Skip to main content
sharethis
 
ศปมผ.ประสานสาธารณรัฐอินโดนีเซียนำแรงงานประมงกลับไทย
 
วันที่ 13 พฤษภาคม 2560 ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) โดยคณะทำงานด้านแรงงาน ศปมผ. รับลูกเรือซิลเวอร์ซี 2 จำนวน 3 คน กลับสู่ประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ภายหลังจากการประสานงานกับทางการอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 จากกรณีเรือซิลเวอร์ซี 2 ซึ่งเป็นเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ และ ลูกเรือจำนวน 13 คน ของบริษัท ซิลเวอร์ซี รีเฟอร์ จำกัด ถูกเรือของกองทัพเรืออินโดนีเซียเข้าจับกุมในระหว่างที่เรือจะเดินทางกลับประเทศไทย ขณะผ่านน่านน้ำของอินโดนีเซีย และได้แจ้งข้อกล่าวหาไม่ขออนุญาตแจ้งการขนถ่ายสัตว์น้ำ และไม่แจ้งการเดินเรือผ่านน่านน้ำอินโดนีเซีย เมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา
 
ภายหลังจากที่รัฐบาลได้จัดตั้ง ศปมผ. ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ลงวันที่ 28 เมษายน 2558 นั้น ศปมผ. โดยคณะทำงานด้านแรงงานดำเนินการรวบรวมคดีต่างๆ และได้ส่งเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานประสานงานกับสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง
ในเดือนกันยายน 2559 ศปมผ. ส่งเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานเดินทางไปประสานขอให้เจ้าหน้าที่ประมงอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน อนุญาตให้ลูกเรือที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ของลูกเรือฯ ให้เดินทางกลับประเทศไทย (ตามหลักกฎหมายสากล ลูกเรือ และประจำเรือที่ไม่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของเรือไม่มีความผิด)
 
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ลูกเรือฯ ชุดแรก จำนวน 9 คน ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศไทย โดยกัปตัน และลูกเรือฯอีก 3 คน ยังอยู่ในกระบวนการดำเนินคดีของอินโดนีเซีย วันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 ศปมผ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานเดินทางไปประสานงาน ครั้งที่ 2 ขอให้เจ้าหน้าที่ประมงอินโดนีเซียเร่งรัดการดำเนินคดี
 
วันที่ 20 เมษายน 2560 ได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ศาลอินโดนีเซียนัดสืบพยาน และอนุญาตให้ลูกเรือที่เป็นพยานเดินทางกลับประเทศไทยได้ วันที่ 27 เม.ย.60 ศาลฯ นัดสอบพยานครั้งที่ 1 โดยมีลูกเรือฯ จำนวน 3 คน อยู่เป็นพยาน - วันที่ 10 พฤษภาคม 2560 ศาลฯ นัดสอบพยานครั้งที่ 2 ลูกเรือฯ 3 คน อยู่เป็นพยาน
 
ล่าสุดวันที่ 12 พฤษภาคม 2560 ลูกเรือฯ จำนวน 3 คน ได้รับอนุญาตให้กลับประเทศ ได้แก่ นายชลอ พุ่มเปี่ยม ตำแหน่ง ต้นกลเรือ นายสถาพร พึ่งชื่น ตำแหน่ง ต้นเรือ และนายพรศักดิ์ ผายเงิน ตำแหน่ง ต้นหนเรือ แต่กัปตันเรือยังคงอยู่รอฟังคำพิพากษาของศาลอินโดนีเซีย ต่อไป
 
ทั้งนี้ บริษัท ซิลเวอร์ซี รีเฟอร์ จำกัด ได้ต่อสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งใช้ระยะเวลาสู้คดีเป็นระยะเวลานาน ปรากฏข้อกล่าวหาเรื่องการขนถ่ายสัตว์น้ำ ทางบริษัทมีหลักฐานชี้แจงครบถ้วนทำให้พ้นมลทิน แต่กรณีการเดินทางผ่านน่านน้ำอินโดนีเซียนั้น เรือหลายสัญชาติได้ใช้เส้นทางดังกล่าวในการเดินเรือผ่านน่านน้ำอินโดนีเซียเช่นกัน
 
ดังนั้น ศปมผ. จะประสานทางการอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด และคาดหวังว่าทางการอิโดนีเซียจะได้พิจารณาในคดีความต่างๆ ให้มีความยุติธรรม และพิจารณาปล่อยเรือซิลเวอร์ซี 2 รวมทั้งกัปตัน ให้เดินทางกลับประเทศไทย เพื่อพบครอบครัว และญาติที่เฝ้าคอยด้วยความเป็นห่วงใย :สำนักประชาสัมพันธ์ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย
 
 
กกจ. อุ้มผู้พ้นโทษ...ปูทางอาชีพ แล้วกว่า 9,000 คน
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน สร้างโอกาสให้ผู้พ้นโทษ เดินหน้าเร่งสร้างอาชีพ โดยจัดสาธิตอาชีพ ฝึกอาชีพอิสระ เผย 7 เดือน (ตุลาคม 2559-เมษายน 2560) ให้บริการจัดหางานแล้วกว่า 700 ราย มีงานทำเกือบ 200 ราย พร้อมปูทางอาชีพอิสระแล้วกว่า 9,000 ราย
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากที่กรมการจัดหางานได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยและการสงเคราะห์ผู้ต้องขังภายหลังพ้นโทษกับกรมราชทัณฑ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมคุมประพฤติ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น กรมการจัดหางานได้เดินหน้าหางานให้กับผู้พ้นโทษอย่างต่อเนื่องโดยการจัดสาธิตอาชีพและฝึกทักษะอาชีพอิสระระยะสั้นให้แก่ผู้ต้องขัง รวมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ แนะแนวอาชีพ และลงทะเบียนจัดหางาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนายจ้าง/สถานประกอบการ และประชาชนทั่วไปมั่นใจได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีฝีมือ สามารถทำงาน และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – กันยายน 2559) มีผู้พ้นโทษมาใช้บริการจัดหางานจำนวนทั้งสิ้น 948 ราย ได้รับการบรรจุงานจำนวน 216 ราย รวมรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเป็นจำนวน 2,031,500 บาท หรือ 24,378,000 บาท/ปี และในปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – เมษายน 2560) มีผู้พ้นโทษมาใช้บริการจัดหางานจำนวนทั้งสิ้น 773 ราย บรรจุงานให้จำนวน 191 ราย รวมรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเป็นจำนวน 1,825,000 บาท หรือ 21,900,000 บาท/ปี โดยตำแหน่งงานที่ได้รับการบรรจุมากที่สุด 5 อันดับ คือ 1.แรงงานด้านการผลิต 2.พนักงานรักษาความปลอดภัย 3.พนักงานขับรถยนต์ 4.พนักงานขายสินค้า และ 5.เสมียนพนักงานทั่วไป นอกจากนี้ ยังได้ให้ความรู้ทางอาชีพแก่ผู้ต้องขังในปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559 – เมษายน 2560) จำนวน 9,122 ราย จำแนกเป็นแนะแนวอาชีพ/ทดสอบความพร้อมทางอาชีพ จำนวน 8,133 คน สาธิตการประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 989 คน
 
นายวรานนท์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม มีผู้พ้นโทษบางส่วนไม่ประสงค์จะรับความช่วยเหลือ เนื่องจาก มีอาชีพรองรับหลังพ้นโทษอยู่แล้ว เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ค้าขาย ช่างซ่อม ประกอบธุรกิจส่วนตัว รับเหมาก่อสร้าง รับเหมาติดตั้งไฟฟ้า เปิดอู่ซ่อมรถยนต์ รับจ้าง เป็นต้น สำหรับในส่วนของผู้พ้นโทษที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน สามารถแจ้งความประสงค์ดังกล่าวกับกรมการจัดหางานได้ ซึ่งกรมจะได้ประสานกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจัดฝึกอบรมอาชีพเสริมในหลักสูตรต่างๆ ต่อไป เช่น การปูกระเบื้อง การฝึกอาชีพเสริมสาขาช่างไม้เครื่องเรือน ช่างเชื่อมผลิตภัณฑ์เบื้องต้น ช่างไฟฟ้า ช่างแอร์ ช่างยนต์ ช่างเสริมสวย นวดแผนไทย การประกอบอาหาร และการจัดสวน เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 13/5/2560
 
เปิดตัวเลข ‘คนว่างงาน’ กว่า 1.8 แสนคน ก.แรงงานจัดตำแหน่งรองรับเดือนพ.ค.กว่า 6.2 หมื่นอัตรา
 
กรมการจัดหางาน สรุปตำแหน่งงานว่างในเดือนพฤษภาคม 2560 กว่า 62,000 อัตรา พบนายจ้างต้องการแรงงานด้านการประกอบชิ้นส่วนมากสุดกว่า 15,500 อัตรา แนะผู้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานเลือกเรียนสายอาชีพ เตรียมความพร้อมก่อนสมัครงาน ฝึกทักษะ และอย่าเลือกงาน
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่กรมการจัดหางานได้รับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานทางเว็บไซต์ http://empui.doe.go.th/auth/index เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน จำนวน 67,685 คน รายงานตัว จำนวน 185,779 คน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานว่างไว้รองรับผู้ประกันตนฯ คนหางานไว้แล้ว จำนวน 62,790 อัตรา เป็นตำแหน่งงานว่างจำแนกตามประเภทอาชีพ 10 อันดับ ได้แก่ 1.แรงงานด้านการประกอบชิ้นส่วน จำนวน 15,668 อัตรา 2.แรงงานด้านการผลิต แรงงานทั่วไป จำนวน 9,040 อัตรา 3.เสมียน/พนักงานทั่วไป/พนักงานธุรการ จำนวน 5,533 อัตรา 4.พนักงานขายและผู้นำเสนอสินค้า จำนวน 2,651 อัตรา 5.พนักงานบริการลูกค้า จำนวน 1,527 อัตรา 6.นักการตลาด/เจ้าหน้าที่การตลาด จำนวน 1,375 อัตรา 7.พนักงานขับรถยนต์ จำนวน 1,359 อัตรา 8.พนักงานคลังสินค้า จำนวน 1,108 อัตรา 9.พนักงานบัญชี จำนวน 711 อัตรา และ10.ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้า จำนวน 702 อัตรา
 
จากสถิติตำแหน่งงานว่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สถานประกอบการมีความต้องการจ้างแรงงานในสายอาชีพเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม กรมการจัดหางานขอให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ ผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้างได้มีการเตรียมความพร้อมก่อนสมัครงาน อย่าเลือกงาน และขอฝากถึงนักเรียน นักศึกษาที่กำลังจะเลือกเรียน ขอให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมองต่อการเลือกเรียนโดยเลือกเรียนสายอาชีพให้มากขึ้น เนื่องด้วยกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอยู่ในขณะนี้ โดยสามารถสอบถามข้อมูล/ ปรึกษา/ติดต่อสมัครงานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 นายวรานนท์ กล่าว
 
 
สปส.เดินหน้าตั้งนิติบุคคล เฟ้นมืออาชีพบริหารกองทุน
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิรูปการบริหารการลงทุนของสำนัก งานประกันสังคม ว่า สปส.มีภาระหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่สมาชิกผู้ประกันตน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยได้กำหนดการบริหารการลงทุนเป็นหนึ่งในวาระปฏิรูปของกระทรวงแรงงาน กำหนดให้มีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารการลงทุน ให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารงานของกระทรวงแรงงานและรัฐบาล ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส แม้ว่าที่ผ่านมาการลงทุนได้ผลตอบแทนดี แต่การบริหารกองทุนประกันสังคมต้องเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ ทำให้ภาระการจ่ายเงินบำนาญชราภาพในอนาคตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โอกาสในการหาผลตอบแทนมีข้อจำกัดมากขึ้น ผลตอบแทนจาการลงทุนมีความสำคัญ ถ้ายังทำอะไรไม่คล่องตัว ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่ำ บำนาญในอนาคตน่าจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้ประกันตน ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อสร้างผลตอบแทนและความมั่นคงของกองทุนในอนาคต
 
นายสุรเดชกล่าวว่า สปส.มีเงินลงทุนสะสม 1.6 ล้านล้านบาท การที่เงินมีจำนวนมาก การลงทุนในประเทศอาจจะมีปัญหา จึงต้องไปลงทุนในต่างประเทศหรือในสินทรัพย์ที่แตกต่างเพิ่มขึ้น แต่การบริหารงานภายใต้ระบบราชการขาดความคล่องตัว ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุน ซึ่งอาจส่งผลให้สูญเสียโอกาสในการลงทุน เพื่อให้สำนักงานประกันสังคมสามารถบริหารการลงทุน เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน การปฏิรูปการบริหารการลงทุน จึงมีการเสนอให้แยกหน่วยลงทุนให้มีฐานะเป็นนิติบุคล เพื่อให้กองทุนมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงให้กองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกจ้างและผู้ประกันตนสูงสุด โดยคณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จะยังเป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมของกองทุน ซึ่งมีการสรรหาบุคลากรมืออาชีพมาทำหน้าที่บริหารการลงทุนแทนพนักงานของประกันสังคม โดยผู้บริหารสูงสุดของกองทุนจะต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ที่มีองค์ประกอบของผู้แทนลูกจ้าง ผู้ประกันตน นายจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการจัดโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัว เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ จะมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบเป็นระยะ
 
นายสุรเดชกล่าวอีกว่า ก่อนการปฏิรูปได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง ผู้ประกันตน นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียต่อแนวทางการปฏิรูป ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแนวทางหรือความคิดเห็น โดย สปส.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 4 ครั้ง มีเสียงตอบรับดีเกินคาด โดยเห็นด้วยกับการปฏิรูปการบริหารการลงทุนประมาณร้อยละ 90% และรับฟังความคิดเห็นในเว็บไซต์มีคนเห็นด้วยประมาณ 79% หลังฟังความคิดเห็นแล้วได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายที่ทำไว้ และเสนอคณะกรรมการประกันสังคมพิจารณา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. แต่มีการท้วงติงในบางเรื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อให้เกิดความชัดเจน จะส่งกลับให้พิจารณาอีกครั้ง หากผ่านจะส่งเข้ากระทรวงแรงงาน เพื่อนำเข้า ครม.และ สนช. โดยจะเร่งให้เป็นผลสำเร็จภายในปีนี้
 
"กองทุนประกันสังคมเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเงินลงทุนสะสม 1.6 ล้านล้านบาท การลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้นยังเน้นลงทุนในบริษัทเอกชน และสถาบันการเงินที่มีความมั่นคง สามารถเติบโตได้ในระยะยาว ในอนาคตเงินกองทุนประกันสังคมจะเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงต้องปรับกลยุทธ์การลงทุน มีคำถามว่าแยกหน่วยลงทุนแล้วนักการเมืองจะมายุ่งได้แค่ไหน คณะกรรมการประกันสังคม โดยเฉพาะเจ้าของเงิน ผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง ยังมีส่วนในการกำกับ ดูแล ส่งผู้แทนเข้าไปเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการ เลือกกรรมการสรรหาเลขาธิการ มีคณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นอิสระ
 
เมื่อทำงานแล้วจะมีบริษัทตรวจสอบทางบัญชีที่ สตง.รับรอง หรือ สตง.ตรวจสอบเอง และกำหนดให้มีการรายงานผลต่อสาธารณชนและกรรมการประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ ในปีแรกต้องมีการลงทุนเรื่องสถานที่และค่าจ้างคนทำงาน ค่าใช้จ่ายอาจจะสูงขึ้นในหลัก 100 ล้านต้นๆ แต่ถ้าทำผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 จากเดิมลงทุน 100 บาท ได้ผลตอบแทน 5 บาท เพิ่มเป็น 5.50 บาท กองทุนจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นปีละ 7,500 ล้านบาท ยังไงก็คุ้ม นักวิชาการด้านลงทุนบอกว่าการทำแบบนี้มีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นสูงกว่าเยอะ" นายสุรเดชกล่าว
 
 
ก.แรงงาน เร่งจดทะเบียนสัตยาบัน ILO ฉบับที่ 111 หลัง ครม. มีมติเห็นชอบ
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการข่าวสารกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ว่า ครม. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำสัตยาบันสารเพื่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศดังกล่าว และให้ ก.แรงงานจดทะเบียนสัตยาบันสารดังกล่าวต่อ ILO ต่อไป
 
นายสุทธิ กล่าวว่า สาระสำคัญของอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 111 เป็น 1 ใน 8 อนุสัญญาหลักของ ILO ภายใต้หมวดการขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและประกอบอาชีพ โดยเป็นอนุสัญญาเชิงส่งเสริมให้มีนโยบายและมาตรการระดับชาติเพื่อป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ และมุ่งส่งเสริมโอกาสและการปฏิบัติที่ทัดเทียมในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานที่จะได้เข้าถึงบริการแนะแนวอาชีพและจัดหางานการเข้าถึงการฝึกอบรมและการทำงาน ความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคงในการทำงานค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับงานที่ทำ สภาพการจ้างและสวัสดิการจากการทำงาน โดยพิจารณาการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง รากเหง้า (National Extraction) สถานภาพทางสังคม และฐานอื่นๆ ที่ประเทศให้สัตยาบันกำหนดฐานเพิ่มเติมโดยการปรึกษาหารือกับองค์การนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะส่งผลให้ความเท่าเทียมในโอกาสหรือการได้รับการปฏิบัติในการจ้างงานหรืออาชีพนั้นหมดไปหรือด้อยลง โดยไม่เกี่ยวกับสัญชาติอีกด้วย
 
 
เฟซบุ๊กชาวเมียนมาโชว์คลิปตำรวจไทยหากินกับแรงงานต่างด้าวบนรถบัส ใช้เทคนิครับเงินระหว่างตรวจหนังสือเดินทาง-บัตรอนุญาตทำงาน
 
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2560 แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาจำนวนมาก ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ กรณีเฟซบุ๊กชาวเมียนมา ใช้ชื่อว่า เลเบอร์ ฮิตไตย (Labour Hittai) ได้โชว์ภาพการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยนายหนึ่ง ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่บนรถยนต์บัส บริเวณจุดตรวจแห่งหนึ่ง ถนนสาย อ.แม่สอด อ.เมืองตาก จ.ตาก
 
ขณะที่ตำรวจรายนี้ แต่งเครื่องแบบคล้ายชุดปฏิบัติการพิเศษ หรือตำรวจ นปพ. กำลังตรวจหนังสือเดินทางแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ที่เดินทางไปจาก อ.แม่สอด เพื่อไปทำงานที่ กทม. หลังจากกลับไปเที่ยวบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้ ได้ตรวจสอบหนังสือเดินทางแรงงานต่างด้าวทุกราย พร้อมกับบัตรอนุญาตทำงานของบุคคลต่างด้าว ระหว่างที่กำลังตรวจนั้น ไปพบกับแรงงานชาย 1 ราย ที่แสดงตนเหมือนจะรู้กันมาล่วงหน้า โดยควักธนบัตรฉบับละ 100 บาท เตรียมไว้หลายใบ เพื่อจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้ พอเจ้าหน้าที่ตำรวจนายนี้ไปถึงได้ยืนหันด้านข้างกระเป๋ากางเกง และใช้มือรับเงินจากแรงงานต่างด้าวรายนี้ จากนั้นจึงรีบนำเงินใส่กระเป๋ากางเกง และทำทีเป็นตรวจเอกสารต่อไป
 
องค์กรเลเบอร์ ฮิตไตย ได้เขียนภาษาไทย ในการบรรยายภาพนี้ ว่า “ส่วนหนึ่งในจำนวนอีกมากมาย ที่มีการทุจริต รับสินบน วันเสาร์ที่ 13 พ.ค.2560 เมื่อ Work permit หรือใบอนุญาตทำงาน ของแรงงานเมียนมาขาดอายุ ได้เจอกับตำรวจไทยที่อดยาก”
 
รายงานข่าวแจ้งว่า องค์กรแรงงานของชาวเมียนมาร์ ตามแนวชายแดนได้ร้องไปยัง หน่วยงานระดับสูงของไทย โดยล่าสุดมีคำสั่งให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ ขณะที่หน่วยข่าวของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ตรวจสอบเรื่องนี้เช่นกัน อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาของชาวเมียนมา ที่ทราบข่าวนี้ ต่างวิพากวิจารณ์ถึงความหิวโหยของตำรวจไทย
 
 
"พยาบาลสธ." ยังหวั่น ๆ ถูกดองตำแหน่ง รอปะทุรอบใหม่จ่อออก 61%
 
หลังจากทราบว่าครม.รับหลักการบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้พยาบาลลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จำนวน 8,900 อัตรา โดยระบุว่าหากดำเนินการบรรจุใน 3 ปีตั้งแต่ปีนี้จะบรรจุได้ปีละ 2,900 อัตรา รวมกับบรรจุทดแทนจำนวนพยาบาลที่จะเกษียณอายุราชการ หากดำเนินการในลักษณะเดียวกันจะสามารถบรรจุพยาบาลได้ทั้งหมด
 
รายงานข่าว ระบุว่า ตัวเลข 8,900 อัตรา จะทยอยบรรจุ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2562 เฉลี่ยปีละ 2,966 อัตรา สำหรับในปี 2560 พยาบาลลูกจ้างสธ.จะได้บรรจุเป็นข้าราชการประมาณ 5,100 อัตรา แยกเป็นตำแหน่งจากการบริหารอัตราว่างภายในของสธ.เองจำนวน 2,200 อัตรา บวกกับตำแหน่งใหม่ 2,966 อัตรา
 
น.ส.ทิพวรรณ ทับผา ฝ่ายข่าวเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้าง กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนหน้านี้แกนนำเครือข่ายฯได้มีการหารือร่วมกันเบื้องต้นเห็นว่าหากครม.อนุมัติตำแหน่งข้าราชการเพื่อบรรจุให้พยาบาลลูกจ้าง สธ. จำนวน 8,900 ตำแหน่ง แม้จะลดลงจากจำนวนเดิมที่สธ.เสนอขอไป 10,992 ตำแหน่ง ก็ถือว่าเป็นเ้รื่องที่พยาบาลพอใจ เพราะเมื่อได้มา 8,900 ตำแหน่ง รวมกับ ตำแหน่งว่างของสธ.เองอีก 2,200 ตำแหน่ง ก็ถือว่าได้บรรจุกว่า 1 หใื่นตำแหน่งอย่างไรก็ตาม จะต้องรอมติครม.ที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จึงจะสามารถกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง ส่วนกำหนดการของกลุ่มพยาบาลต่างๆที่กำหนดวันเวลาไว้แล้วในจังหวัดต่างๆจะดำเนินการเช่นเดิม แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนการแสดงพลังจากเดิมที่จะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีอนุมัติตำแหน่งเป็นการแสดงความขอบคุณแทน
 
“แม้จะมีพยาบาลลูกจ้่างสธ.ที่รอการบรรจุเป็นข้าราชการอยู่อีกราว 13,000 คน แต่ตอนนี้ได้ตำแหน่งมายังไม่ครบตามจำนวนที่รออยู่ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อวางแผนในระยะยาว เพราะเมื่อคนเดิมก็ยังได้บรรจุไม่ครบ แต่ละปีก็จะมีพยาบาลจบใหม่เข้าเป็นลูกจ้างของรัฐอีกราว 3,000 -4,000 คนก็ยังไม่มีตำแหน่งราชการรองรับ ไม่อยากให้เกิดปัญหาว่าในอีก 5 ปีก็ต้องมาประท้วงขอตำแหน่งบรรจุข้าราชการกันครั้งใหม่อีก จากที่พยาบาลยังค้างสต๊อคและทบจำนวนขึ้นเรื่อยๆในทุกๆปี อยากให้เป็นเหมือนกระทรวงอื่นๆที่มีตำแหน่งราชการรอรับตั้งแต่สอบเข้าเรียนพยาบาลในเครือนักเรียนทุนพยาบาลได้ สามารถบรรจุราชการได้ปีต่อปีที่จบเลย ไม่อยากให้เป็นลูกจ้างแล้วค้างสต็อคและปะทุขึ้นอีกรอบเพราะค้างเยอะมากมาเรื่อยๆ”น.ส.ทิพวรรณกล่าว
 
รายงานข่าวระบุว่า ในแวดวงพยาบาลลูกจ้างสธ.มีการพูดคุยกันอย่างกว้างถึงประเด็นที่ครม.มีการพิจารณาในวันนี้ โดยส่วนใหญ่ยังแสดงท่าทียังไม่มั่นใจ และไม่เชื่อถือกับที่ครม.รับหลักการจนกว่าจะมีการยืนยันการได้รับตำแหน่งบรรจุเป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากมองว่าเมื่อไม่ได้เป็นมติครม.จึงน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้อีกและการพิจารณาของครม.ครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นเพียงข้อเสนอแนะ เพราะในส่วน 8,900 ตำแหน่งยังไม่ได้ระบุเป็นมติครม.อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างฯมีการขอให้พยาบาลที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการทุกคนตอบแบบสอบถาม โดยส่วนที่ 1 เป็นข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม และส่วนที่ 2มีการสอบถาม 2 ข้อสำคัญ คือ 1.หากไม่มีการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตั้งใหม่ 10,992 ตำแหน่ง ตามมติครม. วันที่ 9 พฤกษภาคม 2560 ท่านจะตัดสินใจลาออกหรือไม่” และ2.หากท่านตัดสินใจลาออกจากการเป็นพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ท่านจะ…..โดย คำตอบมี “ทำงานโรงพยาบาลเอกชน” “ ทำงานคลินิกเสริมความงาม/คลินิกเอกชน” “ทำงานต่างประเทศ” “พยาบาลอิสระ (freelance )” “ประกอบธุรกิจส่วนตัว” “เปลี่ยนสายงาน” “อื่นๆ…..”นั้น ปรากฎว่า ขณะนี้มีพยาบาลตอบแบบสอบถามแล้ว จำนวน 1,800 คน และแสดงความประสงค์ว่าหากไม่ได้รับการอนุมัติตำแหน่งราชการจะลาออก 61 % ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมผลอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 21 พฤษภาคม 2560
 
 
รบ.เผย สธ.ชงตั้ง คกก.แก้ปัญหาพยาบาล แย้มทำเป็นขั้นตอน 3 ปีบรรจุครบ
 
(16 พ.ค.) เวลา 14.15 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวให้บรรจุเป็นข้าราชการจำนวน 11,000 อัตรา ว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้นำเสนอแนวทางในที่ประชุมว่า อัตราว่างในปี 60 ที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถบรรจุได้ คือ 2,200 อัตรา ดังนั้นจะเหลือ 8,800 อัตรา และหากดำเนินการบรรจุใน 3 ปีตั้งแต่ปีนี้จะบรรจุได้ปีละ 2,900 อัตรา รวมกับจำนวนพยาบาลที่จะเกษียณอายุราชการ หากดำเนินการในลักษณะเดียวกันก็จะสามารถบรรจุพยาบาลได้ทั้งหมด แนวทางดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็น มติ ครม. เป็นเพียงแนวทางแก้ปัญหาที่มีการนำเสนอซึ่งที่ประชุมก็พึงพอใจ
 
พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า นอกจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอตั้งคณะกรรมการเป้าหมายนโยบายบุคลากรสาธารณสุขขึ้น เพื่อแก้ปัญหาบุ คลากรภายในกระทรวงอย่างยั่งยืนไม่ใช่แก้ปัญหาในรายปี ตามที่นายกฯ เน้นย้ำทุกกระทรวงทบวงกรมว่าให้แก้ปัญหาทั้งระบบ โดยคาดว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะสามารถนำเสนอ ครม.เพื่อแก้ปัญหาได้ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพราะแรงกดดันจากพยาบาลที่ขู่จะลาออกรัฐบาลถึงลงมาแก้ปัญหา แต่เพราะรัฐบาลทุกปัญหาด้วยฟังเหตุด้วยผล และพบว่าเรื่องนี้มีปัญหาจริง
 
 
ย้ำนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหารกรณีเรียกพลพร้อมจ่ายค่าจ้าง
 
กระทรวงแรงงาน ขอความร่วมมือนายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เกี่ยวกับการลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล ต้องอนุญาตให้ลูกจ้างลาและจ่ายค่าจ้างในวันที่ลาเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน และรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้ทำการเรียกทหารกองหนุนเข้ารับการเรียกพลเพื่อตรวจสอบและฝึกวิชาทหาร ระหว่างเดือน มีนาคม – กรกฎาคม 2560 กระทรวงแรงงานจึงออกประกาศขอความร่วมมือนายจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 โดยนายจ้างที่มีลูกจ้างซึ่งเป็นทหารกองหนุนทำงานอยู่และ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 35 และมาตรา 58 ในส่วนที่เกี่ยวกับการลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อการตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และในการจ่ายค่าจ้างในวันที่ลาด้วย
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเสริมว่า เมื่อลูกจ้างได้รับคำสั่งเรียกพล (ตพ.17) หรือหมายเรียกพล (ตพ.13) เพื่อตรวจสอบและฝึกวิชาทหาร ประจำปี 2560 ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ให้ลูกจ้างนำคำสั่งหรือหมายเรียกดังกล่าวแสดงต่อนายจ้าง พร้อมขออนุญาตลาหยุดงาน โดยนายจ้างต้องอนุญาตให้ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพลครั้งนี้ ตามกำหนดเวลาและสถานที่ที่ปรากฏในคำสั่งหรือหมายเรียกพล เมื่อครบระยะเวลาการฝึกแล้ว ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นกำลังพลสำรองนำเอกสารขอความร่วมมือในการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้าง (ตพ. 22) ไปแสดงต่อนายจ้างเพื่อขอรับค่าจ้าง โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อรับราชการทหารเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกินหกสิบวัน พร้อมทั้งรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม ทั้งนี้ การเรียกกำลังพลสำรองเข้ารับราชการทหารในกรณีนี้ ไม่รวมถึงการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ (เกณฑ์ทหาร)
 
 
'สตง.' สั่ง 'อปท.' ระงับจ่ายเงินสมทบประกันสังคม 'พนักงานจ้างเหมาบริการ'
 
สตง.จี้ผู้ว่าฯ สั่ง อปท.ระงับจ่ายเงินสมทบประกันสังคม “พนักงานจ้างเหมาบริการ” เหตุระเบียบ มท.ไม่ได้กำหนดเป็น “ลูกจ้าง อปท.” เผยพบ อปท.บางแห่ง “เช่ารถยนต์จากผู้ให้เช่า” ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่า แถมไม่มีประกันภัยรถยนต์ชั้นหนึ่ง หวั่นเกิดความเสียหาย ยังพบ อปท.บางแห่งแอบเอา “รถหลวง” ทำประกันภัยรถยนต์เพื่อเรียกสินไหม แม้ระเบียบฯ ระบุไว้ทำประกันได้เฉพาะ “รถส่วนกลาง” พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการแจ้งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ไปยังผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากกรณี สตง.ตรวจสอบงบการเงินของ อปท.พบว่า มี อปท.บางแห่งกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับใน 3 กรณี โดยขอให้ทุกจังหวัดควบคุม กำกับดูแล อปท.ให้ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและหนังสือกระทรวงมหาดไทยอย่างเคร่งครัด
 
โดยประเด็นแรก สตง.พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ได้ทำการเช่ารถยนต์จากผู้ให้เช่าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่า เช่น ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าไม่ตรงตามสัญญา ผู้ให้เช่าไม่จัดให้มีการประกันภัยรถยนต์ที่เช่าประเภทชั้นหนึ่งตลอดอายุสัญญาเช่า หรือผู้ให้เช่ามิได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์ที่ให้เช่า โดยประเด็นนี้เนื่องจาก การถือปฏิบัติเกี่ยวกับ “การเช่ารถยนต์” ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังโดยอนุโลม ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขในการเช่ารถยนต์มาใช้ในราชการ ซึ่งการเช่ารถในแต่ละครั้งให้ทำสัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยให้ทำสัญญากับบริษัทหรือผู้ประกอบการซึ่งจดทะเบียนให้บริการเช่ารถโดยตรง และต้องเป็นรถใหม่ไม่เคยใช้งานมาก่อน หรือกรณีรถเสีย หรือเกิดอุบัติเหตุ บริษัทผู้ให้เช่า ต้องจัดหารถในสภาพตามสัญญาเช่ามาทดแทนให้ทันที
 
ประเด็นที่ 2 สตง.พบว่า ในการทำประกันภัยรถยนต์ส่วนกลางภาคบังคับและภาคสมัครใจ ตามตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้ยกเว้นให้รถยนต์ส่วนราชการรวมทั้งรถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ต้องจัดมีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยหรือประกันภัยภาคบังคับ ส่วนการทำประกันภัยภาคสมัครใจ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย มท 0808.2/ว 2633 ลงวันที่ 14 ส.ค. 2552 เรื่องซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการประกันภัยรถราชการ ได้กำหนดว่า รถยนต์ที่จะทำประกันต้องเป็นรถยนต์ส่วนกลางในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ต้องมีรถยนต์ในลักษณะการใช้งานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่ารถยนต์ส่วนกลางตามปกติ และหรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว มีโอกาสก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินองบุคคลในวงกว้าง เช่น รถยนต์ที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รถบรรทุกวัตถุอันตราย หรือเป็นรถโดยสารที่มีจำนวนตั้งแต่ 20 ที่นั่งขึ้นไป แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ซึ่งมิได้อยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดทำประภัยภัยรถยนต์ ภาคบังคับ หรือทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจแก่รถยนต์ส่วนกลางและรถประจำตำแหน่ง
 
ประเด็นสุดท้าย สตง.พบว่า ในเรื่องของการจ่ายเงินเพื่อเป็นเงินสมทบประกันสังคมให้กับบุคคลจ้างเหมาบริการ เนื่องจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. พ.ศ. 2547 ข้อ 67 กำหนดให้ อปท.จะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือหนังสือสั่งการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ แต่มี อปท.บางแห่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อเป็นเงินสมทบประกันสังคมให้แก่บุคคลจ้างเหมาบริการตามสัญญาจ้าง เนื่องจากเห็นว่า บุคคลจ้างเหมาบริการนั้นเป็นลูกจ้างที่ผู้เป็นนายจ้างต้องมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมให้บุคคลดังกล่าวตามนัยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กรณีดังกล่าว อปท.ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อเป็นเงินสมทบประกันสังคมได้ เพราะบุคคลจ้างเหมาบริการ ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างของ อปท. โดยผู้รับจ้างเหมาบริการเป็นเพียงผู้รับจ้างทำของ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับ อปท.ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง อปท.ผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ว่าจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม
แหล่งข่าวจาก สตง.ระบุว่า พบว่ามี อปท.หลายแห่งกระทำการดังกล่าวจริง แต่หนังสือที่ส่งไปยัง กระทรวงมหาดไทย เพื่อต้องการป้องปราม และป้องกัน อปท.ไม่ให้ฝ่าผืนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ จึงไม่มีการระบุพื้นที่ อปท. หรือจังหวัดที่เป็นเป้าหมาย
 
 
กรมการจัดหางาน บุกตลาดไต้หวันพร้อมจัดส่งคนงานทันที 233 อัตรา
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน นายวรานนท์ ปีติวรรณ บอกว่า กรมการจัดหางาน ร่วมกับสำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา ไทเป เข้าพบหารือกับบริษัทที่ไต้หวัน ซึ่งจ้างแรงงานไทยผ่านการจัดส่งโดยกรมการจัดหางาน เป็นบริษัทประกอบธุรกิจประเภทผลิตแผงวงจรไฟฟ้า //ผลิตเฟอร์นิเจอร์ //ผลิตชิ้นส่วน/ประกอบจักรยาน ผลิตอลูมิเนียมอัดหรือรีดเป็นรูป จากการหารือบริษัทมีความสนใจใช้บริการจัดส่งโดยรัฐ โดยนายจ้างแจ้งความต้องการแรงงานไทยให้กรมการจัดหางานจัดส่งทันทีจำนวน 233 อัตรา คาดว่าจะจัดส่งได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และยังได้จัดหาตำแหน่งงานให้กับแรงงานไทยเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 220 อัตรา
 
 
ปลัด สธ.ยืนยัน 3 ปี พยาบาลได้บรรจุ 13,583 อัตรา "วิษณุ" ให้ สธ.ร่วมตั้ง กก. กำลังคนสุขภาพ
 
17 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางกฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาลคนที่ 2 น.ส.รุ่งทิวา พนมแก พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ในฐานะประธานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์พยาบาลทั่วประเทศ ผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจกรณีการบรรจุตำแหน่งข้าราชการพยาบาลวิชาชีพ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการบรรจุในหลักการและให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำรายละเอียดเข้าสู่ ครม.อีกครั้งนัดหน้า
 
นพ.โสภณกล่าว ในการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า จากการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีการประชุมหารือร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ไปแล้ว โดยครม.เห็นชอบตามตัวเลขที่เสนอ แต่ให้กระทรวงกลับไปจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนและนำเข้าที่ประชุมครม.ครั้งหน้า โดยจากตัวเลขกว่า 1 หมื่นตำแหน่งนั้น ในส่วนของ สธ.มีการจัดสรรตำแหน่งว่างได้จำนวน 2,200 อัตรา จึงนำไปลบออกจากตัวเลขกระทรวงฯเสนอขอไปก่อนหน้านี้ 10,992 อัตรา สรุปแล้วจะได้ตัวเลขพยาบาลที่ได้บรรจุข้าราชการจำนวนทั้งสิ้น 8,792 อัตราใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2562 โดยเฉลี่ยปีแรก 2,930 อัตรา และปีที่ 2 และปีที่ 3 จะได้จำนวน 2,931 อัตรา
 
"โดยปีแรกคือ ปี 2560 พยาบาลที่จะได้รับการบรรจุรวม 5,885 อัตรา แบ่งเป็น 2,930 อัตรา และตำแหน่งว่างอีก 2,200 อัตรา รวมทั้งตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการอีก 755 อัตรา ต่อมาในปี 2561 พยาบาลจะได้รับการบรรจุรวม 3,743 อัตรา แบ่งเป็น 2,931 อัตรา และเกษียณอายุราชการอีก 812 อัตรา ปี 2562 พยาบาลจะได้รับการบรรจุข้าราชการรวม 3,955 อัตรา แบ่งเป็น 2,931 อัตรา และเกษียณอายุราชการอีก 1,024 อัตรา รวมตัวเลขที่พยาบาลจะได้รับการบรรจุทั้งหมดภายในระยะเวลา 3 ปี อยู่ที่จำนวน 13,583 อัตรา ซึ่งปัจจุบันมีพยาบาลที่ค้างการบรรจุอยู่ประมาณ 13,603 อัตราก็น่าจะบรรจุได้เกือบหมด" ปลัด สธ.กล่าว
 
นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับพยาบาลจบใหม่ 3-4 พันคนที่เข้ามาในระบบจะทำอย่างไรนั้น จากการพิจารณาตัวเลขแล้วพบว่า ปี 2564 จะมีตำแหน่งจากพยาบาลรุ่นพี่ที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งน่าจะเพียงพอกับน้องใหม่ที่บรรจุเข้ามา จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ว่า พยาบาลเป็นวิชาชีพหลักที่ควรได้บรรจุอยู่ที่ 90-100 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ดังนั้น เห็นว่ามีน้องๆ พยาบาลบางส่วนกังวลว่า อยากเห็นเป็นมติ ครม.แบบลายลักษณ์อักษร เพื่อความชัดเจนนั้น จึงอยากให้พยาบาลเชื่อมั่นในรัฐบาลและกระทรวง เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยเชื่อมั่นมากนัก แต่หลังจากสร้างความเข้าใจก็น่าจะดีขึ้น ที่สำคัญ ครม.เห็นชอบแล้ว เพียงแต่เหลือจัดทำรายละเอียดเท่านั้น และไม่ต้องกังวล เพราะแม้จะแบ่งเป็น 3 ปี แต่เป็นมติ ครม.ย่อมเชื่อถือได้
 
นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ท่านวิษณุได้ให้กระทรวงฯ เสนอไปเพิ่มเติมคือ การทำงานร่วมกันกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เทียบเท่ากับ คปร. แต่เป็นคณะกรรมการที่จะมาดูเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพ จะดูทั้งกระทรวงฯ ทั้งมหาวิทยาลัย และเหล่าทัพต่างๆ ซึ่งทางสธ.ก็จะเสนอในส่วนกระทรวงเข้าไปด้วยในการประชุม ครม.ครั้งหน้า อย่างไรก็ตาม สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เป็นตัวตั้ง และมีทุกภาคส่วน ซึ่งจะได้เห็นภาพรวม นอกจากนี้ ท่านวิษณุ ยังให้กระทรวงฯ จัดทำแผนกำลังคนด้านสุขภาพระยะยาว ซึ่งจะทำให้ทราบว่าความต้องการกำลังคนมีเท่าไหร่ โดยตนได้นำเรียนว่า สธ.มีการดำเนินการอยู่ และจะเสนอต่อคณะกรรมการฯที่จะตั้งขึ้นไป เพื่อประกอบการพิจารณาภาพรวม โดยในส่วนของสธ.นั้น จะมีกรอบการพิจารณาที่เรียกว่า FTE ซึ่งเป็นแนวทางในการกำหนดกรอบอัตรากำลัง พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งภาระงาน ความจำเป็นของพื้นที่ เป็นต้น
 
"สำหรับกรอบอัตรากำลังคนนั้น ได้มีการดำเนินการและถามความเห็นจากแต่ละพื้นที่ และจะเข้าที่ประชุมวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ ดังนั้น เมื่อได้ตำแหน่งมา ก็จะมีการจัดสรรตามกรอบที่วางไว้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการวางแผนกำลังคนนั้น ต้องบอกว่าไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้เป็นข้าราชการ เพราะต้องยอมรับว่าอาจต้องมีการจ้างงานรูปแบบอื่น แต่ก็ต้องทำให้พวกเขาอยู่ได้ด้วย สำหรับปัญหากำลังคนด้านพยาบาลนั้น เชื่อว่าในปี 2579 เว้นแต่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีความต้องการกำลังคนเพิ่มเติม" นพ.โสภณกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ได้เปิดให้พยาบาลในพื้นที่ต่างๆ แสดงความคิดเห็น ปรากฏว่าบางพื้นที่ยังไม่เข้าใจในประเด็นการจัดสรรตำแหน่งตามกรอบที่กระทรวงวางไว้ และต้องการให้ปรับเปลี่ยน FTE ใหม่ จนทำให้ปลัด สธ. ต้องถามกลับไปว่า ประเด็นการจัดกรอบ FTE มีการวางแนวทางมานานแล้ว และล่วงเลยมานาน การจะมานับใหม่คงไม่ได้ ดังนั้น ขอยืนยันตามแบบเดิม เมื่อได้ตำแหน่งมาต้องจัดสรรตามกรอบที่วางไว้ หลักๆ คือ 1.รพ.หรือพื้นที่นั้นๆ มีความต้องการอยู่ 2.มีการคัดเลือกจากพยาบาลที่จบก่อน เพื่อให้ไปอยู่ใน รพ.ที่จำเป็นต้องมีบุคลากร ยกเว้นว่าเมื่อได้รับคัดเลือกแล้วแต่สละสิทธิ ไม่อยากไปอยู่ที่นั้นๆ ก็จะเป็นสิทธิของน้องที่จบรุ่นต่อมา ขอย้ำว่า หากต้องการบรรจุก็ต้องยอมไปอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนบ้าง อยากให้มองพื้นที่อื่นๆที่มีความจำเป็นด้วย
 
ด้าน นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ในวันที่ 18 พฤษภาคม จะมีการประชุม คปร.เพื่อจัดทำข้อมูลรายละเอียดการบรรจุพยาบาลต่างๆ อีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไรแล้ว และหลังจากนั้น คปร.จะเป็นผู้เสนอต่อครม.เพื่ออนุมัติอย่างเป็นทางการ หากทุกอย่างทันก็น่าจะเข้าที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้าได้ หากไม่ทันจริงๆ ก็อาจเป็นอีกสัปดาห์ถัดไป แต่เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา ทั้งนี้ เมื่อครม.อนุมัติอย่างเป็นทางการ ก็จะมีการบรรจุในปีแรกก่อน ซึ่งเบื้องต้น 2,200 อัตรา มี 1,200 อัตราทราบกันหมดแล้วว่าใครไปที่ไหน อย่างไร และอีก 1,000 ตำแหน่งก็จะจัดการต่อไปอีก สำหรับตัวเลขที่น้องๆพยาบาลยังค้างอยู่ในระบบมีรวม 13,603 อัตรา แบ่งเป็น พกส.หรือพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 6,538 อัตรา ลูกจ้างชั่วคราว 6,805 อัตรา และพนักงานราชการอีก 260 อัตรา ซึ่งใน 3 ปีน่าจะบรรจุได้หมด
 
 
เครือข่ายพยาบาลลูกจ้างฯ ขอบคุณ “ลุงตู่” เผยพอใจจัดสรรตำแหน่งบรรจุข้าราชการ ยันไม่มีลาออกแล้ว
 
น.ส.รุ่งทิวา พนมแก ประธานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการประชุมรับฟังการชี้แจงจาก นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กรณีการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการ หลัง ครม. รับหลักการจะบรรจุ 3 ปี จำนวนรวมประมาณ 8,792 ตำแหน่ง และเมื่อรวมกับตำแหน่งว่างในปี 2560 และจาการเกษียณปี 2560 - 2562 ทำให้น่าจะบรรจุพยาบาลได้ถึง 13,583 ตำแหน่ง ว่า จากการร่วมประชุมทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น และพอใจกับข้อสรุปในครั้งนี้ เนื่องจากไม่ใช่เพียงการพูด แต่มีสักขีพยานเป็นสื่อมวลชน มีการจัดเกลี่ยตำแหน่งให้กับพยาบาลตามที่ร้องขอ
 
“พยาบาลคงจะไม่มีการลาออกแล้ว เพราะได้รับตามเป้าหมาย และได้รับขวัญกำลังใจแล้ว แต่เรื่องการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น การรวมตัวกันร้องเพลงมาร์ชพยาบาล ก็ยังคงมีการดำเนินการต่อไปเพื่อแสดงถึงพลังของพยาบาล ร่วมกับการขอบคุณนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ อยากขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการจัดสรรตำแหน่งเพื่อความโปร่งใส ซึ่งทางเครือข่ายฯ มั่นใจใน สธ. แต่ก็อยากให้ สธ. มั่นใจในเครือข่ายฯ ด้วย” น.ส.รุ่งทิวา กล่าว
 
ทั้งนี้ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว สธ. ยังออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ด้วยว่า
 
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) คราวประชุมวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ มีมติ ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการ ตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน ๑๐,๙๙๒ อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพ ตามความจำเป็น และไม่ให้กระทรวงสาธารณสุขขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จนกว่าจะสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘ นั้น จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการสูญเสียขวัญและกำลังใจ ของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวเป็นอย่างมาก จนเกิดกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ที่ว่า “ไม่บรรจุ ลาออก ยกกระทรวง ๓๐ กันยายน ๒๕๖๐” หลังจากเรื่องนี้เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจนั้น
 
ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจนได้รับความพึงพอใจใน แนวทางการแก้ปัญหา และนำมาสู่การชี้แจงผ่านการประชุม video conference ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ที่กระทรวงสาธารณสุข ไปยัง สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข มีความพึงพอใจและจะติดตามการ ดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบรรจุพยาบาล ให้เป็นข้าราชการ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอแก่คณะรัฐมนตรี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างเร็วที่สุด
 
ในนามของเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข ขอขอบคุณรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สภาการพยาบาล และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เล็งเห็นว่าระบบสุขภาพของประเทศไทย นั้นมีความจำเป็นที่ต้องคงอัตรากำลังของพยาบาลไว้ จนได้มีการนำเรื่องของการบรรจุพยาบาลให้เป็น ข้าราชการนั้นเป็นวาระเร่งด่วนในการประชุมหารือของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำมาสู่แนวทางใน การแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรมและพึงพอใจของหลายหลายฝ่าย และขอขอบคุณองค์กรวิชาชีพพยาบาลต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงที่ออกมาสนับสนุนให้มีการบรรจุพยาบาลให้เป็นข้าราชการในครั้งนี้
 
ทั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หรือการแก้ไขปัญหาไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลและ กระทรวงได้ทำไว้ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุข จะมีการรณรงค์แจ้งข่าวสาร เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทราบถึง ประเด็นที่ไม่ได้รับการแก้ไขและเชิญชวนให้ดำเนินการเขียนใบลาออก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ เป็นต้นไป
 
 
กต.เผยคนไทยอยู่เกาหลีใต้เกินวีซ่า 57,490 คน
 
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่กระทรวงการต่างประเทศ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวไทยรายหนึ่งเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ แล้วส่งกลับประเทศไทย ว่า กต.ได้สอบถามสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ จึงทราบว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากการสื่อสารของภาษา และมีเอกสารไม่ครบตามขั้นตอนระเบียบการเข้าเมืองของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน รัฐบาลเกาหลีใต้อนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าเมืองได้โดยไม่ต้องรับการตรวจลงตรา(วีซ่า) และพำนักในประเทศได้ไม่เกิน 90 วัน แต่พบปัญหาว่าคนไทยมักทำผิดกฎหมายเกาหลีใต้ เช่น การพำนักเกินกำหนดเวลา การลักลอบทำงานในเกาหลีใต้ผิดกฎหมาย อาสัยยกเว้นวีซ่าแล้วหลบหนีเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้คนไทยถูกส่งกลับประเทศ ปีละประมาณ 20,000 คน
 
"ขอให้คนไทยปฏิบัติตนตามกฎหมายการเข้าเมืองของเกาหลีใต้ โดยควรมีเอกสารตามระเบียบของทางการเกาหลีใต้ คือตั๋วเครื่องบินทั้งเที่ยวไปและกลับที่ระบุวัน-เวลาชัดเจน มีหลักฐานการเงิน แหล่งที่พักชัดเจน และบุคคลที่สามารถอ้างอิงได้ชัดเจน ขณะที่บริษัททัวร์ต้องเน้นย้ำกับนักท่องเที่ยวให้เตรียมเอกสารเหล่านี้ไว้พร้อม และต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก"น.ส.บุษฎี กล่าว
 
น.ส.บุษฎี กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศควรดำเนินการผ่านกระทรวงแรงงานหรือบริษัทจัดหางานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้จากการสำรวจจำนวนคนไทยที่พำนักในเกาหลีใต้ จนถึงเดือนมี.ค.2560 พบว่ามีคนไทยอยู่ประมาณ 101,000 คน โดยมีผู้อยู่เกินกำหนดวีซ่า จำนวน 57,490 คน ถือเป็นสถิติที่สูง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะหารือกับกระทรวงแรงงานและรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อหาทางแก้ไขและป้องกันปัญหานี้ และเพื่อไม่ให้กระทบกับคนไทยจำนวนมากที่ตั้งใจเดินทางไปท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ ทั้งนี้ทางกระทรวงฯขอย้ำว่าสิ่งที่สำคัญคืออย่าพำนักเกินวีซ่าที่ทางการเกาหลีใต้อนุญาตไว้
 
 
เผยผลศึกษาแรงงานครัวเรือนเกษตรภาคกลาง ยังไม่ขาดแคลน
 
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลงานวิจัย “ความต้องการแรงงานของครัวเรือนภาคการเกษตร ตามชนิดสินค้าและขนาดฟาร์ม” ซึ่งเป็นงานบูรณาการร่วมกันของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 – 12 โดยศึกษาถึงสถานการณ์และประสิทธิภาพของแรงงานแต่ละประเภทการผลิตแยกตามขนาดฟาร์ม และเชื่อมโยงถึงความต้องการแรงงานภาคการเกษตรตามประเภทและขนาดฟาร์ม
 
จากการลงพื้นที่ ได้ทำการศึกษาเกษตรกรสาขาพืช ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลังโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และลำไย ตามขนาดฟาร์ม ในแต่ละกิจกรรมและกระบวนการผลิต ในการนี้ขอยกตัวอย่างการศึกษาในส่วนของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 (สศท.7) ซึ่งทำการศึกษาเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลังโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ภาคกลางของแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ดำเนินการเก็บข้อมูลในจังหวัดลพบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ส่วนมันสำปะหลังโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เก็บข้อมูลในจังหวัดลพบุรี ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี
 
ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า แรงงานภาคเกษตรในพื้นที่ภาคกลางไม่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากเกษตรกรนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การปลูก ดูแลรักษา จนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งมีทั้งส่วนที่ว่าจ้าง และจัดหาเครื่องจักรมาไว้เป็นของตนเอง ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพื้นที่มากๆ ซึ่งนอกจากจะใช้สำหรับในฟาร์มของตนเองแล้ว ยังนำไปรับจ้างให้บริการเกษตรกรรายอื่นด้วย
 
สำหรับการจ้าง เกษตรกรจะมีการวางแผนการเพาะปลูก และนัดหมายล่วงหน้ากับผู้ว่าจ้างไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ตรงกับรายอื่นๆ โดยค่าจ้างจะคิดเหมาเป็นไร่ และอัตราค่าจ้างจะมีตั้งแต่ไร่ละ 200 – 600 บาท ในส่วนของแรงงานคน ส่วนใหญ่จะทำการว่าจ้างสำหรับงานด้านการดูแลรักษา ซึ่งค่าจ้างจะคิดใน 2 แบบ คือ เป็นรายวัน วันละ 300 บาท หรือเหมาเป็นไร่ อยู่ที่ไร่ละ 50 - 60 บาท
 
อย่างไรก็ตาม พบว่า แรงงานภาคเกษตรทั้งของข้าว มันสำปะหลังโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชั่วคราว มีทั้งเกษตรกรที่ว่างจากการทำการเกษตรของตนแล้วมารับจ้าง และที่เป็นแรงงานรับจ้างทางการเกษตรโดยเฉพาะ ทั้งในรูปแบบทำเองคนเดียว และทำเป็นทีมงาน และหากกรณีผลผลิตเกษตรกรไม่ดี เสียหายจากภัยธรรมชาติ ผู้รับจ้างจะปรับลดค่าจ้างเครื่องจักรลง เพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ค่าจ้างแรงงานคนค่อนข้างคงที่ไม่ปรับลด
 
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างช่วงปี 2559 และ ปี 2558 พบว่า อัตราค่าจ้างทั้งส่วนของแรงงานคน และเครื่องจักรของทั้งสองปีไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเกษตรกรและท่านที่สนใจสามารถสอบถามผลการศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท โทร. 056 405 005 – 6 หรือ zone7@oae.go.th
 
 
กรมการจัดหางาน รับสมัครคนไทยไปฝึกงานญี่ปุ่น 3 ปี มีเงินเดือนตลอดการฝึกงาน
 
กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM ปี 2560 ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 3 ปี สมัครระหว่างวันที่ 29- 31 พฤษภาคม 2560 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สนใจติดต่อยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศอาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 8 ภายในกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 หรือที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2560 ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02 245 1021 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM ปี 2560 ครั้งที่ 2 เพศหญิง ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 3 ปี โดย IM ประเทศญี่ปุ่นจะจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ (กรุงเทพฯ - โตเกียว - กรุงเทพฯ) และได้รับเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกงานโดยในเดือนแรกได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน หรือประมาณ 24,490 บาท โดยผู้รับผิดชอบค่าที่พัก ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ยกเว้นค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายส่วนตัว เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 ผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคจะฝึกปฏิบัติภายใต้สัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงานญี่ปุ่น จะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ฝึกปฏิบัติงานจะต้องรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และค่าประกันสังคม รวมทั้งค่าภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อฝึกครบ 3 ปี จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และจะได้รับเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 183,690 (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2560) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย
 
คุณสมบัติผู้สมัครเป็นเพศหญิง อายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ จบการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่จำกัดสาขาวิชา ความสูงไม่ต่ำกว่า 150 เซนติเมตร น้ำหนักได้สัดส่วนกับส่วนสูง สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีรอยสัก และไม่มีความผิดปกติทางร่างกาย ไม่มีความประพฤติเสีย ไม่เคยเป็นผู้ไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นโดยใช้วีซ่า “Technical Intern” ไม่เคยทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยการแจ้งไปทำงานด้วยตนเอง ไม่เคยทำงานหรือเข้าเมืองหรือ พำนักอาศัยโดยผิดกฎหมายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ และไม่เคยเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกและถูกตัดสิทธิออกจากการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น สายตาปกติ และไม่บอดสี สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอาจเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการฝึกอบรมในประเทศไทยและระหว่างการฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นได้
 
หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร ได้แก่ ใบสมัครสอบคัดเลือก รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก และไม่สวมแว่นตาดำ ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 รูป สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หลักฐานการศึกษา พร้อมสำเนาอย่างละ 1 ฉบับ ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าสุขภาพแข็งแรง สายตาปกติและตาไม่บอดสี ประวัติส่วนตัว ใบผ่านงาน (ถ้ามี)
 
ผู้สนใจติดต่อยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศอาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 8 ภายในกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 หรือที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ในวันและเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2560 ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02 245 1021 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
 
หลังมีข่าวลือเรื่องการเลิกจ้างลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงยุติธรรมกว่า 2,000 คนรองปลัด ยธ.ออกมาแจงไม่ตั้งใจเลิกจ้างแค่ยังไม่มีงบ
 
ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่าลูกจ้างกระทรวยุติธรรมจ่อตกงานกว่า 2000 รายในสิ้นปีงบประมาณนี้ วันนี้ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า (19 พ.ค.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม ออกมาชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่าเนื่องจากไม่มีงบประมาณ ซึ่งปกติกระทรวงจะได้ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางที่คู่ความนำมาวางไว้ที่กรมบังคับคดีที่นำไปฝากไว้กับธนาคาร กระทรวงการคลังอนุญาตให้กระทรวงยุติธรรมนำไปใช้เสริมงบประมาณได้ โดยให้กำหนดเป็นระเบียบการใช้จ่ายเงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้ส่งเงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางจำนวนร้อยละ 10 ของยอดเงินดอกเบี้ยคงเหลือทุกสิ้นเดือนมีนาคมและสิ้นเดือนกันยายนของทุกปีเป็นรายได้แผ่นดินโดยให้นำส่งภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นเดือนนั้นๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมากระทรวงยุติธรรมก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตามจริงตามภารกิจปกติและภารกิจที่เพิ่มขึ้นของกระทรวงยุติธรรม แต่จะสามารถใช้เงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลาง เพื่อเสริมงบประมาณตลอดมา
 
แต่ตอนนี้งบประมาณส่วนมาก ได้นำมาใช้ตั้งแต่การปลูกสร้างซ่อมแซมหรือต่อเติมอาคารสถานที่ราชการ และการจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆนายธวัชชัยกชี้แจงต่อว่า สำหรับอัตรากำลังลูกจ้างที่มีการขอให้เงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางนั้นเป็นภารกิจจำเป็นที่ไม่ได้รับการสนับสนุนอัตราข้าราชการและพนักงานราชการอันเนื่องมาจากมาตรการจำกัดอัตรากำลังภาครัฐ
 
สถานการณ์ตอนนี้นายธวัชชัยยอมรับว่า แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงยุติธรรม จึงได้นำอัตราทั้งหมดที่ใช้ดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางไปทำเป็นคำขอตั้งงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งขณะนี้ทราบแล้วว่าไม่ได้รับการจัดสรรตามที่ขอ ฉะนั้น จำนวนลูกจ้างชั่วคราวและจ้างเหมาบริการทั้งหมดในปีงบประมาณ 2561 ของกระทรวงยุติธรรมจึงอาจไม่ได้รับการจ้างต่อไป ก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องไปขอรับบริการจากส่วนราชการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
 
 
รัฐบาลหนุนเปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน แก้ปัญหาขาดแคลนครู
 
รัฐบาลส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ (Education to Employment : E to E) ให้แก่เด็กนักเรียนไทยโดยเริ่มนำร่องกับนักเรียนอาชีวะตั้งแต่ช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา เพื่อฝึกทักษะการปฏิบัติจริงที่ไม่มีสอนในห้องเรียน รวมกว่า 2,500 หลักสูตร เช่น ซ่อมรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ เครื่องยนต์สปีดโบ้ท ช่างตรวจรอยร้าวอากาศยานโดยวิธีพิเศษ บัญชีสำหรับงานก่อสร้าง งานภาษี งานควบคุมคลังสินค้า การทำอาหารนานาชาติ มัคคุเทศก์ ติดตั้ง CCTV เป็นต้น
 
“โครงการดังกล่าวมีแนวคิด คือ การเปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน โดยให้เอกชนเป็นผู้นำและรัฐดูแลสนับสนุนตามแนวทางประชารัฐ มีบริษัทกว่า 1,500 แห่งให้ความสนใจเข้ามาร่วมจัดหลักสูตรให้แก่นักเรียนอาชีวะทั่วประเทศเป็นเวลา 2 เดือน มีนักเรียนสมัครเรียนถึง 82,000 คน เมื่อเรียนจบแล้วนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ และยังสามารถนำชั่วโมงเรียนหรือฝึกงานไปนับเป็นหน่วยกิตเพิ่มเติม รวมทั้งได้รับใบรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ( สอศ.) อีกด้วย ทั้งนี้ ศธ.จะขยายผลไปยังนักเรียนชั้น ม.3 เพื่อให้ทดลองฝึกงานจริงในสายอาชีพที่สนใจเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในช่วงปิดภาคเรียนหน้า โดยให้สถาบันอาชีวะในพื้นที่ประสานกับทางจังหวัดจัดโครงการให้นักเรียนกลุ่มนี้ ซึ่งตรงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้นักเรียนนักศึกษาเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย”
 
นอกจากนี้ จากการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีวุฒิทางครูสามารถสมัครสอบครูผู้ช่วย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในสาขาที่สำคัญ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และทดแทนอัตราครูที่จะเกษียณอายุราชการในอีก 10 ปีข้างหน้ากว่า 2.7 แสนคน จากจำนวนครู สพฐ.ทั้งหมดกว่า 4 แสนคนนั้น ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจสมัครสอบและผ่านการคัดเลือกถึง 503 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ และประกอบอาชีพแล้ว เช่น วิศวกร ทันตแพทย์ ตำรวจ ฯลฯ แต่มีความตั้งใจอยากเป็นครู โดยหลายคนสามารถทำคะแนนสอบได้เป็นอันดับต้น ๆ ของผู้เข้าสอบทั้งหมดด้วย
 
ทั้งนี้ ครูผู้ช่วยที่ไม่มีวุฒิทางครูกลุ่มดังกล่าวถือเป็นเลือดใหม่ของ ศธ. โดยทาง สพฐ.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทุกคนได้ศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ โดยครูผู้สอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้น จะได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ส่วนครูผู้สอนภาษาอังกฤษจะได้เข้ารับการอบรม เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ณ ศูนย์อบรมระดับภูมิภาค จำนวน 18 แห่ง ที่โรงเรียนของตนตั้งอยู่ เช่นเดียวกับครูภาษาอังกฤษที่ ศธ.กำลังพัฒนาอย่างเข้มข้นในเวลานี้ด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับจากสังคม
 
“ท่านนายกฯ ฝากให้กำลังใจบุคลากรของ ศธ. โดยเฉพาะครูผู้สอนให้มีกำลังกายและสติปัญญาปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทเต็มที่ เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net