Skip to main content
sharethis

เอ็มมานูแอล มาครง ประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศสเริ่มเดินหมากการเมือง มุ่งโกยเสียงข้างมาก ส.ส. ในรัฐสภา โพลคาด พรรคของมาครงโกยที่นั่งเยอะแน่ แต่ไม่พอเป็นเสียงข้างมาก ชี้ คนไม่ออกเสียง/บัตรเสียเยอะอาจทำพิษพร้อมเปิดรายชื่อผู้สมัครวันนี้

หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส รอบ 2 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เอ็มมานูเอล มาครง ผู้สมัครอิสระจากกลุ่ม ออง มาร์ช (En Marche!) ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี เอาชนะมารีน เลอ แปน ผู้สมัครจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Front) ไปด้วยสัดส่วนคะแนน 20.7 ล้านคะแนน ต่อ 10.6 ล้านคะแนน

มาครง วัย 39 ปี อดีตนายธนาคารและที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ฟร็องซัว ออลองด์ จากพรรคสังคมนิยม ที่กำลังจะลงจากตำแหน่ง เป็นผู้สมัครอิสระคนแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี โดยไม่ได้เป็นตัวแทนพรรคการเมืองใหญ่ของฝรั่งเศสคือจากทั้งพรรคสังคมนิยมหรือพรรคสาธารณรัฐ ทั้งยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการลงรับเลือกตั้งในสนามใดๆ มาก่อน กำลังจะรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันอาทิตย์หน้าในฐานะประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่อายุน้อยที่สุด ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการประกาศภาวะฉุกเฉินสืบเนื่องจากภัยก่อการร้าย

อย่างไรก็ตามเป็นการเลือกตั้งรอบ 2 ที่มีผู้ไม่มาออกเสียงน้อยเป็นประวัติการณ์คือ 74.56% นับเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512

เอ็มมานูแอล มาครง ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ปี พ.ศ. 2560 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ริชาร์ด เฟอร์รอง เลขาธิการใหญ่ของกลุ่มการเมือง “ไม่ซ้าย และไม่ขวา” ของมาครง กล่าวว่า การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาถือเป็น “ก้าวที่สอง” ของชัยชนะภายหลังได้รับเลือกตั้งประธานาธิบดี เดอะ การ์เดียน รายงานว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 และ 18 มิ.ย. ปีนี้ (เฉพาะสภาล่าง/ สภาสูงเลือก ก.ย. 60 / วันที่กำหนดไว้ 2 วันเพราะจะมีเลือกตั้ง 2 รอบ) การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะอำนวยความสะดวกให้มาครงสามารถเดินหน้าปฏิบัติตามยุทธศาสตร์นโยบายที่วางไว้ ได้แก่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ลดอัตราการว่างงาน สร้างสวัสดิการสำหรับเจ้าของธุรกิจ แต่ถ้าหลังผลการเลือกตั้ง มาครงไม่ได้แรงสนับสนุนจากเสียงส่วนมากของสภา ก็จะไม่สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างสะดวก และอาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นแค่ผู้นำในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

มาครงกล่าวว่า การจัดสัดส่วนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนทั้งสิ้น 577 ที่นั่ง จะมาจากหลากหลายจุดยืนทางการเมืองและสาขาอาชีพ ที่ผ่านมา มาครงเปิดเผยรายนามผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไปจำนวนหนึ่งแล้ว หนึ่งในนั้นเป็นหัวหน้าหน่วยตำรวจ RAID ที่เคยรับมือกับการโจมตีโรงละครบาตาคล็องในกรุงปารีส จากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเมื่อปี 2558 นอกจากนั้นยังมีผู้ลงสมัครที่เป็นเกษตรกร อาจารย์ ผู้จัดการโรงพยาบาล นักสังคมวิทยารวมไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจ โดยมาครงพูดถึงสัดส่วนของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งว่า ครึ่งหนึ่งจะมาจากกลุ่มประชาสังคม และครึ่งหนึ่งของผู้ลงรับเลือกตั้งจะเป็นสตรี รายนามผู้ลงรับเลือกตั้งทั้งหมดจะประกาศในวันนี้ (11 พ.ค. 2560)

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า รัฐสภาฝรั่งเศสเป็นสถาบันฝ่ายนิติบัญญัติของฝรั่งเศส โดยยึดระบบสองสภา ประกอบด้วยสภาสูง หรือ วุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นผู้แทนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม และสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎร มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

เลือกตั้งสภาผู้แทนนั้นสำคัญไฉน

ในระบอบการปกครองของฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่เป็นผู้นำของรัฐบาล ซึ่งส่วนมากจะได้รับแต่งตั้งจากเสียงส่วนมากในสภาผู้แทน ปัญหาของมาครง ที่แยกตัวจากพรรคสังคมนิยมมาตั้งพรรค ออง มาร์ช คือ ยังไม่มีสมาชิกจากพรรคของเขาในสภา ถ้าเขาไม่สามารถสร้างเสียงข้างมากในสภาได้ ก็จะถูกบีบให้ไปรวมกลุ่มกับผู้แทนจากพรรคอื่นเพื่อผ่านร่างกฎหมาย นอกจากนั้น สัดส่วนประชาชนที่ไม่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และบัตรเสียที่มีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ออง มาร์ช อาจไม่ได้รับแรงสนับสนุนในทางเดียวกันเท่าที่มาครงได้รับในระดับท้องถิ่น

แล้วใครจะครองเสียงข้างมากในสภา

ผลสำรวจจากโพลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคาดว่า ออง มาร์ช อาจได้ผู้แทนเข้าสภาราว 250-290 คน จากที่นั่งทั้งหมด 577 ที่นั่ง ซึ่งก็ยังไม่พอที่จะเป็นเสียงข้างมาก แต่ว่าโพลจาก Ipsos บริษัทสำรวจและวิจัยตลาดจากฝรั่งเศสระบุว่า กว่าร้อยละ 61 ของคนที่ไปออกเสียงไม่อยากให้มาครงมีอำนาจเบ็ดเสร็จในสภา ในขณะที่ มารีน เลอ แปน กล่าวว่า เธอต้องการให้ฝั่งขวาจัดมีการ “เปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง” เพื่อเป็นฝ่ายค้านอันดับหนึ่งในการเมืองฝรั่งเศส แม้ว่าจะต้องละทิ้งภาพพจน์ของพรรคก็ตาม

พรรคสาธารณรัฐที่มีแนวความคิดแบบกลางขวา มีแนวโน้มที่จะเป็นพรรคที่ได้รับเลือกมากที่สุด ซึ่งตอนนี้ในพรรคเองยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะสนับสนุนมาครงหรือไม่

ในขณะที่พรรคแนวร่วมแห่งชาติตั้งเป้าเอาจำนวนผู้แทนเอาไว้ที่ 40 ที่นั่ง ปัจจุบันทางพรรคมีผู้แทนในสภาสองคน คือ มาริยง เลอ เปน หลานสาวของมารีน เลอ เปน และกิลแบร์ต คอลา อดีตนักกฎหมายวัย 69 ปี แต่ความสำเร็จของ เลอ แปน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก ทำให้พรรคเห็นจำนวนคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรค ซึ่งอาจเป็นส่วนช่วยให้พรรคกลับมามีพื้นที่ทางการเมืองได้มากขึ้น

“การต่อสู้ของพรรคแนวร่วมแห่งชาติต้องมุ่งไปที่การไม่ปล่อยให้มาครงบริหารประเทศได้ตามอำเภอใจ” “จะต้องมีพวกของเราในสภาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” มาริยง เลอ แปน กล่าว

แปลและเรียบเรียงจาก

Victorious Emmanuel Macron plots phase two of plan to change France, The Guardian, 8 May 2017

France turns to parliamentary battle after Macron victory, Financial Times, 8 May 2017

When is the French parliamentary election? Could Marine Le Pen's Front National win?, 8 May 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net