Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ค้านมติ ครม. พัฒนาเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง หวั่นกระเทือนชีวิตชาวบ้าน สัตว์น้ำ และทำไทยเสียดินแดน

19 เม.ย. 2560 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ออกแถลงการณ์ฉบับที่  2 คัดค้านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง - แม่น้ำโขง พ.ศ. 2558-2568 และจะให้มีบริษัทจีนเริ่มเข้าสำรวจภาคสนามบริเวณพรมแดนไทย-ลาวในวันนี้

ภาพเรือสัญชาติลาว (ที่มา:flickr/prachatai)

สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม กรีนนิวส์ รายงานว่า กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประเทศสมาชิก คือ จีน ลาว เมียนมา และไทย ได้จัดตั้งคณะสำรวจร่วมกันโดยเห็นควรมีการปรับปรุงรองน้ำทางเดินเรือและปรับปรุงเกาะแก่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และเห็นชอบให้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อสำรวจและจัดทำรายงานการออกแบบปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ โดยกำหนดแผนงานการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือทั้งหมด 2 ระยะ เพื่อให้เรือขนาด 500 ตัน สามารถเดินทางได้โดยสะดวกและปลอดภัย

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รายงานว่า วันนี้(19 เม.ย.) เรือสำรวจนำร่องน้ำโขงของบริษัท CCCC Second Harbor Consultant จำกัด บริษัทที่ปรึกษาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน พร้อมลูกเรือง 60 คน นำเรือสำรวจระวางน้ำหนัก 450 ตัน 3 ลำ เรือเร็วอีก 4 ลำเดินทางจากแขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว เข้าสู่น่านน้ำไทยและเทียบท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยได้รับการดูแลจากกรมเจ้าท่าและกองทัพเรือไทย หัวหน้าคณะสำรวจงดให้ความเห็นกับสื่อมวลชน

แผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 ครอบคลุมพื้นที่แม่น้ำโขงระหว่างเมืองซือเหมาในจีน ถึงเมืองหลวงพระบางในลาว แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 (พ.ศ.2558-2563) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ โดยจะปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 631 กม. จากชายแดนจีน-เมียนมาที่หลัก 243 ถึงหลวงพระบางเพื่อรองรับเรือ 500 ตัน พัฒนาท่าเรือสินค้า 3 แห่ง และท่าเรือโดยสาร 3 แห่ง

ระยะที่ 2 (พ.ศ.2563-2568) ศึกษา สำรวจ ออกแบบ และทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมของแต่ละโครงการ และได้รับการรับรองจาก 4 ประเทศ มีการปรับปรุงร่องน้ำระยะทาง 259 กม. จากซือเหมาถึงชายแดนจีน-เมียนมา ที่หลัก 243 ให้รองรับเรือ 500 ตัน และสร้างสะพาน Yunjinghong ขึ้นใหม่ และมีการพัฒนาท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 500 ตัน 4 แห่ง ท่าเรือสินค้าสำหรับเรือ 300 ตัน และท่าเรือโดยสาร 9 แห่ง

แถลงการณ์ฉบับแรกจากเครือข่ายฯ มีใจความโดยสรุปว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การทำลายแก่งคอนผีหลง ซึ่งเป็นแก่งขนาดใหญ่ 1.6 กม. บนแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว จะทำลายความหลากหลายของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและอาหารของผู้ใช้ชีวิตริมฝั่งโขงทั้งสองฝั่ง ทั้งในปัจจุบัน การค้าขายบริเวณชายแดนก็มีการเติบโต มีเรือจากมณฑลยูนนานเข้าถึงเชียงแสนได้ตลอดปีอยู่แล้ว

นอกจากนั้น มติ ครม. ดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านความเห็นจากรัฐสภาซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ และการดำเนินโครงการบนแม่น้ำนานาชาติที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ไม่ชอบถูกต้อง และยังเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์บริเวณร่องน้ำลึก ทำให้ไทยเสียดินแดน (อ่านตัวเต็ม ที่นี่)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับกรีนนิวส์ว่า ความคิดเรื่องการปรับปรุงเกาะแก่งในแม่น้ำโขงมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยมีแผนที่จะระเบิดเกาะแก่งบริเวณคอนผีหลง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แต่ต้องยกเลิกไปเนื่องจากกระทรวงกลาโหมทัดทานว่า หากปล่อยให้จีนระเบิดเกาะแก่ง ร่องน้ำลึกจะขยับเข้ามาทางประเทศไทย ไทยก็จะเสียดินแดน เนื่องจากการปักปันพรมแดนไทย-ลาวบนแม่น้ำโขงใช้ร่องน้ำลึกเป็นตัวแบ่ง ทั้งยังตั้งข้อสังเกตุว่า “ในสมัยทักษิณแม้เอ็นจีโอจะประท้วงเรื่องนี้ แต่รัฐบาลไม่ยอมฟัง แต่พอกระทรวงกลาโหมทักท้วง นายกฯ ทักษิณจึงยอมรับ ฉะนั้นหากรัฐบาลปัจจุบันยอมให้ระเบิดคอนผีหลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมโดนกระทืบ เพราะจะเท่ากับขายชาติ”

แถลงการณ์ฉบับที่ 2
เครือข่ายประชาชนไทย 8  จังหวัดลุ่มน้ำโขง
คัดค้านการสำรวจ-ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ของบริษัท CCCC ประเทศจีน


19 เมษายน 2560

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่ง คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ค.ศ. 2015 – 2025 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง และการดำเนินงานเบื้องต้น (งานศึกษาสำรวจออกแบบ) และล่าสุดกรมเจ้าท่า ได้มีจดหมายถึงกลุ่มรักษ์เชียงของ ระบุว่าบริษัทจีน CCCC Second Habor Consultants จะเริ่มเข้าสำรวจภาคสนามบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ในวันนี้ (19 เมษายน 2560) โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนิน  2 เดือน

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และองค์กรเครือข่ายภาคีลุ่มน้ำโขง ซึ่งทำงานติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงมาโดยตลอด  ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 แสดงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้ ไปเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559  ตลอดจนจัดเวทีสาธารณะ และร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปแล้ว นำไปสู่กระแสความไม่เห็นด้วยจากสาธารณะเนื่องจากเห็นว่า ประเทศไทยแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้ และโครงการนี้จะนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศสำคัญของโลก ซึ่งแม่น้ำโขงเป็นทรัพยากรข้ามพรมแดนที่ใช้ร่วมกันระหว่างประเทศ

ในครั้งนี้ เมื่อกรมเจ้าเท่า อนุญาตให้บริษัท CCCC Second Habor Consultants ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ของจีนที่ได้รับการสัมปทานเข้ามาสำรวจแม่น้ำโขงในเขตชายแดนไทย-ลาว จึงเท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่ทางอธิปไตยของประเทศให้กับจีนได้ทำการสำรวจ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง

ดังนั้นพวกเราเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงจึงขอแสดงจุดยืนเดิม คือไม่เห็นด้วยกับมติครม. ดังกล่าว และถือเป็นความผิดพลาดอย่างรุนแรงที่รัฐไทย ยินยอมให้ดำเนินโครงการที่จะสร้างความเสี่ยงและผลกระทบร้ายแรง และขอเรียกร้องดังนี้

1.    ขอให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกการสำรวจครั้งนี้  ห้ามมิให้บริษัทเอกชนจีน เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่ในแผ่นดินไทย อันเป็นพื้นที่อ่อนไหว ทั้งในทางระบบนิเวศธรรมชาติ และในทางความมั่นคงระหว่างประเทศ สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้ คือ ประเด็นสำคัญระหว่างประเทศนี้ กำลังถูกดำเนินการโดยบริษัทเอกชนที่รับจ้าง และหน่วยงานรัฐไทยระดับกรมเท่านั้น ทั้งๆ ที่ควรเป็นการตัดสินใจโดยรัฐบาล เพราะหากเกิดความเสียหายแล้วจะไม่สามารถแก้ไขกลับคืนได้อีก

2.    ขอให้มีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการระเบิดแก่ง แม่น้ำโขงในระยะที่ 1 และการเดินเรือพาณิชย์ระหว่างแม่น้ำโขงตอนบน-สามเหลี่ยมทองคำ เพื่อเปรียบเทียบกับการค้าขายกับจีนตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และหาทางออกในการค้าที่เป็นธรรมและยั่งยืน

เครือข่ายประชาชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติโครงการดังกล่าวทันที เพื่อปกป้องผืนดินไทย และระบบนิเวศอันทรงคุณค่า

หมายเหตุ: ประชาไทเพิ่มเนื้อหา "หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ รายงานว่า วันนี้(19 เม.ย.) เรือสำรวจนำร่องน้ำโขงของบริษัท CCCC Second Harbor Consultant จำกัด บริษัทที่ปรึกษาจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน พร้อมลูกเรือง 60 คน นำเรือสำรวจระวางน้ำหนัก 450 ตัน 3 ลำ เรือเร็วอีก 4 ลำเดินทางจากแขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว เข้าสู่น่านน้ำไทยและเทียบท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยได้รับการดูแลจากกรมเจ้าท่าและกองทัพเรือไทย หัวหน้าคณะสำรวจงดให้ความเห็นกับสื่อมวลชน" เข้าไปในเนื้อหา เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2560 เวลา 1.30น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net