ภาคประชาชนขอให้รัฐบาลปฏิรูปตำรวจโดยเร่งด่วน

11 องค์กรภาคประชาสังคม เรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นรูปธรรมและตรงไปตรงมา ชี้การปฏิรูปจะไม่เกิดขึ้นเลยหากให้มีตำรวจมานั่งเป็นประธานหรือกรรมการในการทำแผนปฏิรูปฯ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง
 
21 พ.ค. 2560 องค์กรภาคประชาสังคมได้ออกออกแถลงการณ์ร่วม 'เรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นรูปธรรมและตรงไปตรงมา' โดยระบุว่ากรณีคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจในคณะกรรมการประสานงาน สนช. และ สปท. ซึ่งมี  พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ เป็นประธาน ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2560 ที่รัฐสภาว่าจะเสนอต่อรัฐบาลให้ปฏิรูปตำรวจด้วยการโอนสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  ตามด้วยการเพิ่มเงินเดือนตำรวจทุกตำแหน่งให้มากกว่าข้าราชการทุกฝ่าย
 
องค์กรภาคประชาสังคม ไม่อาจจะปล่อยให้ข้อเสนอในลักษณะนี้ผ่านไปได้ โดยไม่มีการกำหนดแนวทางการปฏิรูปที่แท้จริงไว้  และไม่เห็นด้วยที่จะให้ประชาชนผู้เป็นตำรวจจำนวนสองแสนสองหมื่นคน ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศทำงานด้วยวิธีการเดิมภายใต้โครงสร้างองค์กรเดิม ส่งผลให้เกิดความเดือนร้อนต่อประชาชนตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
 
เราเห็นว่าการปฏิรูปต้องเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรตำรวจอย่างเป็นรูปธรรม  สามารถแก้ปัญหาตามที่ประชาชนเรียกร้องต้องการได้อย่างแท้จริงประเด็นสำคัญจึงไม่ใช่การกำหนดที่มาของ ผบ.ตร. และไม่ใช่การขึ้นเงินเดือนตามเหตุผลที่มักพูดถึงทุกครั้ง  เพราะตำรวจไม่ได้ทำงานหนักหรือเสี่ยงภัยอันตรายกันทุกตำแหน่งทุกคน  และการขึ้นเงินเดือนไม่ได้เป็นหลักประกันว่าตำรวจผู้ใหญ่จะไม่ทุจริตฉ้อฉล หรือทำตัวเป็นผู้ร้ายในเครื่องแบบอีกต่อไป  
 
องค์กรที่มีชื่อแนบท้ายนี้จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจังตรงไปตรงมาดังนี้ 1.ให้เร่งดำเนินการตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ให้โอนตำรวจ 9 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ  เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเป็นการกระจายอำนาจตำรวจออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2.ให้แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  สร้างหลักประกันความยุติธรรมในการสอบสวนคดีอาญาให้เป็นที่เชื่อถือของประชาชน 3.ให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีอาญาที่มีโทษจำคุกเกินสิบปีหรือเมื่อมีการร้องเรียนตั้งแต่เริ่มคดี
 
4. กำหนดให้การสอบสวนต้องกระทำในห้องที่จัดขึ้นเฉพาะ โดยมีระบบบันทึกภาพและเสียงเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการ และศาลสามารถเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี  5. ไม่ว่าจะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสังกัดกระทรวงยุติธรรม หรือมหาดไทย หรือให้ขึ้นต่อนายกรัฐมนตรีเช่นปัจจุบัน จะไม่มีความแตกต่างอะไร หากไม่ปฏิรูปโครงสร้างภายในอย่างจริงจังโดยเฉพาะการแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ และ 6.การปฏิรูปจะไม่เกิดขึ้นเลยหากให้มีตำรวจมานั่งเป็นประธานหรือกรรมการในการทำแผนปฏิรูปฯ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง
 
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปฏิรูปตำรวจจะเป็นจริงได้ในเร็ววัน  หลังจากที่ประชาชนคนไทยต้องอดทนกับรัฐบาล คสช. ที่เข้ามาทำงานกว่า 3 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้าเรื่องการปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง  คนไทยส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตกันอย่างหวาดกลัว เป็นเบี้ยล่างให้กลุ่มอิทธิพลในเครื่องแบบ  เอารัดเอาเปรียบ ถูกกลั่นแกล้งยัดข้อหา ค้าสำนวนคดี  บางคนต้องยอมส่งส่วยให้รีดไถ ผู้บริสุทธิ์มากมายต้องกลายเป็นแพะ  ครอบครัวล่มสลายจากการต่อสู้คดีความที่ไม่เป็นธรรมจากการกระทำของตำรวจอีกต่อไป
 
อนึ่งองค์กรที่ลงชื่อในแถลงการณ์ประกอบไปด้วย 1.เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) 2.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 3.มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 4.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) 5.คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 6.มูลนิธิเพื่อนหญิง 7.มูลนิธิผู้หญิง 8.เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ ภาคประขาชน 9.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) 10.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 11.เครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท