Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ในเวทีเสวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าว (ประมาณ)ว่า ศาสนามีคุณค่าต่อชีวิตคน แต่ในโลกสมัยใหม่ก็มีคุณค่าอื่นๆ ให้เลือกหลากหลาย คุณค่าบางอย่างอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าศาสนา และศาสนาย่อมต้องเผชิญกับการท้าทายของคุณค่าที่หลากหลาย แต่ปัญหาของศาสนาในปัจจุบันนี้คือการที่ศาสนาไม่สามารถปรับตัวและพยายามเข้าไปแข่งกับคุณค่าอื่นๆ เพราะศาสนาถูกอุปถัมภ์และถูกควบคุมโดยรัฐจนกลายเป็นศาสนาที่แข็งทื่อ ไร้อารมณ์ความรู้สึก

ถ้าเราติดตามอ่านข้อเขียนเกี่ยวกับศาสนาของอาจารย์นิธิ จะเห็นว่าสิ่งที่เขาพยายามชี้ให้เห็นคือ เราอาจจะเรียกร้องให้มีกฎหมายหรือระบบการปกครองที่ดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับหลักประกันสันติภาพ ศีลธรรมยังมีความจำเป็น เพราะ “ศีลธรรมคือการนึกถึงคนอื่น” ถ้าเรากระทำสิ่งต่างๆ อย่างนึกถึงคนอื่นมากขึ้น ย่อมทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศีลธรรมก็ไม่ได้มาจากศาสนาเพียงอย่างเดียว หรือไม่ได้มีเพียง “ศีลธรรมแบบศาสนา” (religious morality) เท่านั้น ยังมี “ศีลธรรมแบบโลกวิสัย” (secular morality) ที่เป็นอิสระจากศาสนาและเป็นคุณค่าพื้นฐานในโลกสมัยใหม่

ปัญหาของบ้านเราคือ ระบบการศึกษาของรัฐเน้นการปลูกฝังศีลธรรมแบบศาสนามาตั้งแต่สมัย ร.5 โดยนำศีลธรรมในพุทธศาสนาที่ตีความว่าเป็น “โลกียธรรม” แล้วนำมาเป็น “ศีลธรรมทางโลก” สำหรับปลูกฝังอบรมประชาชนผ่านหลักสูตรวิชาศีลธรรมในระบบการศึกษาของรัฐ

แต่โลกียธรรมอย่างเช่น “คิหิปฏิบัติ” เป็นเรื่องของความสันพันธ์ระหว่างบุคคลตามสถานภาพสูง ต่ำทางสังคมในแบบที่ผู้มีสถานะสูงกว่า (เช่นพ่อ แม่, ครูอาจารย์, เจ้านาย, พระสงฆ์) เป็นผู้มี “อุปการคุณ” ส่วนผู้มีสถานะต่ำกว่า (เช่นลูก, ศิษย์, บ่าว, ฆราวาส) มีหน้าที่ “ตอบแทนบุญคุณ” นอกจากนี้ยังถือว่า “ผู้ปกครอง” และพุทธศาสนา มีบุญคุณต่อผู้ใต้ปกครองหรือชนชาติไทย อันเป็นที่มาของความคิดเรื่อง “ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ในปัจจุบัน

แม้โดยหลักการแล้วคิหิปฏิบัติจะเป็นเรื่องของศีลธรรมแบบนึกถึงคนอื่น แต่ภายใต้ความสัมพันธ์ตามสถานภาพสูง ต่ำทางสังคมเช่นนี้ ข้อเรียกร้องทางศีลธรรมมักเรียกร้องเอากับผู้มีสถานะต่ำกว่าเสมอ เช่นเรียกร้องให้เชื่อฟัง กตัญญู ภักดีต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ เจ้านาย พระสงฆ์ ผู้ปกครอง คำประณามทางศีลธรรมที่มีความหมายเป็น “ความผิดบาป” อย่างเช่น “เลี้ยงไม่เชื่อง” “เนรคุณ” “อกตัญญู” “ไม่จงรักภักดี” ฯลฯ จึงตกอยู่บนบ่าของผู้มีสถานะต่ำกว่าทางสังคมเสมอไป ขณะที่เรื่อง “อุปการคุณ” ของผู้มีสถานะสูงกว่าถือเป็นเรื่องดีงามที่ไม่ถูกตั้งคำถามหรือไม่มีใครเถียง และเป็นเรื่องดีงามที่ถูกอ้างเพื่อให้ความชอบธรรมในการตีกรอบ บังคับ ลงโทษคนที่มีสถานะต่ำกว่า

ยิ่งกว่านั้น ชนชั้นปกครอง, นักศีลธรรม ทั้งพระและฆราวาสมักอ้างว่าศีลธรรมทางโลกตามหลักพุทธศาสนาดังกล่าวเน้นให้คนรู้ “หน้าที่” จึงดีกว่าวิถีของตะวันตกที่เน้น “สิทธิ” ที่จะได้จะเอาเพื่อตนเอง หน้าที่จึงเป็นเรื่องของการนึกถึงคนอื่นและสังคม แต่สิทธิเป็นเรื่องของการนึกถึงตนเองก่อนคนอื่นและสังคม เราจึงเห็นชนชั้นปกครองและนักศีลธรรมบ่นกันอยู่เสมอๆ ว่า “คนทุกวันนี้เรียกร้องแต่สิทธิแต่ไม่รู้จักทำหน้าที่ของตนเอง” (ดังนั้นพวกที่บ่นเช่นนี้จึงไม่เป็นอันทำหน้าที่ของตนเอง ต้องเสียสละเข้ามายึดอำนาจรัฐทำหน้าที่แทนคนอื่นมาตลอด?)

นี่เป็นการเข้าใจเรื่อง “สิทธิ” อย่างผิดๆ เพราะสิทธิกับหน้าที่ไม่ได้แยกขาดจากกัน เนื่องจากไอเดียเรื่องสิทธิในปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ถือว่า สิทธิเป็นสัญญาประชาคมอย่างหนึ่งที่มีได้ภายใต้ระบบสังคมการเมืองที่ให้หลักประกันสิทธิและกำหนดว่าพลเมืองทุกคนมีหน้าที่เคารพสิทธิของกันและกัน การละเมิดสิทธิของคนอื่นจึงเป็นสิ่งที่ผิด หลักการนี้มาจากปรัชญาศีลธรรมแบบโลกวิสัยที่ยืนยันว่า “ศีลธรรมคือการนึกถึงคนอื่นในฐานะคนเท่ากัน” ความสัมพันธ์ทางสิทธิจึงเป็นความสัมพันธ์ในฐานะคนเท่ากัน

ถ้าใช้กรอบคิดเรื่อง “หน้าที่” ตามสถานภาพทางสังคมมาจับ การแสดงออกแบบ “เนติวิทย์” (เป็นต้น) ก็ย่อมผิดเสมอ เพราะไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อฟังและแสดงความกตัญญูรู้คุณครูอาจารย์,สถาบันการศึกษา,ชนชั้นปกครอง แต่ถ้าใช้กรอบคิดเรื่อง “สิทธิ” ซึ่งเป็นหลักความสัมพันธ์แบบคนเสมอกัน การแสดงออกแบบเนติวิทย์ย่อมเป็นทั้ง “สิทธิอันชอบธรรม” และเป็น “ความรับผิดชอบ” ในการมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมให้เดินไปตามหลักการที่ถูกต้องและก้าวหน้าขึ้น

การแยกระหว่าง religious morality กับ secular morality ในสังคมสมัยใหม่ทำให้เราเห็น “ขอบเขต” ชัดเจนขึ้นว่า ศีลธรรมแบบศาสนาเป็นเรื่องของความดีส่วนตัว เช่น เมื่อนายขาวกลัวตกนรกจึงไม่ทำชั่ว และอยากขึ้นสวรรค์,อยากบรรลุนิพาน หรืออยากมีชีวิตที่ดีในแง่อื่นๆ จึงทำความดี ขณะเดียวกันศาสนาก็เป็นเรื่องของ “ความดีเฉพาะ” ของสังคมหนึ่งๆ เพราะเป็นรากฐานของประเพณีวัฒนธรรมเฉพาะของสังคมหนึ่งๆ เช่นสังคมฮินดู, มุสลิม, พุทธ, คริสต์ ที่มีความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรมต่างกัน สรุปว่าขอบเขตของศีลธรรมแบบศาสนาเป็นเรื่องของความดีเฉพาะของบุคคลและสังคมหนึ่งๆ

แต่ secular morality เป็นเรื่องของ “ความถูกต้อง” อันเป็นหลักการสากล หมายถึง หลักการทั่วไปที่ใช้กับทุกคนไม่ว่าจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนา จะมีชาติพันธุ์ เพศ ผิว ภาษา วัฒนธรรมอะไรก็ตาม หลักการดังกล่าวนี้เป็นหลักการพื้นฐานที่รองรับความเป็นไปได้ของความแตกต่างหลากหลาย

เช่นหลักสิทธิและเสรีภาพ ก็คือหลักการปกป้องสิทธิของแต่ละคนที่จะเชื่อในความดีส่วนตัวตามกรอบศีลธรรมของศาสนาใดๆ หรือความดีชนิดที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา และปกป้องสิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชน/สังคมที่นับถือศาสนานั้นๆ เพราะในรัฐหนึ่งๆ มีหลายศาสนา หลายวัฒนธรรม โดยการยึดหลักสิทธิและเสรีภาพจึงไม่อนุญาตให้นำหลักความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาบัญญัติกฎหมาย เพราะอำนาจในการบัญญัติกฎหมายเป็น “อำนาจสาธารณะ” ซึ่งไม่ใช่อำนาจที่ตอบสนองความเชื่อเฉพาะของศาสนาหนึ่งๆ แต่เป็นอำนาจที่ต้องปกป้องหลักการสากลที่เป็นธรรมกับทุกคน ทุกกลุ่มผลประโยชน์ในสังคมเท่าเทียมกัน

แล้วศีลธรรมแบบศาสนามีประโยชน์ต่อรัฐอย่างไร? มักมีคนพูดเสมอว่า “ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี” แน่นอนรัฐย่อมต้องการพลเมืองที่เป็นคนดี อย่างน้อยก็เพื่อความสงบสุข ซึ่งสะดวกต่อการปกครอง ข้ออ้างนี้มักใช้เป็นเหตุผลว่ารัฐควรอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา

แต่การเป็นคนดีแบบศาสนาที่มีประโยชน์ต่อรัฐในความหมายดังกล่าว ก็ดูเหมือนจะเป็นคนดีที่เชื่องหรือเชื่อฟังรัฐมากกว่า หรือเป็นคนดีที่ไม่กระทบต่ออำนาจรัฐ เช่นคนดีที่ไม่ทำชั่วเพราะกลัวตกนรก ทำดีเพราะอยากขึ้นสวรรค์ ปฏิบัติธรรมเพื่อจิตสงบ,บรรลุนิพพาน ฯลฯ แต่คนดีแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น “พลเมืองดี” ที่มีจิตสำนึกพิทักษ์สิทธิของตนเอง เคารพสิทธิคนอื่น พิทักษ์ผลประโยชน์ส่วนรวม ตรวจอบอำนาจรัฐ ฯลฯ

ฉะนั้น คนดีแบบศาสนาอาจดีในแง่ที่ช่วยให้รัฐปกครองง่าย (ตราบที่ศาสนาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐและกล่อมเกลาประชาชนให้เชื่อฟังรัฐ) แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นพลเมืองดีที่ตื่นตัวพิทักษ์สิทธิของปัจเจกบุคคล,สิทธิทางการเมือง, ผลประโยชน์ส่วนรวม

เมื่อเป็นเช่นนี้ เพื่อให้ศาสนาเป็นเรื่องของเสรีภาพส่วนบุคคล และเป็นเรื่องของสิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชนทางศาสนาหนึ่งๆ ได้จริง เพื่อไม่ให้ศาสนาตกเป็นเครื่องมือของรัฐในการครอบงำประชาชน และเพื่อให้รัฐสามารถรักษาหลักสิทธิและเสรีภาพให้เป็น “กติกากลาง” ที่เป็นธรรมกับคนทุกศาสนาและคนไม่นับถือศาสนาอย่างแท้จริงจึงต้องแยกศาสนาจากรัฐ

เมื่อแยกศาสนาจากรัฐ หรือปล่อยให้ศาสนาเป็นเรื่องของเอกชน รัฐก็ไม่ได้มีหน้าที่ส่งเสริมศีลธรรมแบบศาสนาอีกต่อไป แต่มีหน้าที่ส่งเสริมศีลธรรมแบบโลกวิสัย ซึ่งมีแกนหลักอยู่ที่การสร้างจิตสำนึกเคารพสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน อันเป็นสำนึกที่ว่าเรามีหน้าที่ทำตามหลักการที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนประโยชน์สุขของส่วนรวมหรือความก้าวหน้าของมนุษยชาติ และ/หรือเพื่อเคารพตัวเองและคนอื่นเสมอกันในฐานะที่ทุกคนมีความเป็นมนุษย์ที่มีอิสรภาพ มีเหตุผล และศักดิ์ศรีในตัวเองเท่าเทียมกัน

ศีลธรรมแบบโลกวิสัย จึงเป็นศีลธรรมแบบนึกถึงตนเองและคนอื่นในฐานะคนเสมอกันที่ควรมีสิทธิ เสรีภาพในด้านต่างๆ เท่าเทียมกัน มีอิสรภาพหรือมีอำนาจกำหนดตัวเองในการใช้ความคิด ความเข้าใจของตนเองในการอธิบายโลกและชีวิต การให้ความหมายของคุณค่า, ความถูก ผิดทางศีลธรรม และอื่นๆ รวมทั้งมีส่วนร่วมทางสังคมการเมือง

ศาสนาจะมีคุณค่าต่อสังคมสมัยใหม่ได้ อันดับแรกเลยสถาบันศาสนาต่างๆ ต้องอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งไม่เป็นอุปสรรคต่อหลักความเป็นกลาง,ความเสมอภาค และเสรีภาพทางศาสนาของรัฐประชาธิปไตยให้ได้ก่อน เพราะต่อให้ศาสนิกของศาสนาต่างๆ อ้างว่าศาสนาของตนมีหลักคำสอนที่สนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าหลักคำสอนที่อ้างนั้นไม่สามารถนำมาใช้กับสถาบันศาสนาให้ได้ก่อน คือต้องทำให้สถาบันศาสนาคำรพหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคให้ได้ก่อน

จะทำได้เช่นนั้น ก็ต่อเมื่อมีการอ้างหลักการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการแยกศาสนาจากรัฐที่จะทำให้สถาบันศาสนาต่างๆ อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งเคารพหลักความเป็นกลาง,ความเสมอภาค และเสรีภาพทางศาสนาได้จริง

จากนั้น ก็สมเหตุสมผลที่ศาสนาต่างๆ จะเสนอศีลธรรมแบบนึกถึงคนอื่นในฐานะคนเสมอกันที่ไม่ขัดแย้งกับคุณค่าพื้นฐานของโลกสมัยใหม่ และเสนอมิติทางจิตวิญญาณอันเป็น “อารมณ์ทางศาสนา” เช่นความรัก ปัญญากรุณาที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกันภายใต้ความสัมพันธ์แบบไม่ใช่ทางการ แต่เป็น “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์” ที่มีความรู้สึกเป็นมิตรและเอื้ออาทรต่อกันจากหัวใจ ซึ่งเป็นมิติด้านจิตวิญญาณที่สนับสนุนขันติธรรม ภราดรภาพ และสันติภาพที่สังคมสมัยใหม่ต้องการ

ไม่เช่นนั้น ศาสนาก็จะกลายเป็นภาระและเป็นปัญหามากกว่าจะมีคุณค่าต่อสังคมสมัยใหม่     

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net