันสุจริตในเวอร์ชั่นของคุณ แต่เนื้อหาที่ออกมาเป็นการด่วนสรุป การคิดเอาเอง บางเรื่องยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เช่นเรื่องเด็กชนกลุ่มน้อย คุณจะไปการันตีเกินกว่าข้อเท็จจริงไม่ได้ หรือจะไปทำตัวเป็นทนายฝ่ายค้านก็ไม่เหมาะ การเป็นสื่อไม่ควรทำตัวเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องนำเสนออย่างเป็นกลาง หรือถ้าคุณจะวิจารณ์ก็วิจารณ์ทั้งสองทางจะปลอดภัยกว่า”

อรพิณกล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าทาง คสช.เน้นไปทางรายการรูปแบบวิเคราะห์ข่าวมาก แม้ว่าวันนี้ที่ทางVOICE TV ปรับเปลี่ยนเช่นการโยกย้ายพิธีกรจาก 3 คนให้เหลือ 2 คน แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ทาง คสช.ต้องการ เมื่อได้กลับมาออกอากาศอีกครั้งทาง VOICE TV ก็เหมือนจะถอยกับรายการเชิงวิเคราะห์ข่าวไปแล้ว ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าเสียดาย

เมื่อรูปแบบรายการวิเคราะห์ข่าวถูกเพิ่งเล็ง

นวลน้อย ตั้งข้อสังเกตว่า ความผิดที่ทาง คสช.อ้างเหตุผลในการลงโทษ VOICE TVนั้นมีคีย์เวิร์ดอยู่ว่า ‘สมดุล’ ‘ไม่ลำเอียง’ ‘ข้อเท็จจริง’ ‘ความรอบด้าน’ ‘อย่าทำตัวเป็นทนายของฝ่ายค้าน’ ‘ต้องกระจายออกไป’ ‘ไม่สรุปความเกินข้อเท็จจริง’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นหลักการสำคัญของการสื่อสารมวลชน ที่คนทำงานสื่อจะต้องรู้อยู่แล้วในวันที่มีการหยิบเหตุผลเหล่านี้มาลงโทษ ประเด็นสำคัญคือลักษณะของรายการที่นำเสนอความเห็นรูปแบบวิเคราะห์ สื่อสามารถทำได้มากแค่ไหน ขอบเขตอยู่ที่ไหน พอมาถึงจุดนี้คิดว่า กสท.หรือใครก็ตามที่ดูเรื่องทิศทางการนำเสนอของสื่อสารมวลชนไม่สามารถผูกขาดเรื่องของหลักการสื่อสารมวลชนได้ ทุกๆ คนควรจะมีส่วนรวมเพราะว่าเราก็ต่างเป็นผู้เสพข่าวเหมือนกัน เชื่อว่ามีหลายช่องหลายรายการที่เป็นลักษณะวิเคราะห์ข่าว ไม่ใช่แค่ VOICE TV ดังนั้นจึงมาสู่คำถามว่า มันทำไม่ได้จริงรึเปล่า? และการนำเสนอเรื่องของความคิดเห็นทำได้รึเปล่า มีที่ยืนหรือไม่ในแง่ของนักข่าว?

อุบลรัตน์ กล่าวว่า หลังปรากฏการณ์นี้รายการวิเคราะห์ทางสื่อโทรทัศน์คงจะหมดอนาคตไป เพราะคงผิดไปจากที่ กสทช.และ คสช.อยากเห็น ถ้าดูตามประวัติศาสตร์รายการโทรทัศน์มีการวิเคราะห์น้อยมาก ไม่ค่อยมี นักวิเคราะห์ที่เก่งเหมือนในต่างประเทศ รัฐบาลไทยยังเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเป็นรัฐบาลทหารก็จะยิ่งไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์

