Skip to main content
sharethis
ป.ป.ท. และ ACT ร่วมร่างกฎหมายเอาผิดจับคนโกงทุกทาง กระตุ้น ปชช.ทราบแนวทางแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ตาม รธน. ม.63เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะ แนวทางมาตรการและกลไกที่ควรกำหนดไว้ในกฎหมาย ที่จะเรียกว่าเป็น “กฎหมายรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันโดยประชาชน” อย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แจ้งว่า  2 พ.ค. 2560 ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาเรื่อง “ร่วมเขียนกฏหมายต้านโกง ให้ถูกใจคนไทย” เรื่อง พ.ร.บ. การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ต้องออกใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ม. 63

อนุสิษฐ คุณากร ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ จาก สำนักงาน ป.ป.ท. กล่าวว่า การทุจริตถูกยอมรับว่ามีความสำคัญจนได้รับการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อม ในการป้องกัน ตรวจสอบ และป้องปรามได้ จำเป็นต้องมีประเด็นที่จะช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยป้องกันการทุจริตเป็นสำคัญ เช่น การได้มาซึ่ง สภาวุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้ง ศาลร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน การพิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การปกป้องคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และ การจัดตั้งกองทุนสนับสนุนภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นต้น

พร้อมกล่าวเพิ่มเติมถึงสิทธิของประชาชน ที่สามารถรวมตัวกันจำนวน 15 คน ขึ้นไป เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองปกป้องจากภาครัฐ กรณีมีการชี้เบาะแสการทุจริต รวมถึงการจัดตั้งกองทุน เพื่อใช้ในการต่อสู้คดี เป็นต้น 

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  กล่าวว่า เดิมมีความเชื่อว่าจะเล่นงานคนโกง ต้องมีหน่วยงานที่เข้มแข็ง มีเจ้าหน้าที่เยอะ ๆ มีกฎหมายแรง ๆ ลงโทษหนัก ๆ ถึงขั้นประหารชีวิต ถึงจะกำจัดการโกงคนโกงได้ แต่บทเรียนที่ผ่านมา การโกงมันซึมลึกทุกพื้นที่ ต่อให้มีกฎหมายที่เข้มแข็งมากแค่ไหน ก็ยังแก้ปัญหาการคอร์รัปชันไม่ได้

มานะ ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมภาคประชาชนถึงขาดความเข็มแข็งในการต่อต้านคอร์รัปชัน นั่นเพราะถูกขมขู่จากเจ้าหน้าที่ และ ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล จนประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย กลัว หรืออาจถูกอุ้ม เพื่อปิดปากจนเลิกลาในที่สุด จึงเป็นแนวคิดของกฎหมายป้องกันการ “ปิดปาก” Anti-SLAPP Law  นอกจากนี้การเข้าถึงข้อมูล ประชาชนไม่สามารถสืบค้นได้ละเอียดและลึก ในการที่จะสืบเสาะหาความจริงในเรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ  ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องสนับสนุนให้ประชาชนเข้าใจสิทธิความเป็นพลเมืองอย่างแท้จริง รวมทั้งการปกป้องคุ้มครองประชาชนในกรณีของการชี้เบาะแส เป็นต้น

ต่อมาได้มีการจัดกลุ่ม “ร่วมเขียนกฎหมายต้านโกง” เพื่อรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) ต่อร่างกฎหมายว่าด้วยการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต เกี่ยวกับ “ร่าง พ.ร.บ. การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ” แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเครือข่ายสมาชิกองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและนักธุรกิจ 2. กลุ่มนักวิชาการ 3. กลุ่มเครือข่ายพลเมืองธรรมาภิบาล และ 4. กลุ่ม ศปท.และหน่วยงานภาครัฐ  จากการทำประชาพิจารณ์ได้ข้อสรุป 4 ประเด็นหลักๆ ดังนี้

1. คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ควรมีองค์ประกอบและสัดส่วนของผู้ที่จะมาร่วมทำงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีความสมดุลกัน และ ประชาชนต้องมีสิทธิเท่าเทียมกับเจ้าหน้าที่รัฐ

2. การมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐต้องส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน  มีคู่มือที่ให้นักเรียน ข้าราชการใหม่ ปลูกฝังความคิดเรื่องธรรมภิบาลความหมายของประชาน ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้  กรณีการชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบ กฎหมายต้องมีฤทธ์เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทอย่างจริงจัง และเปิดกว้างให้สามารถตรวจสอบร้องเรียนและติดตามผลได้   

3. มาตรการการคุ้มครองและช่วยเหลือ กรณีผู้ชี้เบาะแสเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ เอกชน ผู้บังคับบัญชาได้ย้ายไปที่อื่น ควรได้อยู่ในระดับเดียวกันและค่าตอบแทนเท่ากัน พร้อมการคุ้มครองปกป้องพยานอย่างเข้มแข็ง เต็มที่ ในทุกช่องทาง

4.  กองทุนรณรงค์ต่อต้านการทุจริต ควรกำหนดวัตถุประสงค์ และ การบริหารจัดการกองทุนให้ชัดเจน งบประมาณควรมาจากภาษีประชาชน ไม่ผ่านระบบสภา ฯ โดยมีทั้งรัฐและเอกชนเข้ามาดูแลในสัดส่วนที่เท่ากัน และ ควรให้เครือข่ายภาคประชาชนสามารถนำเงินในกองทุนไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

สรุป  การร่างกฎหมายฉบับนี้นับเป็นเครื่องมือของประชาชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประชาชน ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่จะกำหนดชัดเจนเท่านี้อีกแล้ว วันนี้คือวันเริ่มต้นในการเห็นเครื่องมือของประชาชนในอนาคตที่จะสู้กับการทุจริต เพราะการทุจริตนี้ครอบงำรัฐบาล ครอบงำกลไกของรัฐในทุกระดับจนทำให้เกิดการสูญเสียที่มาจากอำนาจมืด ดังนั้น เครื่องมือตัวนี้ จะเป็นกฎหมาย เป็นตัวคุ้มครองป้องกันประชาชนอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net