นักวิจัยวิพากษ์ NGO ช่วยเด็กแอฟริกันที่ไม่ได้คิดว่าตัวเอง 'ถูกค้ามนุษย์' แค่อยากมีงานทำ

นักวิจัยที่อยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลานานเห็นว่าความหวังดีผิดๆ ใน “การช่วยเหลือ” ของชาวตะวักตกเกี่ยวกับการค้ามนุษย์-ใช้แรงงานเด็กแอฟริกันกลับจะส่งผลร้ายต่อพวกเขา เพราะเอาเข้าจริงแล้วคนเหล่านี้จงใจย้ายถิ่นฐานเพราะอยากไปหางานทำด้วยตัวเอง

30 เม.ย. 2560 เมื่อไม่นานมานี้มีการนำเสนอเรื่องราวการช่วยเหลือเด็กที่ถูกใช้แรงงานจากขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศโตโก และเบนินซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกา โดยมีการนำเสนอภาพตามแบบฉบับคือ "นายจ้างอันโหดร้ายกดขี่แรงงานเด็กไร้เดียงสา" "พ่อแม่ตกทุกข์อยู่ภายใต้ความยากจนจนต้อง 'ขาย' ลูกของพวกเขา" "ความล้าหลังทางวัฒนธรรมทำให้อะไรเลวร้ายลงกว่าเดิม" และ "เอ็นจีโอผู้เกื้อกูลเข้ามาช่วยแล้ว"

อย่างไรก็ตาม นีลล์ ฮาเวิร์ด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ปและผู้ก่อตั้ง-บรรณาธิการ Beyond Trafficking and Slavery ที่ openDemocracy.net ระบุว่าข่าวเรื่องนี้ดูมีพลังมากก็จริง แต่ก็มีภาพที่บิดเบือนออกไปจากความเป็นจริงอยู่มากเช่นกัน เป็นการนำเสนอที่มองอะไรผิวเผินเกินไป และอาจจะยิ่งทำให้คนที่พวกเขาต้องการช่วยเหลืออยู่ในสภาพที่แย่กว่าเดิม ฮาเวิร์ดออกตัวว่าเขาเป็นคนที่วิจัยในเรื่องนี้มากว่า 10 ปี และเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ทำให้เขาต้องการชี้ให้เห็นว่าสภาพการณ์ในชุมชนเหล่านั้นที่เขาคลุกคลีด้วยเป็นอย่างไรกันแน่

ฮาเวิร์ดเปิดเผยถึงเรื่องนี้ผ่านสื่ออัลจาซีราว่า ภาพลักษณ์ของผู้อพยพที่มาบนลำเรือที่ถูกมองว่าเป็น "การค้ามนุษย์" นั้นเป็นภาพลักษณ์มาตั้งแต่ตอนที่มีการสกัดกั้นเรือที่เดินทางจากเบนินไปกาบอนได้ในปี 2544 โดยที่มีเด็กและวัยรุ่นอยู่บนเรือจำนวนมากจนทำให้ยูนิเซฟตั้งชื่อว่าเป็นเรือทาส แล้วก็มีสื่อรายงานกันต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และเอ็นจีโอนับไม่ถ้วน จนทำให้การแปะป้ายชื่อเรียกแบบนี้ถูกมองว่าเป็นความจริงขึ้นมาจนมีความพยายามสกัดกั้น "การค้ามนุษย์ในเด็ก" อย่างหนัก 

แต่ทว่าการแปะป้ายเอาเองแบบนี้กลายเป็นปัญหา เมื่อฮาเวิร์ดมองว่าความเป็นจริงคือเด็กและวัยรุ่นในเรือเหล่านี้ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเหยื่ออาชญากรรมใดๆ และมันก็ไม่ใช่การลักลอบค้ามนุษย์เลย ในปี 2550 มีการสัมภาษณ์พวกเขาหลายคนบอกว่าพวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวที่พยายามอพยพไปหางานทำ พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็น "ผู้อพยพ" ไม่ใช่ "ทาส" พวกเขาจ่ายเงินให้คนลักลอบพาหนีหวังว่าจะมีงานให้ทำในสายการประมง พอหลังจากที่พวกเขา "ถูกช่วยเหลือ" จากทางการแล้ว พวกเขาก็กลับไปหมู่บ้าน เก็บเงินจนมากพอแล้วก็ออกมาอีก ส่วนใหญ่ก็ออกมาแทบจะทันที

ฮาเวิร์ดบอกว่าเขาใช้เวลาหลายปีทำงานในเบนินและไนจีเรีย เขาสัมภาษณ์เด็กหลายร้อยคนที่ถูกหาว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์แต่พวกเขาไม่มีใครเลยที่บอกว่าถูกลักพาตัวหรือถูกข่มขู่ให้ทำ นักวิจัยอื่นๆ ก็พบแบบเดียวกัน แน่นอนว่าสาเหตุที่เด็กเหล่านี้ต้องการเดินทางเป็นผู้อพยพออกจากประเทศก็เพราะต้องการไปหาเงินเหมือนกับทุกคนที่ยังอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยม อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ไม่ได้ยากจนข้นแค้นในระดับอดอยากจนเกิดวาทกรรมว่า "ยากจนจนต้องขายลูก" มีคนที่จนขนาดหนักเช่นนี้อยู่น้อย แต่ทุกคนแค่ต้องการเงินเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียน ค่าเตรียมพร้อมแต่งงาน หรือแค่อยากแบ่งเงินช่วยเหลือทางบ้าน ซึ่งต่างจากการใช้คำว่า "ขาย" พวกเขาไป

หรือบางทีแล้วปัญหาเหล่านี้จะมาจากการใช้คำแบบ "กระตุ้นเร้าความรู้สึก" (sensationalist) มากเกินไปในมุมมองของฮาเวิร์ด เขามองว่าเอ็นจีโอ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติและสื่อที่เผยแพร่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับคนกลุ่มนี้มากพอ และไม่ได้เข้าใจชีวิตของคนที่พวกเขาพูดถึง แต่พวกเขากลับมีสิ่งที่ฮาเวิร์ดเรียกว่า "อำนาจในการกำหนดความหมาย" จากถ้อยคำชวนให้เกิดความรู้สึกของพวกเขาโดยไม่มีใครตั้งคำถาม

นอกจากนี้เด็กเหล่านี้ยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงถูกกระทำจนทำให้คนอื่นคิดแทนเขาว่าไม่ควรทำงานหรือเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน และตีตนไปก่อนล่วงหน้าว่าพวกเขาเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ จากนั้นก็หันไปโทษผู้ปกครองพวกเขาว่าไร้ความรับผิดชอบ โทษรัฐที่อ่อนแอ หรือเรื่องความยากจนแบบนามธรรมๆ นักข่าวที่สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สหประชาชาติก็เลยคิดแบบนี้ตามไปด้วย

ปัญหายังอาจจะมาจากทัศนคติที่ดึงดูดต่อกระแสนิยมเองด้วย เช่น คนทำงานให้สหประชาชาติรายหนึ่งยอมรับว่าการนำเสนอเรื่องราวของเด็กยากจนที่อพยพเพราะความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ-การเมืองมันไม่ขายให้คนมาสนใจมากเท่าเรื่องการค้าทาสค้ามนุษย์ ซึ่งฮาเวิร์ดมองว่ามันเป็นปัญหาการสร้างภาพลักษณ์ว่าแอฟริกายังล้าหลังเพื่อกลบเกลื่อนว่าปัญหาความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ-การเมืองยังมีอยู่ เพราะส่วนใหญ่แล้วเรื่องนี้จะขายคนผิวขาวผู้เสพสื่อตะวันตกซึ่งมีโอกาสจะบริจาคมากกว่า

ฮาเวิร์ดเชื่อว่าองค์กรต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องนี้ไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่มันก็สร้างผลกระทบในแง่ลบกว่าเดิม มันยังเป็นเรื่องของการใช้สายตา "จับจ้อง" ตีความ (gaze) จากคนนอกที่เป็นการลดพลังของผู้คนที่ถูกจับจ้องตีความรวมถึงเป็นการแยกส่วนสภาพชีวิตผู้คนเหล่านี้ให้ดูไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และทำให้ความเจ็บปวดกับการกดขี่กลายเป็นเรื่องรายบุคคลแทนที่จะชวนให้มองถึงระบบโครงสร้างของโลกที่ทำให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความหวังดีกลายเป็นส่งผลร้ายในประเด็นเกี่ยวกับเด็ก ก่อนหน้านี้ในช่วงคริสตทศวรรษ 1990s วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ทอม ฮาร์คิน ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านการใช้แรงงานเด็กได้ออกข้อกำหนดสั่งแบนการนำเข้าสิ่งทอจากบังกลาเทศจนกว่าพวกเขาจะแสดงให้เห็นว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แม้จะเป็นการพยายาม "ช่วยเหลือ" แต่ข้อกำหนดของฮาร์คินกลับส่งผลให้เด็กถูกเลย์ออฟจำนวนมากแล้วก็อยู่ในสภาพเลวร้ายกว่าเดิม หลายคนกลายเป็นคนเร่ร่อน ไปทำงานบริการทางเพศ หรือทำงานในโรงงานที่อันตรายกว่า อยู่นอกเหนือการสำรวจมากกว่า ฮาเวิร์ดตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ฮาร์คินควรทำน่าจะเป็นให้บรรษัทสหรัฐฯ ซื้อจากโรงงานบังกลาเทศโดยมีข้อเรียกร้องเพิ่มสิทธิแรงงานให้กับเด็กและยืนยันว่าเด็กจะได้รับรายได้เหมาะสมมากกว่าหรือไม่ แทนการมองและตีความให้เป็นไปตามใจตัวเอง ฮาเวิร์ดแนะนำว่าสื่อควรจะคลุกคลีกับเรื่องราวที่พวกเขานำเสนอมากกว่านี้ รวมถึงควรคำนึงถึงโครงสร้างอำนาจและการกีดกันในระดับโลกที่เป็นชีวิตภายใต้ระบบเสรีนิยมใหม่ สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

 

 

เรียบเรียงจาก

When NGOs save children who don't want to be saved, Neil Howard, Aljazeera, 27-04-2017
http://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2017/04/ngos-save-children-don-saved-170425101830650.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท