หนี้เสีย ธ.พาณิชย์ทั้งระบบ พุ่ง 4 แสนล้าน NPL สินเชื่อบุคคลพุ่ง 37%

NPL ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ เติบโตมากขึ้นมาอยู่ที่ 405,328 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.95% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 13% หรือ 47,246 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน พบหนี้เสียสินเชื่อบุคคลพุ่ง 37%

เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2560 โดย ดารณี แซ่จูผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2560 ว่า สินเชื่อยังขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยขยายตัวทั้งในสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อ SME ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงจากผลกระทบ ของภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความมั่นคง มีเงินสำรองและ เงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งมีกำไรสุทธิใกล้เคียงกับปีก่อนจากการบริหารด้านหนี้สินเป็นสำคัญ

โดยมี รายละเอียดดังนี้ สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับ การขยายตัวของเศรษฐกิจที่การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังไม่เข้มแข็งนักและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ใน ระดับสูง อีกทั้งภาคธุรกิจมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้น อย่างไรก็ดีทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาด ใหญ่และธุรกิจ SME ขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้จะยังกระจุกตัวในธุรกิจบางประเภท ทั้งนี้ในภาคธุรกิจการเงิน มีการคืนหนี้ธนาคารพาณิชย์ด้วยการออกหุ้นกู้ทดแทนเพื่อควบคุมต้นทุนทางการเงิน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ย ตลาดพันธบัตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 67.4 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน โดย ขยายตัวทั้งในสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อ SME สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.9 หลังจากหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 โดยสินเชื่อขยายตัวจากบาง ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน การขนส่ง และที่พักแรม สอดคล้องกับภาคส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวและ การท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น สินเชื่อ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในธุรกิจการผลิตยางและพลาสติกและการขายส่งวัตถุดิบทางการเกษตร สอดคล้องกับราคายาง และผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับดีขึ้น สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 32.6 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ ร้อยละ 4.6 โดยชะลอตัวในพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดการซื้อรถยนต์ที่ปรับดีขึ้นหลังจากสิ้นสุดเงื่อนไขระยะเวลา 5 ปี ในการถือครอง รถยนต์คันแรก

ขณะที่ คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ด้อยลงจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(Non-Performing Loan : NPL)ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ที่ร้อยละ 2.83 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.94 โดยเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และ SME ในบางอุตสาหกรรม และสินเชื่อธุรกิจ SME ในภาคพาณิชย์ขณะที่คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคด้อยลงจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) ต่อสินเชื่อรวมลดลง เล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.61 จากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดีธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรอง อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ โดยเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็น 5.45 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 161.8 จากสิ้นปี 2559 ที่ร้อยละ 159.6

ในไตรมาส 1 ปี 2560 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 51.1 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับระยะเดียวกัน ปีก่อน โดยอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นผลจากการบริหารด้านหนี้สินเป็นสำคัญ ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์มีค่าใช้จ่ายจากการกันสำรอง เพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสิ้น 2,310.4 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อย จากการไถ่ถอนตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Tier 2) ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1 ratio) อยู่ที่ร้อยละ 17.8 และ 15.1 ตามลำดับ

NPL ไตรมาสแรก พุ่ง 4 แสนล้าน 

โดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมในส่วนของ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ไตรมาสแรกปี 2560 จากรายงานของ ธปท. พบว่าเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ เติบโตมากขึ้นมาอยู่ที่ 405,328 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.95% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 13% หรือ 47,246 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีเอ็นพีแอล 358,082 ล้านบาท หรือ 2.64% และเพิ่มขึ้น 18,743 ล้านบาท หรือ 4.84% จากไตรมาส 4/2559 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 386,585 ล้านบาท หรือ 2.83% ต่อสินเชื่อรวม

หากดูผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อรายย่อยไตรมาสแรก และแนวโน้มไตรมาส 2 ของ ธปท.ที่รวบรวมความเห็นจากสถาบันการเงิน 54 แห่ง พบว่า แบงก์ส่วนใหญ่ยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อในสินเชื่อรายย่อยในไตรมาสแรก และต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 ปีนี้ หากดูในส่วนดัชนีการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยพบว่าลดลงในสินเชื่อเกือบทุกหมวด อาทิ สินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต รถยนต์ และสินเชื่อบัตรกดเงินสดต่าง ๆ

หนี้เสียสินเชื่อบุคคลพุ่ง 37%

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงาน ความเป็นของ สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ถึง NPL ด้วยว่า สุรพล กล่าวว่า หากดูเอ็นพีแอล สินเชื่อรายย่อยในฐานข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า เอ็นพีแอลของสินเชื่อกลุ่มนี้เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลที่เอ็นพีแอลที่พบหนี้เสียเติบโตกว่าทุกกลุ่ม โดย ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 166,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากสิ้นปีก่อน ส่วนสินเชื่อบ้านเอ็นพีแอลก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 126,479 ล้านบาท เติบโต 20.54% และบัตรเครดิตเอ็นพีแอลอยู่ที่ 53,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.83%

"แม้ข้อมูลเอ็นพีแอลในศูนย์ข้อมูลเครดิตบูโรไตรมาสแรกปีนี้ยังไม่ออก แต่ก็คาดว่าเอ็นพีแอลรายย่อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่ออย่างแน่นอน โดยเฉพาะเอ็นพีแอลใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในระบบข้อมูลเครดิตบูโร ในกลุ่มสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังพบการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง" สุรพลกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท