TCIJ: 26 ปี คนทำงานวงการสื่อมวลชนทั่วโลกตาย 2,419 คน

รายงานพิเศษจาาก TCIJ พบระหว่างปี 1990-2016 คนทำงานในวงการสื่อมวลชนทั่วโลก ตั้งแต่คนขับรถจนถึงบรรณาธิการข่าว เสียชีวิตจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ทั้งจากการโจมตี อุบัติเหตุและภัยพิบัติต่าง ๆ รวมแล้วกว่า 2,419 คน ภูมิภาคเอเชียตายสูงสุด 599 คน

<--break- />ปี 2016 เสียชีวิตรวม 122 คน

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา คนทำงานวงการสื่อมวลชนทั่วโลกตั้งแต่คนขับรถ นักข่าว ช่างภาพ จนถึงบรรณาธิการข่าว ต่างแบกรับความเสี่ยงในชีวิต ทั้งในพื้นที่สงคราม พื้นที่ขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ หลายกรณีสาเหตุการเสียชีวิตเกิดขึ้นทั้งจากการถูกฆาตกรรม, ถูกโจมตีจากอาวุธปืนและระเบิด, ลูกหลงจากการยิงต่อสู้ของกลุ่มขัดแย้ง, การลักพาตัวโดยใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจากอุบัติเหตุและภัยพิบัติต่าง ๆ

จากรายงาน IFJ list of journalists & media staff killed in 2016 ของสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ (International Federation of Journalists หรือ IFJ) ระบุว่าคนทำงานวงการสื่อมวลชนทั่วโลกเสียชีวิตจากเหตุการณ์ต่าง ๆ (ไม่นับการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยหรือชราภาพ)  ในปี 2016 ที่ผ่านมารวม 122 คน แยกเป็นเสียชีวิตจากการถูกโจมตี 93 คน และจากอุบัติเหตุและภัยพิบัติต่าง ๆ อีก 29 คน

ในด้านสถานที่เกิดเหตุรุนแรงเมื่อแยกเป็นรายทวีปพบว่าภูมิภาคอเมริกาเป็นสถานที่ที่คนทำงานในวงการสื่อมวลชนเสียชีวิตมากที่สุด 44 คน ตามมาด้วยตะวันออกกลาง 30 คน เอเชียและแปซิฟิก 28 คน ยุโรป 12 คน และแอฟริกาเสียชีวิต 8 คน ตามลำดับ เมื่อแยกเป็นรายประเทศที่คนทำงานในวงการสื่อมวลชนเสียชีวิตมากที่สุดคือโคลัมเบีย 20 คน ตามมาด้วย อิรัก 15 คน, อัฟกานิสถาน 13 คน, เม็กซิโก 11 คน, รัสเซีย 9 คน, เยเมน 8 คน, ซีเรีย 6 คน, กัวเตมาลา 6 คน, ปากีสถาน 5 คน, อินเดีย 5 คน, ฟิลิปปินส์ 3 คน, โซมาเลีย 3 คน, บราซิล 3 คน, ตุรกี 2 คน, ลิเบีย 2 คน, ฮอนดูรัส 2 คน, พม่า 1 คน, ยูเครน 1 คน, เวเนซูเอลา 1 คน, ซูดานใต้ 1 คน, เปรู 1 คน, จอร์แดน 1 คน, กินี 1 คน, คองโก 1 คน และบังกลาเทศ 1 คน ตามลำดับ

โศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในปี 2016 สำหรับวงการสื่อมวลชน เกิดขึ้นที่โคลัมเบียเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2016 เครื่องบิน Avro RJ85 ของสายการบิน LaMia ซึ่งเป็นสายการบินของประเทศโบลิเวีย เที่ยวบินที่ CP-2933 ประสบอุบัติเหตุตกที่ La Ceja, Antioquia ประเทศโคลัมเบีย มีผู้เสียชีวิตรวม 71 คน มีผู้สื่อข่าวกีฬาเสียชีวิตถึง 20 คน (อ่านเพิ่มเติม: เปิดแฟ้มอุบัติเหตุเครื่องบินโดยสาร 2559 ตก102-เสียชีวิต 629)

ในภูมิภาคอาเซียน ที่พม่า Soe Moe Tun นักข่าวสังกัด Daily Eleven ถูกฆาตกรรมเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2016 หลังเขารายงานข่าวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การตัดไม้ผิดกฎหมาย และการเติบโตของธุรกิจคาราโอเกะที่มีการขายบริการทางเพศ ทั้งนี้เมืองสะกาย (Sagaing) พื้นที่ทำข่าวของเขาถือเป็นศูนย์กลางของการทำเหมืองแร่และป่าไม้ของพม่า ส่วนที่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่คนทำอาชีพสื่อมวลชนมีความเสี่ยงที่สุดในโลก Elvis Ordaniza ผู้สื่อข่าวสังกัดสถานีวิทยุ dxWO Power99 FM ถูกฆาตกรรมที่เมืองซัมบอนกา (Zamboanga) เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2016, Alex Balcoba ผู้สื่อข่าวสังกัด the People’s Brigada ถูกฆาตกรรมที่ร้านซ่อมนาฬิกาที่เขาเป็นเจ้าของที่มะนิลา เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2016 และ Larry Que คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น News Now ถูกฆาตกรรมใกล้กับออฟฟิศที่ทำงานในเมืองคาตาดูนาเนส (Catadunanes) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2016 หลังที่เขาเขียนบทความระบุถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นปล่อยปละละเลยให้มีโรงงานผลิตยาบ้าในท้องถิ่น

(สำหรับรายชื่อ ตำแหน่ง และต้นสังกัดของคนทำงานสื่อมวลชนที่เสียชีวิตในปี 2016 ทั้งหมดอ่านเพิ่มเติมใน ‘จับตา: ปี 2016 คนทำงานวงการสื่อที่เสียชีวิตในหน้าที่ 122 คน’)

26 ปี เสียชีวิตรวมไปแล้ว 2,419 คน

เมื่อนำตัวเลขล่าสุดของปี 2016 ไปรวมกับข้อมูลจากรายงาน Journalists And Media Staff Killed 1990 -2015: 25 years of contribution towards Safer Journalism เมื่อปี 2016 ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมโดย IFJ เช่นเดียวกัน พบว่าในรอบ 26 ปี ตั้งแต่ปี 1990-2016 คนทำงานวงการสื่อมวลชนทั่วโลกเสียชีวิตรวมแล้วถึง 2,419 คน ด้านสถานที่เกิดเหตุรุนแรงเมื่อแยกเป็นรายทวีป พบว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นสถานที่ที่คนทำงานในวงการสื่อมวลชนเสียชีวิตมากที่สุด 599 คน ตามมาด้วยอเมริกา 516 คน, ตะวันออกกลาง 503 คน, แอฟริกา 432 คน และยุโรป 369 คน ตามลำดับ เมื่อแยกเป็นรายประเทศที่คนทำงานในวงการสื่อมวลชนเสียชีวิตมากที่สุดคืออิรัก 324 คน ตามด้วย ฟิลิปปินส์ 149 คน, เม็กซิโก 131 คน, ปากีสถาน 120 คน, รัสเซีย 118 คน, แอลจีเรีย 106 คน, อินเดีย 100 คน, โซมาเลีย 78 คน, โคลัมเบีย 76 คน และซีเรีย 73 คน ตามลำดับ

สภาพสำนักงาน Charlie Hebdo นิตยสารแนวล้อเลียนของฝรั่งเศส ที่ถูกโจมตีในเดือน ม.ค. 2015 ที่มาภาพ: wikimedia.org

โศกนาฏกรรมครั้งสำคัญ ๆ ในรอบ 26 ปี ที่ผ่านมาก็อย่างเช่น ในเดือน ม.ค. 2015 มือปืนสวมหน้ากากสองคนติดอาวุธครบมือบุกสำนักงานของ Charlie Hebdo ซึ่งเป็นสำนักงานนิตยสารล้อเลียนในกรุงปารีส ฝรั่งเศส การโจมตีดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน เป็นบรรณาธิการและพนักงานของ Charlie Hebdo อีก 8 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คน และอีก 11 รายได้รับบาดเจ็บ

การสังหารหมู่ทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ ที่มากินดาเนาเมื่อปี 2009 มีสื่อมวลชนเสียชีวิตถึง 32 ราย ที่มาภาพ: cmfr-phil.org

ส่วนฟิลิปปินส์ ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่คนทำงานในวงการสื่อมวลชนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ต่าง ๆ มากที่สุด ในรอบ 26 ปี มานี้ (รวมถึงเป็นอันดับแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย) โดยเฉพาะเหตุ ‘ฆาตกรรม’ อย่างเมื่อปี 2009 เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศฟิลิปปินส์ จากความขัดแย้งทางการเมืองระดับท้องถิ่น ในจังหวัดมากินดาเนา (Maguindanao) ทางตอนใต้ของประเทศ มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้รวม 57 คน ซึ่งคนทำงานในวงการสื่อมวลชนเสียชีวิตถึง 32 คน
 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
จับตา: ปี 2016 คนทำงานวงการสื่อมวลชนเสียชีวิตในหน้าที่ 122 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท