Skip to main content
sharethis
อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช. ยืนยันการเก็บค่าสมาชิกพรรคการเมืองเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคและทำกิจกรรมการเมือง “อภิสิทธิ์” ชี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับประชาชนในการกำหนดค่าบำรุงที่สูงขึ้นโดยที่สิทธิไม่ได้เพิ่มขึ้น เชื่อจะมีปัญหาฉ้อฉลเกิดขึ้น แนะหากจะปรับเปลี่ยน ควรให้เวลาพรรคการเมืองทำงาน ขณะเดียวกันเรียกร้อง คสช.ผ่อนปรนให้จัดประชุมพรรคได้ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการปฏิรูปพรรค 
 
23 เม.ย. 2560 พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (24 เม.ย.) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะประชุมกันนัดแรก เพื่อเริ่มเดินหน้าพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าว หลังจากที่ สนช.ได้รับหลักการแล้ว ซึ่งจากการศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าว ยืนยันว่าการที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้มีการเรียกเก็บเงินสมาชิกพรรคการเมืองทุกปี จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งส่วนตัวในฐานะที่เป็นหนึ่งในกรรมาธิการฯ ยืนยันว่าจำเป็นต้องบัญญัติเรื่องนี้เอาไว้ แต่หากพรรคการเมืองสามารถชี้ได้ว่ามีวิธีการอื่นที่ทำให้ประชาชนมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองได้อย่างต่อเนื่องและมีความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เฉพาะวันแรกที่สมัครเป็นสมาชิก หากมีเหตุผลพอเพียงก็ต้องสนับสนุนให้มีการปรับแก้ ทั้งนี้เห็นว่าข้อกังวลในเรื่องของตัวเงินว่าประชาชนจะไม่สามารถจ่ายเงินได้นั้นเป็นเพียงข้ออ้างของพรรคการเมือง เพราะ กรธ.ยังพร้อมที่จะปรับแก้ว่าสมาชิกแรกเข้าสามารถปรับลงมาเหลือ 50 บาท จาก 100 บาทได้
 
สำหรับกรณีที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ปลดล็อคคำสั่งมาตรา 44 ในเรื่องการทำกิจกรรมพรคการเมืองนั้น พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ คสช.ได้พิจารณาอยู่แล้ว คิดว่าไม่จำเป็นต้องเรียกร้องหรือไปบอก และในกฎหมายก็ระบุไว้ชัดว่าภายใน 180 วัน พรรคการเมืองจะต้องทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เชื่อว่า คสช.จะพิจารณาอยู่แล้ว
 
“สังศิต” ชี้แนวคิดเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเพียงอุดมคติที่ยากเป็นจริง
 
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ระบุให้เก็บเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองปีละ 100 บาท ว่า เป็นความพยายามของ กรธ.ที่อยากเห็นคนดีเข้ามาทำงานการเมืองและให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่เห็นว่าการระบุเช่นนี้เป็นอุดมคติที่ไม่สามารถเป็นจริงในทางปฏิบัติได้ ดังนั้นขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งกำลังพิจารณาเรื่องนี้ควรรับฟังความเห็นจากฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้ปฏิบัติและมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อหาจุดลงตัวที่เหมาะสม เพื่อให้ได้การเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม
 
“ท่านที่ร่างกฎหมายแบบนี้ เป็นคนดี มีความรู้ แต่ไม่เคยมีประสบการณ์จริงกับพรรคการเมือง การที่เอาคนที่เป็นคนดีมีความรู้ แต่ไม่มีประสบการณ์จริงมาร่างกฎหมาย ก็จะได้แต่สิ่งที่เป็นอุดมการณ์ สิ่งที่เป็นความฝัน อุดมคติที่พวกเขาอยากเห็น ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นจริงในทางปฏิบัติ ผมคิดว่าสิ่งที่ กรธ.ออกแบบมา เป็นเพียงความฝัน ไม่มีทางสำเร็จ ถ้าจะให้ดีต้องให้พรรคการเมืองที่มีประสบการณ์จริงได้มีส่วนร่วมและต้องรับฟังความเห็นด้วย เพราะคนเหล่านี้อยู่ในโลกของความเป็นจริง สนช.ต้องหาทางปรองดองร่างกฎหมายฉบับนี้กับพรรคการเมืองที่สามารถเป็นจริงได้ด้วย” นายสังศิต กล่าว
 
สำหรับกรณีที่ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยกเลิก กกต.จังหวัดและให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งมาทำหน้าที่แทนนั้น นายสังศิต กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็น กกต.จังหวัด หรือผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามาทำงานดูแลการเลือกตั้งก็ตาม แต่หลักเกณฑ์ที่สำคัญที่สุด คือ การได้คนดี ซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ โดยต้องออกแบบเพื่อให้ได้บุคคลในคุณลักษณะดังกล่าวเข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลการเลือกตั้ง และอยากให้ถามประชาชนในพื้นที่และพรรคการเมืองด้วยว่าการใช้ระบบผู้ตรวจการเลือกตั้งเข้ามาจะเป็นหลักประกันว่าจะทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมขึ้นหรือไม่ และทำให้สังคมไทยเดินหน้าได้ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
 
นายสังศิต กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันเห็นว่าการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญควรให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ รวมทั้งเห็นว่าคนที่จะเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชน จะต้องเปิดเผยรายได้และการเสียภาษีย้อนหลัง 3-5 ปี จะเป็นประโยชน์เช่นกัน
 
“อภิสิทธิ์” ชี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเชื่อจะมีปัญหาฉ้อฉลเกิดขึ้น
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บัญญัติให้เก็บค่าบำรุงสมาชิกพรรคการเมืองคนละ 100 บาทต่อปี ว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยพยายามทำเรื่องนี้ โดยเก็บค่าสมาชิกพรรคคนละ 20 บาท แต่ต้องยอมรับว่าประชาชนไม่คุ้นเคยกับแนวคิดการชำระเงินเพื่อเป็นสมาชิก และการกำหนดค่าบำรุงที่สูงขึ้นโดยที่สิทธิไม่ได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพรรคการเมืองไม่มีเวลาที่จะไปทำความเข้าใจกับสมาชิกซึ่งมีจำนวนมากว่าจากเดิมที่เคยเป็นสมาชิกพรรคโดยไม่ต้องชำระค่าบำรุง แล้วถ้าไม่ชำระเงินจะขาดสมาชิกภาพ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องอธิบาย ซึ่งยากในการทำงาน
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ส่วนตัวสนับสนุนแนวคิดที่ให้ประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้เก็บเงินเพียง 20 บาท ยังใช้เวลามากในการทำความเข้าใจ ดังนั้นจึงอยากขอว่าหากจะปรับเปลี่ยนอะไร ควรต้องมีเวลาให้พรรคการเมืองได้ทำงาน และต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นให้ประชาชนมั่นใจว่าการเข้ามาเป็นสมาชิกจะได้สิทธิมากขึ้น
 
“แต่ขณะนี้การเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะต้องเสียสิทธิในหลายด้าน เพราะในกฎหมายหลายฉบับระบุว่าใครเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่สามารถทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ จึงเป็นเรื่องยากในการอธิบายว่าจะเสียเงินค่าบำรุงพรรคเพื่อเป็นสมาชิกพรรคทำไม เรามีการส่งเสริมเปลี่ยนแปลงวัฒธรรมในสังคมหรือยังที่จะมาทำตรงนี้ ดังนั้นหากทำสิ่งเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย พวกผมก็ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าจะมาพยายามให้มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เก็บเงินในอัตราที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนว่าประโยชน์ที่ได้รับคืออะไร นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว จะมีปัญหาการฉ้อฉลเกิดขึ้น และจะมีการเอาเงินไปจ่ายแทนประชาชน และจะตรวจสอบยากมาก และขณะเดียวกันเมื่อเขียนว่าการจ่ายเงินแทนกันเป็นความผิด มีโทษรุนแรง ก็จะสุ่มเสี่ยงว่าจะมีการกลั่นแกล้งกัน เช่น ส่งคนมาล่อซื้อแล้วเกิดปัญหาว่าตกลงใครเป็นผู้ชำระเงิน ดังนั้นจึงอยากให้เอาหลักการสำคัญมากำหนดไว้ในกฎหมายแล้วรายละเอียดให้ออกเป็นระเบียบของหน่วยงานนั้น จะดีกว่า” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
นายอภิสิทธิ์ ยังเรียกร้องว่า อยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่อนปรนในบางเรื่อง เพื่อสามารถประชุมพรรคและจัดองคาพยพของพรรคการเมืองได้ โดยผ่อนปรนในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่มาตรฐานตามกฎหมายก่อน ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่เรียกร้องอยากจะหาเสียงในขณะนี้ แต่ต้องสามารถประชุมเพื่อบริหารจัดการภายในและเตรียมตัวสำหรับการปฏิรูปพรรค ซึ่งเป็นเรี่องจำเป็น
 
ส่วนกรณีที่ กรธ.ยกเลิกการมี กกต.จังหวัดและให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการไม่ใช้ กกต.จังหวัดแบบที่เคยใช้ เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่มีคณะกรรมการที่จะให้คุณให้โทษเกี่ยวกับการดูคดีเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่และเกิดปัญหาว่าผู้เล่นกับกรรมการมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นระบบที่มีความยืดหยุ่นหมุนเวียนนำคนที่มาจากนอกพื้นที่มาช่วยทำงาน ถือเป็นหลักคิดที่ใช้ได้ แต่ควรให้ กกต.ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้คิดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการทำงานมากกว่าที่ กรธ.จะไปกำหนดบังคับไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ที่รัดตัวเกินไป ซึ่งยากต่อการปฏิบัติ
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3]
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net