อีกประเด็นหนึ่ง การเล่าข่าวในปัจจุบันก็เล่าเอามาจากหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว ทั้งพาดหัวข่าว เนื้อหาสาระโดยย่อ สมัยพลเอกเปรมข่าวในวิทยุก็เป็นแบบนี้เช่นกัน เป็นการเล่าข่าว เพราะฉะนั้นการนิยมรายการเล่าข่าวในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร 30-40 ปีก่อนคุณหญิงไทยขายข่าวฮิตมาก เล่าด้วยเสียงเขาเองจากหนังสือพิมพ์ แล้วก็ถูกทางการติงไปว่าเอาของคนอื่นเขามา แล้วยังทำมาเป็นสีสันก็เลยโดยสั่งว่าให้อ้างอิงแหล่งที่มาว่ามาจากฉบับไหน ไม่อย่างนั้นจะปิดรายการ พวกวิทยุจึงมีการประชุมกัน กลุ่มที่นำอยู่เป็นวิทยุทหาร ผลสรุปคือทำสรุปข่าววิเคราะห์ประมาณ 1 หน้ากระดาษแล้วก็เวียนไปตามแต่ละสถานี ซึ่งทำให้เห็นว่าความคิดเรื่องการรวมศูนย์ การพูดความจริงเพียงหนึ่งเดียว หรือรอให้เรื่องคลี่คลายก่อน มักจะวนเวียนอยู่แบบนี้ในสังคมไทย หรืออีกนัยหนึ่งการเล่าข่าวกลายเป็นการสร้างสรรค์อย่างซ้ำซากในสังคมไทย รวมถึงข่าวอาชญากรรมจะเห็นได้ว่ามีการวิเคราะห์เป็นฉากๆ และเป็นซีรี่ย์ แต่กับประเด็นการเมืองหรือเศรษฐกิจกลับไม่มีเลย กลายเป็นเรื่องที่จะแทรกอยู่ประปราย หรือต้องแอบๆ ซ่อนๆ

อรพิณ เสริมว่า ส่วนตัวมองว่าคนทำงาน VOICE TV ตกอยู่ในที่นั่งลำบากกว่าคนอื่นเพราะว่าเจ้าของก็หลังพิงอยู่กับทางครอบครัวชินวัตรอยู่แล้ว พอเกิดกรณีนี้ตัวเองจึงลองตามไปดูรายการที่ถูกพูดถึงอย่างรายการของศิโรฒม์ คล้ามไพบูลย์ ที่พูดถึงกรณีของชัยภูมิ ป่าแส ชาวลาหู่ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดกัน เป็นเนื้อหาทั่วไปที่ที่อื่นๆ ก็พูดกัน หรือในโซเชียลมีเดียก็พูดถึง จึงรู้สึกว่าทีวีช่องนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษและต้องพยายามกันตัวเองมาจากข้อครหาของการเป็นของครอบครัวชินวัตรอยู่พอสมควร

อุบลรัตน์ สำหรับประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ คำถามว่า VOICE TV แหลมคมเกินไปไหม ดังที่เห็นแล้วว่าเนื้อหาคล้ายของคนอื่น มันจึงกลับมาที่ว่ารูปแบบการวิเคราะห์นั้นไม่ถูกจริตกับสังคม คือ ใช้การโต้แย้งที่ตรงไปตรงมา ในช่วงหลัง การเล่าข่าวแล้วหยอดๆ ประเด็นวิพากษ์ก็เริ่มทำไม่ได้แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สังคมอำนาจนิยมไม่ชอบ ไม่นิยม เพราะว่าการโต้แย้งเป็นสิ่งที่จะไปทำลายความชอบธรรม ความเชื่อ หรือมายาคติถึงความจงรักภักดีต่อรัฐบาล มันคือการตั้งคำถามว่าทำแบบนี้ถูกต้องไหม แล้วมันก็เลยตีกลับมาทางสื่อว่าคุณทำแบบนี้ก็ไม่ถูกหลักการการทำสื่อไง คุณขาดจรรยาบรรณ ตีปิงปองโต้แย้งกันไปมาว่าต่างฝ่ายต่างทำไม่ถูกหลักการ แต่หลักการนั้นเป็นอุดมคติที่เราวางไว้ 1 2 3 4 5 แต่ในโลกความเป็นจริงมันมีอยู่แค่ไหน?

อรพิณ กล่าวว่า ถ้า คสช.ใช้มาตรฐานแบบเดียวกันนี้กับสื่ออื่นๆ ก็จะหาเรื่องได้เรื่อยๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะกับ VOICE TV ทั้งเรื่องเกี่ยวกับการติชมโดยชอบธรรม ความเป็นกลาง แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรทำให้ความคิดเห็นกลายเป็นของแสลงขนาดนี้ หลายๆ ครั้ง คสช.มักอ้างเรื่องข้อเท็จจริงตลอดเวลาว่า สื่อไม่นำเสนอข้อเท็จจริง ทั้งที่มันมีข้อเท็จจริงหลายแบบ ถ้าอยากให้มีข้อเท็จจริงออกมาเยอะๆ คสช.ก็ต้องไปแก้ประกาศคสช.ฉบับที่ 97 ที่ห้ามข้าราชการให้สัมภาษณ์ เวลานักข่าวทำงานมันก็ต้องมีส่วนที่ไปสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง เมื่อก่อนมันมีเปิดเผย มีให้เห็นตามเว็บไซต์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี เท่ากับว่าข้อเท็จจริงมันหายากขึ้น ดังนั้นช่องทางใหม่สำหรับการหาข้อเท็จจริงมันก็คือการโยนหินถามทาง การวิเคราะห์ ซึ่งเหล่านี้เป็นวิธีการทั่วไปของนักข่าว

นวลน้อย กล่าวว่า พูดง่ายๆ ว่ามันคือการตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การหาข้อเท็จจริง นั่นเป็นหน้าที่ของนักข่าวอย่างหนึ่ง เพราะว่านำเสนอเพียงข้อเท็จจริงอย่างเดียวที่ถูกใจคนบางฝ่ายมันก็ยังไม่พอ การโยนวิธีคิด การโยนคำถาม แย้ง ยั่วเพื่อให้เกิดนำเสนอบางอย่างออกมาเป็นเรื่องทำได้ เช่น เมื่อมีการวิสามัญฆาตกรรมสองศพที่ภาคใต้ก็มีผู้สื่อข่าวในพื้นที่ไปสัมภาษณ์ญาติว่าจริงๆ แล้วเขาตายเพราะอะไร หรือในบางกรณีญาติรู้สึกว่าการตายนั้นไม่ยุติธรรมเขาก็เดินมาหานักข่าวเอง เพื่อที่เราจะรอดูว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาว่าอย่างไร นี่เป็นวิธีการนำเสนอแบบตั้งคำถามถึงข้อเท็จจริง คำถามเหล่านี้จะมีคุณค่าก็ต้องเมื่อตกเป็นผู้ถูกกระทำ ไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม หน้าที่ของสื่ออย่างหนึ่งก็คือการให้พื้นที่กับคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียง ซึ่งกรณีของชัยภูมิก็เขากับกรณีนี้เป็นหน้าที่ของสื่อที่ละเลยไม่ได้

หลักการทำข่าว คืออะไร 

อรพิณ กล่าวว่า ในเรื่องการนำเสนอความเป็นกลาง คำว่า ไม่สมดุล ไม่เป็นกลาง เป็นคำที่ถูกเข้าใจผิดมากตามที่เรียนเขียนข่าวมาก็ไม่เคยถูกสอนว่าคำว่า สมดุลคือถ้าเอาของคนนี้มาวัดตามบรรทัดได้เท่านี้ อีกคนต้องเอามาเขียนให้เท่ากัน แต่มันอาจจะเป็นว่าในขณะที่สื่อหลักพูดไปตามกระแสหนึ่ง แล้วเราพูดเสริมในมุมที่แตกต่างกันก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนมีความสมดุล

อุบลรัตน์ กล่าวว่า เวลาทำข่าว เราต้องพยายามหาข้อมูลและคนที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด แหล่งข่าวที่เป็นรัฐมักจะได้เปรียบเสมอ แน่นอนว่ากว่า 70% มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในไทยและประเทศในอาเซียน ภาครัฐมักจะมีเสียงมีพื้นที่ในสื่ออยู่แล้ว นอกนั้นก็มีสัดส่วนลดลงมาก บางครั้งเอ็นจีโอหรือนักสิทธิมนุษยชนแทบจะไม่มีเสียง บางที่อาจจะไม่มีเลย ในกรณีรื้อป้อมมหากาฬ สื่อก็พยายามสัมภาษณ์ผู้ว่าฯ อีกฝากหนึ่งก็เป็นเสียงจากผู้นำชุมชนซึ่งก็พยายามเล่าให้ครบรวมถึงเล่ากระบวนการที่ผ่านมาให้ฟัง ผู้สื่อข่าวมีหน้าที่ที่ให้ความเป็นธรรมว่าทำไมเขาไม่ยอมย้าย มันผิดกฎหมาย มันเป็นเพราะอะไร สื่อเป็นพื้นที่ของการนำมุมมองที่เสียงดังที่สุดที่รัฐจะได้ยิน

อรพิณ เสริมว่า ตามกฎหมาย กสท.อาจจะพลาดไปเรื่องหนึ่งคือ ทาง กสท.ตั้งขึ้นมาโดยกฎหมายสองฉบับคือกฎหมายก่อตั้งองค์กรกสทช.ซึ่งระบุว่า กสท.มีหน้าที่ในเรื่องการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง กับอีกอันหนึ่งคือประกาศ คสช.ฉบับที่103 ที่บอกว่า กสท.ควรไปคุยกับองค์กรสื่อในเรื่องของการกำกับดูแลกันเองของสื่อ ถ้าเป็นไปตามกลไกนี้ก็จะช่วยให้ปกป้องเสรีภาพของสื่อได้ ซึ่งผ่านมายังไม่เคยเห็น และไม่เคยเกิดขึ้น

นวลน้อยถามว่า เมื่อพื้นที่ของข่าวการเมือง การวิเคราะห์การเมืองหายไป เหลือแต่ข่าวเล็กน้อยแทน แล้วโฉมหน้าสื่อจะเป็นอย่างไรต่อไป?

อุบลรัตน์ กล่าวว่า สื่อถูกจัดระเบียบโดยไม่รู้ตัว และถ้าแถวยังไม่ตรงก็จะถูกจัดไปเรื่อยๆ ข่าวเศรษฐกิจจะเป็นนวัตกรรม ทีวีพยายามแบ่งช่องข่าวให้เป็นเศรษฐกิจ แหล่งข่าวส่วนใหญ่ก็เป็นของรัฐ มีรูทีนของเขา การเติบโต ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ แต่ข่าวแบบแม่ค้าหาบเร่ แผงลอย กลับไม่ค่อยมี เหมือนเราอยู่สองโลก เราเดินไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่เราเห็นจากข่าว หรือถ้าเป็นนักรัฐศาสตร์จะบอกว่า เมื่อพื้นที่เปิดมันค่อยๆ หายไปมันก็จะไปโผล่ในรูปแบบของข่าวลือ หรือเฟคนิวส์แทน เป็นข่าวที่ไม่มีแหล่งข่าวที่มาชัดเจน ปรากฏตัวอยู่ในชื่ออื่นๆ หรือในโซเชียลมีเดีย ในคอมเม้นท์ที่ดุเดือดมากขึ้น เพราะคนพูดไม่ได้มีความอึดอัดกดดัน ซึ่งก็ไม่ค่อยดีเท่าไรกับบรรยากาศในสังคม

นวลน้อย สรุปตอนท้ายว่า เราจะเห็นได้ว่าในภาคใต้พื้นที่ของข่าวจริงกับข่าวลือแทบจะเท่าๆ กัน เผลอๆ ข่าวลืออาจจะมีความสำคัญมากกว่า เมื่อสื่อหลักไม่สามารถเป็นพื้นที่กลางได้ ต้องมีวิธีการนำเสนอที่แนบเนียน ต้องแอบๆ กลายเป็นว่าไปปรากฏในโซเชียลมีเดียแทน แม้ว่าเราบอกกันว่ามันไม่ใช่สื่อหลัก หาเรื่องจริงไม่ค่อยได้ แต่มีคนที่ยอมลงทุนที่จะใช้เวลาสกรีนหาบางอย่างที่เชื่อว่าเป็นความจริงอีกชุดหนึ่งจากโซเชียลมีเดีย ต้องไปกรองข้อมูลเอาเองจากมหาสมุทรข้อมูลอันท่วมท้นแทน โจทย์ของสื่อในยุคปัจจุบันอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของหลักการทำสื่อและการพาณิชย์ที่ต้องสร้างสมดุลให้ดีแล้ว แต่ยังมีเรื่องของการจัดระเบียบสื่อที่เข้ามาใหม่ด้วยที่คงจะต้องติดตามกันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net