หมุดหมายที่หายไป บันทึกก่อนถึงทางตัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


 

Symbolic power เอามาเชื่อมกับ Popular culture เมื่อไร ฮิตระเบิดเถิดเทิงเมื่อนั้น

แม้จะเป็นห้วงเวลาหลายวันที่ผู้เขียนครุ่นคิดอย่างหนัก ส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากให้ประเทศไปถึงจุดที่รอมชอมกันไม่ได้ แต่สังคมที่จัดการความขัดแย้งด้วยการรื้อถอน บั่นทอน ทำลาย (undermine) สัญญะของฝ่ายที่เราไม่ชอบ หรือฝ่ายที่เรามีอคติด้วย คือ สัญญาณของภาวะใกล้วิกฤต

แต่อีกฟากหนึ่ง ก็ไม่รู้จะขอบคุณใครดี เพราะนอกจากจะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยตื่นตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบสามปีนี้ เรียกได้ว่าใครปั๊มหมุดคณะราษฎรมาลง Mass product ตอนนี้จะหน้าใสอย่างจริงจัง จะเห็นว่า คนเริ่มเก็บสะสมทุกอย่าง ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร

ก็ขอแสดงความยินดี กับโครงการตำราสังคมศาสตร์ ที่หนังสือชุดคณะราษฎรขายหมดในพริบตาทั้ง 7ชุด เพราะปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ

รับประกันได้ว่า ใครทำเสื้อยืดปั๊มหมุดออกมาตอนนี้ น่าจะขายได้ ไม่มากก็น้อย

Mass product ที่หอบหิ้วเอา Symbolic power ไปด้วย โดยเชื่อมโยงข้องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งตัว การเรียน การทำงาน การทำมาหากิน และอื่นๆ เป็นภาวะที่ Pierre Bourdieu เรียกว่า มันคือสนาม (Field) ของการต่อสู้เชิงอำนาจ แต่จะดูว่าการต่อสู้นั้น น้ำหนักจะเอียงไปที่ข้างใคร คงต้องพิจารณาระยะเวลาของแต่ละฝ่ายที่ต้องสะสมต้นทุนกันว่ายาวนานแค่ไหน

ลักษณะเช่นนี้ คือ การสะสมต้นทุนทางวัฒนธรรม (Cultural capital) ผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน หรือ ปฏิบัติการทางสังคมผ่านชีวิตประจำวันนั่นเอง (Everyday social practice)

เอาจริงๆ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ได้สะสมต้นทุนทางวัฒนธรรม หรือ Cultural capital มาก่อนอย่างยาวนานและสม่ำเสมอเป็นร้อยปีในหลายรูปแบบ ผ่านสื่อแบบทางการ และ ไม่ทางการ ผ่านสื่อหนักและสื่อบันเทิง รวมทั้งสื่อพิธีกรรม สื่อบุคคล เครื่องรางของขลัง และ สื่อวัตถุต่างๆ ที่เติบโตอย่างมากในยุค Popular culture เช่น เสื้อยืด ของประดับ และ เครื่องแต่งกายอื่นๆ 

ฝ่ายประชาธิปไตยต่างหาก ที่ตื่นตัวเป็นช่วงๆ และไม่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่อาศัย Popular culture เป็นฐานอย่างสม่ำเสมอ

แม้ว่าในขณะนี้ ภาวะที่เกิดขึ้นกับฝ่ายประชาธิปไตย มันคือ ภาวะการโหยหาสิ่งทดแทน ภาวะการขาดและต้องการการเติมเต็มบางอย่างที่มนุษย์เราพึงมี.....แต่ไม่มี ทั้งความเท่าเทียม เสรีภาพ ความโปร่งใส การตรวจสอบได้ และ สิทธิในการใช้ชีวิตที่กำหนดด้วยอำนาจของตน

แต่สิ่งที่น่ากระทำมากที่สุด โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คือ หวนไปศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ตำราที่เขียนโดยฝ่ายที่ครอบงำสังคม โดยตรวจสอบไม่ได้ หรือ พูดง่ายๆ อ่านประวัติศาสตร์เมื่อใด ช่วยอ่านหลักฐานที่เขาหามาด้วยว่ามีน้ำหนักมากแค่ไหน ค้นคว้าสอบทานทางวิชาการไหม

หรือเป็นแค่ "นิยาย" (ซึ่งเป็น Cultural capital) ที่ทรงพลังสุดๆ

รวมทั้งน่าจะทุ่มเทฝึกฝน “วิธีคิดวิพากษ์” ทุกครั้งที่อ่านและรับสื่อว่า

1) ใครแต่งประวัติศาสตร์เล่มนั้น
2) ด้วยข้อมูลชุดไหน ใช้แหล่งข้อมูลจากที่ใด และ
3) เขียนด้วยมุมมองแบบใด หรือ มีจุดยืนอย่างไร

จะดีกว่า อ่านข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่ส่งต่อๆ กันมา โดยตรวจสอบไม่ได้ว่าใครผลิตข้อความและรูปภาพเหล่านั้น ใช้หลักฐานจากที่ใด เชื่อถือได้หรือไม่ เขียนมามั่วๆ บ้าง ยั่วยุด้วย hate speech บ้าง

ใช้อคติตนเป็นที่ตั้งบ้าง ใครบูชา ศรัทธาใคร ก็พยายามใส่ "message" มาปั่นหัวแบบตื้นๆ สองสามประโยคและมีภาพประกอบ แล้วแชร์ต่อกันไป

ที่มันส์กว่านั้นคือ เชื่อมโยงเรื่องแต่งหลายเรื่องจากหลายคน แล้วสรุปว่า คือ เรื่องจริง ยิ่งมีอภินิหาร ปาฎิหาริย์ แสดงอิทธิฤทธิ์ความยิ่งใหญ่ และเหมารวมคนอื่นๆ เป็นพวกนั้นพวกนี้แบบง่ายๆด้วยแล้ว (เช่นเหมารวมว่าใครอ่านหนังสือเล่มนี้ อ้างอิงหลักฐานจากแหล่งนี้ เป็นพวกล้มสถาบัน) ก็จะยิ่งเชื่อกัน และยิ่งทำให้มีภาวะจิตใจที่ยอมรับ "ความจริงแบบอื่นๆ" ไม่ได้

เด็กรุ่นใหม่ของไทย ก็เรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยวิธีตื้นเขินแบบนี้ และ เริ่มบ้าคลั่ง "ความเป็นชาติไทย.... ที่ผดุงอัตตาอันพร้อมจะทำลายคนอื่นทุกวัน"

สังคมที่ “ความเชื่อ” มีอำนาจมากกว่า “ความจริง”มักจะธำรงรักษาการศึกษาแบบเชื่องๆ ใช้อำนาจนิยม เชิดชูอุดมการณ์ชาตินิยมบางอย่างเข้าไว้

แต่ปัจจุบัน เรามีการเรียนรู้นอกระบบผ่านสื่อกันมาก อาจจะมากกว่า ในระบบสถาบันการศึกษาด้วยซ้ำไป

ตำราเรียนประวัติศาสตร์ของไทย ไม่ต้องสงสัยหรอกว่าได้ “ผลิตซ้ำอุดมการณ์รักชาติ”ชุดหนึ่งขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง

แต่มาถึงยุคนี้  เราเลือกได้ที่จะ “ปักหมุด” แบบไหนให้อนาคตตัวเอง ที่แน่ๆ เราสามารถเลือกปฏิบัติการทางสังคมผ่านการเรียนรู้ อ่าน ค้นคว้า คิด และ วิพากษ์ดังที่กล่าวไว้ตามหลักการข้างต้น

ก็เลือกเอา….ว่าจะยอมถูกผลิตซ้ำทั้งในระบบ (ผ่านสถาบันการศึกษา) และนอกระบบ (ผ่านสื่อ) และ ตกลงไปถึง “จุดวิกฤต” ในวันหนึ่ง

หรือ…..หาทางออกมาให้ได้….

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท