ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้อง รบ.ทหาร เปิดเผยที่อยู่และปล่อยตัว ทนายประเวศ

ประเวศ ประภานุกูล

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ได้แถลงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยควรเปิดเผยข้อมูลโดยทันทีเกี่ยวกับที่อยู่ของ ประเวศ ประภานุกูล ทนายความสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง และผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ซึ่งหายตัวไปหลังจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้บุกตรวจค้นบ้านของเขาที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2560

โดย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ทางการยังไม่ออกมายอมรับว่ามีการจับกุมและควบคุมตัวเขา ทำให้เกิดข้อกังวลอย่างร้ายแรงว่าเขาอาจตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย

“รัฐบาลทหารไทยควรเปิดเผยที่อยู่ของนายประเวศโดยทันที และให้ปล่อยตัวเขาหากไม่มีการตั้งข้อหาตามฐานความผิดที่น่าเชื่อถือ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การควบคุมตัวแบบลับต่อทนายความสิทธิ ผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และผู้เห็นต่างอื่น ๆ ทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวในประเทศไทย และทำให้เกิดปฏิกิริยาด้านลบจากนานาประเทศ"
 
เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นรัฐบาลทหาร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารจากกองร้อยรักษาความสงบที่ 1 (ร.อ.พัน 1รอ.) และตำรวจจากสถานีตำรวจบางเขน ได้บุกตรวจค้นบ้านของนายประเวศในตอนเช้า จากบันทึกการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ระบุว่า มีการยึดคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ แฟลชไดรฟ์ โทรศัพท์มือถือ ซีดีซึ่งมีรายการทางการเมือง และเสื้อยืดที่มีข้อความทางการเมืองหลายตัว อย่างไรก็ดี ไม่มีการประกาศแจ้งอย่างเป็นทางการว่ามีการจับกุมหรือควบคุมตัวนายประเวศแต่อย่างใด
 
ประเวศ อายุ 57 ปี เป็นทนายความสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง เขาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับสมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “กลุ่มคนเสื้อแดง” ในคดีที่เป็นผลมาจากการปะทะกันทางการเมืองเมื่อปี 2553 เขายังทำหน้าที่ทนายความให้กับ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ซึ่งต่อมาศาลลงโทษฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
 
นับแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารได้ควบคุมตัวบุคคลหลายร้อยคน รวมทั้งนักการเมือง นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการประท้วงและกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลทหาร ผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลพลเรือนของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ถูกโค่นล้มจากอำนาจ รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าแสดงความเห็นในเชิงที่ไม่เคารพหรือดูหมิ่นต่อสถาบันกษัตริย์ ตรงข้ามกับข้อกล่าวอ้างของรัฐบาลทหารที่ว่าหน่วยงานของทหารยึดมั่นตามขั้นตอนปฏิบัติของกระบวนการอันควรตามกฎหมายในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัวบุคคล ที่ผ่านมาผู้ถูกควบคุมตัวหลายคนให้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงปฏิบัติอย่างมิชอบต่อพวกเขาระหว่างการจับกุม มีการควบคุมตัวพวกเขาโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกในค่ายทหาร และมีการสอบปากคำโดยไม่สามารถเข้าถึงทนายความ
 
ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 หน่วยงานทหารมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลแบบลับเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่มีข้อหา และสามารถสอบปากคำบุคคลโดยไม่สามารถเข้าถึงทนายความหรือไม่มีหลักประกันเพื่อป้องกันการปฏิบัติมิชอบแต่อย่างใด ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารมักบอกปัดข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ทรมานผู้ถูกควบคุมตัว แต่ก็ไม่สามารถให้หลักฐานใด ๆ เพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
 
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้แสดงข้อกังวลอย่างจริงจังเสมอมาเกี่ยวกับการควบคุมตัวแบบลับโดยกองทัพในประเทศไทย เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงที่บุคคลจะถูกบังคับให้สูญหาย ถูกทรมาน และถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อบุคคลถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกในที่ทำการของทหาร
 
ในจดหมายจากฮิวแมนไรท์วอทช์ถึงรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 เราได้แสดงข้อกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับสภาพการควบคุมตัวในมณฑลทหารบกที่ 11 ซึ่งมักเป็นสถานที่ที่ใช้ควบคุมตัวบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง เราเขียนจดหมายดังกล่าวภายหลังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเสียชีวิตของหมอดูอย่างนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ และพ.ต.ต. ปรากรม วารุณประภาในระหว่างการควบคุมตัวที่นั่น
 
ตามกฎหมายระหว่างประเทศ การบังคับบุคคลให้สูญหายหมายถึงการจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยเจ้าพนักงานของรัฐหรือหน่วยงานที่เป็นตัวแทน และต่อมาได้ปฏิเสธไม่ยอมรับว่ามีการควบคุมตัวดังกล่าว หรือไม่เปิดเผยชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคล การบังคับบุคคลให้สูญหายละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนานัปการที่ได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี รวมทั้งข้อห้ามต่อการจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ การทรมานและการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย นับแต่ปี 2523 คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances) ได้เก็บข้อมูล 82 กรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการคลี่คลายกรณีใดจนแล้วเสร็จเลย
 
ที่ผ่านมาฮิวแมนไรท์วอทช์ได้กระตุ้นรัฐบาลไทยทุกคณะในเรื่องนี้ รวมทั้งเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2560 เราได้มีจดหมายไปถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย (Convention for Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นฐานความผิดอาญาอย่างหนึ่ง ฮิวแมนไรท์วอทช์ แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารจะให้ความเห็นชอบต่อการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม แต่ทางสนช.ได้ปฏิเสธที่จะพิจารณาร่างกฎหมายที่จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรมเพื่อเอาผิดกับการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย
 
“คำสัญญาของรัฐบาลทหารไทยที่จะเคารพสิทธิ ที่ให้ไว้กับหน่วยงานสหประชาชาติและหน่วยงานอื่น ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ จึงฟังดูว่างเปล่ามากยิ่งขึ้น” อดัมส์ กล่าว “รัฐบาลประเทศที่เกี่ยวข้องควรกดดันพลเอกประยุทธ์ให้ยุติการจับกุมโดยพลการ การควบคุมตัวแบบลับ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยให้ปล่อยตัวนายประเวศและบุคคลอื่น ๆ ที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบทั้งหมด” 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท