ความย้อนแย้ง ยอกย้อน สับสน ของการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ข้อเขียนนี้ผมเอาเรื่องหลาย ๆ เรื่องมาต่อ ๆ กัน[1] ส่วนหนึ่ง คิดว่ามันพอไปด้วยกันได้ในเรื่องที่ผมจะเสนอ สอง ผมต้องการสร้างความสับสนให้บทความนี้ด้วยความจงใจ เพราะส่วนหนึ่งผมคิดว่าคนที่ศึกษาเรื่อง “ล้านนา” ไม่อ่านอะไรมากนัก การสร้างความสับสนโดยการเอาหลายเรื่องมาให้วุ่นวาย อาจก่อกวนจิตใจและทำให้เขาเหล่านั้นครุ่นคิดมากยิ่งขึ้น สาม ผมพยายามทำเรื่องนี้ให้เป็นระบบมาระยะหนึ่งแล้วแต่ก็ไม่ลงตัวสักที เลยเอาออกมาแหย่เล่น ให้ผู้คนด่าทออาจทำให้เกิดความคิดอะไรมากขึ้น สี่ ผมคิดว่าในหลายปีมานี้การศึกษาเรื่อง “ล้านนาคดี” มีมากขึ้น ทั้งในแง่คนท้องถิ่น และคนส่วนกลาง ทำให้เรื่องบางเรื่องเราขยายพรมแดนความรู้เพิ่มมากขึ้น แต่ในแง่ “วิธีวิทยา” และ “สถานะความรู้” กลับถดถอยไปไกลกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในแง่ที่ไม่สามารถอธิบายอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้ลึกซึ้ง มีแต่เรื่องปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่สามารถเชื่อมร้อยกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ได้ บางเรื่องมีสถานะเป็นแค่หนังสืองานศพเท่านั้น[2] ห้า ท้ายที่สุดผมคิดว่าความหมกมุ่นหลาย ๆ เรื่องกลายเป็น “ท้องถิ่นนิยม/ท้องถิ่นชาตินิยมสุดโต่ง” จนทำให้เรื่องที่ศึกษาเพียงแค่ตอบสนอง “มโนคติ” ส่วนตนและรังแต่จะสร้างความเข้าใจผิดต่อเรื่องนั้น ๆ 

ในเบื้องต้นผมขออนุญาตเริ่มอย่างนี้ครับ เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ผมเริ่มว่าปี 2101 ไม่มีอาณาจักรล้านนาในประวัติศาสตร์แล้วในแง่ความเป็นอาณาจักร เมืองต่าง ๆ กลายเป็นประวัติศาสตร์ของบ้านเล็กเมืองน้อย[3] เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน เป็นประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ เป็นประวัติศาสตร์ของลำพูนโดยตรง ซึ่งหลังจากนั้นบางคนก็บอกว่าอาณาจักรล้านนากลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่งในสมัยพระยากาวิละ ซึ่งถ้าจะดูตามบริบทจริงๆ คือล้านนาไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะว่าหลังจากนั้น เมืองต่างๆ ที่รวมเป็นอาณาจักรล้านนาต่างมีอิสระในตัวเองในการขึ้นกับกรุงเทพฯ เมืองแพร่ก็ขึ้นกับกรุงเทพฯ โดยตรง เมืองน่านก็ขึ้นกับกรุงเทพฯ โดยตรง เชียงใหม่ก็ดี ก็ขึ้นกับกรุงเทพฯ โดยตรง แม้แต่ลำปางลำพูนที่เราบอกว่าเป็นเชื้อสายของเจ้าเจ็ดตน ก็ขึ้นกับกรุงเทพฯโดยตรง ไม่มีการขึ้นแบบสายความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเมืองต่างๆ แต่อาศัยสิ่งที่ทำคือความเป็นเครือญาติเท่านั้นที่ยังผูกพันกันอยู่[4]

ในส่วนนี้เราต้องกลับไปคิดทบทวนกันอีกทีว่าอาณาจักรล้านนาในความเป็นจริงคืออะไร ซึ่งการรับรู้เหล่านี้คือรับรู้ในภาพรวมของอาณาจักรล้านนาทั้งหมด ทำให้เราละเลยเมืองเล็กๆ คือประวัติศาสตร์พัฒนาการของเมืองเล็กๆ ในล้านนาตามจุดต่างๆ เช่นประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงรายหรือแม่ฮ่องสอน ซึ่งเราจะรับรู้กันก็คือกลายเป็นประวัติศาสตร์ล้านนาโดยรวม โดยมองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง

1. แล้วเราศึกษาล้านนาในอดีต อดีตในล้านนาอย่างไร

การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในแบบที่เข้าใจบริบทของเมืองต่าง ๆ อย่างแท้จริง ซึ่งอยากให้ดูเป็นประเด็นต่างๆ

ประเด็นแรกก็คือ การมองล้านนา คือคำว่า ล้านนา กับคำว่า ลานนา เป็นคำที่มีการถกเถียงและมีการใช้กันอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันก็มีข้อยุติในบางส่วนว่า คำที่แท้จริงก็คือ ล้านนา

ส่วนคำว่า ลานนา นั้น เป็นคำที่เข้าใจของรัฐราชการสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มองว่า เมืองในล้านนานี้เป็นเมืองที่มีลาน หรือเป็นเมืองที่มีอาณาจักรกว้างใหญ่ คล้ายๆลาน ซึ่งคำว่า ลาน นี้ ไม่ค่อยปรากฏในการใช้ แต่มีใบลาน แต่คำว่า ลาน ที่ตรงกับภาษากลางของเราน่าจะเรียกว่า กว่าง มากกว่า นี่ก็เป็นข้อถกเถียงในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา

คำว่า ลานนา นี้ ผูกพันหรือแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของภาคกลางที่ผนึกการรับรู้ของประวัติศาสตร์ของเรามาอย่างยาวนานหลายสิบปี กว่าจะสามารถที่จะใช้คำว่าล้านนาได้ก็ต่อเมื่อทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการขยายตัวของประวัติศาสตร์แบบท้องถิ่นนิยมมากขึ้น

 ประเด็นที่สอง การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา เราตกอยู่ภายใต้กรอบของการศึกษาประวัติศาสตร์ 3 แนวคิด ก็คือ ประวัติศาสตร์ชาตินิยม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม

แนวคิดแรก ประวัติศาสตร์ชาตินิยม ก็คือการมองล้านนาว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย แล้วประวัติศาสตร์แบบนี้คือล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย เป็นแคว้นเล็ก ๆ เป็นเมืองเล็ก เป็นนครรัฐที่ขึ้นกับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาตั้งแต่อดีต คือไม่มีความเป็นอิสระ ไม่มีความเป็นตัวตนของตัวเอง

แนวคิดที่สอง คือประวัติศาสตร์แบบท้องถิ่น ซึ่งก็คาบเกี่ยวกันอยู่ระหว่างท้องถิ่นนิยมกับท้องถิ่นจริง ๆ คือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นการอธิบายตัวตนของท้องถิ่น ว่ามีลักษณะหรือเอกลักษณ์ที่แตกต่าง หรือเป็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานของตนเองว่าเป็นอย่างไร

แต่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม คือ การนิยมท้องถิ่นจนบางทีบอกว่าหรือดูเหมือนว่าเป็นการต่อต้านประวัติศาสตร์ไทยไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งประวัติศาสตร์ในกลุ่มการศึกษาในแนวนี้ ก็เคยเป็นแนวคิดหลักในการเสนอ หรือในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาในช่วงหนึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างบารมีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย โดยเฉพาะรัชการที่ 9 ตั้งแต่ทศวรรษ 2500

โดยเฉพาะประวัติศาสตร์กระแสนี้ จะสูงมากในระหว่าง ปี 2539-2540/ 1996-1997 ลงมา ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจน เช่นที่ผมยกตัวอย่างไว้ในวิทยานิพนธ์ของผม คือ ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ จะเห็นว่าการกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ มีการอธิบายใหม่ ซึ่งการอธิบายใหม่ไม่ได้เป็นการอธิบายแบบท้องถิ่นนิยม เช่น ถ้าจะอธิบายแบบท้องถิ่นนิยม ก็ต้องอธิบายว่าการกบฏนี้ เป็นกบฏเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐไทย เพื่อแยกเมืองแพร่เป็นอิสระ แต่การอธิบายสมัยหลังไม่ได้อธิบายแบบนั้น จะเห็นได้ว่างานเขียนเกี่ยวกับเมืองแพร่ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2539 ลงมา การอธิบายกบฏเงี้ยวจะอธิบายว่าการกบฏครั้งนี้เป็นการกบฏของพวกเงี้ยว[5]

สิ่งที่เป็นสิ่งจำเป็นที่อยากจะเสนอ คือรูปที่แสดงให้เห็นว่า รัฐไทยมีอิทธิพลต่อการสร้างประวัติศาสตร์ นี่คือ พระยามังราย โดยกลายมาเป็นพระยาเม็งราย ซึ่งคำว่า เม็ง กับคำว่า มัง ก็มีความหมายที่มีนัยสำคัญ

คำว่า มัง ถ้าเป็นภาษาพม่า จะแปลว่ากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ แต่คำว่า เม็ง นี้  เป็นคำที่พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) เป็นคนคิดขึ้น ซึ่งเกิดจากอิทธิพลรัฐไทยที่บอกว่า คำว่า มัง เป็นการต่อต้าน หรือเป็นความคิดเห็นหรืออุดมคติของคนในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ถือว่าพม่าเคยเป็นศัตรู จึงไม่ควรใช้คำที่ให้เกียรติ จึงใช้คำว่า เม็ง แทนคำว่า มัง ซึ่ง เม็ง เข้าใจว่าเป็นภาษามอญ เม็งรายก็คือมอญ

ประเด็นที่สาม เวลาที่เราศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา สามารถศึกษาได้หลายมุมมอง แนวแรกเราอาจจะเสนอว่าประวัติศาสตร์ล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม แนวที่สอง ประวัติศาสตร์ล้านนาในฐานะรัฐอิสระ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตัวเอง แนวที่สามล้านนาในหน่วยใหญ่ภายใต้หน่วยย่อย (เมือง) ที่หลากหลาย

แนวแรกกรอบคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา คือ ล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม นี่เป็นแนวคิดหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราจะมองว่าล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ เป็นส่วนหนึ่งที่มีการรวมกันมาเป็นเชื้อชาติ ชาติพันธุ์เดียวกันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

แนวที่สอง ล้านนาในฐานะรัฐอิสระ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของตัวเอง ผมคิดว่า หนังสือ classic เล่มหนึ่ง คือหนังสือของออาจารย์สรัสวดี ในภาคต้นเราจะเห็นว่า ตั้งแต่ภาคต้นๆ บทต้นๆ ที่เกี่ยวกับอาณาจักรล้านนาโดยตรง ตั้งแต่สยามยังไม่เข้ามา จะเห็นว่าล้านนามีตัวตน มีประวัติศาสตร์ มีอิสระ เป็นอาณาจักรหนึ่ง หรือพูดง่ายๆ คือ เป็นประเทศหนึ่ง

แต่หลังจากนั้น เราจะเห็นว่าประวัติศาสตร์ในแนวนี้มันก็ไม่ค่อยมีการศึกษา เราจะมาศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา คือ ถ้าใครจะศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา เราก็จะจับตั้งแต่การเข้ามาของกรุงเทพฯ การเข้ามาของสยาม อิทธิพลของรัชกาลที่ 5 เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งประวัติศาสตร์ในแนวนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก

แนวที่สามสุดท้าย ประวัติศาสตร์ล้านนาในหน่วยย่อย (เมือง) ที่หลากหลาย ในส่วนนี้ขาดอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ทั้งที่ประวัติศาสตร์ล้านนาเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการรวมตัวของเมืองแต่ละเมือง แล้วก็มีสายใยที่ผูกพันกันเชิงอำนาจ ที่อาจมาจากระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้แต่ละเมืองมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เบาบางมาก จึงทำให้เมืองต่าง ๆ เกิดการแยกออกมา หลังจากพม่ายึดครองในปี 2101/1558 เป็นต้นมา ล้านนาไม่สามารถที่จะรวมตัวกันได้ มีการตีเมืองขึ้น แล้วก็ขยายเป็นเมืองกันอย่างมโหฬาร ซึ่งในตำนานบอกว่าเป็นช่วงที่บ้านเมืองระส่ำระส่าย หรือว่าเกิดความปั่นป่วนในหัวเมืองล้านนา เมืองต่าง ๆ มีบริบท หรือการพัฒนาที่แตกต่างกันในช่วงเวลาต่าง ๆ ในมิติเวลาที่แตกต่างกัน ถ้าเราศึกษาเมืองแต่ละเมือง เมืองเล็กเมืองน้อยเหล่านี้อย่างละเอียด ผมคิดว่า เราจะเห็นประวัติศาสตร์ล้านนาอีกมิติหนึ่ง

ปัจจุบันเราติดกรอบประวัติศาสตร์ล้านนาคือประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ เชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งท้ายที่สุด เราก็อธิบายว่าเชียงใหม่ คือ ล้านนาทั้งหมด เป็นการอธิบายพลวัตทางประวัติศาสตร์ของเมืองทั้งหมดอย่างง่ายๆ ผมคิดว่าในส่วนนี้มันจะทำให้เมืองต่างๆ ไม่เข้าใจพลวัตของตนเอง

2. สับสนวุ่นวายของคนศึกษาล้านนา (ศึกษา)

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา เราจะเห็นอิทธิพลของคนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งการศึกษาของคนแตะละ ก็จะมีเอกลักษณ์หรือว่ามีข้อเด่นของตัวเอง เช่น

กลุ่มที่หนึ่ง นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัยทางมนาญศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในรูปงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ ซึ่งงานเหล่านี้ ก็เป็นงานเฉพาะหัวข้อ แล้วก็เป็นหัวข้อที่เป็นความสนใจของนักประวัติศาสตร์ หรือว่าแต่ละนักของตัวเอง อย่างเช่น ประวัติศาสตร์ลำพูน ผมเห็นว่า เป็นจังหวัดที่มีการทำวิทยานิพนธ์และทำการวิจัยมากที่สุด มีการทำงานลงในพื้นที่เยอะมาก แต่แล้วสุดท้ายก็คือ งานเหล่านี้กระจัดกระจาย ไม่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของเมืองลำพูนได้ นิคมอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของโบราณสถาน มีคนลงไปทำเยอะมาก แต่ว่างานวิจัยเหล่านี้ นักวิชาการต่างคนต่างทำ ในที่สุด เราไม่สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของเมืองลำพูนได้ ซึ่งปัจจุบันลำพูนเป็นเมืองที่มีการฆ่าตัวตายเยอะที่สุด แล้วก็มีงานวิจัยเยอะที่สุด ถ้าเราสามารถทำคำอธิบายเหล่านี้ได้ ผมคิดว่ามันน่าจะได้เห็นอะไรที่มากกว่านี้

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มผู้รู้ท้องถิ่น กลุ่มผู้รู้ท้องถิ่นนี้ ผมคิดว่า มีอิทธิพลหรือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน แต่ว่าการทำงานของผู้รู้ท้องถิ่นนั้น นักวิชาการก็มองว่ายังขาดกรอบหรือว่ายังขาดทฤษฎีความรู้อยู่ ซึ่งก็ต้องทำกันต่อไป ซึ่งยังมีอะไรอีกมากมายของผู้รู้ท้องถิ่นที่จะต้องทำ

กลุ่มที่สาม คือข้าราชการซึ่งอยู่ในรูปอนุกรรมการ กรรมการต่างๆ ที่รัฐตั้งขึ้น ซึ่งประวัติศาสตร์ในกลุ่มนี้ ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่สร้างปัญหา สำหรับประวัติศาสตร์เมือง หรือประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นภาคเหนือเหมือนกัน เช่น เรื่องที่มีทุกจังหวัด ก็คือประวัติศาสตร์มหาดไทยในส่วนภูมิภาคทั้งเชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน เป็นต้น แต่ว่าสุดท้ายคือจับมาเฉพาะเรื่องที่สัมพันธ์กับรัฐส่วนกลาง เราจะเห็นว่าประวัติศาสตร์เหล่านี้มีปัญหา คือ เป็นประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำ เป็นประวัติศาสตร์ของกลุ่มเจ้า กลุ่มข้าราชการที่เข้ามา แต่เรื่องเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นถึงอิทธิพลของรัฐไทยที่เข้ามาผนวก หรือว่าให้เห็นอำนาจที่เข้ามาปฏิบัติการต่อเนื่องนั้นๆ ปัญหา คือ ไม่เห็นคนกลุ่มอื่น ๆ ในท้องถิ่นนั้นเลย

