Skip to main content
sharethis

เพื่อไทย – ประชาธิปัตย์ - ญาติวีรชน พ.ค. 35 และ 53 เห็นพ้อง ปรองดองคือยอมรับกันและกัน แตกต่างหลากหลายอยู่ร่วมอย่างสันติ ไม่ใช่คิดเหมือนกันหมด ชี้ 3 ปี คสช. ทำสังคมเอียนรัฐประหารเพราะไส้กิ่ว จี้รัฐบาลทหารลาโรงด่วน วอนประชาชนอย่าเร่เอาอำนาจไปให้ใครยึดอีก พร้อมประมวลภาพงานรำลึกช่วงเช้าท้ายข่าว

17 พ.ค. 2560 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ มีการจัดงาน “เวทีเสวนา 25 ปี พฤษภาประชาธรรม กับความรัก ความสามัคคี และการปรองดอง” โดยมี วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) และ อดีต สส. พรรคเพื่อไทย ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพะเยาว์ อัคฮาด หนึ่งในแกนนำกลุ่มญาติวีรชนปี 2553 เป็นวิทยากร และ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 2535 เป็นผู้ดำเนินงานเสวนา

งานเสวนาข้างต้นเป็นงานภาคบ่ายต่อจากงานวางพวงมาลารำลึก และกิจทางพุทธศาสนาในช่วงเช้า ณ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ตรงข้ามโรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยมีญาติวีรชนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตัวแทนจากพรรคการเมือง กองทัพและตำรวจเข้าร่วมงานและวางพวงมาลาด้วย

วัฒนาชี้ปรองดองคือความแตกต่างอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อัดทหารทำไม่เวิร์คเหตุเป็นคู่กรณีหลัก

จากซ้ายไปขวา: พะเยาว์ อัคฮาด จตุพร พรหมพันธุ์ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ องอาจ คล้ามไพบูลย์ วัฒนา เมืองสุข

วัฒนา กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความขัดแย้งที่มีสาเหตุจากการเมือง ทางแก้เดียวคือต้องสร้างความปรองดอง ไม่ได้แปลว่าให้คนรักกันหรือคิดเหมือนกันอย่างที่รัฐบาลกำลังทำ แต่คือการที่ทำให้คนที่คิดไม่เหมือนกันอยู่รว่มกันในสังคมได้อย่างสันติสุข ทำได้ด้วยการยอมรับความเห็นต่าง สร้างกติกาการอยู่ร่วมกัน ถ้าประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันก็แก้ปัญหาไม่ได้ จะเกิดปัญหาเดิมซ้ำๆ รัฐธรรมนูญถูกสร้างขึ้นมาก่อนการปรองดอง ดังนั้นการปรองดองจึงไม่สามารถไปเปลี่ยนสิ่งที่มีขึ้นมาก่อนได้ คิดว่าในอนาคตจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นอีกและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

อดีต สส. พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า แท้จริงกระบวนการปรองดองไม่ได้ต่างกับการหาข้อยุติความขัดแย้ง ต้องเริ่มจากกระบวนการที่ต้องยอมรับ หาคนกลางเป็นคนตัดสินปัญหา การจัดคณะกรรมการปรองดองโดยทหารนั้นมีข้อสังเกตว่า ทหารเป็นคู่กรณีของความขัดแย้งแน่นอน กองทัพพยายามบอกว่าไม่ใช่ แต่แท้ที่จริง ทหารเป็นคู่กรณีเพราะออกมายึดอำนาจและกดขี่ประชาชน การปรองดองไม่ใช่การทำให้คนรักกัน คิดเหมือนกัน ตนคิดไม่เหมือนกองทัพก็จับไปเข้าค่ายปรับทัศนคติ

“คสช. มีทางเลือกหลายด้านในทางการเมือง แต่ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกเลยสักด้าน ผู้แทนในระบอบประชาธิปไตยจะดีจะชั่วแค่ไหนประชาชนยังตรวจสอบได้ แต่อัศวินขี่ม้าขาวมาประชาชนทำอะไรไม่ได้ ในค่านิยม 12 ประการ ก็ไม่ได้ระบุถึงคำว่าความรับผิดชอบเอาไว้สักคำ...นักการเมืองที่เลือกตั้งเข้ามา สามารถได้รับการตรวจสอบได้ และมีวิธีการรับผิดชอบ แต่คนที่เข้ามาด้วยวิธีพิเศษ ตรวจสอบไม่ได้และไม่รับผิดชอบใดๆเลย”

“ความซวยของประเทศนี้คือการเอาวิธีแก้ปัญหาแบบราชการ แบบทหารมาใช้ ที่เล่นพรรคเล่นพวก พวกไหนไม่ใช่ก็เอาออกไป มันเลยเป็นที่มาของบูรพาพยัคฆ์ กับพวกที่ไม่ใช่ มีพวกนั้นพวกนี้”

“รัฐบาลทหารชุดนี้พร่ำบอกว่าปรองดอง แต่ไม่ยอมรับความคิดเห็นของประชาชน การเลื่อนแถลงผลงานไป เพราะได้รับการวิจารณ์ว่าไม่มีผลงาน จึงเลื่อนออกไปก่อน แม้แต่เสียงเห็นต่างของประชาชนก็ไม่รับฟัง รวมถึงการลิดรอนอำนาจประชาชน ไปใส่ไว้กับหน่วยงานของเขาที่เขาควบคุมได้” อดีต สส. พรรคเพื่อไทย กล่าว

วัฒนา กล่าวว่า ประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรมเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้ ดังนั้นกติกาที่จะใช้ร่วมกันจึงต้องกำหนดร่วมกันถึงจะได้รับการยอมรับ ปัญหาความขัดแย้งที่แก้ไขได้ยากเพราะมีคนได้ประโยชน์จากความขัดแย้งเสมอ เช่นคนที่มีอำนาจในทุกวันนี้ เพราะในช่วงที่บ้านเมืองสงบสุข คนเหล่านี้ไม่มีที่ยืนในสังคมเลย ประชาชนไม่เคยเลือกไปนั่งในสภา การปรับบ้านเมืองจึงเป็นการปรับการทำมาหาได้ของพวกเขาด้วย ประวัติศาสตร์ได้สอนแล้วว่าถ้าประชาชนรวมตัวกันได้ เผด็จการก็อยู่ไม่ได้ เผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ยิ่งใหญ่กว่าเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชาเยอะก็ยังอยู่ไม่ได้

องอาจ ย้ำปรองดองต้องเน้นมีส่วนร่วมของประชาชน ทุกๆ ฝ่าย ไม่มั่นใจ คสช.ทำได้

องอาจ กล่าวว่า เหตุที่ต้องมาพูดเรื่องปรองดอง เพราะบ้านเมืองมีความเห็นแย้ง เห็นไม่ตรงกัน เผชิญหน้ากัน สุดท้ายก็ใช้ความรุนแรง มีคนไม่ทำตามกติกาที่สังคมยอมรับกันได้ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองเดินไปสู่ความปรองดอง แต่ถ้าไม่สามารถหากระบวนการที่ถูกต้อง ความมุ่งหวังก็ยากที่จะเป็นจริง สุดท้ายต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อคำถามที่ว่า เรามีส่วนร่วมกับความล้มเหลวที่ผ่านมาอย่างไร และจะทำให้เกิดกลไกที่มีความเห็นร่วมกันได้หรือไม่ ส่วนตัวไม่แน่ใจว่ากระบวนการที่ดำเนินงานอยู่ในขณะนี้โดยรัฐบาล คสช. จะทำให้เกิดความปรองดองขึ้นได้หรือไม่ แต่ตราบใดที่เรายังอยู่ด้วยกันในสังคม อยู่ร่วมกันได้ทั้งที่มีความเห็นต่าง หรือโกรธ เกลียดกัน

“ทุกคนในประเทศไม่มีใครอยากขัดแย้งกัน อยากอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีความสุขร่วมกัน ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการปรองดอง แต่ที่ตั้งข้อสงสัยคือวิธีการของมันที่จะทำให้การปรองดองเกิดขึ้นโดยให้ความสำคัญกับประชาชน ถ้าทุกๆ ฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม มีจุดมุ่งหมายตรงกัน มันก็เดินไปได้ เชื่อว่า นับจากนี้เป็นต้นไปถึงเมื่อไรก็ตามที่เราจะมีโอกาสได้ใช้อำนาจของเราบ้าง ก็ขอให้ใช้อำนาจทำให้บ้านเมืองก้าวหน้า” องอาจ กล่าว
จตุพร กล่าวว่า เรื่องปรองดองในเมืองไทยนั้น ไม่มีใครเชื่อเลย คณะกรรมการแต่ละชุดก็ทำงาน กินเงินเดือนจริงจัง แล้วทำหน้าที่ศึกษาเรื่องการปรองดอง ศึกษาจนสึกหรอ ผลลัพธ์คือเอกสาร คนมีอำนาจไม่เคยเอาไปปฏิบัติ พอมีปัญหาก็ตั้งคณะกรรมการปรองดองใหม่อีก ในวงปรองดองวงใหญ่ในกระทรวงกลาโหมบอกว่า จะเอาผลการศึกษาที่รวมมาจากภูมิภาคต่างๆ ส่งให้ผู้บัญชาการกองทัพบก แล้วจัดทำเป็นแนวทางที่เรียกว่า สัญญาประชาคม ส่วนตัวเห็นว่า รอกันมาสามปีแล้ว ก็รอกันอีกหน่อย ไม่อยากไปเรียกใครว่าวีรชนอีกแล้ว เพราะวีรชนหนึ่งคนก็คือความตายหนึ่งครั้ง วาดหวังว่า จุดเริ่มต้นของประเทศไทยคือ คนไทยต้องเอาจริงเอาจัง ความรัก ความสามัคคี ความปรองดองที่มันยังไม่เคยเกิดเพราะไม่มีใครเคยทำ

พะเยาว์ กล่าวว่า เป็นเกียรติที่ได้มาเจอญาติวีรชน ตอนนั้นเคยเห็นเหตุการณ์ ผ่านมา 7 ปี ได้มองย้อนไปแล้วคิดว่าเราผ่านเหตุการณ์มาด้วยประสบการณ์ สิ่งที่จะร้องขอคือ ในอนาคต ความเห็นที่ต่างกัน แต่จะอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยไม่ลุกขึ้นมาฆ่ากัน ควรใช้ความคิด อิสระ เสรีภาพทางการพูดมาหาทางออกให้ดีที่สุด ไม่ใช่เกิดเหตุการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วในเมืองไทยมีเหตุการณ์ขึ้นซ้ำๆ แต่ไม่มีใครจำกันไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ พ.ค. 2535 และ 2553 ถ้าประชาชน กองทัพ สถาบันต่างๆ ปฏิรูปความคิด ว่าชาติคือประชาชน ทุกคนไม่มีสิทธิ์ไปฆ่า ไปบงการใคร ที่อยากจะขอคือให้รู้สึกถึงคำว่าปรองดองจริงๆ ขอให้รัฐบาลนี้หาต้นเหตุของการปรองดอง แล้วตั้งใจสร้างความปรองดองให้ได้ ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านกระบวนการปรองดองของรัฐบาล คสช. ถึงตนจะสูญเสียไปมากก็ตาม

ทุกฝ่ายเห็นพ้อง คสช. อยู่ยาวทำสังคมขยาดรัฐประหาร ย้ำ ควรลาโรงด่วน

จตุพร กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ คสช. ยึดอำนาจอยู่นาน เพราะถ้าอยู่ไม่นานเหมือนแต่ก่อนสังคมก็จะไม่ขยาด ไม่เห็นภัยของการยึดอำนาจว่าเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อทุกคน ยุคนี้เป็นยุคเดียวที่ร้านส้มตำปิดกิจการ ย่ำแย่ทั้งคนกวักมือเรียกและกวักมือไล่ หากว่ากันตามระยะเวลา รัฐบาลทหารจะอยู่ 4 ปี ถ้าเป็นนักการเมือง คนไทยก็คงเบื่อกันแล้ว การที่ทหารนั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการปรองดองเหมือนการแบกรับความสำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จ ก็เสียหน้าไป แต่ถ้าไม่สำเร็จ ประชาชนก็อยู่อย่างที่เคยอยู่ ทั้งตั้งข้อสังเกตว่า ในเวลาที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ทหารที่ลงเลือกตั้งยังไม่กล้าตั้งชื่อพรรคว่าพรรคทหารเลย และสิ่งที่รออยู่ในตอนปลายของการยึดอำนาจคือความทุกข์เท่านั้น

วัฒนา กล่าวว่า หน้าที่ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้คือการขับไล่รัฐบาลเผด็จการออกไปให้เร็วที่สุด “ผมกับองอาจก็ถือเป็นนักรบบนถนนประชาธิปไตย จะถือว่าเป็นศัตรูก็ได้ แต่ก็ตีกันบนฐานกติกาเดียวกัน ตอนนี้ทั้งผมและพรรคประชาธิปัตย์ก็มีหน้าที่เดียวกันคือขับไล่เผด็จการออกไปให้เร็วที่สุด จากนั้นจะมาตีกันทะเลาะกันก็ไม่สาย”

ในขณะที่ พะเยาว์ เห็นว่า การยึดโยงอำนาจของ คสช. ยาวนาน 3 ปี สร้างความตระหนักในสังคมวงกว้างถึงผลเสียของการกระทำรัฐประหารเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี “กระบวนการปรองดองทุกวันนี้ สำเร็จในขั้นหนึ่งคือประชาชนหลายฝ่ายเริ่มเห็นตรงกันแล้วเพราะท้องกิ่ว คนที่ไม่เคยสนใจการเมืองเริ่มสนใจว่ารัฐประหารคืออะไร ถ้ามีการเลือกตั้งก็ขอให้เห็นประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด”

“เพราะรักมากก็อยากให้ไปไวๆ ถ้าถึงขั้นหน้าของประชาชนจริงๆ คือทนไม่ไหว แล้วลุกมาเชิญให้ไปแล้วท่านไม่ไป เราก็ไม่อยากเจอเหตุการณ์ซ้ำกับปี 2535 อีก” พะเยาว์ กล่าว

อาจารย์/นักการเมืองเจาะการเลือกตั้ง ชี้ ประชาชนกุมอนาคตชาติ มีอำนาจแล้วอย่าเดินเร่ให้ใครยึดไปอีก

กลาง ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ปริญญา กล่าวว่า ความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร กับความเป็นประชาธิปไตยในประเทศมีความผกผันกัน การยึดอำนาจเกิดขึ้นเพราะสภาผู้แทนในรัฐบาลก่อนแก้ปัญหาไม่ได้ เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ตนคิดว่า การเลือกตั้งในอนาคตจะเอื้อให้กับพรรคขนาดกลางมากขึ้น และสิทธิที่จะเลือกแบบแบ่งเขตกับบัญชีรายชื่อไม่ได้แยกกันอีกต่อไปตาม จะทำให้พรรคขนาดกลางเล็ก กับพรรคขนาดเล็กจะหายไป เพราะระบบบัญชีรายชื่อไม่สนับสนุน แถมต้องมีการเก็บค่าสมาชิก การบังคับจำนวนสมาชิก ทำให้การเมืองเป็นตลาดเปิดน้อยลง จะเป็นภาระของพรรคขนาดกลางและเล็ก

ปริญญา กล่าวต่อว่า ตอนนี้ คสช. มีหลายทางเลือก เช่น ปล่อยให้ ส.ว. คิดเอง หรือปล่อยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยลงเลือกตั้ง แล้วให้ สว. รอเลือกนายกรัฐมนตรี หรือไม่ก็ยื้อเวลาแล้วอยู่ในอำนาจต่อ แต่ทางที่ดีที่สุดคือต้องปล่อยให้ประชาชนปกครองตัวเอง ไทยจะอยู่ภายใต้มาตรา 44 ตลอดไปไม่ได้ ต่อคำถามที่ว่า คสช. จะเลือกเล่นทางไหน ก็ต้องดูพรรคการเมืองและตัวแสดงอื่นว่าจะเล่นทางไหน ที่สำคัญที่สุดคือประชาชน ถ้าประชาชนอยากปกครองตนเองอีกครั้ง เขาก็จะไม่อยู่ยาว ไม่เป็นนายกฯ เอง

รองอธิการบดีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันความศรัทธาต่อนักการเมืองลดน้อยไปมาก จะกอบกู้อย่างไรให้ความศรัทธากลับคืนมา อยากให้สองพรรคใหญ่เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ต้องดูว่าใครจะมีเสียงข้างมากในสภา 376 เสียงจากทั้งหมด 750 เสียง หากดูการเลือกตั้งย้อนกลับไปจะพบว่าพรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรครวมกันนั้นสามารถทำได้ ตนคิดว่ากรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ คสช. จะเป็นนายกฯ คนนอกเสียเอง แต่เสียงสุดท้ายที่จะตัดสินอนาคตคือประชาชน ซึ่งถ้าวัดตามผลประชามติเมื่อปี 2559 ก็สะท้อนว่าเสียงประชาชนอยู่กับ คสช. มากกว่า

วัฒนา กล่าวว่า การจัดตั้งโครงสร้างการเมืองที่เอื้อให้มีนายกฯ คนนอกจากการเลือกสรรของสมาชิกวุฒิสภา เป็นการวางแผนบนแผ่นกระดาษ แต่ตอนนี้สภาพสังคมเปลี่ยนไป แต่อย่าลืมว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ถูกวางกรอบไว้เหมือนตอนประชามติ ก็คืออยู่ภายใต้การบังคับใช้มาตรา 44 ซึ่งจะยกเลิกเมื่อได้รัฐบาลใหม่ เราอาจจะเห็นนักการเมืองถูกควบคุมตัวไประหว่างหาเสียง แต่ตอนนี้เป็นขาลงของ คสช. ทุกทาง ระยะเวลา 3 ปีกว่าน่าจะเป็นคำตอบได้ดีว่าระบอบที่ดีที่สุด หรือเลวน้อยที่สุดคือประชาธิปไตย เมื่อได้อำนาจมาแล้วก็ขอให้รักษาให้ดี อย่าไปเรียกให้ใครมายึดอำนาจอีก

ประมวลภาพภายในงานรำลึกช่วงเช้า

อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ เล่นกับบุตรหลานผู้มาร่วมงาน

จากซ้าย: โคทม อารียา องอาจ คล้ามไพบูลย์

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเต็มเตนท์รับรอง รวมไปถึงสื่อมวลชน

ผู้เข้าร่วมงานไว้อาลัยวีรชนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และเหตุการณ์การต่อสู้โดยประชาชนอื่นๆทั้งหมด

พวงมาลาและป้ายสัญลักษณ์จากหลายภาคส่วน

งานศิลปะบางส่วนบนกำแพงหลังสวนสันติพร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net