รายงานสัมมนา Thailand Update 2017 ถกปมสถาบันกษัตริย์ ชายแดนใต้ บทบาทเศรษฐกิจของทหาร

รายงานสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ Thailand Update 2017 มหาลัยโคลัมเบีย กับประเด็น ม.112 ระบอบทุนนิยมกับสถาบันกษัตริย์ ประชามติ ชายแดนใต้ บทบาททางเศรษฐกิจของทหารไทย ศาลปกครอง และการปราบปรามโซเชียลมีเดีย

เมื่อวันพุธที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ณ มหาลัยโคลัมเบีย มลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ Thailand Update 2017 ขึ้น โดยการนำของ ดันแคน แมคคาโก ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยลีดส์  งานสัมมนา Thailand Update นี้เป็นงานสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับประเทศไทยซึ่งมุ่งครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยการประชุมนี้ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่สามแล้ว

เนื่องจากปี 2559 ที่ผ่านมาเป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการเปลี่ยนผ่านรัชกาล อันก่อให้เกิดความกังวลและคำถามอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแนวทางในการวางระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศไทยในอนาคต การสัมมนาวิชาการ Thailand Update 2017 นี้ได้รวบรวมเอานักวิชาการหลายท่านที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมานำเสนองานวิจัยและบทวิเคราะห์ที่อาจมีส่วนเชี่อมโยงและเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยในในมิติต่างๆได้ดียิ่งขึ้น โดยการบรรยายจะแบ่งเป็นสามหัวข้อหลักๆ คือ การเมือง เศรษฐกิจ และสื่อกับความยุติธรรม

นักศึกษากฎหมายและกษัตริย์องค์ใหม่ของไทย

ในหัวข้อการเมืองนี้มีการแบ่งการบรรยายออกเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกเป็นเรื่องการเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และสถาบันพระมหากษัตริย์ นำบรรยายโดย ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ( Tyrell Haberkorn ) นักวิจัยประจำภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย โดยไทเรลนำเสนอการบรรยายในหัวข้อ “นักศึกษากฎหมายและกษัตริย์องค์ใหม่ของไทย” ซึ่งพูดถึงกรณีการจับกุมและดำเนินคดีกับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ 'ไผ่ ดาวดิน' นักศึกษาสาขาวิชากฎหมายและแกนนำนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย ภายใต้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแชร์รายงานข่าว BBC Thai อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 โดยคดีของไผ่เป็นคดีแรกในมาตรา 112  ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พระองค์ใหม่ การที่ไผ่เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแม้จะมีผู้แชร์รายงานข่าวชิ้นเดียวกันนี้กว่าอีก 2600 คน เป็นการแสดงให้เห็นถึงการเลือกใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างปราศจากเหตุผลของรัฐไทยอันก่อให้เกิดการตั้งคำถามและความกังวลอย่างมากในหมู่นักวิชาการถึงระบอบการเมืองและการปกครองในอนาคตว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไรหลังจากขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใหม่

ไทเรล นำเสนอว่า กฎหมายพระราชบัญญัติมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นแท้จริงแล้วเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามเกี่ยวสถาบันกษัตริย์อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันทางการเมืองยากที่จะเกิดขึ้นได้ในสังคมและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเสียด้วยซ้ำในทางกฎหมาย

ไทเรล สรุปว่า หนทางการกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยหรือการกลับเข้าสู่การเป็นสังคมเปิดกว้างของไทยในอนาคตนั้นยังคงจะเป็นไปได้ยาก หากรัฐบาลไทยภายใต้แกนนำของคณะความสงบและมั่งคงแห่งชาติยังคงใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นและการตั้งคำถามของประชาชนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อันสืบเนื่องและเกี่ยวข้องกับการเมือง

ระบอบทุนนิยมกับสถาบันกษัตริย์

ผู้บรรยายในหัวข้อการเมืองในช่วงแรกนี้อีกท่านหนึ่งคือ ปวงชน อุนจะนำ นักศึกษาปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคูนี่ และอาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ปวงชน นำเสนอส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์อันมีเนื้อหาและข้อมูลที่น่าสนใจในหัวข้อ “ระบอบทุนนิยมกับสถาบันกษัตริย์” ( Capital and the Crown ) 
 
ปวงชน ได้เริ่มการบรรยายโดยตั้งคำถามถึงความหมายที่แท้จริงของ “การสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทยในช่วงเปลื่ยนรัชกาล” โดยพูดถึงแนวโน้มการลงทุนจากภาคธุรกิจ ไปจนถึงระบอบทุนนิยมทั้งจากในและนอกประเทศที่ลดลง
 
ปวงชน ได้นำเสนอและเปรียบเทียบถึงพัฒนาการของภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยในปัจจุบันที่ดีขึ้นและแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากภาพลักษณ์กษัตริย์ไทยโบราณในช่วงสมบูรณายาสิทธิราชย์ในช่วงก่อนการเปลื่ยนแปลงการปกครอง โดยปวงชน ได้กล่าวว่า ภาพลักษณ์ดังกล่าวมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
ปวงชน เรียกแนวคิดของความสัมพันธ์ระหว่างระบอบทุนนิยมจากนักธุรกิจและสถาบันกษัตริย์นี้ว่า “แฝดสยาม” ( Siamese Twins) เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ซึ่งพัฒนาและเติบโตมาพร้อมกันอย่างแน่นแฟ้นและไม่สามารถแยกออกจากกันได้ โดยระบบความสัมพันธ์นี้เข็มแข็งและรุ่งเรืองมากในช่วงรัชกาลที่ 9 เนื่องจากการครองราชย์ยาวนานกว่า 70 ปีของพระองค์ ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังค่อยๆ เปลื่ยนผ่านจากประเทศเกษตรกรรมเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมและเกิดการขยายตัวของชนชั้นกลางอย่างรวดเร็ว โดยผลของแบบความสัมพันธ์ “แฝดสยาม” กับกลุ่มธุรกิจของสถาบันกษัตริย์ดังกล่าวนี้ส่งผลให้เงินในกองทุนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่ทรงต้องการเงินสนับสนุนจากรัฐบาลดังเช่นในอดีตอีกต่อไป
 
โดยท้ายสุด ปวงชน ได้ให้ข้อสังเกตสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบ “แฝดสยาม” นี้ว่า ระบบดังกล่าวทำให้เกิดความสัมพันธ์ในแง่ผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างสถาบันกษัตริย์และภาคธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้ระบอบทุนนิยมที่แท้จริงในประเทศนั้นเสียหายได้เป็นอย่างมาก ปวงชน คาดการว่า ในอนาคตระบบความสัมพันธ์นี้จะยังถูกสงวนและรักษาไว้อย่างเหนียวแน่นโดยเครือข่ายพระมหากษัตริย์ และจะยังส่งผลกระทบแก่ระบอบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมของไทยในระยะยาวอย่างแน่นอน
 

ควบคุม ประณีประนอม และถอยหลังเข้าคลอง

การบรรยายในหัวข้อการเมืองในช่วงที่สอง นำโดย อัลเลน ฮิคกินส์ และ ดันแคน แมคคาโก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญและข้อสังเกตจากประชามติดังกล่าวที่เชื่อมโยงกับปัญหาสามจังหวัดภาคใต้
 
อัลเลน ฮิคกินส์ ( Allen Hicken ) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และประชาธิปไตยใหม่ มหาวิทยาลัยมิชิแกน เริ่มการสัมมนาในช่วงนี้ในหัวข้อ ควบคุม ประณีประนอม และถอยหลังเข้าคลอง : สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันโดยฮิคกินส์ได้นำเสนอผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งผลประชามติลงคะแนนเห็นชอบทั้งสองประเด็นทั้งในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง โดยประชาชนลงมติเห็นชอบในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ 61.35% และเห็นชอบ 58.70% ในประเด็นคำถามพ่วง

ฮิคกินส์ ได้ลำดับเหตุการณ์การร่างรัฐธรรมนูญมาจนถึงการลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และนำเสนอบทวิเคราะห์และผลลัพธ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2559 โดยคร่าวสามประการคือ

1. อำนาจส่วนใหญ่ของรัฐบาลเผด็จการยังคงอยู่ โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 ได้กำหนดวิธีการเลือกตั้งและวิธีการจัดสรรอำนาจให้ผู้ที่ชนะเลือกตั้งไม่สามารถควบคุมการดำเนินงานของรัฐได้ทั้งหมด และออกแบบวิธีการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมให้มีการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว ซึ่งอาจส่งผลให้คะแนนเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ลดลง พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นและส่งผลให้โอกาสที่จะเกิดรัฐบาลผสมที่ขาดเสถียรภาพทางการเมืองมีสูงขึ้น อันสามารถเปิดโอกาสให้เกิดนายกคนนอกซึ่งมาจากการแต่งตั้งได้

2. เผด็จการพรรคการเมือง นอกเหนือจากการออกแบบการเลือกตั้งและข้อกำหนดในการจัดตั้งรัฐบาลแบบใหม่ของรัฐธรรมนูญ 2559 ที่ทำให้อำนาจของพรรคการเมืองและหัวหน้าพรรคการเมืองผู้ชนะการเลือกตั้งมีอำนาจลดน้อยลงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับ 2559 ยังกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาสองร้อยห้าสิบนายในวาระแรกมาจากการแต่งตั้งอีกด้วย

3. ลดความสำคัญและควบคุมผลคะแนนเสียงเลือกตั้งจากประชาชน โดยในกรณีนี้ฮิคกินส์ชี้ให้เห็นตั้งแต่กระบวนการการทำประชามติที่ไม่เป็นกลางของรัฐบาลคสช. รวมไปจนถึงกลไลการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงประชามติที่ไม่เปิดกว้างต่อการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสาธารณะของรัฐบาลอีกด้วย

ฮิคกินส์ กล่าวโดยสรุปจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2559 ว่ารัฐบาลและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตจะยังคงถูกควบคุมโดยตรงจากคณะคสช. โดยรัฐสภาและรัฐบาลไทยน่าจะยังคงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะเข้าสู่สภาวะเสถียรภาพและเสรีภาพทางการเมืองอย่างแท้จริง

ภาคใต้ : การจลาจลที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ผู้ดำเนินการบรรยายท่านสุดท้ายในหัวข้อการเมือง ได้แก่ ดันแคน แมคคาโก ( Duncan McCargo ) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยลีดส์และผู้ผลักดันให้เกิดการสัมมนาวิชาการ Thailand Update 2017 ขึ้นในครั้งนี้ โดยดันแคนได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ภาคใต้ : การจลาจลที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

เช่นเดียวกับฮิคกินส์ ดันแคนเริ่มการบรรยายโดยการเสนอผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา โดยดันแคนให้ความสนใจเป็นพิเศษไปที่ผลคะแนนเสียงประชามติที่เปลื่ยนแปลงไปอย่างมากจากเห็นชอบเป็นไม่เห็นชอบของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อันได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

เนื่องด้วยพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อันประกอบไปด้วยประชากรประมาณ 1.8 ล้านคนนั้น ส่วนมากกว่า 80% เป็นชาวมุสลิม ดันแคนได้เห็นความเห็นว่าการที่คะแนนเสียงประชามติได้เปลื่ยนแปลงไปจากเห็นชอบเป็นไม่เห็นชอบนั้นน่าจะเกิดมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 67 อันระบุไว้ว่า

“รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น

ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการ ป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน มีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”

ดันแคน มองว่าการที่รัฐธธรรมนูญกล่าวให้รัฐต้องสนับสนุนพระพุทธศาสนานั้น ย่อมทำให้ชาวมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในเขตสามจังหวัตภาคใต้ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน โดยดันแคนยังได้ยกตัวอย่างความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศอันน่าจะเกี่ยวข้องกับการลงคะแนนเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การเกิดระเบิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่อำเภอไทรบุรี และการเกิดระเบิดขนาดย่อมขึ้นในหลายพื้นที่ในช่วงเวลาหลังการลงประชามติ เมื่อ 11-12 สิงหาคม ทั้งที่ตรัง หัวหิน ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และพังงา อันทำให้เกิดผู้เสียชีวิตสี่คนและผู้บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

ดันแคน กล่าวทิ้งท้ายว่าแม้สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะซับซ้อนวุ่นวาย และดูจะยังไม่มีทางออกที่ดีเนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทำให้เกิดความสับสนและต่อต้านอย่างมากจากชาวมุสลิมในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อพยายามมองในแง่ดีก็คือรัฐบาลคสช.ยังพอมีความพยายามที่จะสานต่อการเจรจาสันติภาพต่อจากที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ดำเนินการไว้ และในขณะเดียวกันกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ( BRN ) เองก็มีแนวโน้มที่ต้องการเจรจาสันติภาพด้วยเช่นเดียวกัน

เศรษฐกิจไทยภายหลังรัฐประหาร

การบรรยายในหัวข้อเศรษฐกิจนี้นำโดย อาวิภาวี ศรีทองรุ่ง รองศาสตราจารย์ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน มหาวิทยาลัยวิชิทตา และกานดา นาคน้อย รองศาสตราจารย์ด้านเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอนเนคติกัท

อาวิภาวีได้เปิดการบรรยายในด้านเศรษฐกิจภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยภายหลังรัฐประหาร 2557 : งบประมาณและการประเมินงานด้านการเงิน” โดยพูดถึงภาพรวมและความเป็นมาของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ก่อนรัฐประหารทั้งในแง่อัตราดอกเบี้ยและปริมาณเงินทุนที่ไหลสู่เข้าประเทศ โดยอาวิภาวีได้ให้ข้อสังเกตในส่วนปริมาณหนี้สาธารณะของไทยว่ามีการเปลื่ยนแปลงอย่างผันผวนตั้งแต่ปี 1995 ซึ่งมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาไทยเป็นอย่างมาก รวมถึงนโยบายทางการคลังเกินดุลในขณะนั้นจึงทำให้หนี้สาธารณะลดลงจนแตะระดับ 5 เปอร์เซนต์ และกลับมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปีช่วงปี 2538 – 2545 จนลดลงอีกครั้งในช่วงปี 2545 – 2553 ตามนโยบายทางเศรษฐกิจของนายกฯทักษิณ และกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี  2553 เป็นต้นมา เช่นเดียวกับ GDP ที่เพิ่มขึ้นอย่างเชื่องช้าเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นด้วยอัตราค่อนข้างคงที่ในช่วงปี 2541 – 2551

อาวิภาวี ได้ให้ข้อมูลอีกว่านโยบายปัจจุบันของรัฐบาลทางด้านเศรษฐกิจในการอัดฉีดเงินเข้าระบบจะได้ผลเพียงแค่ระยะสั้นในช่วงสองถึงสามปีถัดจากนี้ โดยหลังจากนั้นผลของการอัดฉีดจะลดลงและทรงตัวในระยะยาว ซึ่งเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากรัฐบาลและแบงค์ชาติต้องการเพิ่มเงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อลดค่าเงินเฟ้อซึ่งยิ่งเป็นการทำให้เงินไหลออกจากระบบมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของภาครัฐกลับน้อยลงเนื่องจากรัฐบาลไม่มีเงินทุนมากพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อันจะยิ่งเป็นผลให้การใช้จ่ายในประเทศยิ่งลดลงมากขึ้นไปอีก

ท้ายสุด อาวิภาวี ได้สรุปว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังน่าจะไม่กระเตื้องขึ้นต่อไปอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 4-5 ปี โดยอาวิภาวีได้ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลว่าควรควบคุมการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างเข้มงวด และการใช้จ่ายของภาครัฐดังกล่าวควรมุ่งเน้นและส่งเสริมและผลักดันเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างแท้จริง เช่น การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของชาติ การศึกษา และกระจายความเจริญออกสู่ชุมชน

บทบาททางเศรษฐกิจของทหารไทย

กานดา นาคน้อย รองศาสตราจารย์ด้านเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอนเนคติกัท ได้ร่วมเข้าบรรยายเพิ่มเติมในด้านเศรษฐกิจของไทยในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยและบทบาททางเศรษฐกิจของทหารไทย” โดยอาจารย์กานดาเริ่มอธิบายถึงสภาพเศรษฐกิจไทยจากการมองย้อนกลับไปถึงตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญอันได้แก่ GDP ของประเทศ โดย GDP ของไทยตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 จนถึงปี 2559 มีแนวโน้มที่คนข้างทรงตัวอยู่ในระดับที่ไม่เกินกว่า 4% ต่อปีมากนัก โดยมีจุดที่น่าสนใจคือในช่วงปี 2555 ตัวเลข GDP ของไทยพุ่งสูงขึ้นถึง 6% ในช่วงไตรมาสที่สอง และ 15% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีเดียวกัน โดยกานดาได้ให้ข้อคิดเห็นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นของรัฐ แต่ GDP หลังจากนั้นของประเทศไทยก็ไม่เคยเพิ่มสูงขึ้นจนแตะระดับ 4% ต่อปีได้อีกเลย แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ได้ตั้งไว้ก็ตาม

จากปี 2555 จนถึงปี 2559 แม้ว่าการส่งออกสุทธิมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากใน GDP ของแต่ละปี แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นผลมาจากการลดการนำเข้าของสินค้าต่างๆเพื่อการผลิต ที่ทำให้การส่งออกมีมูลค่ามากกว่าการนำเข้าเป็นอย่างมาก ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับการลดตัวลงของการลงทุนของธุรกิจในสินค้าทุน แสดงให้เห็นถึงการขาดความมั่นใจในการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในการลงทุนภายใต้รัฐบาลทหาร นอกจากนี้ตัวเลขการใช้จ่ายของภาคเอกชนและกระแสเงินไหลเข้าจากต่างประเทศยังลดต่ำลงอย่างมากภายหลังรัฐประหารซึ่งสามารถสะท้อนได้ถึงการคาดการณ์ต่ออนาคตเศรษฐกิจของไทยในเชิงลบของภาคเอกชนและภาคการลงทุนจากชาวต่างชาติอีกด้วย

นอกจากนี้ กานดา ยังได้แสดงความกังวลทางด้านเศรษฐกิจอีกหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเงินทุนไหลออกนอกประเทศ ปัญหาการเติบโตของการส่งออกที่ค่อนข้างต่ำแต่การนำเข้าของไทยกลับยิ่งมีการเติบโตที่ต่ำกว่าการส่งออกเสียอีก และปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน

กานดา ได้เสนอนโยบายที่เป็นไปได้ในการสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศอันได้แก่ การเพิ่มภาษีมรดกและลดการละเว้นภาษีในด้านต่างๆ การเพิ่มภาษีที่ดิน การเพื่มความสามารถในการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล การแปรสภาพบริษัทจากรัฐวิสาหกิจสู่เอกชนในบริษัทต่างๆ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย และการบินไทย เพื่อให้ง่ายต่อการหาเงินสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ และ การลดขนาดของกองทัพและภาคราชการลง

กานดา กล่าวสรุปทิ้งท้ายถึงสภาพเศรษฐกิจไทยว่า แม้กองทัพจะมีแนวโน้มในการขยายการลงทุนทางเศรษฐกิจในไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เศรษฐกิจไทยจะยังต้องใช้เวลาอีกนานในการฟิ้นตัว และอาจจะเป็นไปได้ยากมากในการทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งหากรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาการไหลออกของเงินทุนไปยังต่างประเทศและปัญหาหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 50% ของ GDP ตามการคาดการณ์ในปี 2563 

ศาลปกครอง : การพิจารณาคดีความขัดแย้งทางสังคม

ในการบรรยายหัวข้อสุดท้ายของการสัมมนา Thailand Update เกี่ยวกับสื่อและความยุติธรรมนี้เริ่มโดย แฟรงค์ มังเกอร์ ( Frank Munger ) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย จากโรงเรียนกฎหมายแห่งนิวยอร์ค  โดยนำเสนอการบรรยายภายใต้หัวข้อ “ศาลปกครอง : การพิจารณาคดีความขัดแย้งทางสังคม”
 
มังเกอร์ ได้เริ่มการบรรยายโดยแนะนำที่มาและหน้าที่ของศาลปกครองว่าเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองปี 2542 โดยมีหน้าที่เทียบเท่าศาลยุติธรรม ศาลปกครองมีที่พิจารณาพิพากษา “คดีปกครอง” ซึ่งเป็นคดีพิพาทของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการปฏิบัติราชการ โดยศาลปกครองได้ถูกมองเป็นความหวังในด้านสิทธิแก่ประชาชนเนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐได้เป็นครั้งแรก
 
คดีการฟ้องร้องแก่ศาลปกครองมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่เริ่มที่ 5,382 คดี ในปี 2544 และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาถึงกว่า 9,718 คดีในช่วงปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งปีก่อนเกิดรัฐประหารรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ และในขณะเดียวกันอัตราการดำเนินคดีของศาลปกครองก็เพิ่มขึ้นอย่างมากก้าวกระโดดในเขตภาคใต้ในช่วงปี 2555 - 2556 และภาคกลางในช่วงปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยคดีส่วนมากเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม
 
ศาลปกครองถูกตั้งขึ้นมาพร้อมกับศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2540 โดยถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะค่อนข้างไม่มีความเป็นกลางอันเนื่องมาจากอำนาจของศาลได้ถูกครอบงำโดยอิทธิพลทางการเมือง แต่ศาลปกครองดูจะพอมีความคาดหวังได้มากกว่าบ้างเนื่องจากยังไม่น่าจะมีอิทธิพลทางการเมืองมาครอบงำมากนัก อย่างไรก็ตาม มังเกอร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าศาลปกครองยังคงมีช่องว่างในการเข้าถึงของประชาชน ตัวอย่างเช่น ประชาชนที่ทำงานในหน่วยงานรัฐก็อาจจะไม่กล้าฟ้องหน่วยงานตนเอง หรือประชาชนทั่วไปก็ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการฟ้องร้องแก่ศาลปกครองได้โดยง่าย และทนายที่ทำงานทางด้านคดีดังกล่าวก็มีจำนวนน้อย และไม่มีความสามารถและความชำนาญที่เพียงพอ
 
มังเกอร์ กล่าวโดยสรุปว่าระบบศาลปกครองของไทยยังคงต้องการการพัฒนาอีกมากทั้งในแง่การพัฒนาบุคลากรโดยยังทนายที่มีความสามารถอีกเป็นจำนวนมาก และในแง่การต่อสู้เพื่อความเป็นกลางและไม่มีอคติทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีคดีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่งคงของรัฐบาลเอง ซึ่งมังเกอร์คาดว่าการพัฒนาดังกล่าวน่าจะยังเกิดขึ้นได้ยากภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการดั่งเช่นในปัจจุบัน
 

โซเชียลมีเดีย ปราบปรามรอบใหม่ของรัฐบาลทหาร

เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอเนียร์ - ฟูลเลอร์ตัน ( California State University-Fullerton ) เป็นผู้ปิดงานสัมมนาวิชาการ Thailand Update 2017 ด้วยการนำเสนอบทวิเคราะห์ “ขอบเขตที่ไม่มีขอบเขตของการต่อต้าน : การปราบปรามรอบใหม่ของรัฐบาลทหาร” ( Deterri-torrializing Dissident Terrains : The Junta’s New Round of Suppression ) โดย เพ็ญจันทร์ ได้มุ่งการนำเสนอไปที่สื่อที่สำคัญในการรับข่าวสารของคนไทยซึ่งก็คือโซเชียลมีเดีย
 
เพ็ญจันทร์ กล่าวว่าตั้งแต่รัฐประหารในปี 2557 สื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Line ก็ได้กลายมาเป็นพื้นที่สำคัญในการต่อสู้และโต้แย้งกันทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาพล้อเลียนและการ์ตูนที่สร้างให้พื้นที่โต้แย้งทางการเมืองบน Facebook เต็มไปด้วยมีม ( meme ) ที่เข้าถึงได้ง่ายแต่เต็มไปด้วยพลังและความสดใส โดยหลังจากที่รัฐได้ล้มเหลวจากการพยายามควมคุมข้อมูลในเครือข่ายอินเตอร์เนตทั้งหมดด้วยนโยบายซิงเกิ้ลเกตเวย์ รัฐบาลทหารจึงได้พยายามมุ่งเข้าควบคุมพื้นที่โซเชียลมีเดียอันเป็นช่องทางสำคัญในการต่อสู้และโต้แย้งกันทางการเมืองแทน
 
โดยการปราบปรามมุ่งเน้นหลักไปที่

1.  การสื่อสารและเครือข่ายส่วนบุคคล อันได้แก่ Facebook, Messenger และ Line โดยรัฐพยายามออกประกาศแนะนำการใช้โซเชียลมีเดียและจำกัดการเข้าถึงผู้ใช้ Facebook บางคนที่มีแนวความคิดต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ นายแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ โดยมีรายงานว่ารัฐบาลได้มีการเข้าพบกับผู้ก่อตั้ง Facebook เพื่อให้ช่วยจำกัดและกำจัด “เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม” ออกจาก Facebook ซึ่งโดยทาง Facebook เองก็มีนโยบายที่จะปฎิบัติตามกฎหมายของประเทศผู้ใช้งานอยู่แล้วด้วย

2.  รายการวิทยุใต้ดิน เช่น Youtube โดยรัฐได้จับกุมผู้ทำรายการวิทยุและช่องรายการที่ผิดกฎหมายต่างๆ และพยายามจำกัดการเข้าถึงของรายการใต้ดินที่มีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาล

3. สื่อและสำนักงานข่าว โดยการออกกฎหมายและพระราชบัญญัติควบคุมสื่อ

เพ็ญจันทร์ กล่าวโดยสรุปปิดท้ายการสัมมนาครั้งนี้ว่าทิศทางเสรีภาพบนอินเตอร์เนตและสื่อของไทยน่าจะยังเป็นในทางที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะอย่างยื่งหลังจากการที่รัฐบาลใช้มาตรา 112 ในการสร้างความหวาดกลัวและควบคุมการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย จากรณีการจับกุมและดำเนินคดีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” จากเพียงการแชร์รายงานข่าว BBC บน Facebook ส่วนตัว

หมายเหตุ : 

ขอบคุณ พลากร บูรณสัมปทานนท์ ผู้ช่วยแปลข้อมูลในหัวข้อเศรษฐกิจ

สามารถฟังเนื้อหาสรุปเพิ่มเติมจากผู้บรรยายได้ที่ New York Southeast Asia Network

Youtube    : https://www.youtube.com/channel/UCYX9m4gL1ODhryW1tqo37kg

Facebook : https://www.facebook.com/nysea.network

Website    : nysean.org

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท