Skip to main content
sharethis

สร.บินไทย ร้องประยุทธ์ใช้ ม.44 ปลดบอร์ดยกชุด หลังบริหารผิดพลาด กลุ่มบริษัท รปภ. ขอประยุทธ์ใช้ ม.44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ออกไป 1 ปี พร้อมให้จัดศูนย์อบรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

18 เม.ย .2560 รายงานข่าวระบุว่า ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงาน ก.พ. กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย นำโดย ดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพฯ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอให้ใช้มาตรา 44 ปลดคณะกรรมการบริหารการบินไทย และฝ่ายบริหาร เนื่องจากมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าบริหารงานไม่โปร่งใส ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม ทั้งการตัดสินใจผิดพลาดที่ซื้อเครื่องบินมาจอดทิ้งไว้ถึง 17 ลำ จนต้องขายต่อๆ ทั้งที่มีอายุใช้งานเหลือประมาณ 6-8 ปี ทำให้งบการเงินปี 2551-2559 ขาดทุนประมาณ 30,134 ล้านบาท รวมถึงแผนปฏิรูปที่ล้มเหลว ซึ่งทางบริษัทฯ ได้แจ้งผลประกอบการในปี 2559 ว่ามีกำไรประมาณ 47 ล้านบาท แต่ถ้าดูตามข้อเท็จจริงแล้วจะเห็นได้ว่าบริษัทขาดทุนก่อนมีภาษีเงินได้ประมาณ 1,417.42 ล้านบาท เมื่อหักออกด้วยภาษีที่ต้องจ่าย 1,464.24 ล้านบาทแล้ว ผลต่างจึงเป็นกำไรที่ได้กลับคืน จึงถือว่ากำไรได้คืนจากภาษี ไม่ใช่การดำเนินตามแผน

“หากยังปล่อยไว้ปัญหาในการบินไทยก็จะยังมีต่อไป หากใช้วิธีปกติก็ต้องให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นผู้พิจารณา ถ้าไม่เกรงใจกันแล้วดูจากผลงานก็ไม่ควรให้อยู่ต่อ ควรจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นที่มีความสามารถจริงๆ เข้ามาบริหาร เพราะที่ผ่านมาการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ ตัวกรรมการเองก็ยังต้องจ้างที่ปรึกษามาอีกทอด แล้วทำไมไม่ให้ที่ปรึกษาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ใหญ่ไปเลย ส่วนคณะกรรมการบริหารการบินไทยก็มาจากข้าราชการประจำ กับนักธุรกิจสายอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจการบินซึ่งไม่ได้ทำให้การบินไทยดีขึ้นเลย ถ้าทำผิดพลาดก็ต้องยกออกทั้งชุดเลย” ดำรงค์ กล่าว

ภูมิพัฒน์ สุคนธราช แกนนำกลุ่มบริษัทพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ขนาดเล็ก 25 บริษัท ภาคตะวันออก ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้รัฐบาลชะลอการบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558  ที่กำหนดให้ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย และผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ต้องยื่นความประสงค์ขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนจังหวัด ณ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดในพื้นที่ ภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560  หากพ้นกำหนดจะไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามบทเฉพาะกาลของคำสั่ง คสช.ที่ 67/2559 ลงวันที่ 10 พ.ย. 2559 และมีบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ออกไปอีก 1 ปี  
       
ภูมิพัฒน์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ทำให้ รปภ.เอกชนเดือดร้อนมากเพราะกลัวติดคุก เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตอาชีพ รปภ.จึงได้ทยอยลาออก นอกจากนี้ รปภ.ที่ทำงานได้ต้องฝึกอบรมตามมาตรา 34 แต่สถานฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยอยู่ในต่างจังหวัด และไม่มีในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครจึงไม่สามารถไปฝึกอบรมได้ จึงขอให้นายกฯ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มคนรากหญ้าที่อยากทำงาน รปภ. ด้วยการขอให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ออกไป 1 ปี พร้อมให้จัดศูนย์อบรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากแก้ไขปัญหาได้จะเป็นการช่วยเหลือประชาชน 

กลุ่มผู้ประกอบการบริษัทรักษาความปลอดภัย ระบุว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไม่สามารถนำ รปภ. ไปฝีกอบรมตามกฎหมายได้ เนื่องจากสถานฝึกอบรมที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกือบทั้งหมด อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้ รปภ.ที่ยังไม่ผ่านการฝึกอบรม ไม่กล้าที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่ และทยอยกันลาออก เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและจับกุมในที่สุด  บุคคลที่สมัครเข้ามาเป็น รปภ. บางคนเป็นเกษตรกรที่ว่างเว้นจากฤดูเก็บเกี่ยว  และทั้งหมดเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่การเรียกเก็บเงินค่าฝึกอบรม 2,500 บาทต่อคน ทำให้ไม่มีคนสมัครเข้ามาทำงาน  จึงขอเสนอให้รัฐบาลอนุญาตให้มีการฝึกอบรมการรักษาความปลอดภัย ผ่านศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายแทน 

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ และสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net