และกลุ่มสุดท้าย ก็คือนักการเมือง ในปัจจุบันนักการเมืองเข้ามาใช้ประวัติศาสตร์ในการสร้างอิทธิพลหรือว่าสร้างความทรงจำ สร้างตำแหน่งแห่งที่ ผมก็ขอยกตัวอย่างเมืองแพร่บ้านผม คือการใส่เสื้อม่อฮ่อม หรือการสร้างประวัติศาสตร์ตระกูลของตัวเอง ว่าเป็นตระกูลที่สร้างความเจริญให้เมืองแพร่ขึ้นมา หรือที่พะเยา เชียงคำ ที่สำคัญที่สุดคือ ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ เป็นคนแรกที่ใช้ภาษาลื้อ ใช้ประวัติศาสตร์ลื้อในการหาเสียง และสุดท้ายก็ได้เป็น ส.ส. ส่วนหนึ่งเป็นการพลวัตของการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ แต่อีกส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์นั้นก็ถูกบิดเบือน เพื่อจะทำประโยชน์ให้แก่กลุ่มนักการเมืองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ ซึ่งต่อไปประวัติศาสตร์จะทำอย่างไรให้เป็นประวัติศาสตร์ของคนจริงๆ

ท้ายที่สุดผมยกกรณีการถกเถียงทางประวัติศาสตร์ของผู้รู้ท้องถิ่นกับนักวิชาการ กรณี ไม่มีวัดในทักษาเมืองเชียงใหม่: บทพิสูจน์ความจริงโดยนักวิชาการท้องถิ่น เน้นที่ว่าบทพิสูจน์ความจริงโดยนักวิชาการท้องถิ่น นี่คือความแตกต่างสำคัญ ว่าอิทธิพลของประวัติศาสตร์ล้านนากระแสหลัก ซึ่งบางทีเราใช้อคติในการมองประวัติศาสตร์ ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก แต่ว่าถ้าเรามองว่านี่เป็นท้องถิ่น แล้วคนท้องถิ่นต้องรู้ประวัติศาสตร์มากกว่าคนนอกท้องถิ่นที่เข้ามา ผมคิดว่ามันเป็นความอับจนทางปัญญาของคนในท้องถิ่น ประเทศไทยคงหมดความหมายถ้าใช้วิธีคิดแบบนี้

ที่ผมยกตัวอย่างนี้เป็นข้อถกเถียงที่สำคัญมาก ที่ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของประวัติศาสตร์ทั้งท้องถิ่นและทั้งประวัติศาสตร์ชาติก็ตาม เราอาจจะอธิบายแบบนั้น คือมันเป็นการปะทะกันของความคิดท้องถิ่นนิยมกระแสต่าง ๆ

3 เศษเสี้ยวที่ขาดแหว่ง

การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาที่มีจุดขาด ที่สมควรที่จะมีการศึกษา คือ หนึ่ง ประวัติศาสตร์ของบ้านเล็กบ้านน้อย ที่มารวมเป็นอาณาจักรล้านนา สอง ก็คือตำแหน่งแห่งที่ของคนในล้านนาในช่วงเวลาต่างๆ

การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาไม่ค่อยเห็นการศึกษาตัวคนจริงๆ ไม่ค่อยเห็นว่าคนมีบทบาทในประวัติศาสตร์ล้านนาอย่างไร ส่วนมากประวัติศาสตร์ล้านนา เราจะศึกษาโครงสร้าง ศึกษากระบวนการของรัฐว่ากระจายอำนาจหรือว่าเข้าไปสู่อำนาจ การตัดการอำนาจในหัวเมืองต่างๆ อย่างไร ศึกษาการมีอำนาจหรือการสร้างสิ่งที่ทำของชนชั้นนำ

ในการศึกษาของคนตัวเล็กตัวน้อย มีงานบางชิ้นที่ศึกษาชาวเขา กระบวนการการแลกเปลี่ยนของชาวเขากับคนพื้นราบ ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ของจุฬา ฯ ผมคิดว่าประวัติศาสตร์แบบนี้น่าจะมีการศึกษาให้มากขึ้นกับคนกลุ่มต่าง ๆ เช่น ชาวเขา หรือว่ากลุ่มไทต่าง ๆ ในล้านนามีบทบาทอย่างไร มีการเข้าเรือนออกเรือนอย่างไร นี่คือสิ่งที่น่าจะมีการศึกษา

สาม การศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแบบเจาะลึก ซึ่งยังขาดอยู่ ยิ่งเป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสมัยใหม่ตั้งแต่ 2500 เป็นต้นมา ผมก็คิดว่าเราก็ยังขาดการศึกษาอย่างจริงจัง

และสุดท้าย คือล้านนาสมัยใหม่ที่แปรเปลี่ยน ที่ส่งผลกระทบต่อคนต่าง ๆ เช่น  การเข้ามาของการเกษตรแบบฟาร์ม หรือว่าการเข้ามาของเศรษฐกิจแบบใหม่ มันส่งผลต่อคนกลุ่มต่าง ๆ มากมาย แม้แต่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนอะไรต่าง ๆ เรื่องเหล่านี้ เราก็ยังขาดการศึกษาแบบเจาะลึก

การศึกษาในส่วนนี้จะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ล้านนาแบบกว้างขึ้น แล้วเราจะสลัดออกจากประวัติศาสตร์ชาติที่เป็นประวัติศาสตร์โดยรวมทั้งหมดที่อธิบายประวัติศาสตร์ในแนวดิ่งมากขึ้น

คำถามที่หนึ่ง เราจะศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาให้อยู่ในสถานะใด หนึ่ง ให้อยู่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย หรือ สอง ให้เป็นอาณาจักรที่เป็นอิสระ

คำถามที่สองก็คือว่า เราควรมุ่งเน้นศึกษาโครงสร้างการเมือง หรือหันมามุ่งเน้นการศึกษาคนในประวัติศาสตร์

คำถามที่สาม ล้านนาควรผลิตสร้างตัวตนที่แตกต่าง หรือเหมือน ภายใต้ประวัติศาสตร์ชาติ และ

คำถามที่สี่ ประวัติศาสตร์ล้านนาสมัยใหม่ ควรเน้นในทิศทางใด

แนวโน้มประวัติศาสตร์ล้านนาหลังปี 2540/1997 เราจะเห็นว่าประวัติศาสตร์เหล่านี้ เรายังอิงเข้าสู่ศูนย์กลางยิ่งขึ้น ประวัติศาสตร์ล้านนาหรือประวัติศาสตร์เมืองต่าง ๆ หลังทศวรรษที่ 2540 เป็นต้นมา เราพยายามดึงความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ในด้านหนึ่ง เราเห็นเหมือนกับว่าประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเข็มแข็งขึ้น แต่ผมคิดว่า ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมเข้มแข้งสูงขึ้นๆ หลังปี 2516/1973 คือถ้าอธิบายเชิงโครงสร้าง หลังปี 2516 ส่วนยอดของระบบราชการมันหลุดไป พอส่วนยอดหลุดไป พอเกิดเหตุการณ์ 14ตุลาคม 2516 ส่วนยอดคือ ณรงค์ ถนอม ประภาสหลุดไป สังคมราชการมันเป็น segment แบ่งเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มๆ แบ่งเป็นเสี้ยวๆ ทุกคนจะต้องวิ่งเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงทำให้เกิดพลังอำนาจสูงขึ้น โครงสร้างของสังคมหลังปี 2516 ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงขึ้นพร้อมๆ กับการขยายประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมนับจากปีนั้นมา

แต่ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมจะไม่สามารถที่จะตอบคำถามกับความเปลี่ยนแปลงในเบื้องล่างได้ จึงเกิดประวัติศาสตร์ที่จะพยายามจะหลุดออกจากการกำกับของราชาชาตินิยม เช่น การเกิดขึ้นของสิ่งที่เราเรียกว่าภูมิปัญญาชาวบ้าน ปราชญ์ท้องถิ่น หรือประวัติศาสตร์อื่นๆ ค่อยๆ โผล่ขึ้นมา เพียงแต่ว่ายังโผล่ไม่เป็นระบบ เพื่อที่จะทำให้เขามี collective memory ในการที่จะตอบปัญหาของเขา

ประวัติศาสตร์การเมืองแท้ๆ แบบประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม จะตอบคำถามในชีวิตประจำวันของคนในชีวิตในโครงสร้างแบบใหม่ ได้ยากขึ้น ดังนั้น ถ้าถามว่าเข้มแข็งไหม ก็ดูเหมือนว่าจะเข้มแข็งขึ้น แต่ไม่สามารถจะตอบปัญหาข้างล่าง ปัญหายังมีเยอะแยะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ประวัติศาสตร์ล้านนาถอยหลังเรื่อย ๆ คือไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาที่เป็นปัญหา หรือเป็นประวัติศาสตร์ของตัวตน

แต่ว่าเรามุ่งที่จะศึกษาว่า เรามีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อย่างไร เรามีคุณูปการของสถาบันกษัตริย์ต่อเมืองอื่นๆอย่างไร ซึ่งการที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ กลายเป็นจุดเด่นของประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์ล้านนาเป็นประวัติศาสตร์ที่ขาดมิติของท้องถิ่นอย่างแท้จริง คือเป็นประวัติศาสตร์ที่สุดท้ายไม่สามารถอธิบายตัวตนของคนในท้องถิ่นได้ แต่กลับอธิบายว่าเรามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับรัฐไทยอย่างไรมากขึ้น ซึ่งสุดท้าย คนตัวเล็กตัวน้อย หรือการต่อรองอำนาจตำแหน่งแห่งที่ของเมืองนั้นๆ ยิ่งห่างไกลจากอำนาจต่อรองนั้นมากขึ้น การช่วงชิงทรัพยากรต่าง ๆ มันก็ส่งผลกระทบ ถ้าเราอธิบายประวัติศาสตร์แบบนี้ คือ เราอธิบายประวัติศาสตร์แบบอิงแอบอำนาจศูนย์กลาง

4. ระเบิดส่งท้าย

การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาควรต้องหันมาศึกษาตำแหน่งแห่งที่หรือจุดหลักของเรามากขึ้น เรื่องหนึ่งที่ผมข้องใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา/ภาคเหนือ คือ เรื่อง "เจ้านายในภาคเหนือ" เรายังไม่มีการศึกษาอย่างแท้จริงว่าภายหลังการยกเลิกระบบเจ้าเมืองแเล้ว เขาเหล่านั้นมีสถานะ ตำแหน่งแห่งที่อย่างไร ธำรงหรือเสื่อมสถานะได้อย่างไร รวมถึงสมัยหลังเขากลับมาสร้างสถานะใหม่ได้อย่างไร เกิดภายใต้เงื่อนไข/บริบทใด ฯลฯ เป็นประวัติศาสตร์สังคมที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง 

ทั้งที่มีเรื่องเล่าของคนเมืองที่ไม่ค่อยชอบเจ้านัก (ดูงานของ อ. แคทเธอรีน บาววี ) เพราะปัจจุบันเรามักเอ๋ยอ้าง ถึงขั้นแอบอ้างว่าเจ้านั้น เจ้านี้ในภาคเหนือเป็นที่รักของคนเมืองนั้นเมืองนี้ ทั้งที่ก่อนทศวรรษที่ 2530 เจ้าเหล่านี้แทบ "ไม่มีตัวตน" ไม่มีสถานะใดๆ เลย เป็นที่รับรู้ในวงแคบๆ แม้ปัจจุบันก็ไม่ได้กว้างขวางอย่างที่พูดๆ กัน 

