โครงการ 'เส้นทางสายไหมใหม่' ของจีน : โอกาสและความเสี่ยงจากมุมมองนักวิเคราะห์

สี จิ้นผิง ระบุเส้นทางสายไหมใหม่ จะเป็นการเชื่อมโยงระดับนานาชาติหลายด้าน แต่ในมุมมองด้านวัฒนธรรมยังมีข้อกังขาจากที่พรรคคอมมิวนิสต์มีท่าทีปิดกั้นต่างชาติมาโดยตลอด และกดขี่ชนกลุ่มน้อยในแถบเส้นทางสายไหมเอง นักเศรษฐศาสตร์มองว่าแม้จะมีความเสี่ยงที่จีนจะกอบโกย แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ประชาคมโลกจะได้ร่วมมือกันแสวงหาการตกลงแบบ win-win

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีประเทศจีน และผู้ร่วมการประชุม "หนึ่งแถบหนึ่งสายทาง" (BRF) ถ่ายรูปร่วมกันเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ปักกิ่ง (ที่มา: Xinhua)

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2560 สื่อซินหัวของจีนรายงานเกี่ยวกับปาฐกถาเกี่ยวกับความพยายาม "ฟื้นฟูจิตวิญญาณเส้นทางสายไหมใหม่" ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ในงานประชุมใหญ่ด้านความร่วมมือระดับนานาชาติ "หนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง" (One Belt, One Road) ที่มีหลายประเทศได้รับเชิญเข้าร่วมแต่ไม่มีไทย

สีจิ้นผิงกล่าวว่า "มากกว่า 2,000 ปีมาแล้วที่บรรพบุรุษของพวกเรามีความปรารถนาใฝหามิตรภาพจึงได้เปิดเส้นทางภาคพื้นดินและภาคพื้นสมุทรจนเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ในการและเปลี่ยนอารยธรรมกัน"

"ในวันนี้ พวกเรารวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณเส้นทางสายไหมใหม่ และหารือกันเกี่ยวกับการพัฒนาหนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง สำหรับความร่วมมือในระดับนานาชาติ นี่เป็นทั้งการทำให้มรดกร่วมกันของพวกเราดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเป็นทางเลือกที่ถูกต้องสำหรับอนาคตของพวกเรา" สีจิ้นผิงกล่าว

ประธานาธิบดีจีนกล่าวอีกว่าโครงการความร่วมมือหนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง เป็นการรวบรวมปณิธานของการแปลกเปลี่ยนระหว่างอารยธรรม ความใฝ่หาสันติภาพและความมั่นคง รวมถึงการใฝ่หาการพัฒนาร่วมกันและความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิม

ในคำปาฐกถาของเขายังระบุอ้างอิงถึงเส้นทางสายไหมในอดีตว่าเป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนที่เฟื่องฟูในยุคสมัยที่มีสันติภาพแต่สูญเสียพลังของมันไปในช่วงที่เกิดสงคราม จึงอยากให้โครงการของพวกเขามีลักษณะที่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่มีสันติและมีเสถียรภาพ

คำปาฐกถาของสีจิ้นผิงยังเผยถึงแผนการในช่วง 4 ปีถัดจากนี้ว่าจะมีการเชื่อมโยงด้านต่างๆ อย่าง "การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน" เช่นทางรถไฟเชื่อมต่อกันระหว่างประเทศต่างๆ ทั้ง จีน-ลาว หรือ ฮังการี-เซอร์เบีย รวมถึงเส้นทางอื่นๆ "การเชื่อมโยงทางนโยบาย" ที่พูดถึงการเสริมการประสานงานระหว่างประเทศตั้งแต่รัสเซีย มองโกเลีย กับจีน รวมถึงแผนพัฒนาต่างๆ ที่จีนมีแผนการร่วมกับลาว กัมพูชา เมียนมาร์ ฮังการี และประเทศอื่นๆ "การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน" ซึ่งเน้นพูดถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การท่องเที่ยว เทศกาลศิลปะ นอกจากนี้ยังพูดถึงการเชื่อมโยงทางการเงินและทางการค้าด้วย

ยังมีข้อน่ากังขา โดยเฉพาะกรณีจีนปิดกั้นทางวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม อิลาเรีย มาเรีย ซาลา จากสื่อควอตซ์เขียนถึงเรื่องนี้ว่าเส้นทางสายไหมในประวัติศาสตร์ที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรปกับเอเชียผ่านเส้นทางเอเชียกลางจะสร้างแลกเปลี่ยนทางการค้า และวัฒนธรรมจริงรวมถึงทำให้เกิดการแพร่ศาสนาทั้งพุทธฯ คริสต์ และอิสลาม แต่คำว่า "เส้นทางสายไหม" ก็เพิ่งได้รับชื่อนี้จากนักภูมิศาสตร์เยอรมนี บารอน เฟอร์ดินานด์ ฟอน ริชโธเฟน เมื่อปี 2420 โดยที่ทามารา ชิน ผู้ช่วยศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยบราวน์บอกว่าในตอนนั้นริชโธเฟนต้องการส่งเสริมแนวความคิดสร้างทางรถไฟจากจีนเชื่อมยุโรปจากเส้นทางที่มีมานานแล้วแต่ยังไม่มีชื่อเรียกเส้นทางนี้

ซึ่งดูเหมือนว่าสีจิ้นผิงจะมีแรงบันดาลใจจะปลุกความฝันถึงการสร้างทางรถไฟสายนี้อีกครั้งตั้งแต่ปี 2556 จีนในฐานะที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกกำลังพยายามสร้างระบบเชื่อมโยงให้ใหญ่กว่าเดิมเพื่อเชื่อมตลาดจีนกับแหล่งตลาดอื่นๆ แทบทุกที่ในโลกการที่เส้นทางสายไหมมีความดูเป็นแหล่งกันดาร ห่างไกล ทำให้ทางการจีนนำมาสร้างภาพเพ้อฝันแบบโรแมนติคได้

อย่างไรก็ตามวาเลอรี ฮานเซน ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่าไม่มีหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ระบุว่ามีการค้าขายขนานใหญ่เกิดขึ้นกับเส้นทางสายนี้มาก่อนส่วนใหญ่จะเป็นการค้าขนาดเล็กและเป็นในระดับท้องถิ่น ส่วนใหญ่มักจะเป็นพ่อค้าเดินทางข้ามเขาคนเดียว อย่างไรก็ตามส่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือการผสมผสานทางวัฒนธรรมตามเส้นทางที่มีการค้าขายเกิดขึ้น มีการแลกเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ทางศาสนา และอิทธิพลทางศิลปะเกิดขึ้นตลอดเส้นทางโครงข่ายการค้านี้

แต่บทความในควอตซ์ก็ทำให้เกิดข้อกังขาว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีท่าทีปิดกั้นอิทธิพลจากภายนอกด้วยความหวาดระแวงจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมได้จริงหรือไม่ ซึ่งต่างจากเส้นทางสายไหมสมัยราชวงศ์ถังที่มีลักษณะเปิดแนวคิดต่างชาติ นอกจากนี้รัฐบาลจีนในปัจจุบันยังปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยเชื้อสายอุยกูร์อย่างกดขี่และปิดกั้น ทั้งที่ชาวอุยกูร์เหล่านี้เองที่เป็นกลุ่มผู้มีบทบาทในการเป็นตัวกลางให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การค้า และศาสนา ในแถบเอเชียกลาง

สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีประเทศจีน กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม "หนึ่งแถบหนึ่งสายทาง" (BRF) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

นักเศรษฐศาสตร์มองนโยบายจีนน่าสงสัย แต่ควรจะร่วมมือเพื่อทำให้เกิดสถานการณ์ win-win

ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์จากอ็อกฟอร์ด อย่าง เดวิด ไวน์ส เขียนวิเคราะห์ถึงโครงการ "หนึ่งแถบ หนึ่งสายทาง" ในบทความลงอีสต์เอเชียฟอรัมว่ามันจะเป็นโอกาสอันใหญ่หลวง แต่แน่นอนว่ามันก็มีความเสี่ยงอยู่ด้วย แต่โดยรวมๆ แล้ว ไวน์สมีท่าทีสนับสนุนให้เปิดรับโครงการนี้

ไวนส์เปรียบเทียบว่าโครงการริเริ่มของจีนในครั้งนี้คล้ายกับการพยายามสร้างระเบียบโลกเสรีใหม่ในช่วงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีผู้นำโลกาภิวัตน์ตอนนั้นเป็นสหรัฐฯ และอังกฤษ แต่ก็มีคำถามว่าจีนจะกลายเป็นผู้นำโลกเสรีได้หรือไม่ในยุคสมัยที่ดูเหมือนสหรัฐฯ จะกำลังก้าวถอยหลัง แน่นอนว่าในแง่เม็ดเงินลงทุนที่ดูมหาศาลและมีโครงการความร่วมมือเกี่ยวกับโครงสร้างพืนฐานอย่าง ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ดูมีภาพที่ดี แต่ไวน์สก็มีข้อกังขากับจีน ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น "ความเสี่ยง" 2 ประการ

ประการแรก แม้ว่าจีนจะนำเสนอนโยบายนี้ราวกับว่าพวกเจาจะเปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมและผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ AIIB ก็อาจจะส่งเสริมการลงทุนแค่ในแง่ที่จะส่งผลประโยชน์ย้อนกลับเข้าสู่จีนเอง และโครงการเส้นทางสายไหมใหม่นี้ก็อาจจะกลายเป็นแค่การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานขนานใหญ่ที่มีการสร้างงานสำหรับกลไกการผลิตใหญ่ยักษ์ของพวกเขาเองโดยที่อาจจะมีผลตอบแทนแก่ประชาชนกลุ่มประเทศสมาชิกน้อย และอาจจะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในชายฝั่งจีน

ในแง่นี้ไวน์สเสนอให้จีนควรจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการพัฒนาเทคโนโลยีระดับโลกแทนที่จะต่อสู้แข่งขันกันในเรื่องนี้กับสหรัฐฯ

ความเสี่ยงประการที่สองคือ ความกังวลเรื่องนโยบายที่จีนจะมีต่อประเทศอื่นๆ มีความน่าสงสัยว่าจีนจะพยายามทำให้กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่ยากจนกว่าต้องเกิดภาวะพึ่งพิงทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อจีนโดยอาศัยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในการแผ่อิทธิพลทางการเมือง

อย่างไรก็ตามจากความเสี่ยงสองประการนี้ทำให้ไวน์สยิ่งมองว่าทั้งโลกไม่ควรปฏิเสธความร่วมมือกับจีน การทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้จีนตัดสินใจใช้อำนาจทางการเงินหาผลประโยชน์เข้าตัวเองมากขึ้น แต่ควรจะหาหนทางที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย (win-win) เนื่องจากจีนกำลังขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัดและกำลังเริ่มเรียนรู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรในเวทีโลก ประชาคมโลกจึงต้องแสดงให้ผู้กำหนดนโยบายจีนได้เข้าใจว่าพวกเขาจะนำเศรษฐกิจโลกอย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อโลกไม่ใช่แต่กับจีนอย่างเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท