Skip to main content
sharethis

เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเติบโตขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อท่ามกลางการคว่ำบาตรจากนานาชาติ สะท้อนความสัมพันธ์ของรัฐเผด็จการกับสังคม นายทุน ตลาดเสรี การศึกษา กลุ่มนายทุนอภิสิทธิ์ที่มีสัมพันธ์อันดีกับรัฐประกอบกิจการเป็นล่ำเป็นสัน ขณะที่งานวิจัยประเมินว่าชาวเกาหลีเหนือร้อยละ 40 เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจภาคเอกชน ซึ่งมีอัตราส่วนใกล้เคียงกับโปแลนด์และฮังการียุคหลังโซเวียตล่มสลาย

ภาพเผยแพร่ของสื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือเมื่อ 18 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่าเป็นภาพครอบครัวของนักวิจัยเกาหลีเหนือย้ายเข้าที่พักใหม่ซึ่งรัฐจัดไว้ให้ (ที่มา: แฟ้มภาพ/Uriminzokkiri)

ภาพเผยแพร่ของสื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือเมื่อ 18 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่าเป็นภาพครอบครัวของนักวิจัยเกาหลีเหนือย้ายเข้าที่พักใหม่ซึ่งรัฐจัดไว้ให้ (ที่มา: แฟ้มภาพ/Uriminzokkiri)

รายงานของนิวยอร์กไทม์ ระบุว่า เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือดีขึ้นในระยะห้าปีหลังจากที่คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนล่าสุดเถลิงอำนาจ ชนชั้นนายทุน ชนชั้นค้าขายกำลังเติบโตขึ้นภายใต้การคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยที่ในกรุงเปียงยาง เมืองหลวงของประเทศมีการก่อสร้าง เริ่มมีรถวิ่งบนถนนเยอะขึ้น

แม้ไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เชื่อถือได้ แต่ผู้ที่หลบหนีออกมา และนักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเศรษฐกิจเกาหลีเหนือก็กล่าวว่า แรงจากตลาดกำลังก่อตัวขึ้นอีกครั้งในเกาหลีเหนือ ถือเป็นพัฒนาการที่ทำให้ท่านโครงการนิวเคลียร์ของท่านผู้นำถูกหยุดยั้งได้ยากขึ้น เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมกับรัฐบาลจีน มีแนวทางที่จะคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพื่อหยุดยั้งโครงการพัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ การเติบโตของเศรษฐกิจกลับทำให้เกาหลีเหนือมีทุนรอนในการดำเนินโครงการต่อ และลดแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรได้ด้วย

เศรษฐกิจเกาหลีเหนือเติบโตราวร้อยละ 1-5 ต่อปี ถือเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่เร็ว อย่างไรก็ดี การให้บริษัทเอกชนขยายตัว โอนอ่อนตามแรงตลาด ทำให้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ถูกวางไว้เป็นนโยบายหลักของคิมจองอึนควบคู่กับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 2556 กลายเป็นบททดสอบสถานภาพการเป็นรัฐสังคมนิยมที่ควรเป็น “สังคมไร้ชนชั้น” โดยที่ผ่านมามีสัญญาณว่าตลาดกำลังลดทอนอำนาจการยึดกุมสังคมของรัฐบาลเปียงยางลง ข้อมูลข่าวสารได้ไหลเข้าประเทศพร้อมกับสินค้าจากต่างประเทศ ผนวกกับการที่ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตโดยไม่พึ่งพาระบบเศรษฐกิจของรัฐ ทำให้ความยึดโยงระหว่างประชาชนกับชนชั้นนำตระกูลคิมลดลง คิมจินฮี หนึ่งในผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือเมื่อปี 2557 กล่าวถึงทัศนคติที่มีต่อรัฐบาลว่า “ถ้าคุณเลี้ยงดูเราไม่ได้ก็ไม่ต้องมายุ่งกับเรา เราจะได้เลี้ยงชีพตัวเองด้วยระบบตลาด”

กิจการเถื่อนที่รัฐไม่รับรอง

คิมจินฮีเล่าว่า ช่วงทศวรรษ 90 เป็นช่วงที่มีภัยแล้งสลับกับน้ำท่วม รวมถึงการสูญเสียการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ทำให้รัฐบาลเกาหลีเหนืองดการแจกจ่ายสวัสดิการอาหาร ชาวเกาหลีเหนือในเมืองมูซานเลือกที่จะไม่ไปทำงานกับรัฐ แล้วหันไปค้าขายอะไรก็ตามที่ขายได้ เมื่อช่วงข้าวยากหมากแพงจบลง ร้านค้าในเมืองมูซานมีจำนวนนับพันร้านเบียดเสียดกันไปหมด

ที่แล้วมา อดีตผู้นำ คิมจองอิล บิดาของคิมจองอึน มีท่าทีลังเลกับเรื่องตลาด เขาใช้ตลาดเป็นเครื่องมือเพิ่มเสบียงอาหาร ลดแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และสหประชาชาติ ในขณะที่บางครั้งเขาก็เลือกที่จะปราบปรามกิจการพวกการค้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในปี 2553 จำนวนตลาดที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลมีถึง 440 แห่ง ภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าขนาดของตลาดขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ผลจากการศึกษาของสถาบันเกาหลีเพื่อการรวมชาติ (Korea Institute for National Unification) ในกรุงโซลรายงานว่า ประชากรจำนวน 1.1 ล้านจาก 25 ล้านคนมีอาชีพค้าปลีกหรือเป็นผู้จัดการอยู่ในตลาดเหล่านี้ ในขณะที่ลีบุงโฮ ผอ.หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้กล่าวกับสภานิติบัญญัติเป็นวาระลับว่า กว่าร้อยละ 40 ของประชากรเกาหลีเหนือล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจเอกชน อัตราส่วนเทียบเท่าโปแลนด์และฮังการีหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย

นอกจากนี้ ตลาดที่ไม่ได้รับการรับรองก็เติบโตขึ้นเช่นกัน มีคนทำรองเท้า เสื้อผ้า ของหวานและขนมปังจากบ้านมาขาย มีตลาดขายผลิตผลทางการเกษตรทุกๆ 10 วันตามชนบท ทั้งยังมีคนลักลอบนำสินค้าจากตลาดมืดมาขาย เช่น ภาพยนตร์ฮอลลีวูด ซีรียส์เกาหลีใต้ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่สามารถใช้โทรได้ตามชายแดนจีน

โดยแรงขับส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการซื้อขายในตลาดมาจากความไม่พอใจแผนเศรษฐกิจของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ยืดหยุ่น สมัยก่อน ชาวเกาหลีเหนือเคยทำงานอยู่ในโรงงานหรือที่นาของรัฐ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและคูปองแลกอาหารและเครื่องใช้จำเป็นจากร้านค้าของรัฐ แต่เมื่อระบบดังกล่าวล่มสลายลงในทศวรรษที่ 1990 สิ่งที่ชาวเกาหลีเหนือได้รับคือเงินเดือนเดือนละไม่ถึงหนึ่งเหรียญสหรัฐ “ถ้าคุณเป็นคนเกาหลีเหนือธรรมดาๆ แล้วคุณไม่หากินกับตลาด คุณก็มีโอกาสที่จะหิวตาย” คิมนัมชอล หนึ่งในผู้หลบหนีจากเกาหลีเหนือ ผู้เคยหารายได้จากการลักลอบนำสินค้าจากเกาหลีเหนือไปขายที่จีนกล่าว

 

การแข่งขันมีอยู่ทุกหัวระแหง

ทัศนียภาพของกรุงเปียงยาง มองจากโรงแรมยังกักโด ภาพถ่ายในปี 2012
(ที่มา: แฟ้มภาพ/MarsmanRom/
Wikipedia)

คิมยังฮี ผู้อำนวยการแผนกเศรษฐกิจเกาหลีเหนือ จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลีกล่าวว่า ทุกวันนี้สินค้ากว่าร้อยละ 80 ที่ชาวเกาหลีเหนือใช้กันมาจากจีน ซึ่งคิมจองอึนได้พยายามลดภาระการพึ่งพาจีนด้วยการพยายามกระตุ้นให้เกิดการผลิตสินค้าขึ้นมาเองในประเทศ โดยผู้หลบหนีผู้หนึ่งได้บอกว่ามาตรการดังกล่าวทำให้ส่วนแบ่งสินค้าที่ผลิตจากเกาหลีเหนือมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ผู้ที่เดินทางไปกรุงเปียงยางจะพบว่าเศรษฐกิจบริโภคนิยมกำลังเติบโตขึ้น มีการแข่งขันในหลายภาคธุรกิจไม่ว่าจะเป็นบริษัททัวร์ แท็กซี่และร้านอาหาร มีการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าเพราะรัฐไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ ในตลาดเถื่อนมีการขายน้ำอัดลมโคคา-โคล่า ที่รัฐบาลขนานนามว่าเป็น “น้ำโสโครกแห่งทุนนิยม”

 

รัฐบาลโสมแดงซบภาคเอกชน

คิมจองอึน ให้อิสระโรงงานของรัฐในการเลือกสินค้าที่จะผลิต รวมถึงปล่อยให้ทางการหาแหล่งวัตถุดิบและลูกค้าอย่างอิสระ ขอแค่สร้างรายได้ตามเป้า ประชาชนเองสามารถเก็บผลผลิตที่ทำเกินโควตาเอาไว้ได้ มาตรการดังกล่าวมีส่วนคล้ายคลึงกับจีนในช่วงที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทุนนิยมในทศวรรษที่ 1980 แต่เกาหลีเหนือมักบอกว่าเป็น “การจัดการเศรษฐกิจในสไตล์ของพวกเรา”

อย่างไรก็ตาม ผู้หลบหนีคนหนึ่งได้รายงานว่า โรงงานมักมีปัญหาจากสภาพเครื่องจักรและไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ส่วนชาวไร่ชาวนาก็ขาดปุ๋ยและเครื่องมือการเกษตรที่ทันสมัย ทำให้ต้องดิ้นรนอย่างหนักกว่าจะทำผลผลิตครบตามโควตา และในภาพใหญ่สภาพเศรษฐกิจที่ยังคงมีความตึงเครียดเนื่องจากมีการลงทุนจากต่างชาติน้อย ทั้งยังไม่มีกลไกทางกฎหมายมาคุ้มครองธุรกิจเอกชนและการบังคับใช้สัญญา ซ้ำร้าย โครงสร้างภายในประเทศและการมีประวัติที่รัฐยึดครองสินทรัพย์ของชาวต่างชาติ ทำให้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษยังอยู่แค่บนแผ่นกระดาษ

ชามุนซอก นักวิจัยจากสถาบันศึกษาการรวมชาติแห่งเกาหลีใต้ (Institute for Unification Education of South Korea) ประเมินว่าว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือสามารถจัดเก็บภาษีจากตลาดที่มีอยู่ในกำกับได้เป็นจำนวนถึงวันละ 220,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีรายงานว่า ทางการได้ออกคำสั่งให้ประชาชนที่ขายสินค้าตามบ้านย้ายไปขายตามตลาดที่รัฐจัดไว้เพื่อให้เก็บภาษีได้มากขึ้น “ทางการก็ต้องการตลาดเท่าๆ กับที่ประชาชนต้องการนั่นแหละ” คิมจองเอ อดีตนักโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ที่ปัจจุบันหลบหนีมาเป็นนักข่าวอยู่ในกรุงโซลกล่าว

คิมจองเอ กล่าวถึงชนชั้นในเกาหลีเหนือที่เรียกว่า “ดอนจู” หรือที่นักวิชาการชาวเกาหลีใต้เรียกว่า “นายทุนแดง”ว่าเป็นชนชั้นที่ทำการค้าขายและนักธุรกิจที่เพิ่งโตขึ้นมา ดอนจูจะลงทุนในโครงการก่อสร้าง ร่วมลงทุนกับจีนเพื่อจัดหาสินค้ามาให้ตลาด “ดอนจู” มักได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งบางคนก็เป็นญาติกัน ดอนจูส่วนหนึ่งมีเชื้อสายจีน ซึ่งได้รับการอนุญาตให้เดินทางเข้าจีนและการทำธุรกรรมข้ามแดนได้ และมีบางส่วนเป็นกลุ่มคนที่ได้รับเงินจากญาติที่หนีไปอยู่เกาหลีใต้ โดยดอนจูมักถูกคาดหวังจากรัฐบาลเมื่อมีการจัดทำโครงการใหญ่ๆ ให้ทำ “การบริจาคเพื่อแสดงความจงรักภักดี (Loyalty donation)” โดยจะได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญตราและประกาศนียบัตรที่ถือเสมือนเป็นเครื่องหมายว่าพวกเขาได้รับการคุ้มครองเมื่อทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย

เคยมีมาตรการกุมบังเหียนเหล่าดอนจูก่อนที่คิมจองอึนจะขึ้นมามีอำนาจ ด้วยการบังคับให้ประชาชนซื้อสินค้าจากร้านค้าของรัฐเท่านั้น ประกาศห้ามใช้สกุลเงินต่างประเทศ ประกาศใช้ธนบัตรแบบใหม่และจำกัดจำนวนเงินที่สามารถแลกเป็นธนบัตรใหม่ได้ ถือเป็นการทำลายความมั่งคั่งที่เหล่าดอนจู รวมไปถึงสามัญชนคนธรรมดาที่สะสมกันมา การซื้อขายหยุดชะงัก ราคาสินค้าพุ่งสูง และมีการประท้วงตามเมืองต่างๆ จนท้ายที่สุดรัฐบาลต้องผ่อนปรนนโยบายดังกล่าว รวมถึงประหารชีวิตปักนัมกี เจ้าหน้าที่การคลังระดับสูง และหนึ่งปีหลังจากนั้น ปักปองจู อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกไล่ออกเพราะว่าผลักดันนโยบายที่พึ่งพาตลาด ถูกเรียกกลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง สะท้อนว่ารัฐบาลไม่สามารถกดขี่ตลาดเอาไว้ได้อีกต่อไป

และเมื่อตลาดพัฒนาขึ้น ชาวเกาหลีเหนือหลายต่อหลายคนจะเห็นผลิตภัณฑ์จากโลกภายนอกที่มีคุณภาพดีกว่า และอาจจะตั้งคำถามกับความล้าหลังของชาติตนเอง

จุงกวางอิล ผู้นำของกลุ่มผู้หลบหนีในกรุงโซลนามว่า ไร้พันธนาการ (No Chain) กล่าวว่า“ชาวเกาหลีเหนือพูดถึงปู่และพ่อของคิมจองอึนว่าเป็น ‘ผู้นำที่ยิ่งใหญ่’ หรือไม่ก็ ‘นายพล’...ตอนนี้เวลาพวกเขาคุยกัน หลายคนเรียกคิมจองอึนว่า ‘เด็กน้อย’ พวกเขากลัวคิมจองอึนแต่ไม่ได้เคารพเขาเลย”

“เขาพูดกันว่า เขา (คิมจองอึน) เคยทำอะไรให้พวกเราบ้าง” จุงกวางอิลกล่าว

 

แปลและเรียบเรียงจาก

As Economy Grows, North Korea’s Grip on Society Is Tested By CHOE SANG-HUN, The New York Times, APRIL 30, 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net