Narendra Modi กับการใช้ Soft Power ในภูมิภาคเอเชียใต้ ภายใต้แรงกดดันจากจีน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

นับตั้งแต่นาย Narendra Modi ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศอินเดียในเดือนพฤษภาคม ปี 2014 บทบาทภาระอันยิ่งใหญ่ที่เขาต้องเผชิญในสภาวะที่เศรษฐกิจของอินเดียกำลังตกต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อประเทศอินเดีย อันเกิดจากปัญหาความไม่โปร่งใสและการทุจริตที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และหนึ่งในความท้าทายสำคัญของนาย Modi คือการขยายอิทธิพลและอำนาจของประเทศจีน ภายใต้การนำของนาย Xi Jinping ที่มีแนวนโยบายที่ชัดเจนมาก ที่จะขยายอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจลงมายังภูมิภาคเอเชียใต้ ผ่านนโยบายสำคัญ อย่าง “One Belt One Road” ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือการฟื้นฟูและพัฒนาเส้นทางสายไหม (Silk Road) อันรุ่งเรืองในอดีตของประเทศจีน ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นตัวแบบการพัฒนาของประเทศจีน ในการพัฒนาและส่งเสริมการค้า และแน่นอนว่าภูมิภาคเอเชียใต้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ถูกผนวกไว้กับนโยบายดังกล่าว

อินเดียกับดุลอำนาจที่เปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียใต้[2]

หากมองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อนการรับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี Modi ดูประหนึ่งว่าอินเดียกำลังสูญเสียดุลอำนาจทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ กล่าวคือประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ หลายประเทศ เริ่มเจริญความสัมพันธ์ทางการทูต การทหารและการเศรษฐกิจกับประเทศจีนมากยิ่งขึ้น

กรณีของประเทศภูฏาน ที่ในอดีตใช้นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลักคือการเป็นหนึ่งเดียวกับอินเดีย และโดดเดี่ยวตนเอง จนกระทั่งในช่วงปี 2007 ภูฏานและอินเดียมีการเจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาพันธมิตร (The Friendship treaty) ซึ่งลงนามนับตั้งแต่ปี 1949 โดยหัวข้อหลักของการแก้ไขสนธิสัญญาดังกล่าวคือการยกเลิกบทบัญญัติที่ระบุว่านโยบายต่างประเทศของภูฏานจะต้องอยู่ภายใต้การแนะนำของรัฐบาลอินเดีย นับแต่นั้นเป็นต้นมานโยบายการต่างประเทศของภูฏาน เริ่มขยายไปสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ มากยิ่งขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างภูฏานและจีน มีพัฒนาการมากยิ่งขึ้น โดยในการประชุม Rio+20 ณ ประเทศบราซิล ปี 2012 นายกรัฐมนตรีของภูฏาน (Jigme Thinley) และนายกรัฐมนตรีของจีน (Wen Jiabao) ได้พบปะเจรจากันโดยปราศจากการรับรู้ของรัฐบาลอินเดีย การประชุมลับดังกล่าวนำมาซึ่งการตัดการขนส่งน้ำมันไปยังประเทศภูฏานของอินเดีย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ภูฏานและจีนยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2016 ที่ผ่านมาประเทศจีนและภูฏานมีการเจรจาปัญหาข้อพิพาทด้านพรมแดนระหว่างสองประเทศ โดยมีรัฐบาลปักกิ่งเป็นเจ้าภาพ (Saklani & Tortajada, 2016)

ในขณะเดียวกันประเทศเนปาล ซึ่งถือเป็นพันธมิตรสำคัญของอินเดีย เนื่องจากมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะศาสนา เริ่มมีนโยบายที่พยายามสร้างสมดุลกับประเทศอินเดียเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงปี 2015 รัฐบาลเนปาลมีการลงนามในสนธิสัญญาและความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศจีนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันสินค้าจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามายังประเทศเนปาล เป็นสินค้าของประเทศจีนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เป็นผลสำคัญจากการปิดพรมแดนของรัฐบาลอินเดีย ที่ส่งผลให้การบริโภคสินค้าและเศรษฐกิจของประเทศเนปาลประสบปัญหาอย่างหนัก (Baral, 2017) รัฐบาลจีนจึงสามารถใช้ช่องว่างดังกล่าวในการขยายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเนปาลได้

ปากีสถานถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียใต้ ที่พยายามสร้างบทบาทคานอำนาจอินเดียมาโดยตลอด เนื่องจากปัญหาทางการทหารและประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ความร่วมมือระหว่างอินเดียและปากีสถานถือได้ว่ามีความก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของอินเดีย และจากแนวนโยบาย “One Belt One Road” ของจีน ส่งผลให้รัฐบาลจีนเลือกเข้าไปลงทุนในประเทศปากีสถานเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันปากีสถานก็เปิดรับการลงทุนของจีนมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองภายหลังซบเซามาอย่างยาวนาน จากปัญหาการถอนเงินสนับสนุนหลายๆประการของสหรัฐอเมริกา ทั้งการลงทุนในการสร้างท่าเรือเพื่อขนส่งสินค้า รวมถึงการลงทุนโครงการพลังงานขนาดใหญ่ ภายใต้โครงการเส้นทางเศรษฐกิจจีนและปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor: CPEC) ซึ่งคาดว่าจะมีงบประมาณในการลงทุนกว่า 62 พันล้านเหรียญ (Siddiqui, 2017) โครงการดังกล่าวต้องการเชื่อมโยงจีนเข้ากับทะเลอาหรับ รวมถึงพัฒนาช่องทางใหม่ในการขนส่งพลังงานเข้าสู่ประเทศจีน

ศรีลังกาถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลอินเดีย แต่นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2015 ที่ส่งผลให้อดีตนายกรัฐมนตรี Mahinda Rajapaksa พ่ายแพ้ให้กับนาย Maithripala Sirisena นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของศรีลังกา นโยบายต่างประเทศของศรีลังกาจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายในการสร้างสมดุลระหว่างประเทศมหาอำนาจ ศรีลังกาหันหน้าเข้าร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศจีนมากยิ่งขึ้น ตามแนวนโยบายเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน โดยหนึ่งในประเด็นร้อนระหว่างอินเดียและศรีลังกา คือรัฐบาลศรีลังกาจะอนุญาตให้บริษัทของอินเดียเช่าท่าเรือจำนวนมากในประเทศศรีลังกา รวมถึงการสร้างความร่วมมือทางการทหารในพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย เพื่อคุ้มครองเส้นทางการเดินเรือน้ำมันของประเทศจีน

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างบังคลาเทศกับจีนถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของรัฐบาล Modi เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านแนวโน้มความสัมพันธ์ทางการทหารของบังคลาเทศ เริ่มหันเหทิศทางไปยังประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการสั่งซื้ออาวุธจำนวนมากจากประเทศจีน โดยเฉพาะการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนของบังคลาเทศ ซึ่งกระทบความมั่นคงทางด้านการทหารของอินเดียอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคพื้นมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งถือเป็นปราการธรรมชาติสำคัญ และเป็นแหล่งเศรษฐกิจทางทะเลสำคัญของประเทศอินเดีย ในขณะที่ประเทศจีนและบังคลาเทศมีการลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินที่มีมูลค่ากว่า 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ (BHAUMIK, 2017) การขยายบทบาทความร่วมมือทางการทหารและเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีนและบังคลาเทศ ถือได้ว่าท้าทายบทบาทของประเทศอินเดียในภูมิภาคเอเชียใต้อย่างยิ่ง
 

อำนาจละมุนของอินเดียกับความพยายามรักษาบทบาทนำในเอเชียใต้ของ Modi

จากสภาวะการที่รัฐบาลอินเดียต้องเผชิญในช่วงที่นายกรัฐมนตรี Modi กำลังบริหารประเทศ ดูเสมือนว่านาย Modi จะต้องรับศึกอันหนักอึ้ง ทั้งปัญหาภายในประเทศ อันได้แก่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาเรื้อรั้งมายาวนาน ทั้งตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เติบโตไม่มากนักก่อนหน้านี้ หรืออัตราการว่างงานของประชาชนชาวอินเดีย รวมถึงความคาดหวังของนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกที่มีความคาดหวังต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในขณะที่ประเด็นปัญหาสังคมทั้งในเรื่องของประเด็นอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงการสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดการพัฒนามาอย่างยาวนาน

ในขณะที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศมหาอำนาจเพื่อนบ้านอย่างประเทศจีน ดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างไม่สู้จะราบรื่นเท่าไหร่นัก สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ นโยบายต่างประเทศของนาย Modi ที่ใช้ต่อเพื่อนบ้านและประเทศจีนคือ การอาศัยอำนาจละมุน (Soft Power) ที่ถือได้ว่าอินเดียมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน เช่น ศาสนาฮินดู และพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าการเยือนจีนของนาย Modi ในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ล้วนไปเยือนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่มีความเชื่อมโยงกับอำนาจละมุนของอินเดียที่มีต่อจีน เช่นการเยือน Daxingshan Temple ซึ่งเป็นวัดทางพระพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงโดยตรงกับพระพุทธศาสนาในอินเดีย รวมถึงเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจีนอีกด้วย การเยือนพื้นที่ดังกล่าวของนาย Modi จึงเป็นความพยายามในการตอกย้ำถึงอำนาจอันรุ่งเรืองของอินเดียในภูมิภาคเอเชีย

และหากสังเกตลักษณะการแต่งกายของนาย Modi จะเห็นได้ว่าเป็นการประยุกต์การแต่งกายแบบอินเดียเข้ากับความเป็นสากลเพื่อเผยแพร่ความเป็นอินเดียในสายตาชาวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศอินเดีย ยิ่งไปกว่านั้นด้วยแนวนโยบาย “One Belt One Road” ของจีน ที่พยายามผนวกภูมิภาคเอเชียใต้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าว ผ่านความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างความพึ่งพิงในด้านต่างๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศอินเดียด้วย โดยปัจจุบันประเทศจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ดุลการค้ากับประเทศอินเดียอย่างมหาศาล อินเดียนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากประเทศจีน ในขณะเดียวกันนักลงทุนจีนเริ่มย้ายฐานการลงทุนมายังประเทศอินเดียเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้อินเดียพึ่งพิงกับประเทศจีนมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามนาย Modi มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะขยายอิทธิพลของอินเดียต่อประเทศเพื่อนบ้านผ่านความช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ที่อินเดียมีความใกล้ชิดมากยิ่งกว่า โดยประเทศแรกที่นาย Modi เยือนคือภูฏาน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ ทั้งในเชิงสังคม การเมืองและวัฒนธรรม และเจรจาพัฒนาข้อตกลงใหม่ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศ ที่ลดระดับความสัมพันธ์ลงในช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นสำคัญคือเพิ่มการศึกษาให้กับนักเรียนภูฏานเข้ามาศึกษาในประเทศอินเดีย (The Times of India, 2014) สิ่งสำคัญที่สังเกตคือการให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาของนาย Modi เพื่อยึดโยงประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียใต้กับประเทศอินเดีย นาย Modi ถือเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างมาก


นายกรัฐมนตรี Narendra Modi ขณะเยือน Pashupatinath Temple
ที่มา: http://www.newsroompost.com/89955/pm-offers-puja-pashupatinath-temple-nepal/

ความน่าสนใจของการใช้นโยบายอำนาจละมุนของนาย Modi คือช่วยส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียและเพื่อนบ้านดีขึ้นทั้งในระดับรัฐบาลและระดับประชาชน โดยในการเยือนประเทศเนปาลปี 2014 ของนาย Modi เขาได้เดินทางเข้าไปสักการะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเนปาล นั่นคือ Pashupatinath Temple อันถือเป็นเทวสถานศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู ที่ทั้งชาวเนปาลและอินเดียให้การเคารพสักการะ การพยายามไปยังพื้นที่ทางศาสนา และเข้าถึงจิตวิญญาณความเป็นฮินดูของนาย Modi ในครั้งนั้น ณ ประเทศเนปาล ส่งผลให้เสียงตอบรับจากประชาชนชาวเนปาลต่อนาย Modi พุ่งขึ้นอย่างสูง อันส่งเสริมให้ความสัมพันธ์อินเดียและเนปาลพัฒนาเพิ่มมากยิ่งขึ้น (Parashar, 2014) ก่อนที่จะเกิดปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญของประเทศเนปาลที่รัฐบาลอินเดียไม่ให้การยอมรับ

และในช่วงวันวิสาขบูชาที่จะถึงในปี 2017 นี้ นายกรัฐมนตรี Modi ของอินเดีย ยังได้ถือโอกาสใช้วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาดังกล่าว ในการเจริญความสัมพันธ์กับประเทศศรีลังกา โดยการเดินทางไปร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลวิสาขบูชา ณ ประเทศศรีลังกา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีศรีลังกา ที่เดินทางมาเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างทั้งสองประเทศในช่วงต้นเดือนเมษายน ปี 2017 ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่นาย Modi สามารถใช้อำนาจละมุนที่อินเดียมีอยู่มากมายเหลือเฟือ และมีความแข็งแกร่งต่อประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างชาญฉลาดและมีประโยชน์ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอินเดียและศรีลังกา ให้หวนกลับมามีความแน่นแฟ้นกลมเกลียวดังที่เคยเป็นมาในอดีต

จึงสรุปได้ว่าอินเดียยังคงพยายามรักษาสมดุลภายในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียใต้ ถึงแม้บทบาทความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับประเทศเพื่อนบ้านดูเหมือนจะลดน้อยลง แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ภายในภูมิภาคเอเชียใต้ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงอินเดีย ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง แม้ว่าหลายประเทศจะขยายความสัมพันธ์กับประเทศจีน แต่ไม่มีประเทศใดในภูมิภาคเอเชียใต้จะละเลย หรือพยายามลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศอินเดีย อินเดียยังคงถือสถานะนำในภูมิภาคเอเชียใต้ทั้งในด้านการทหาร และเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญอีกประการที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้อินเดียดำรงรักษาความเป็นผู้นำดังกล่าวได้คืออำนาจละมุนทางวัฒนธรรม ที่อินเดียมีเหนือประเทศใดๆ ในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียใต้

 

เอกสารอ้างอิง

Baral, B. (2017, February 01). After the 'Blockade': China's Push into Nepal. Retrieved May 08, 2017, from The Diplomat: http://thediplomat.com/2017/02/after-the-blockade-chinas-push-into-nepal/

BHAUMIK, S. (2017, March 01). KEENER ON ARMS FROM CHINA, BANGLADESH DITHERS ON DEFENCE PACT WITH INDIA. Retrieved May 08, 2017, from South China morning post: http://www.scmp.com/week-asia/geopolitics/article/2075152/keener-arms-china-bangladesh-dithers-defence-pact-india

Parashar, U. (2014, August 04). PM Narendra Modi visits Pashupatinath temple, offers 2,500 kg of sandalwood. Retrieved May 08, 2017, from Hindustan Times: http://www.hindustantimes.com/india/pm-narendra-modi-visits-pashupatinath-temple-offers-2-500-kg-of-sandalwood/story-ygxo9wPUPA6Q6wOfrqv8DL.html

Saklani, U., & Tortajada, C. (2016, October 15). The China factor in India–Bhutan relations. Retrieved May 08, 2017, from East Asia Forum: http://www.eastasiaforum.org/2016/10/15/the-china-factor-in-india-bhutan-relations/

Siddiqui, S. (2017, April 12). CPEC investment pushed from $55b to $62b. Retrieved May 08, 2017, from THE EXPRESS TRIBUNE: https://tribune.com.pk/story/1381733/cpec-investment-pushed-55b-62b/

The Times of India. (2014, June 16). 10 key points of PM Narendra Modi's Bhutan visit. Retrieved May 08, 2017, from The Times of India: http://timesofindia.indiatimes.com/india/10-key-points-of-PM-Narendra-Modis-Bhutan-visit/articleshow/36663977.cms

 

เชิงอรรถ

[1]นักศึกษาปริญญาโท สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยเยาวหราล เนห์รู ประเทศอินเดีย

[2] ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ ในที่นี้ผู้เขียนนิยามตามสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation-SAARC) มีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย มัลดีฟส์ เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา อัฟกานิสถาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท