Skip to main content
sharethis

เหตุใดคนเพียงคนเดียวจึงสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้มากขนาดนี้? สนทนากับ ‘ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร’ อดีตสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ นักวิชาการรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หาคำตอบว่าจุฬาฯ มีความหมายอะไรต่อสังคม และความหมายที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ พร้อมเสนอปัญหาและความท้าทายที่เนติวิทย์ในฐานะประธานนิสิตคนต่อไปจะต้องเผชิญ

หลังเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ บรรดาสื่อ ศิษย์เก่า นักวิชาการ ไปจนถึงนักการเมืองที่สมาทานแนวคิดทางการเมืองต่างจากเขาก็ต่างพากันส่งเสียงแสดงความไม่พึงพอใจกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ต่างจากตอนที่เนติวิทย์ได้เข้าศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ หรือตอนที่เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิสิต ฝ่ายขวาก็ดูจะเดือดร้อนกับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเขามาโดยตลอด ล่าสุด มีวัยรุ่นสองคนบุกเข้าไปถึงคณะรัฐศาสตร์ และขู่จะทำร้ายร่างกาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความไม่พอใจของผู้ที่ต่อต้านเนติวิทย์ได้เพิ่มขึ้นจนใกล้ถึงจุดนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกันเข้าไปทุกที

เหตุใดคนคนเดียวจึงสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้มากขนาดนี้? เพื่อหาคำตอบดังกล่าว ประชาไทจึงสนทนากับ ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร นักวิชาการเลือดใหม่ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนบทความ "อ่านจุฬาฯ ใหม่: ความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาของนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ" เพื่อหาคำตอบว่าจุฬามีความหมายอะไรต่อสังคม และความหมายดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่ นอกจากนี้ ชัยชาญยังเป็นอดีตสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ จึงสามารถแบ่งปันประสบการณ์ ปัญหา และความท้าทายที่เนติวิทย์ ในฐานะรุ่นน้อง และประธานนิสิตคนต่อไปจะต้องเผชิญอีกด้วย

ชัยชาญ ปรางค์ประธานพร

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หลังได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชัยชาญมองว่า ในมิติของตัวบุคคล คนที่มีแนวคิดแบบเนติวิทย์ ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับเขามันมีคนเดียว เนติวิทย์ดังขึ้นมาตอนปี 2554 ตอนเคลื่อนไหวเรื่องทรงผมนักเรียนและพิธีเคารพธงชาติและสังคมก็จำได้แค่ชื่อเขา ทุกสิ่งที่เขาทำจึงตกเป็นเป้าความสนใจ และบุคลิกของเขาคือมักจะเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง ไม่รวมกลุ่มกับใคร แม้จะตั้งกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท แต่สุดท้ายสังคมก็ยังจำภาพแต่เนติวิทย์ กล่าวง่ายๆคือเป็นพวก “ฉายเดี่ยว” จึงเป็นเป้าจับตาจากสังคมตลอดเวลา เวลาเขาเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ เขาตระหนักอยู่แล้วว่าจะสร้างความเดือดดาล และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเขาก็มักจะใช้กระแสดังกล่าวในการสื่อสารประเด็นของเขาให้ออกไปไกลยิ่งขึ้น

เมื่อคนอย่างเนติวิทย์เข้ามาอยู่ในจุฬาฯ ย่อมเป็นปัญหาอย่างแน่นอนสำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะเมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองจุฬาฯ พวกเขาไม่ได้มองเห็นแค่มหาวิทยาลัย แต่เห็นสถาบันที่ผูกโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุด สร้างโดยรัชกาลที่ 5 สถาปนาโดยรัชกาลที่ 6 และยังถูกมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศ จุฬาฯ จึงไม่ได้เป็นแค่มหาวิทยาลัย แต่ยังเป็นความฝันของคนในสังคมไทย ว่าสักวันหนึ่งจะได้เข้าไปเรียน หรือส่งลูกส่งหลานเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยดังกล่าว ที่นอกจากจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแล้ว ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์อีกด้วย การที่เนติวิทย์เข้ามาเป็นประธานสภานิสิตฯ จึงทำให้ภาพความฝันตรงนี้มันมัวหมองลงไป ตามตรรกะเดียวกัน ชัยชาญมองว่า หากเนติวิทย์เข้าไปศึกษาที่โรงเรียนวชิราวุธ ซึ่งก่อตั้งโดยรัชกาลที่ 6 และได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน กระแสสังคมก็น่าจะออกมาในรูปแบบเดียวกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ของจุฬาฯ ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์นั้นมีมาตั้งนานแล้ว เพราะแม้กระทั่งชื่อมหาวิทยาลัยยังเป็นพระนามของรัชกาลที่ 5 ภาพลักษณ์ดังกล่าวยังถูกทำให้เข้มข้นมากขึ้นในทุกๆ รัชสมัย ในยุคแรก จุฬาฯ มีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มีน้อยมาก มีเพียงแค่การถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ 5 เพื่อรำลึกถึงผู้ก่อตั้ง ในรัชกาลที่ 7 เริ่มมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แต่พอมาในสมัยรัชกาลที่ 9 กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น ในปี 2491 พระองค์ทรงประพันธ์เพลง มหาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งกลายมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยจวบจนปัจจุบัน ในปี 2509 ทรงปลูกต้นจามจุรี 5 ต้นในปี และจามจุรีก็กลายเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย นิสิตจุฬาฯ จะได้รับบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้อย่างเข้มข้นในช่วงรับน้องใหม่ และเล่าซ้ำอยู่เรื่อยๆ ตลอดชีวิตการเป็นนิสิต อีกทั้งตึกเรียนภายในจุฬาฯ จำนวนมากก็เป็นชื่อของพระบรมวงศานุวงศ์ บรรยากาศในมหาวิทยาลัย และประวัติศาสตร์เหล่านี้จึงเป็นการปลูกฝังเรื่องความจงรักภักดีให้กับนิสิตไปในตัว

นอกจากนี้ ยังมีการแต่งเติมกิจกรรมบางอย่างเพื่อเสริมภาพความใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น อาทิการถวายบังคมหน้าพระบรมรูปสองรัชกาลตอนเข้าศึกษา กับตอนสำเร็จการศึกษา พิธีกรรมดังกล่าวเพิ่งจะเกิดขึ้นในปี 2540 แต่สังคมก็มักจะคิดว่าเป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย ประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงกับสถาบัน และภาพพิธีกรรมเหล่านี้เมื่อ ถูกฉายออกไปสู่สังคมภายนอก มันทำให้จุฬาฯ กลายเป็นเหมือน “โรงละคร” ที่ฉายภาพอุดมคติของอุมดมศึกษาไทย คือเป็นแหล่งรวมคนเก่ง มีความสามารถ และจงรักภักดี ซึ่งเนติวิทย์ได้เข้ามาทำให้ภาพอุดมคติตรงนี้มันผิดเพี้ยนไป ยิ่งเมื่อมีกระแสว่าเขาต้องการจะยกเลิกพิธีถวายบังคม สังคมก็ยิ่งตราหน้าว่าเขาเป็นฝ่ายต่อต้านสถาบันกษัตริย์ไปด้วย ซึ่งมันยิ่งทำให้อุดมคติของจุฬาฯ ในสายตาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมยิ่งผิดเพี้ยนเข้าไปใหญ่ จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะออกมาแสดงความเดือดดาล

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร คอลัมน์นิสต์ชื่อดังผู้เขียนบทความต่อต้านหลังเนติวิทย์ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพจากกล้องวงจรปิดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 บันทึกภาพชาย 2 คนขับจักรยานยนต์เข้ามาตามหาตัวเนติวิทย์

“แม้ทุกวันนี้มหิดลจะขึ้นมาแซงจุฬาฯ ในแง่ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัย แต่ถามว่าฝ่ายขวา หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขาแคร์เรื่องการจัดอันดับขนาดนั้นเลยหรือ? ฝ่ายขวาไม่ได้แคร์เลย เขาไม่ได้แคร์ว่าจุฬาจะได้อันดับมหาวิทยาลัยที่เท่าไหร่ หรือแต่ะละปีผลิตงานวิจัยได้กี่ชิ้น เขาแคร์แค่ว่าภาพพิธีกรรมเหล่านี้ในแต่ละปีมันออกมาดีหรือไม่”

อีกเรื่องที่ต้องไม่ลืมคือ จุฬาฯ เป็นต้นแบบหลายๆ เรื่องให้กับมหาวิทยาลัยไทย ไม่ว่าจะเป็น พิธีรับปริญญา เครื่องแบบ การรับน้อง หรือแม้กระทั่งเพจ Chula Cute Boy มหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็รับอิทธิพลจากจุฬาไปทั้งสิ้น การที่เนติวิทย์ขึ้นมาเป็นประธานสภานิสิตจึงสร้างความกังวลว่าคนที่มีแนวคิดแบบเดียวกันกับเขาอาจจะกำลังแพร่ไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในไทยด้วย

อีกกระแสหนึ่งที่ตีคู่มากับความเดือดดาลของฝ่ายขวา คือความคิดที่ว่าขบวนการนักศึกษาของจุฬาฯ กำลังเติบโต ในขณะที่ธรรมศาสตร์กำลังถดถอย ซึ่งชัยชาญไม่เห็นด้วยกับกระแสดังกล่าว โดยมองว่าการที่เนติวิทย์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของขบวนการนักศึกษาในจุฬาฯ ต่างหาก ธรรมศาสตร์มีองค์กรนักศึกษาที่แข็งแกร่งมาก ทั้งฝ่ายสภาและฝ่ายบริหาร ถ้าเนติวิทย์ไปอยู่ธรรมศาสตร์ เขาไม่มีทางที่จะแทรกตัวเข้าไปได้เลยโดยใช้เวลาแค่ปีเดียว ส่วนของจุฬาฯ องค์กรนักศึกษาของที่นี้มันอ่อนแอมาก อ่อนแอเกินกว่าที่จะสามารถสกัดกั้นคนที่มีความคิดแบบเนติวิทย์ออกไปได้ จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมยกตำแหน่งนี้ให้ แต่ในแง่หนึ่ง ชัยชาญมองว่า ตำแหน่งประธานสภานิสิตอาจเป็นโอกาสของจุฬาฯ ในการควบคุมเนติวิทย์ และทำให้เขาไม่สามารถพูดในสิ่งที่ตนอยากพูดเหมือนก่อนได้อีกต่อไป

“ถ้าจุฬาฯ ยกเกาอี้ลอยๆ ให้เนติวิทย์ เนติวิทย์ก็ต้องทำตามกติกาบางอย่าง วันก่อนรองอธิการบดี (รองศาสตราจารย์ ดร.บัญชา ชลาภิรมย์) ออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องเนติวิทย์ว่า คุณเป็นประธานแล้ว คุณควรจะรู้ว่าควรจะพูด และไม่ควรจะพูดอะไร ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณไปหาเนติวิทย์ว่าสถานะของคุณตอนนี้ คุณเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาฯ คุณจะไปวี้ดว้ายกระตู้วู้เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ชัยชาญก็มองว่าการที่ขบวนการนักศึกษาของจุฬาฯ อ่อนแอนั้น จะทำให้เนติวิทย์สามารถเคลื่อนไหวได้เยอะกว่าเมื่อเทียบกับธรรมศาสตร์ เพราะแม้ธรรมศาสตร์มีกลุ่มนักกิจกรรมจำนวนมาก ทั้งองค์กรนักศึกษาที่เป็นทางการ และกลุ่มอิสระที่เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องก็จริง แต่อาจารย์และผู้บริหารของธรรมศาสตร์ก็ใช่ว่าจะให้กลุ่มพวกนี้เคลื่อนไหวโดยอิสระ พวกเขามีประสบการณ์ในการสกัดกั้นไม่ให้ขบวนการนักศึกษาของธรรมศาสตร์ออกนอกกรอบที่พวกเขาตั้งไว้ ในขณะที่อาจารย์และผู้บริหารของจุฬาฯ ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการรับมือกับนักกิจกรรม ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสให้เนติวิทย์ทำอะไรได้มากกว่าเมื่อเทียบกับธรรมศาสตร์

นอกจากนี้เนติวิทย์ก็มิได้เป็นตัวแทนของเด็กจุฬาฯ ทุกคนขนาดนั้น จริงอยู่ที่เขาเข้ามาผ่านการเลือกตั้งของนิสิต แต่ก็ไม่ได้หมายความเด็กจุฬาฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะมีความคิดเหมือนเนติวิทย์ เพราะนิสิตจุฬาฯ ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งสมาชิกสภานิสิตน้อยมาก เมื่อเทียบกับการเลือกองค์กรบริหารนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) สภานิสิต ได้มาจากการเลือกตัวแทนระดับคณะ คณะละ 3 คน บวกสมาชิกสมบทอีกคณะละ 1 คน ซึ่งจุฬามีทั้งหมด 19 คณะ กับอีก 1 สำนักวิชา นั่นหมายความว่าจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมดควรจะเป็น 80 คน ซึ่งในความเป็นจริง บางคณะก็มีตัวแทนไม่ครับตามโควต้าที่กำหนดด้วยซ้ำ เนื่องจากไม่มีคนสมัคร นอกจากนี้กฎของสภายังระบุอีกว่าสมาชิกปี 1 ซึ่งมีจำนวน 1 ใน 4 ของสภาทั้งหมด ไม่มีสิทธิออกเสียง แปลว่าคนที่ยกมือโหวตได้จริงๆ จะมีแค่ 60 คน

แต่ในความเป็นจริงสมาชิกที่มาประชุมในแต่ละครั้งมีจำนวนน้อยมาก เรียกได้ว่า ถ้ามีคนมาลงคะแนนเสียงในการประชุมเกิน 30 คนนับว่าเยอะมากแล้ว หากเป็นการประชุมทั่วไป ที่ไม่มีการลงคะแนนเสียง อาจจะมีคนมาแค่สิบกว่าคน ซึ่งการที่เนติวิทย์ได้รับคะแนนเสียง 27 คะแนน จากสมาชิก 36 คนที่เข้าร่วมประชุม จึงถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมากแล้ว ในมาตรฐานของสภานิสิตจุฬาฯ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องความเข้าใจในหน้าที่ของสภาในหมู่นิสิต นิสิตที่ไปเลือกสมาชิกสภามีน้อยคนมากที่จะรู้ว่าหน้าที่ของสภานิสิตคืออะไร เพราะสภาไม่ได้มีผลต่อการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของพวกเขามากนัก หน้าที่หลักของสภาคืออนุมัติวงเงินในการทำกิจกรรมให้กับ อบจ. ในทางกลับกัน หากถามนิสิตว่ารู้จัก อบจ. ไหม อาจจะพอตอบได้บ้าง เพราะเป็นองค์กรฝ่ายบริหารที่รับผิดชอบงานรับน้อง งานฟุตบอลประเพณี และกิจกรรมอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ในฐานะอดีตสมาชิกสภานิสิต ชัยชาญคาดหวังว่าเนติวิทย์น่าจะทำให้สภานิสิตเป็นที่รู้จักมายิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สภาพยายามทำมาโดยตลอดแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะตัวสภาไม่ค่อยมีบทบาทมากนักในกิจกรรมนักศึกษาจึงไม่ค่อยมีผลงานไปประชาสัมพันธ์ ในแง่ของการทำงาน ชัยชาญมองว่าภารกิจหลักของสภา นั่นคือการผ่านงบกิจกรรมนิสิต ไม่น่าจะเปลี่ยนไปมากนัก หลายคนอาจจิตนาการว่าเนติวิทย์จะเข้ามายกเลิกกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำมา เช่นงานฟุตบอลประเพณี การรับน้อง พิธีถวายบังคม ซึ่งในความเป็นจริง อำนาจของสภาไม่ได้มีมากขนาดนั้น อีกทั้งการเป็นประธานสภานิสิตก็ไม่ต่างจากประธานรัฐสภา คือไม่สามารถอภิปรายอะไรได้มากนัก ทำได้แค่อำนวยความสะดวกให้การประชุมดำเนินต่อไปได้ หากอยากจะพูดอะไรก็ต้องพูดผ่านปากคนอื่น

อย่างไรก็ตาม สภายังมีงานอีกรูปแบบหนึ่งคือ “กิจกรรมพิเศษ” เช่นการจัดเสวนา การรับฟังความคิดเห็นของนิสิต การจัดบรรยายพิเศษ การจัดนิทรรศการ ซึ่งชัยชาญคาดว่าเนติวิทย์น่าจะลงทุนลงแรงกับงานส่วนนี้มากกว่าสภาชุดก่อนๆ เพราะมันเป็นกิจกรรมที่สามารถสื่อสารกับสังคมภายนอกได้ ประโยชน์ที่ชัดเจนที่สุดที่เนติวิทย์จะได้จากการเป็นสภานิสิต คือการขอสถานที่ เพราะจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่ขอสถานที่ในการทำกิจกรรมยากมาก แต่หากขอใช้สถานที่เพื่องานสภาจะขอได้ง่ายขึ้นมาก และยังมีงบประมานสนับสนุนจากจุฬาฯ อีกด้วย

อย่างไรก็ตามชัยชาญกังวลว่าหน้าที่หนึ่งของสภานิสิตอาจจะพร่องลงไปในยุคของเนติวิทย์ คือหน้าที่ในการดูแลสวัสดิการของนิสิต เช่นความปลอดภัยรอบรั้วมหาวิทยาลัย ไฟส่องสว่าง การจัดหาที่อ่านหนังสือช่วงสอบ หรือความสะอาดของร้านค้า ซึ่งที่ผ่านมาเนติวิทย์ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเข้ามาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปีหนึ่ง อาจทำให้เขายังไม่รับรู้ถึงปัญหาของการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมากเท่าที่ควร

“หน้าที่หนึ่งของสภาคือการนำเสนอความเห็นเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาอาจจะละเลยประเด็นเหล่านี้ไป เนติวิทย์ค่อนข้างมีความเข้าใจด้านสิทธิ เสรีภาพ สิทธิทางการเมืองเป็นอย่างดี แต่ถามว่าเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับนิสิตโดยตรง เช่นความสะอาดของร้านค้าหอใน เขายังดูไม่ค่อยเข้าในในปัญหาตรงนี้มากเท่าที่ควร ผมกังวลว่าเขาจะอยู่แต่ในโลกของเขา คือการเมือง สิทธิ เสรีภาพ จนละเลยเรื่องพวกนี้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net