ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่การคุมรัฐบาล 20 ปีและที่ทางของประชาชน บัณฑูร เศรษฐศิโรตน์

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ระบุยุทธศาสตร์ชาติเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการต่อเนื่องของนโยบาย วางแผนระยะยาว และลดความเป็นการเมือง ย้ำไม่ได้มีเพื่อควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้งและสามารถเปลี่ยนได้ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ร่างจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นจุดสำคัญ ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนตาม รธน.ม.65 ให้ได้ ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดหลักการ

20 เมษายนที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... กฎหมายที่นักวิเคราะห์การเมืองมองว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ใช้ควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้งในอนาคต ซึ่งในสายตาของบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอนุกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีมุมมองที่ต่างออกไป

ประชาไทพูดคุยกับบัณฑูรว่า กฎหมายตัวนี้สำคัญอย่างไรต่อหน้าตาของยุทธศาสตร์ชาติและมันจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. หรือไม่

1

พื้นฐานความคิดของการมียุทธศาสตร์ชาติมาจากสภาพการเมืองไทยที่ผ่านมา ที่นโยบายการพัฒนามักขาดความต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยขาดทิศทางและยุทธศาสตร์ที่จะมุ่งไป ไม่อาจรับมือกับเทรนด์ใหญ่ๆ ของสังคมและโลกได้ ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ไม่มีสภาพบังคับ ทำให้หน่วยงานราชการและรัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

“สปช. จึงเริ่มยกร่างกฎหมายว่าด้วยการวางยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่บอกว่าใครเป็นคนทำ องค์ประกอบเป็นใครบ้าง ถ้าจะมีส่วนร่วมทำอย่างไร ทำขึ้นมาแล้วต้องเสนอสภา ถ้าจะแก้กติกาคืออะไร กฎหมายจะวางแค่ตรงนั้น ส่วนเนื้อที่เป็นตุ๊กตา เริ่มร่างจากมติคณะรัฐมนตรีที่ว่า กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและกรอบการปฏิรูปที่มีนายกเป็นประธาน เป็นคนทำเนื้อหา ต่อเนื่องกับจังหวะปัจจุบัน ต้องปรับแต่งข้อมูลใหม่ เพราะมีไอเดียการกำกับทำงาน พอ สปช. ยุบ กฎหมายตกไป พอตั้ง สปท. (สภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ยงยุทธ สาระสมบัติ เข้ามาจึงผลักดันเรื่องนี้ต่อ นำกฎหมายมาปรับปรุง วิพากษ์วิจารณ์ ว่าลงโทษรุนแรงเกินไปมั้ย ปรับเป็นเวอร์ชั่นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งเพื่อเดินต่อ ส่งต่อรัฐบาล มีการปรับใหญ่พอสมควร จนเป็นร่างล่าสุด ที่เข้า สนช. เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ที่มีรายละเอียด ว่าด้วยขั้นตอนกระบวนการ กติกาการทำยุทธศาสตร์ชาติ”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือเอสดีจี (Sustainable Development Goals: SDG) ของสหประชาชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2558 มีเป้าหมาย 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ตัวชี้วัด เอสดีจีเกิดขึ้นภายหลังแนวคิดการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติไม่นาน ทำให้การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้ผนวกรวมแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปด้วย เพื่อเป็นกรอบคิด ทิศทาง และตัวชี้วัดการพัฒนา เช่น การขจัดความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ ความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น อีกทั้งบัณฑูรยังเห็นว่าจะช่วยอธิบายกับสังคมและลดความเป็นการเมืองของยุทธศาสตร์ชาติได้ดียิ่งขึ้นว่านี้ไม่ใช่เรื่องของ คสช.

กระบวนการคือภายใน 120 หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะต้องออกกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งก็คือร่าง พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... เมื่อกฎหมายดังกล่าวออกมาแล้ว จะมีเวลาอีก 1 ปีสำหรับกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติออกมา ซึ่งในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า ในกฎหมายจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง

2

ยุทธศาสตร์ชาติซึ่งถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย โดยกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ บัณฑูรยกตัวอย่างว่าถ้ายุทธศาสตร์เขียนไว้ว่าประเทศไทยจะเป็นครัวโลก รัฐบาลที่เข้ามาบอกว่าเราจะเป็นดีทรอยส์แห่งเอเชีย แบบนี้กระทบกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ถ้าหลักฐานงานศึกษาบอกว่าการทำเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์มีผลกระทบต่อการเป็นครัวโลกแบบนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหา

“ไม่ได้บอกว่า รัฐบาลทำอย่างอื่นไม่ได้ รัฐบาลอาจบอกว่าอยากทำให้ประเทศไทยเป็นภาคบริการสุขภาพ ไม่กระทบกับครัวโลกก็เดินไปคู่ด้วยกันได้ ไม่ได้บังคับไปหมด ถามว่าเปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนได้ กติกาเขียนไว้ในร่างฉบับที่เข้ารัฐสภา กรรมการยุทธศาสตร์ชาติขอเปลี่ยนส่งไปที่คณะรัฐมนตรี รัฐบาลเห็นด้วย รัฐบาลอนุมัติให้เปลี่ยนก็ทำข้อเสนอเปลี่ยนแปลงมา พร้อมทำการศึกษาประกบ เสร็จแล้วจึงขอความเห็นชอบจากสภา เหตุผลคืออะไร เพราะสภาเป็นตัวแทนของประชาชน ยุทธศาสตร์ชาติทำมาจากการมีส่วนร่วมและความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เพราะฉะนั้นถ้าจะเปลี่ยนต้องไปขอความเห็นชอบจากสภา ซึ่งผมเคยเสนอว่าการเปลี่ยนต้องเป็นเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่เสียงเกินกึ่งหนึ่งทั่วไป เพราะเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ถ้าคุณเป็นรัฐบาลคุณได้อยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าคุณจะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติที่มาจากประชาชน คุณต้องใช้เสียงอย่างน้อยสองในสามของรัฐสภา”

"กฎหมายที่เห็นยังไม่มีรายละเอียดของการมีส่วนร่วม มันเขียนไว้ว่า กรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาจะไปกำหนดรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่หลักประกันที่ดีนัก มันควรจะถ่ายหลักคิดหลักการของการมีส่วนร่วมอยู่ใน พ.ร.บ.เลยดีกว่า เพราะน้ำหนักของมาตรา 65 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญคือยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์รัฐบาลไม่ใช่ยุทธศาสตร์ คสช. แต่มาจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน”

ในความคิดของบัณฑูร ยุทธศาสตร์ชาติไม่ควรลงรายละเอียดมาก แต่ควรมองภาพใหญ่และระยะยาวของประเทศ

“ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ไม่ต้องเขียนมาก เขียนเรื่องใหญ่ๆ  ที่มองระยะยาว เป็นเทรนด์ เช่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นตัวแปรสำคัญมาก เราต้องเตรียมรับมือ วางแผนยาวๆ เราจะรับมือมันอย่างไร เรื่องเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานที่เราจะอยู่ได้บนโลกอีก 20 ปีข้างหน้า น่าจะมองที่ฐานของวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจที่ยืนอยู่บนฐานนี้เราจะออกแบบอย่างไร ทำไมเราพูดถึงเป็นเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพเพราะเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอีลีท เป็นเศรษฐกิจที่ทุกคนได้ประโยชน์และแชร์ ชุมชนท้องถิ่น เกษตรกร ชุมชนที่อยู่กับป่า คนที่อยู่กับทะเล เศรษฐกิจแบบนี้มัน Inclusive Growth”

3

ประเด็นที่ถูกจับตามากและอาจจะมากกว่าเนื้อหาของยุทธศาสตร์ชาติคือ มันจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของ คสช. ในการควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บัณฑูรยืนยันว่า ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่การคุมรัฐบาล 20 ปีและสามารถแก้ได้ทุกเมื่อ โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ริเริ่มให้แก้ได้ เขายกตัวอย่างว่าภายใต้โจทย์สังคมผู้สูงวัย ยุทธศาสตร์ชาติที่จะเขียนได้พยายามตอบโจทย์นี้หรือยัง ประเทศไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้นหรือไม่

“ถ้ามีพรรคการเมืองหาเสียงเลือกตั้งว่าประเทศไทยไม่พร้อมที่จะเป็นรัฐสวัสดิการ สังคมผู้สูงวัยมีจริง แต่วิธีแก้ไม่ใช่วิธีนี้ ก็ไปรณรงค์หาเสียงที่ไม่ใช่เรื่องรัฐสวัสดิการ ปรากฎว่าพรรคนี้เข้ามาเป็นรัฐบาลเขาก็ไปแก้และอ้างความชอบธรรมว่ามาจากกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย แบบนี้สังคมต้องมาดีเบตกันว่า เราจะรับมือกับสังคมผู้สูงวัยโดยการใช้ Approach รัฐสวัสดิการหรือใช้วิธีอื่นๆ เปิดเป็นประเด็นสาธารณะ กลับไปที่กติกาเบื้องต้น ไม่ใช่ว่า 20 ปีเปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนได้ตลอด เปลี่ยนโดยปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนกติกาที่ออกแบบไว้ ฉะนั้น ก็ได้เสียงจากประชาชนส่วนใหญ่มาจัดตั้งยุทธศาสตร์ชาติ นี่คือตัวอย่างที่จะบอกว่ามันไม่ใช่การคุม”

การบอกว่าสามารถแก้ไขโดยผ่านกระบวนการรัฐสภา แต่สมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมดย่อมเท่ากับเป็นพรรคของ คสช. โดยปริยาย เช่นนี้แล้วรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างไรบัณฑูร ไม่ปฏิเสธว่า 5 ปีแรกสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ แต่แต่ถ้าพ้นช่วง 5 ปีไปก็เป็นอีกแบบหนึ่งแล้ว

ส่วนใครจะเป็นผู้บอกว่านโยบายของรัฐบาลสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หรือไม่ บัณฑูรตอบว่าคือสภา เพราะรัฐบาลต้องไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า

“หนึ่ง-นโยบายต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ สอง-การจัดสรรงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ฉะนั้น ตัวยุทธศาสตร์ชาติต้องเขียนอะไรเจาะจงพอสมควร ไม่อย่างนั้นกรรมาธิการงบประมาณก็พิจารณาไม่ถูก อันนี้เป็นโจทย์เนื้อหาที่ยาก เอาทางการเมืองออกไปก่อน โจทย์ในทางเนื้อหาต้องเขียนแค่ไหนเราถึงจะรู้ว่าเราจัดสรรงบประมาณสอดคล้อง ถ้าบอกว่าประเทศไทยจะเป็นครัวโลก ประเทศไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการ เพื่อตอบโจทย์ผู้สูงวัย ชัดพอมั้ย ที่จะบอกได้ว่านโยบายรัฐบาลที่เข้ามาสอดคล้องหรือไม่สอดคล้อง ปัจจัยนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อที่จะออกมาว่าจะเขียนแบบใด เพื่อให้จัดสรรงบประมาณได้ วิเคราะห์ได้ และยืดหยุ่นเพียงพอกับการเดินไปของประเทศ มันปรับแก้ได้ตามกติกา ไม่ใช่เขียนแล้วอยู่ไปอีก 20 ปี”

ประชาไทถามว่า เป็นการมองแยกขาดระหว่างเรื่องทิศทางการพัฒนากับการเมืองเกินไปหรือไม่ บัณฑูรตอบว่า

“เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ คนที่ทำงานรู้และตระหนักว่าเมื่อวันที่เริ่มนับหนึ่งนั้นคือการเมืองแน่ๆ เราถึงมองยาว 20 ปี มันพ้นจากการเมืองในช่วงนี้ไปด้วย ตอนนี้มันซ้อนระหว่างเหตุการณ์เฉพาะหน้ากับสิ่งที่ต้องทำในระยะยาว ไม่ปฏิเสธว่ามันเกี่ยวพันกัน ถ้ารับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ไม่ดี ความเชื่อมั่น ความไว้ใจ ความน่าเชื่อถือ กับสิ่งที่มองอนาคตข้างหน้าจะกระทบไปด้วย เช่นวันนี้ต้องทดลองและปรับตัวว่ากับสิ่งที่ซ้อนกันระหว่างสิ่งที่วางอนาคตยาวๆ กับสิ่งที่ต้องสร้างบรรยากาศ ความไว้ใจ ความยอมรับในสิทธิและเสรีภาพ ช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญ ยอมรับว่ายังเห็นภาพไม่ชัดนัก แต่นี่คือช่วงการเปลี่ยนผ่านของจริง”

แต่อีกมุมหนึ่งที่บัณฑูรเห็นว่าต้องระมัดระวังเช่นกันคือ

“ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า เราต้องระวังด้วยว่าวันหนึ่งพรรคการเมืองอาจเข้ามาใช้ยุทธศาสตร์ชาติมาอ้างความชอบธรรม ทำอะไรที่ประชาชนไม่เห็นด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบ เราทดลองกับของที่ไม่เคยเกิดขึ้น ผมคิดว่าปัญหาคงมีหลากหลายแง่มุม เราต้องคิดให้ครบทุก Scenario”

4

บัณฑูรดูจะห่วงประเด็นเนื้อหาของยุทธศาสตร์ชาติน้อยกว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ บัณฑูรแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายล่าสุดที่เพิ่งเข้า สนช. ว่า

“ผมยังไม่ค่อยพอใจนัก เพราะว่าน่าจะเขียนได้ก้าวหน้ากว่านี้ ร่างตัวนี้พูดถึงการรับฟังความเห็นอย่างเดียว การมีส่วนร่วมต้องมีมากกว่าการรับฟังความเห็น ซึ่งระบุไว้ชัดอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ ควรจะเติมระดับการมีส่วนร่วมให้ชัด กฎหมายที่เห็นยังไม่มีรายละเอียดของการมีส่วนร่วม มันเขียนไว้ว่า กรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาจะไปกำหนดรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่หลักประกันที่ดีนัก มันควรจะถ่ายหลักคิดหลักการของการมีส่วนร่วมอยู่ใน พ.ร.บ.เลยดีกว่า เพราะน้ำหนักของมาตรา 65 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญคือยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์รัฐบาลไม่ใช่ยุทธศาสตร์ คสช. แต่มาจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน”

การออกกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จึงถือเป็นจุดสำคัญที่สุด ณ เวลานี้ เพราะจะเป็นตัวกำหนดว่าประชาชนจะร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ชาติตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงยุทธศาสตร์ของ คสช.

“สนช. จะวางกติกาออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับตอนนี้ จะมีการถ่วงดุลอย่างไร ต้องพูดให้ชัดว่ายุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่ยุทธศาสตร์รัฐบาล ถ้าพูดให้ชัดมากกว่านั้น ยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่ยุทธศาสตร์ คสช. เพราะจุดตั้งต้นมาจากจุดที่เราไม่เคยมียุทธศาสตร์ชาติ มีแต่ยุทธศาสตร์รัฐบาล แล้วก็มีปัญหาอย่างที่ว่ามา ฉะนั้นการทำยุทธศาสตร์ชาติคือการทำยุทธศาสตร์ของประเทศ ยุทธศาสตร์ของประชาชน ต้องไม่ใช่ยุทธศาสตร์รัฐบาล ถ้าใช่ก็ผิดเลย ดังนั้น สนช. ต้องทำกติกาตรงนี้ให้ชัด ยุทธศาสตร์ชาติตามมาตรา 65 ในรัฐธรรมนูญคือการมีส่วนร่วมของประชาชน มันคือสัญญาประชาคมอย่างหนึ่ง พรรคการเมืองมีนโยบายเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เขาชนะการเลือกตั้งมา เขาแก้ได้ไหม ผมว่าไปเขียนให้ชัด เพราะมันคือยุทธศาสตร์ของประชาชน มันโยงเรื่องความปรองดองด้วย การสร้างความปรองดองที่จะมองอนาคตร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เราไม่หมุนกลับไปวงจรเดิม ฝ่ายทหารเองก็เห็นว่าเครื่องมือนี้สำคัญที่จะสร้างความปรองดองในเชิงเนื้อหา ให้ทุกภาคส่วนให้ทุกสีเข้ามาใช้กระบวนการตรงนี้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท