Skip to main content
sharethis
บทวิเคราะห์ 3 ปีรัฐประหารของ คสช. ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน "อภินิหารทาง “กฎหมาย” สถาบันตุลาการกับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557"
 
 
27 พ.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ออกบทวิเคราะห์ 3 ปีรัฐประหารของ คสช. โดยระบุว่าแม้ว่าการใช้กำลังทางทหารจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำรัฐประหาร แต่รัฐประหารและระบอบที่สถาปนาขึ้นใหม่จะไม่สำเร็จและไม่สามารถดำเนินไปได้ หากปราศจากบทบาทของสถาบันตุลาการ
 
ในยุคสมัยใหม่ การที่ระบอบการปกครองซึ่งเกิดขึ้นจากรัฐประหารจะสามารถใช้อำนาจควบคุมสังคมได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลบล้างภาพลักษณ์การปกครองบนฐานอำนาจเบ็ดเสร็จของผู้นำทหารในทางรูปแบบลง แปลงลักษณะการใช้อำนาจดิบผ่านกระบอกปืนให้กลายมาเป็นการใช้อำนาจตาม “กฎหมาย” ซึ่งเป็นคุณค่าสากลในปัจจุบัน แม้ว่าภายใต้รูปแบบการปกครองโดยกฎหมายนี้ ในทางเนื้อหาแล้วเผด็จการทหารยังคงใช้อำนาจตามอำเภอใจ ขาดการถ่วงดุลตรวจสอบ และเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงก็ตาม
 
อย่างไรก็ตาม การ “พรางอำนาจปืนในรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” ไม่อาจดำเนินไปได้เลย หากสถาบันตุลาการไม่ให้ความร่วมมือในการสร้างความชอบธรรมหรือเป็นเสาค้ำยันอำนาจให้แก่ระบอบเผด็จการ ตลอดจนทำให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมลายพรางใช้บังคับได้จริง
 
ในวาระครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอทบทวนบทบาทของสถาบันตุลาการภายใต้ระบอบของคณะรัฐประหารตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากทบทวนความหมายของ “กฎหมาย” ของคณะรัฐประหาร สถานการณ์การบังคับใช้ “กฎหมาย” ภายใต้ระบอบรัฐประหาร ไปจนถึงบทบาทของสถาบันตุลาการต่อรัฐประหารและการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร
 
1. “กฎหมาย” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติคืออะไร?
 
“กฎหมายผมพูดหลายครั้งแล้ว กฎหมายคือสร้างความเท่าเทียมให้กับโลกมนุษย์บนโลกมนุษย์ใบนี้  ให้คนทุกคนต้องเคารพกฎหมายอันเดียวกัน ใช่ไหมล่ะ ถ้ากลับมาย้อนถามผม แล้วผมต้องเคารพกฎหมายไหม ผมก็เคารพ ใช่ไหม แต่กฎหมายผมมีของผมเอง แต่กฎหมายปกติผมไม่เคารพอยู่แล้ว”
 
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (29 มิถุนายน 2559)
 
“วันข้างหน้าถ้าไม่มีมาตรา 44 ไม่มี คสช. เราจะอยู่กันอย่างไร และอนาคตจะเป็นอย่างไร การใช้กฎหมู่ไม่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันจะนำไปสู่ความเดือดร้อนวุ่นวายในที่สุด… คสช. ขอเรียนยืนยันที่จะดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศชาติ บังคับใช้กฎหมายอย่าง เป็นธรรมและเสมอภาค มีมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมตามขั้นตอนเพื่อให้เกิดความสงบสุขเรียบร้อยของบ้านเมือง และยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องคงคำสั่ง [หัวหน้า คสช. ที่ 5/2560 ในการให้อำนาจและกำหนดพื้นที่ควบคุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายบริเวณวัดพระธรรมกายและพื้นที่โดยรอบ] ดังกล่าวไปอีกระยะหนึ่งจนเป็นที่มั่นใจได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายได้ดำเนินไปตามกรอบและคำสั่งของศาล และกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องสมบูรณ์”
 
พ.อ. ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. (27 กุมภาพันธ์ 2560)
 
แม้ว่าการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย-นิติรัฐอย่างร้ายแรง แต่ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับนำเสนอต่อสาธารณะเสมอว่าพวกตนดำเนินการและทำหน้าที่ตาม “กฎหมาย” พร้อมกับขอให้ประชาชนทุกคนเคารพ “กฎหมาย” เพื่อให้ประเทศสามารถเดินไปข้างหน้าได้ ส่วนกลุ่มบุคคลที่แสดงออกว่าไม่ยอมรับหรือต่อต้าน คสช. นั้น ก็มักถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกไม่เคารพหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
 
คำถามคือ “กฎหมาย” ที่ คสช. อ้างถึงนั้นคืออะไร
 
 
หลังรัฐประหาร 2557 ถึงปัจจุบัน (22 พฤษภาคม 2560) คสช. ได้ออกประกาศ คสช. จำนวน 125 ฉบับ คำสั่ง คสช. จำนวน 207 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งออกตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จำนวน 152 ฉบับ มาบังคับใช้กับประชาชน ซึ่ง “เนติบริกร” ของคณะรัฐประหารได้บัญญัติรับรองความชอบด้วยกฎหมายและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้แก่คำสั่งและประกาศเหล่านี้ไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และฉบับถาวร พ.ศ.2560 แม้ว่าในทางเนื้อหาคำสั่งและประกาศของคณะรัฐประหารจะขัดต่อคุณค่าในระบอบประชาธิปไตย-นิติรัฐ โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ก่อให้เกิดการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบ การซ้อมทรมาน การบังคับบุคคลให้สูญหาย ตลอดจนละเลยสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เป็นต้น
 
นอกจากนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นเองโดย คสช. ยังตรากฎหมายออกมาอีกจำนวน 239 ฉบับ ซึ่งหลายฉบับออกมาอย่างเร่งรัดและมีเนื้อหาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน  กล่าวได้ว่า ครั้งนี้นับเป็นระบอบรัฐประหารที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้ต่อประชาชนจำนวนมาก เมื่อเทียบกับคราวรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ออกประกาศและคำสั่งเพียง 34 และ 18 ฉบับตามลำดับ ก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 แล้วไม่ได้ใช้อำนาจในการออกกฎหมายโดยตรงอีก
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net