Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




สังคมอมเมริกันนั้นมีความหลากหลายอย่างยิ่ง จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยจารีตแล้วว่า “ความขัดแย้ง” ความเห็นต่างของผู้คนในสังคมเป็นเรื่องปกติ

สังคมอเมริกันจึงมองว่าความขัดแย้ง ไม่ใช่ปัญหา จึงไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขอะไร เหมือนดังการผลิตวาทกรรมในเมืองไทย “สลายความขัดแย้ง” ที่ฟังแล้ว ความขัดแย้งเป็นเรื่องน่ารังเกียจ จนถึงกับในทางการเมืองของเมืองไทยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ทำงานด้านความขัดแย้งขึ้นมาจำนวนหลายชุด โดยที่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาดังกล่าว เป็นปฏิปักษ์กับความขัดแย้ง มองความขัดแย้งเป็นเรื่องความผิดปกติของสังคมที่จะต้องหาวิธีการแก้ไข ดังเห็นได้จากที่ผ่านมามีการผลิตงานวิชาการ ทั้งของอาจารย์และของนิสิตนักศึกษาในประเด็นนี้ออกมามากมาย ซึ่งก็ไม่ต่างจากพฤติกรรมกระเด้าลมของนกนางแอ่น

แต่ท้ายที่สุดแล้วความขัดแย้งด้านต่างๆ ในเมืองไทยก็มิได้ปลาสนาการไปอย่างที่ตั้งใจเอาไว้เลย มิหนำซ้ำยังกลับคงที่หรือเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ ดังเห็นปัญหากันอยู่ในเวลานี้ว่า ความปรองดอง ที่คาดหวัง ได้คืบหน้าไปได้มากน้อยขนาดไหน

วาทกรรม “สลายความขัดแย้ง” จึงไร้ค่าในบริบทสังคมประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

หากเพราะ ขณะที่ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาหรือธรรมชาติ ผู้คนพลเมือง ก็ต้องอยู่กับความหลากหลายขัดแย้งนั้นให้จงได้

ถามว่าความขัดแย้งมาจากสาเหตุอะไร เบื้องแรกก็น่าจะยอมรับกันได้ว่า มาจากสาเหตุจากความคิดเห็นไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นด้านการเมือง หรือด้านใดๆ ก็ตาม เมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกันก็ก่อให้เกิดแรงเสียดทานขึ้นในสังคมที่ไม่ค่อยอุดมปัญญามากนักนี้

ดังนั้น การยอมรับว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติของสังคมแบบเดียวกับที่อเมริกันชนส่วนใหญ่ยอมรับก็น่าจะเป็นวิธีการหรือแบบแผนหนึ่งที่ช่วยให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ  ส่วนเทคนิควิธีการก็ขึ้นกับว่าคนในสังคมส่วนใหญ่จะเอาอย่างไร ซึ่งนี่ก็คือวิธีการประชาธิปไตยนี่เอง

โดยไม่จำเป็นต้องอ้าง “ธัมมาธิปไตย”(ที่ถือเป็นเรื่องดี)นั้น ขึ้นมาเพื่อเป้าหมายส่งต่อ จนกลายเป็นอุดมการณ์ และจินตนานาการการปกครองที่ฝรั่งเรียกว่า สังคมยูโทเปีย อันเป็นสังคมเพ้อฝัน ไม่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

แต่เพียงแค่ว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้สังคมของคนมีกิเลส อยู่ร่วมกันได้ ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน ขณะเดียวกันก็สนองตอบต่อความต้องการของคนในสังคม ในอันที่จะทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องทะเลาะหรือทำร้ายซึ่งกันและกันก็น่าจะพอ มากกว่าการนำอุดมการณ์ทางศีลธรรมมาอ้าง จนคนในสังคมกระดุกกระดิกไม่ได้ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันในสังคมตามมาและรอวันระเบิด

ในแง่ของศาสนานั้น ธรรมาธิปไตย แปลว่า “ถือธรรมเป็นใหญ่” ยกเว้นเสียจากอัตตาธิปไตยแล้ว “โลกาธิปไตย”ก็มิใช่หลักธรรมที่น่าเกลียดน่าชังดังที่มีผู้แสดงไว้แบบเบี่ยงเบนคลาดเคลื่อนว่า โลกาธิปไตย เป็นการถือตามโลก ซึ่งพอพูดคำว่า “โลก”แล้ว ดูเหมือนหลายๆ คนจะเห็นภาพของความเลวร้ายเสมอ กล่าวคือ โลกไม่ดีเอาเลย

หากความหมายของโลกาธิปไตย จากหลักธรรม “อธิปไตย3” ในพระพุทธศาสนา มิได้หมายความเช่นนี้ โลกาธิปไตย หมายถึงความแคร์ หรือความใส่ใจต่อสายตาของโลกต่างหาก

หมายถึงว่า เราควรใส่ใจเสมอว่าโลกเขามองเราอย่างไรด้วย ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำโดยไม่แคร์สายตาชาวโลก นี่เรียกว่า นอกจากเราดูตัวเรา (อัตตาธิปไตย) แล้ว ยังต้องให้เหล่าชาวโลกทั้งหลายคุมความประพฤติของเรา (โลกาธิปไตย)ด้วย รวมถึงแน่นอนที่สุดต้องให้ธรรมะคุมตัวเรา (ธัมมาธิปไตย) นั่นคือ เราต้องประพฤติธรรมนั่นเอง

อธิปไตย 3 จึงเป็นธรรมที่ดีทุกข้อ มิใช่อัตตาธิปไตยกับโลกาธิปไตย คือธรรมเลว ดีอยู่อย่างเดียวคือ ธัมมาธิปไตย หากจะพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้ ก็ต้องเป็น “องค์ธรรม” กล่าวคือ รวบมาปฏิบัติให้ได้ครบทั้ง 3 ข้อ

และก็จะพบว่า การแคร์ต่อสายตาชาวโลก หรือโลกาธิปไตยนั้น มีคุณูปการอย่างยิ่ง เพราะหากพาประเทศหลุดออกจากวงโคจรของโลก ก็จะมีสภาพแบบเดียวกับเกาหลีเหนือหรือบางประเทศในกาฬทวีป

หากเรานำประเทศไปสู่การแช่แข็งหรือหลุดวงโคจรของโลกออกไปโซโลเดี่ยว โดยไม่แคร์สายสาชาวโลก ไม่แคร์ประเทศอื่น เชื่อแน่ว่า วิบัติภัยจะต้องเกิดขึ้นมาในไม่ช้า อาจไม่ใช่สงคราม แต่เป็นหายนะภัยทางด้านเศรษฐกิจนั่นแหละที่จะเกิดขึ้นก่อน

การไม่เดินตาม โลกาธิปไตย ย่อมจะมีผลเสียเช่นนี้

เพราะฉะนั้น จงอย่าได้รังเกียจ โลกาธิปไตย และไปแปลผิดความหมายดั้งเดิมในทางพระพุทธศาสนาเลย การปฏิบัติตามหลักธรรมอธิปไตย จำเป็นต้องครบ “องค์ 3”  คือ อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และธัมมาธิปไตย

พูดให้เข้าใจง่ายแบบไทยๆ ในส่วนของโลกาธิปไตย ก็คือ สำนวนที่ว่า “ทำอะไรให้หัดอายผีสางเทวดาท่านจะเห็นซะบ้าง” คือถ้าไม่ไม่ละอายตนแล้วก็ให้นึกอายผีอายสางซะบ้าง จงอย่าคิดว่าผีสาง เทวดาไม่รู้ว่าเราทำอะไร เพราะฉะนั้นไม่ว่าผู้นำองค์กรหรือลูกน้องผู้ตาม โดยเฉพาะตัวผู้นำต้องใส่ใจ (แคร์) ต่อโลก มิใช่เพิกเฉย ไม่สนใจว่า “โลกจะคิดอย่างไรก็ช่าง เราจะอยู่อย่างไรก็ได้”

และที่เห็นถึงความไม่แยแสโลกาธิปไตยในเมืองไทย ก็คือวาทกรรมต่อท้ายว่า “แบบไทยๆ” อย่างเช่น ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เป็นต้น วาทกรรมนี้ย่อมขัดหลักโลกาธิปไตยอย่างชัดเจน เพราะประชาธิปไตย เป็นหลักการสากล หนึ่งไม่มีสอง ไม่มีแบบไทยๆ หรือแบบใครๆ

เป็นหลักการหนึ่งเดียวในโลกโดยแท้จริง


ถ้าหากจะมีผู้นำมาบอกว่า “แบบไทยๆ” ก็ย่อมถือเป็นการบิดเบือนหลักการของเนื้อหาของสิ่งสากลที่พูดถึงนั้น ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะบิดเบือนไปเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านหรือประโยชน์ใคร

น่าแปลกที่ยังมีผู้บิดเบือนหลักการของประชาธิปไตยอยู่จนถึงเวลานี้ นับเป็นเวลาหลายสมัยมาแล้ว ต่างกรรมต่างวาระ โดยปราศจากความละอายตน ละอายโลกและละอายธรรมแต่ประการใด

 

 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net