Skip to main content
sharethis

เชลซี แมนนิง ผู้เปิดโปงกองทัพสหรัฐฯ กรณีสังหารนักข่าวและพลเรือนในอิรักได้รับการปล่อยตัวแล้ว แม้ว่าเธอยังต้องสู้คดีเพื่อแก้ชื่อเสียงของเธอว่าการกระทำของเธอไม่มีความผิด และนักสิทธิมนุษยชนก็เรียกร้องให้สืบสวนกรณีที่เรือนจำทหารปฏิบัติแย่ๆ ต่อเธอในช่วงที่เธอถูกคุมขังและไม่ยอมให้เธอรับกระบวนการแปลงเพศที่เธอต้องการ แต่หลังจากที่เธอเป็นอิสระจะถือเป็นครั้งแรกในชีวิตของเธอที่จะได้เป็นตัวของเธอเอง

ภาพวาด "How Chelsea Manning sees herself" ที่มา: Alicia Neal/Chelsea Manning Support Network

 

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 มีการปล่อยตัว เชลซี แมนนิง อดีตทหารสหรัฐฯ ผู้ถูกสั่งจำคุกเพราะเปิดโปงการกระทำแย่ๆ ของกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามอิรักหลังจากที่เธอถูกขังอยู่ในเรือนจำของกองทัพราว 7 ปี หรือรวมแล้วราว 2,545 วัน

"หลังจากที่รอคอยอย่างกังวลมายาวนาน 4 เดือน ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง" แมนนิงระบุในถ้อยแถลงหลังได้รับการปล่อยตัว เธอพูดถึงการที่อดีตประะธานาธิบดี บารัก โอบามา สั่งลดโทษให้เธอเมื่อ 4 เดือนที่แล้ว จากที่ก่อนหน้านี้แมนนิงถูกสั่งจำคุกยาวนานถึง 35 ปี

"ฉันคาดหวังในเรื่องนี้มาก ไม่ว่าจะมีอะไรก็ตามรอฉันอยู่มันสำคัญกวาอดีต ฉันคิดได้ตอนนี้ ซึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เคอะเขิน น่าสนุก และเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมดสำหรับฉัน" ในโซเชียลมีเดียเธอโพสต์รูปเท้าของตัวเองพร้อมข้อความว่า "ก้าวแรกสู่อิสรภาพ"

แมนนิงถูกจับกุมตัวตั้งแต่เดือน พ.ค. 2553 นอกฐานทัพสหรัฐฯ แถบรอบนอกของกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก เนื่องจากเธอส่งข้อมูลลับของทางการให้กับเว็บไซต์วิกิลีกส์เกี่ยวกับการสังหารประชาชนในสงครามอิรัก หนึ่งในหลักฐานเหล่านั้นคือภาพวิดีโอที่สหรัฐฯ ใช้เฮลิคอปเตอร์ยิงสังหารนักข่าวรอยเตอร์ 2 รายและพลเรือนคนอื่นๆ ในแบกแดด

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าแมนนิงจะได้รับการลดโทษให้ออกจากคุกเร็วกว่ากำหนดแต่เธอก็ยังคงต้องต่อสู้ทางกฎหมายต่อปเพราะคำตัดสินให้เธอมีความผิดตามกฎหมายจารกรรมยังคงส่งผลเต็มที่และน่าเป็นห่วงในยุครัฐบาลปัจจุบันของสหรัฐฯ ทำให้แมนนิงยังต้องต่อสู้เพื่อทำให้มีการยกเลิกคำตัดสินของเธอต่อไป โดยในคำอุทธรณ์ของเธอระบุว่าการถูกตัดสินจำคุก 35 ปี น่าจะเป็น "คำตัดสินที่อยุติธรรมที่สุดในประวัติศาสตร์ระบบยุติธรรมของกองทัพ" แนนซี ฮอลแลนด์เดอร์ บอกว่าสาเหตุที่ต้องอุทธรณ์ในเรื่องนี้ต่อไปเพราะต้องการแก้ไขชื่อเสียงให้เธอด้วยเพราะเธอเชื่อว่าแมนนิงถูกตัดสินในสิ่งที่เธอไม่ได้กระทำผิดและกระบวนการตัดสินเธอก็ไม่ยุติธรรม

แต่เดิมแล้วแมนนิงคือผู้มีเพศกำเนิดเป็นชายชื่อ แบรดลีย์ แมนนิง จนกระทั่งในระหว่างที่ถุกคุมขังอยู่เธอก็เริ่มทำการแปลงเพศเป็นหญิง รวมถึงเปลี่ยนชื่อเป็นเชลซี เคยมีกรณีที่แมนนิงพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน รวมถึงประท้วงด้วยการอดอาหารขณะอยู่ในคุกทหาร ซึ่งทางกลุ่มสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันบอกว่า เธอทำไปเพื่อประท้วงการที่เรือนจำปฏิเสธไม่ยอมให้เธอได้รับการรักษาพยาบาลและเข้าถึงสิทธิอื่นๆ รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ด้านการแปลงเพศของเธอ

แมค แอนเดอร์สัน ผู้ประสานงานฝ่ายที่ปรึกษาทั่วไปของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า เรื่องราวของแมนนิงควรจะเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนรัฐบาลให้มีการคุ้มครองผู้เปิดโปงและรักษาสิทธิมนุษยชนสำหรับคนข้ามเพศที่ถูกคุมขัง ส่วนมาร์กาเร็ต หวง ผู้อำนวยการแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลของสหรัฐฯ กล่าวว่าควรมีการสืบสวนการที่แมนนิงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในขณะถูกคุมขังต่อไปและควรสร้างระบบคุ้มครองเพื่อไม่ให้มีผู้เปิดโปงรายใดถูกกระทำแย่ๆ เช่นนี้อีก

"ครั้งแรกในชีวิตของเธอ ที่จะได้เป็นตัวเอง"

ซูซาน แมนนิง แม่ของเชลซี แสดงความยินดีที่ลูกของเธอได้รับการปล่อยตัว เธอบอกว่าลูกของเธอเป็นคนฉลาดและมีพรสวรรค์ เธอบอกว่าเชลซีคงต้องใช้เวลาปรับตัวกับโลกภายนอกหลังจากที่อยู่ในเรือนจำมานาน แต่ก็ดีใจที่ในตอนนี้เชลซีจะได้เรียนต่อและทำสิ่งต่างๆ ตามที่เธอต้องการแล้ว

คนอื่นๆ หลายคนก็แสดงความยินดีที่แมนนิงได้ออกจากคุก อีวาน เกรียร์ จากองค์กรไฟต์ฟอร์เดอะฟิวเจอร์อกว่าการที่แมนนิงได้รับการปล่อยตัวถือเป็นชัยชนะของสิทธิมนุษยชนและอนาคตเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ยังเป็นชัยชนะของการจัดตั้งในระดับรากหญ้าด้วย มีผู้คนจำนวนมากจากหลากหลายแนวคิดทางการเมืองที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องอิสรภาพในแมนนิง

"มันจะเป็นครั้งแรกในชีวิตของเธอ ที่เธอจะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอิสระด้วยตัวตนที่แท้จริงที่เธออยากจะเป็น" คือข้อความที่ระบุในเพจระดมทุนช่วยเหลือเชลซี แมนนิง ในการกลับบ้าน

 

เรียบเรียงจาก

Chelsea Manning released from military prison, The Guardian, 17-05-2017

'Today Is a Great Day': After 7 Years, Chelsea Manning Takes First Steps of Freedom, Common Dreams, 17-05-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net