Skip to main content
sharethis

ในโลกที่ข้อเท็จจริง ถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าความรู้สึกส่วนตัว (Post-truth) เหล่านักวิทยาศาสตร์นักรวมตัวกันเดินขบวนในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ที่ 22 เม.ย. เพื่อเรียกร้องให้การเมืองโลกหันกลับมาพิจารณากันตามข้อเท็จจริงและมุ่งสนับสนุนการสร้างความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ต่อผู้คน

18 เม.ย. 2560 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์มีแผนการออกมาชุมนุมทั่วโลกในวันที่ 22 เม.ย. ที่จะถึงนี้ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลกหรือ 'Earth Day' ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์นัดชุมนุมกันในชื่อ 'การเดินขบวนเพื่อวิทยาศาสตร์' หรือ #MarchForScience โดยให้เหตุผลว่าในยุคปัจจุบันทั้งนักวิทยาศาสตร์ คนออกนโยบายที่เน้นหลักฐานเป็นตัวเป็นตนและ แนวคิดวิทยาศาสตร์เองกำลังถูกโจมตี ไม่ว่าจะจากการตัดงบประมาณ การเซนเซอร์นักวิจัย ข้อมูลที่หายไป รวมถึงการละเลยประเด็นที่สำคัญต่อโลก พวกเขาจึงต้องออกนัดออกมาเดินขบวนในครั้งนี้ "เพื่ออวยชัยและปกป้องวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ ตั้งแต่ในระดับโรงเรียนท้องถิ่นไปจนถึงระดับหน่วยงานรัฐบาลกลาง"

อย่างไรก็ตามบทความใน Project Syndicate โดยนักวิทยาศาสตร์หลายคนจากที่ต่างๆ ทั่วโลกร่วมกันเขียนระบุว่าการนัดหมายเดินขบวนของนักวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ยังมีคามหมายมากกว่านั้นด้วย

ในโลกแห่ง "Post-truth" หรือ "โพสต์ทรูธ" ที่แปลว่า ยุคสมัยที่ผู้คนไม่สนใจข้อเท็จจริงแต่เชื่อว่าสิ่งใดจริงเพราะแค่มันเข้ากับความรู้สึกหรือความเชื่อส่วนตัวมากกว่า คำนี้ถูกบรรจุในพจนานุกรมของอ็อกฟอร์ดเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เรื่องนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่กับหลักการและข้อเท็จจริงอยู่เฉยกันไม่ได้ เพราะแนวคิดแบบโพสต์ทรูธกำลังระบาดไปสู่การเมืองโลกและในแนวคิดทั่วไปของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้นำอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธไม่ยอมรับว่าโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์จริงทั้งที่มีหลักฐานชี้ให้เห็นมากมาย การที่ผู้คนเชื่ออย่างผิดๆ ว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้เป็นโรคออทิสติค และอ้างว่าแสงไฟจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ทำให้เกิดมะเร็งได้

ไม่เพียงแค่ฝ่ายทรัมป์เท่านั้นที่ละเลยข้อเท็จจริง เหล่าผู้กำหนดนโยบายในยุโรปและสหรัฐฯ ต่างก็เน้นใช้แนวคิดที่เรียกว่า "มุมมองของผู้เชี่ยวชาญ" เอามาใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าจะในประเด็นจีเอ็มโอ (อาหารตัดต่อพันธุกรรม) พลังงานนิวเคลียร์ ไปจนถึงการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรหรือที่เรียกว่า 'เบร็กซิต' ไปจนถึงมีการใช้โซเชียลมีเดีนโจมตีการฉีดวัคซีนในอินเดียโดยมีการอ้างทั้งทฤษฎีสมคบคิด ความกังวลเรื่องความปลอดภัย และการกังขาต่อแรงจูงใจ แต่เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นได้ว่าการละเลยข้อเท็จจริงอาจจะส่งผลร้ายต่อชีวิตผู้คนได้

ถึงแม้ว่าเรื่องที่ผู้คนเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเชื่อ โดยไม่สนหลักฐานที่มีมาก่อนนานแล้วในประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อเรื่องโลกแบนยังคงอยู่กับชาวโลกมาอีกนานแม้จะมีคนนำเสนอหลักฐานตรงกันข้ามมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ แต่นักวิทยาศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัยนำเสนอผ่าน Project Syndicate ว่าในตอนนี้โลกกำลังมาถึงช่วงเวลาในการเปลี่ยนแปลง การยึดติดในความเชื่อของตัวเองโดยไม่สนใจข้อเท็จจริงได้เข้ามาสู่กระแสหลักทางการเมือง มีอิทธิพลต่อนโยบาย และส่งผลต่อทั้งสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งผู้คนที่อาศัยอยู่ในโลกและต่อโลกนี้เอง

นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์อย่างพวกเขาระบุว่าคนที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นคุณค่าหลักในสังคม อย่างการสังเกต วัดผล และตั้งสมมุติฐาน อย่างเป็นระบบในการมองมนุษย์ พวกตัวเอง และมองโลกมาหลายศตวรรษ ต้องออกมาปกป้องบทบาทในการนำการถกเถียงอภิปรายและกระบวนการตัดสินใจ พวกเขายังย้ำเตือนว่าเหล่าผู้มองโลกด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ต้องระวังไม่กลายเป็นผู้ใช้ "โพสต์ทรูธ" เสียเอง งานทางวิทยาศาสตร์จึงต้องมีการทบทวนโดยผู้รู้เสมอกันที่มีหน้าที่ต้องแยกงานที่หลอกลวงออกมาให้ได้

บทความใน Project Syndicate ระบุว่านอกจากนี้แล้วนักวิทยาศาสตร์ต้องทำงานให้ดีกว่านี้ในการอธิบายว่า "ความแน่นอน" ทางวิทยาศาสตร์คืออะไรเพื่อให้ผู้คนแยกแยะออกจากสมมุติฐานและทฤษฎีที่ยังไม่มีการพิสูจน์ โดยพูดถึงกระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีการทดสอบกับหลักฐานเท่าที่มีอยู่แล้วและกระทำภายใต้สภาพควบคุมจนมีการสังเกตเห็นผลแบบเดียวกันหลายๆ ครั้งกระทั่งสามารถสรุปได้ และแน่นอนว่าต้องพิสูจน์ซ้ำโดยนักวิจัยอื่นๆ ได้ การทดสอบที่ไม่ได้อยู่ในสภาพควบคุมยังคงถูกนับเป็นการคาดการณ์

การที่นักวิทยาศาสตร์ควรมีความสามารถในการสื่อสารความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการค้นพบที่ส่งผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้มากกว่านี้นอกจากเพื่อปกป้องวิธีการแบบวิทยาศาสตร์แล้วยังเป็นไปเพื่อสร้าง 'การรับรู้เข้าใจวิทยาศาสตร์' (science literacy) ในหมู่ประชาชน สื่อมวลชน และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้ยอมรับวิทยาศาสตร์ รวมถึงไม่พยายามอย่างไร้เหตุผลในการทำลายความเชื่อถือในวิทยาศาสตร์และในตัวของนักวิทยาศาสตร์

เรียบเรียงจาก

Why Scientists Are Marching, Project Syndicate, 17-04-2017

https://www.project-syndicate.org/commentary/scientists-march-against-post-truth-policy-by-stephen-matlin-et-al-2017-04

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net