ไม่นับเจ้าที่สูญเสียทั้งสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ไปตกระกำลำบาก เขาให้นิยามความเป็นเจ้าของเขาอย่างไร หรือคนในสังคมปัจจุบันจัดวางตำแหน่งแห่งที่เขาอย่างไร ฯลฯ เพราะสิ่งที่เราทำๆ กันอยู่ในปัจจุบันคือ การสร้างประวัติศาสตร์เจ้าที่ไม่สัมพันธ์กับบริบท เป็นการโหยหาอดีต (nostalgia) ที่ไม่เชื่อมโยงกับผู้คน หรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเลย สิ่งที่ทำอยู่เป็นแต่เพียงการสร้าง "ชีวประวัติ" ของตระกูลหรือบุคคลที่ไม่อาจอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ (ใครสนใจก็ทำครับ ส่วนตัวผมส่วนใจคนธรรมดามากกว่า)

และที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่คนหันมาสนใจกันมากขึ้นคือเรื่อง “ครูบา”กับความทรงจำทางสังคมประเด็นแรก ความทรงจำกับประวัติศาสตร์ทางสังคม (ความทรงจำกับประวัติศาสตร์) คือ การที่เราจะจารึกจดจำบุคคลใด เพราะอะไรเราถึงจดจำ เราคงไม่จดจำนายแก้ว หนานขาว หรือย่ามาหมาตาย. ถ้าเขาเหล่านั้นเป็นเพียงบุคคลที่ธรรมดา หรือมิได้สร้าง "ปรากฏการณ์" ที่สำคัญในชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ

แล้วอะไรที่สำคัญละ ? ก็ต้องเป็นผลสะเทือนที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นนั้น จนเป็นความทรงจำร่วม หรือความทรงจำของสังคมนั้น ๆ ในที่นี้ก็อย่างเช่นกรณีครูบา เพราะอะไรครูบาถึงมีความหมายน่าจารึกจดจำ ในที่นี้ผมบอกได้ว่าครูบาทำให้เกิด "มิติใหม่ ๆ" ในสังคมท้องถิ่น

อย่าง 4 ครูบาผมมองว่า คือ การสร้างแนวทางสงฆ์ (ภายใต้รัฐ) แบบใหม่ ซึ่งคงต้องอภิปรายกันต่อไป

ประเด็นที่สอง ความทรงจำหรือประวัติศาสตร์มีความต่อเนื่อง หรือมีแตกหัก ฉีกขาด ถ้าเราเชื่อตามแบบแรกคือประวัติศาสตร์หรือความทรงจำก็จะมีพลวัตต่อเนื่องไม่ขาดตอน สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการสร้างประวัติศาสตร์นั้น ๆ มาอย่างไม่ขาดตอน

แต่ถ้าเราเชื่อตามแบบที่สอง คือ ประวัติศาสตร์ หรือความทรงจำของมนุษย์แตกหัก ฉีกขาด ขาดตอน แบบที่ฟูโกต์เสนอ (ไปหารายละเอียดต่อนะครับ) เราก็จะพบว่าประวัติศาสตร์หรือความทรงจำขอผู้คนในบริบทต่าง ๆ ย่อมสร้างจากเงื่อนไขของสังคมนั้น ๆ เพราะฉะนั้นความทรงจำ หรือการจารึกจดจำถึงเรื่องราว/บุคคลหนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใด ย่อมไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าก็แหงละพูดอีกก็ถูกอีก แต่กระนั้นการเข้าใจความทรงจำในห้วงเวลาประหนึ่ง จะทำให้เราจะเข้าใจสังคมในเวลานั้น. ที่เหมือน หรือแตกต่าง จากยุคอื่น ๆ เพราะเราไม่สามารถจดจำเรื่องราวได้ทั้งหมด เราจำได้เพียงเศษเสี้ยวของเรื่องราว/ปรากฏการณ์เท่านั้น เราเลือกที่จะจำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรา หรือเรื่องราวที่คิดว่าสำคัญ หรือเรื่องที่มีอิทธิพลต่อเรา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการสถาปนาความทรงจำนั้น ๆ ไม่เท่ากัน

กรณีครูบาก็เช่นกัน ผมคิดว่าคนกลุ่มต่าง ๆ จารึกจดจำครูแต่ละองค์ไม่เท่ากัน หรือเราเลือกที่จะจำต่อบุคคลนั้น ๆ ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างบางคนอาจจดจำครูบาอินทจักรักษา (ครูบาน้ำบ่อหลวง) ในฐานะอริ/ผู้มีข้อพิพาทกับครูบาขาวปี หรือจำในเรื่องเป็นผู้สร้างสำนักปฏิบัติธรรมแบบใหม่ หรือผู้ทรงวิทยาคม (ปลุกเสกพระจำนวนมากและเข้มขลัง) หรือชาวบ้านในโหลงสันป่าต้องจอมทองอาจจารึกจดจำเรื่องครูบาห้ามถอนผี ฯลฯ ซึ่งเรื่องที่เราจำ กับเรื่องที่สังคมจำ อาจเหมือนหรือต่าง ๆ แต่ต่างสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในห้วงเวลา เราไม่จำเหมือนกัน แต่เราจำต่างกันเพราะเงื่อนไขความทรงจำเราต่างกัน

ต่อมาผมคิดว่า ครูบาเมื่อมีชีวิต กับที่คนทั่วไป ในเวลานั้นจดจำต่างจากปัจจุบัน โดยผมสันนิษฐานว่าทศวรรษ 2530 ทำให้ความคิดเรื่องครูบาเกิดความเปลี่ยนแปลง (ไว้อภิปรายในวันอื่นว่าเพราะอะไรผมถึงคิดแบบนั้น) เอาง่าย ๆ คือ ความทรงจำถึงครูบาแบบปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นในชั่วรุ่นของเรานี้เอง

ประเด็นที่สาม แล้วอะไรละที่ทำให้ความทรงจำถึงครูบา แล้วเราจะวางตำแหน่งแห่งที่ของครูบาไว้ในประวัติศาสตร์หรือความทรงจำของสังคมไว้อย่างไร ในที่นี้คือ 4 ครูบาถูกจารึกจดจำ อาจพอกล่าวได้ว่าคือปฏิบัติการณ์ผ่านประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ บางคนในที่นี้อาจพูดว่าพูดแบบนี้ใครก็พูดได้ก็จริงครับ แต่กระนั้นประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ก็มีความเปลี่ยนแปลง พิธีกรรมบางอย่างถูกสร้างขึ้นใหม่ไหงเป็นแบบนั้นละ ความเลื่อนไหล สร้างใหม่ ปรับเปลี่ยนแสดงให้เห็นว่าความทรงจำของผู้คนในเงื่อนไขนั้น ๆ ไม่เหมือนเดิม เราจารึกจดจำเขาเหล่านั้นแบบใหม่ แบบที่คนในอีกชั่วรุ่นหนึ่งก็ไม่อาจเข้าใจแบบเรา

ผมยกตัวอย่างงานวันเกิดครูบา ในที่นี้คือครูบาพรหมาในวันที่ 12 สิงหาคม ผมคิดว่าเป็นประเพณีใหม่ (ID) ที่คนในยุคหนึ่งทำเพื่อให้ระลึกถึงคน หรือบุคลาธิษฐานอีกแบบหนึ่ง ซึ่งปรากฏการณ์หรือปฏิบัติการณ์ในท่วงทำนองนี้คือการสร้างการจารึกจดจำ รวมถึงการสร้างกู่ อนุสาวรีย์ หรือประเพณีที่ต่อเนื่องเราอาจถือว่าคือ Memo. ของคนในสังคมนั้น ๆ

ทั้งหมดนี้คือ กรอบที่ผมจะเสนอว่าเราจะจารึกจดจำอย่างไร ซึ่งจะนำมาสู่งานชิ้นนี้ ที่เราจะทำความเข้าใจต่อครูบาอย่างไงดังที่ผมจะเสนอต่อไป

ท้ายที่สุดผมไม่ได้สนใจความผิดถูกของวัฒนธรรม ถ้ามันรับใช้ผู้คนได้ผมคิดว่าสามารถทำความเข้าใจได้ ถึงแม้ว่าจะใหม่หรือเก่าหรือปรับปรุง/แต่ง/ตัด แล้วผู้คนเห็นว่ามันเข้ากับโลกที่เขาอยู่ก็ถือว่านั้นคือความเปลี่ยนแปลง เพราะผมเชื่อว่าวัฒนธรรมไม่หยุดนิ่ง แต่ผมรังเกียจการมองอะไรอย่างตายตัว อย่างพวกที่มักใช้วัฒนธรรมมาชี้นิ้วประณามคนอื่น ทั้งที่ตัวเองนี้ครึ่งๆ กลางๆ ในความที่ออกจะไม่รู้จริงเรื่องนั้น ๆ หรือ "เกิ้ม" ไม่แน่ใจเราเข้าใจตรงกันไหม ส่วนปีใหม่/สงกรานต์ เดือน อันนั้นคงจะคนละอัน บางอย่างก็เถียงกันได้ครับ

โดยทั่วไปเวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ หรือปรากฏการณ์ทางสังคม สิ่งที่เราศึกษาหรือทำ คือ "การอธิบาย" เงื่อนไขว่าอะไรนำสู่อะไร เพราะอะไรจึงเกิดปรากฎการณ์ หรืออะไรนำมาสู่เงื่อนไขที่ทำให้เกิด รวมถึงทำไมจึงเกิด ปรากฏการณ์ที่เราเห็นจึงเป็นแต่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ใคร ๆ ก็เห็น แต่เราไม่ได้ต้องการศึกษาสิ่งนั้น เราต้องการรู้ว่าข้างใต้มันเกิดอะไรขึ้น ถ้าเรามัวแต่หมกมุ่นแต่เพียงปรากฏการณ์เยอะแยะมากมาย เราก็ไม่มีทางจัดความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ เพราะปรากฏการณ์หนึ่งอาจเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดปรากฎการณ์หนึ่งได้ แต่สิ่งสิ่งที่เราทำคือการหาความเชื่อมโยง ฉีกขาดแล้วอธิบายมันต่างหากละคือสิ่งที่เราต้องทำ นักเรียนประวัติศาสตร์ (ปวศ.) ชอบ "เล่น" กับ "เวลา" และมักมอง "เวลา" อย่าง "พลวัต" "ต่อเนื่อง" หรือมีพัฒนาการของมัน ณ เวลาหนึ่งๆ ก็มีลักษณะเฉพาะ และมีลักษณะร่วมกัน แต่แท้จริง "เวลา" มันไม่ได้เป็น "เส้นตรง" หรือมี "พัฒนาการ" เสมอไป มัน "พลิกไพล่" (ย้อนแย้ง/irony) เปลี่ยนแปร ไม่รู้ที่ไปที่มา แต่สิ่งที่นักเรียน ปวศ. ทำ คือการจัดหมวดหมู่เพื่อสร้างคำอธิบายมัน ภายใต้เงื่อนไขเวลานั้นๆ ฉะนั้น "เวลา" จึงเป็นทั้ง "ตัวบท" และ "บริบท" ของประวัติศาสตร์

การมองปรากฏการณ์ทางสังคมอย่ามองในลักษณะคู่ตรงข้าม เพราะจะทำให้มันไม่เห็นความซับซ้อนของปัญหา และมันจะกลายมาเป็นกับดักที่กักขังเรา ทำให้ไม่สามารถคิดอะไรได้พ้นจากปรากฏการณ์ ทั้งที่ปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ มันส่องสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ มิติ และมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน

รวมถึงการแบ่งแยกความเชี่ยวชาญสาขาใด เช่น ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น "คนใน" เพราะบางที "คนนอก" ก็มีมุมมองที่กว้างและลึกกว่าคนในๆ หลายเท่า ที่มาประกาศกันว่าเป็นคนในคนแรกที่ได้ "ศาสตราจารย์" นี้ ขออภัยมีความหมายหรือครับ ผมเห็นฝรั่งมังค่า ญี่ปุ่น จีน เป็นผู้เชี่ยวชาญล้านนาคดีมากมายหลายคน และลึกและกว้างกว่ามากมาย คนในจึงไม่ได้หมายว่าเชี่ยวชาญกว่าคนนอก และคนนอกก็ไม่ได้หมายความว่าลึกกว่าคนใน โปรดอย่ามีมายาคติ อคติ ถ้าไม่เข้าใจโปรดไปอ่าน Writing Culture ถ้าอ่านไม่ออกก็แค่ "เบื้องหลังหน้ากาก" ก็ได้ครับ

เราเชื่อเรื่องสารถะ หรือความจริงแท้ ทุกอย่างหยุดนิ่ง ไม่ไหวเคลื่อน  ประวัติศาสตร์ของเรา วัฒนธรรมของเรา เสื้อผ้าของเรา ภาษาของเรา คนของเรา ฯลฯ ของเรา ซึ่งการมองอะไรในท่วงทำนองนี้ทำให้ไม่เห็นพลวัตของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งไม่อาจทำให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ เพราะแท้จริงแล้วไม่มีอะไรที่หยุดนิ่งตายตัว

การศึกษาผู้คนในปัจจุบันเรามุ่งไปที่ลีลาชีวิตทางวัฒนธรรม โดยมักจะพบว่า คนงานข้ามชาติจะสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนามาก จนมีข้อสรุปทั่ว ๆ ไปว่า คนไทใหญ่จะเคร่งพุทธศาสนามากกว่าคนไทย ทั้งนี้เพราะพวกเขาต้องการแสดงความเป็นพลเมืองไทยในทางวัฒนธรรม ขณะที่เขาก็ยังรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในด้านอื่น ๆ ของเขาอยู่ด้วย ซึ่งตรงกับแนวความคิด วัฒนธรรมพันธุ์ทาง (Cultural Hybridity)[6] หมายความว่าพวกเขาเป็นพลเมืองไทยในแง่วัฒนธรรมสังคม แต่เขาก็ยังคงเป็นพลเมืองในกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขาด้วย  ทั้งที่ในความจริงแล้ววัฒนธรรมพันธุ์แท้เป็นเพียงอุดมการณ์แบบแก่นสารนิยม หรือความคิดเชิงเดี่ยวที่อาจเป็นไปไม่ได้ในชีวิตจริง แนวคิดไทยแท้หรือไทยรัฐเดียวก็เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นมาในสมัยรัฐกาลที่ 5 นี้เอง เพราะในชีวิตจริงคนไทยก็ล้วนมีวัฒนธรรมพันธุ์ทางกันทั้งนั้น เพราะคนเราสามารถใช้ชีวิตเชิงซ้อนอยู่ได้ในสองวัฒนธรรมพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของสังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural Society)[7]

ผมเชื่อว่าวัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์ ที่เราเห็นและเป็นอยู่ล้วนถูกประดิษฐ์สร้าง (Invention) ขึ้นเพื่อตอบสนองต่อปัจจัยอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอ การสร้างนิยาม หรือสร้างความหมายเหล่านั้น เพื่อที่จะจัดความสัมพันธ์ทั้งกับกลุ่มคนภายใน และคนภายนอก เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนในบริบทหนึ่ง ๆ แต่เมื่อมันไม่ตอบสนองเสียแล้ว ก็ย่อมมีการสร้างความหมายใหม่ ๆ ตามมา

 

เชิงอรรถ

[1] ส่วนใหญ่เอามาจากสัมมนาของโครงการตำราสังคมศาสตร์

[2] ดูจากข่าวนี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งกรณีแบบนี้มีเยอะมาก ๆ http://www.komchadluek.net/news/regional/276055 ซึ่งแสดงถึงความไม่รู้ของทั้งผู้พูด และสื่อที่ไม่ตรวจสอบความถูกต้อง ทั้งที่เรื่องบางเรื่องยุติได้รับการพิสูจน์ หรือมีพรมแดนความรู้กว่าผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว

[3] สรัสวดี  อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544

[4] ชัยพงษ์  สำเนียง.  พลวัตการสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่  2445-2550. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551. 

[5] แต่ว่าการอธิบายประวัติศาสตร์ คือเราจะสร้างจำเลยทางประวัติศาสตร์ ก็คือเงี้ยวกลายมาเป็นจำเลยทางประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้กันในปัจจุบัน ซึ่งการสร้างประวัติศาสตร์แบบนี้นำมาสู่การรับรู้ตัวตนของตำแหน่งแห่งที่ของอาณาจักรล้านนาหรือภาคเหนือทั้งหมด ซึ่งเราจะเห็นว่าภาคเหนือปัจจุบันนี้ เราจะอธิบายประวัติศาสตร์ภาคเหนืออย่างไร

[6] Burke, Peter.  (2009).   Cultural Hybridity.  Cambridge: Polity.

[7] Amporn Jirattikorn.  (2007).  Living on both sides of the borders: Transnational migrants, pop music and nation of the Shan in Thailand. Working paper series No. 7, Regional Center for Social Science and Sustainable Development, Faculty of Social Sciences, Chiang Mai University. และ อานันท์ กาญจนพันธุ์.  (2555).  พหุวัฒนธรรมในสังคมเปลี่ยนผ่าน.  ใน, จินตนาการทางมานุษยวิทยาแล้วย้อนมองสังคมไทย (หน้า 79-134) เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท