Skip to main content
sharethis

อิมาน อัลฮุสเซน นักวิจัยด้านกิจการตะวันออกกลางระบุถึงการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านที่กำลังเกิดขึ้นในซาอุดิอาระเบียในช่วงเวลาพิเศษ โดยที่ผู้หญิงในซาอุดิอาระเบีย มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย กำลังพยายามลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันลง ผู้หญิงที่นี่ก็ใช้ทั้งความรู้ พลังการเคลื่อนไหวทางสังคมและเทคโนโลยีในการเปลี่ยนชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นหลังถูกครอบงำมานาน

ที่มาของภาพประกอบ: วิกิพีเดีย

อิมาน อัลฮุสเซนเปิดเผยว่าซาอุดิอาระเบียกำลังเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันลง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มาจากวิสัยทัศน์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ที่ยังทรงพระเยาว์ ผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมจากการที่ซาอุดิอาระเบีย มีการลดอำนาจของตำรวจศาสนาเป็นครั้งแรกและพยายามเปิดประเทศเพื่อความบันเทิงมากขึ้น โดยกลุ่มประชากรที่มีบทบาทให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือผู้หญิงในซาอุดิอาระเบีย จากขบวนการเคลื่อนไหวร่วมกันขนานใหญ่ผ่านโซเชียลมีเดีย

สาเหตุที่ซาอุดิอาระเบีย กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเช่นนี้อัลฮุสเซนระบุว่าต้องทำความเข้าใจกับสภาพสังคมในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาด้วย จากที่ในช่วงก่อนการบูมด้านทรัพยากรน้ำมัน ผู้หญิงในซาอุดิอาระเบีย เคยต้องทำงานหนักกว่าผู้ชายมาก่อน พวกเธอถูกคาดหวังจากประเพณีดั้งเดิมให้ต้องทำทั้งการดูแลครอบครัวและการหารายได้ จนถึงช่วงคริสตทศวรรษที่ 1980s การบูมด้านทรัพยากรน้ำมันกลับทำให้สถานการณ์ของผู้หญิงในซาอุดิอาระเบียก็ตกต่ำลงไปอีก

ถึงแม้ว่าในยุคสมัยที่ทรัพยากรน้ำมันเฟื่องฟูจะทำให้สภาพครอบครัวซาอุดิอาระเบียดีขึ้น แต่ก็มีการอาศัยคนทำงานบ้านมากขึ้นขณะเดียวกันก็มีการผุดขึ้นของแนวคิดมุสลิมนิกายซาลาฟีในนามขบวนการซาห์วาที่ทำให้เกิดการจำกัดบทบาทของผู้หญิงมากขึ้นไปอีก มีการแบ่งแยกเพศทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการทำงานน้อยลง พวกเธอถูกคาดหวังไม่ให้ไปทำงานนอกบ้าน ในช่วงที่ซาอุดิอาระเบีย กำลังเปิดประเทศช่วงนั้นเองก็มีความกลัววัฒนธรรมตะวันตกและกลุ่มว่าจะสูญเสียอัตลักษณ์ทางศาสนาของตัวเองไป ความกลัวสองอย่างนี้ทำให้ไม่มีการเปิดกว้างให้เกิดการถกเถียงในเรื่องศาสนาในประเทศ และยังกลายมาเป็นเครื่องมือที่นำมาครอบงำให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในสังคมซาอุดิอาระเบีย

อย่างไรก็ตามผู้หญิงที่โตมาในสังคมแบบนี้รู้สึกอึดอัดเหมือนถูกบีบให้หายใจไม่ออกภายใต้สังคมอนุรักษ์นิยมแบบซาอุดิอาระเบีย แต่ในช่วงระหว่างนั้นก็ยังมีกลุ่มผู้หญิงในซาอุดิอาระเบีย ที่ออกมาเรียกร้องยกเลิกการสั่งห้ามผู้หญิงขับรถในปี 2533 ที่ผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ทำให้ทั้งชายและหญิงสายอนุรักษ์นิยมในซาอุดิอาระเบีย พากันแสดงความไม่พอใจ เหล่าสตรีที่กล้าลุกขึ้นมาต่อกรกับสภาวะหยุดนิ่งในสังคมเช่นนี้กลับถูกตราหน้าว่าเป็นพวกรับแนวคิดตะวันตกผู้พยายามทำลายสังคมซาอุดิอาระเบีย อัลฮุสเซนมองว่าสิ่งนี้เองที่สะท้อนภาพสังคมแบบอนุรักษ์นิยมของซาอุดิอาระเบีย ได้เป็นอย่างดี โดยที่หลังจากนั้นกลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายศาสนาของซาอุดิอาระเบีย ก็พยายามควบคุมสถานการณ์จนไม่มีการประท้วงเรียกร้องให้ผู้หญิงขับรถได้เกิดขึ้นอีก

พอถึงยุคที่ซาอุดิอาระเบีย มีอินเทอร์เน็ตในปี 2542 ก็เริ่มทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมและผู้หญิงในซาอุดิอาระเบีย อินเทอร์เน็ตทำให้พวกเธอมีความรู้มากขึ้น ทำให้พวกเธอมีพื้นที่ความบันเทิงและพื้นที่ส่วนตัว อัลฮุสเซนมองว่าอินเทอร์เน็ตไม่เพียงแค่ให้พื้นที่แก่ผู้หญิงในซาอุดิอาระเบีย หายใจหายคอได้อย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังทำให้พวกเธอเล็งเห็นความจริงบางอย่างที่ต่างออกไป พวกเธอไม่ได้มองโลกเป็นสีขาวดำแบบที่ถูกเลี้ยงดูมาในสังคมซาอุดิอาระเบียอีกต่อไป ความจริงเหล่านี้ทำให้พวกเธอมองเห็นสีสันต่างๆ มากกว่าเดิมและกลายเป็นการตระหนักรู้ถึงคุณค่าตัวเอง

ในปี 2548 พระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์เคยให้นักศึกษาหลายพันคนไปเรียนต่างประเทศได้ แต่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงจำนวนมากเข้าร่วมโครงการเพราะในตอนนั้นการให้ผู้หญิงเดินทางออกไปนอกประเทศยังไม่ใช่เรื่องปกติในสังคมซาอุดิอาระเบีย แต่ก็มีจำนวนผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศมากขึ้นทีละนิดๆ

อัลฮุสเซนระบุว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงซาอุดิอาระเบียมีโอกาสมากขึ้นในสังคมคือโซเชียมีเดียต่างๆ ที่ทำให้ผู้หญิงสื่อสารเกี่ยวกับชีวิตตัวเองได้ และคนที่ออกไปเรียนต่างประเทศกลับมาก็มีบทบาทพูดออกเสียงตัวเองมากขึ้นในโลกโซเชียล จนเริ่มทำให้การเปิดเผยตัวเองของผู้หญิงซาอุดิอาระเบียในโลกออนไลน์กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากขึ้น ทำให้พวกเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจหรือจะว่ามีความน่าอิจฉาก็ได้จนทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรให้ตัวเองมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังทำให้ในโซเชียลมีเดียมีผู้คนหลากหลายบุคลิกมากขึ้นจนดึงดูดให้ผู้คนอื่นๆ เข้าร่วม

โซเชียลมีเดียเองยังทำให้ผู้คนตั้งคำถามเกี่ยวกับผู้มีอำนาจทางศาสนาในประเทศตัวเองมากขึ้น จากที่ซาอุดิอาระเบียใช้ศาสนาในการปิดกั้นผู้คนจากดาวเทียม อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ถ่ายรูปได้ และการเดินทางไปต่างประเทศมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อผู้มีอำนาจทางศาสนาเหล่านี้ก็ใช้โซเชียลมีเดียรวมถึงโทรทัศน์ในการเผยแพร่ภาพลักษณ์ตัวเองจากการเดินทางไปที่ต่างๆ ก็ทำให้ชาวซาอุดิอาระเบียเริ่มตั้งคำถามถึงการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ ผู้นำทางศาสนาที่หันมาเปิดเผยตัวเองทางโซเชียลมากๆ กลับทำให้รัศมีทางศาสนาของพวกเขาดูอ่อนลง

อัลฮุสเซนบอกว่าการที่ฝ่ายศาสนาสูญเสียเครดิตเช่นนี้ผู้คนไม่มองว่าความเป็นตะวันตกเป็นภัยอีกต่อไปแบบที่ฝ่ายศาสนาเคยพร่ำสอน กลายเป็นการเปิดเวทีให้ผู้หญิงมีโอกาสพูดมากขึ้น จากที่พวกเธอเคยถูกผู้หญิงด้วยกันต่อต้านตอนประท้วงเรียกร้องให้อนุญาตขับรถได้ในปี 2533 ในปัจจุบันก็มีผู้คนแสดงการสนับสนุนพวกเธอมากขึ้นและร่วมเรียกร้องเคียงบ่าเคียงไหล่พวกเธอในประเด็นต่างๆ ที่จากเดิมบรรทัดฐานทางสังคมเคยบอกว่าเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่ถูกท้าทาย

มีกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา หญิงชาวซาอุดิอาระเบียคนหนึ่งที่ชื่อ ดินา ลาสลูม ที่เดินทางไปออสเตรเลียแล้วถูกสั่งให้หยุดในช่วงเปลี่ยนเครื่องในมะนิลาเนื่องจากเธอเดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ให้การคุ้มครอง เรื่องนี้ทำให้มีการรณรงค์ทางอินเทอร์เน็ตในแฮชแท็ก #SaveDinaLasloom ซึ่งได้รับความนิยมเป็นเวลาหลายวัน มีกลุ่มชายและหญิงชาวซาอุดิอาระเบียรอเธอที่สนามบิน มีคนหนึ่งถูกกักตัวไว้ที่สนามบินเพิ่ม คือนักศึกษาแพทย์ชื่อ อลา อลานาซิ เพราะถามหาลาสลูม ในเวลานั้นเองก็มีนักกิจกรรมหญิงอีกรายหนึ่งชื่อมาร์ลัม อโลไทบิ ผู้ที่ถูกจับเพียงเพราะเธอออกจากย้ายพ่อแม่มาอยู่คนเดียวในริยาด เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นข่าวสารที่แพร่ต่อๆ กันไปในโลกโซเชียล และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เห็นได้ตามสื่อโซเชียลในชีวิตประจำวัน

อัลฮุสเซนมองว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าซาอุดิอาระเบียกำลังพัฒนาไปในทางบวก ทำให้ผู้หญิงไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น พวกเธอต้องพึ่งพาครอบครัวน้อยลงและมีความเป็นปัจเจกของตัวเองมากขึ้น ผู้มีอำนาจทางศาสนาที่คอยครอบงำการเติบโตของผู้หญิงก็ถูกรัฐบาลคอยสกัดไว้ขณะเดียวกันก็สูญเสียความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้หญิงในซาอุดิอาระเบีย ต้องคอยดูกันต่อไปหลังจากนี้ว่าผู้หญิงในซาอุฯ จะต่อสู้เรียกร้องไปได้ไกลแค่ไหน

 

เรียบเรียงจาก

A new social, economic and political climate emerges in Saudi Arabia, The National, 04-05-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net