Skip to main content
sharethis

เลนิน โมเรโน ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนล่าสุดที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือน พ.ค. ให้ความหวังกับสื่อในเอกวาดอร์ว่าเขาจะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกฎหมายคุมสื่อที่ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้นำมาอ้างใช้กดดัน-ปราบปรามสื่อเอกชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่สื่อบางส่วนก็ยังตั้งข้อกังขาว่าผู้นำคนใหม่ในระบบพรรคแบบเดิมจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน

เลนิน โมเรโน ประธานาธิบดีจากพรรค PAIS Alliance  (ที่มา: Wikipedia)

30 พ.ค. 2560 หลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือน เม.ย. ปีนี้ เอกวาดอร์ก็ได้ประธานาธิบดีคนใหม่คือเลนิน โมเรโน จากพรรค "PAIS Alliance" เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และแม้ว่าโมเรโนจะมาจากพรรคเดียวกับราฟาเอล คอร์เรอา ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้ แต่ท่าทีของโมเรโนก็ดูเอื้อต่อเสรีภาพสื่อมากขึ้น

เดอะการ์เดียนประเมินเรื่องนี้จากการที่โมเรโนเคยพูดเปรยเอาไว้ว่าเขาจะมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกฎหมายการสื่อสารจากที่กฎหมายนี้ออกมาในสมัยของอดีตประธานาธิบดีคอร์เรอาสมัยปี 2556 เพื่อต้องการใช้อำนาจควบคุมสื่อเอกชนที่วิพากษ์วิจารณ์เขา

หลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก็มีการฟ้องร้องสื่อรวมแล้วมากกว่า 900 คดี ทำให้สื่อเกิดความกลัว รวมถึงมีการทำลายฐานการเงินของสื่อและบังคับให้คนวาดการ์ตูนต้อง "แก้ไข" การ์ตูนของตัวเองด้วย นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ตำรวจเคยบุกเข้าไปในห้องข่าว มีการสั่งเอาผิดธุรกิจสิ่งพิมพ์บางแห่งและทำให้นักข่าวอย่างน้อยหนึ่งคนถูกบีบให้ต้องออกจากประเทศ

ทั้งหมดนี้ดูตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการที่คอร์เรอาเคยอ้างว่ารัฐบาลสมัยของเขาเป็น "ผู้พิทักษ์เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" เขาเคยกล่าวอ้างเรื่องนี้ไว้เมื่อตอนที่ให้ที่พักพิงแก่จูเลียน อัสซาจน์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีคส์ในสถานทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงลอนดอน

ในสมัยของคอร์เรอาภายใต้กฎหมายการสื่อสารนั้นมีหน่วยงานสอดส่องสื่อที่ชื่อว่า "ซูเปอร์คอม" (SuperCom) ที่มีอำนาจมากในการลงโทษสื่อไม่ใช่แค่เรื่องที่สื่อรายงานเท่านั้นแต่ยังรวมถึงเรื่องที่สื่อไม่ได้รายงานด้วย ซูเปอร์คอมเคยเรียกร้องค่าปรับจากสื่อหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับและสื่อโทรทัศน์ 3 ช่องเพราะไม่รายงานเรื่องราวของ กุยเลอร์โม ลาสโซ หนึ่งในผู้ท้าชิงการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด โดยอ้างว่าพวกเขาไม่นำเสนอข้อมูลที่ "เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ"

ผู้ที่ยินดีกับการประกาศปฏิรูปกฎหมายควบคุมสื่อให้เอื้อต่อเสรีภาพมากขึ้นคือซีซาร์ ริเคาร์เต ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรเฝ้าระวังสื่อฟันดามีเดียที่วิจารณ์เรื่องการปราบปรามสื่อของรัฐบาลคอร์เรอา ริเคาร์เตวิจารณ์ว่ากฎหมายการสื่อสารอนุญาตให้รัฐบาลส่งอิทธิพลต่อสื่อได้ พวกเขาสังเกตว่ามีการเซนเซอร์มากขึ้น แม้แต่บทบรรณาธิการเองก็ต้องให้นักกฎหมายเขียนแทน แทนที่จะเป็นนักข่าวเขียน สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือสื่อดั้งเดิมหยุดทำการสืบสวนสอบสวนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเพราะกลัวว่าจะถูกลงโทษ

มีนักข่าวบางส่วนต้องออกจากสื่อดั้งเดิมไปแล้วก็หันมาทำเว็บไซต์สื่อที่จัดตั้งในต่างประเทศเพื่อเลี่ยงการถูกปิดปากจากรัฐบาล นักข่าวสืบสวนสอบสวนรายหนึ่งชื่อ มาร์ติน ปาลลาเรส ถูกไล่ออกจากสื่อเอลคอมเมอร์ซิโอหลังจากที่เขาวิจารณ์รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร เขาถูกคอร์เรอานำมาพูดถึงอย่างประณามในรายการโทรทัศน์รายสัปดาห์และคอร์เรอาก็มักจะฉีกหนังสือพิมพ์ที่เขาไม่ชอบให้ดูออกอากาศ

ปาลลาเรสมองว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของเอกวาดอร์จะมีความอดกลั้นต่อสื่อมากกว่าคนก่อนหน้านี้เนื่องจากเป็นคนที่ไม่ก้าวร้าวเท่าคอร์เรอา แต่โมเรโนเองก็คงทำอะไรๆ ได้จำกัดเพราะโครงสร้างพรรคเดิมยังอยู่

คนที่มองอย่างกังขากว่านั้นคือคริสเตียน ซูริตา นักข่าวสืบสวนสอบสวนที่ต้องเลี่ยงไปทำเว็บไซต์ที่มีฐานในต่างประเทศหลังถูกสังปรับ ซูริตามองว่าโมเรโนจะแค่แสดงออกแบบดูเป็นมิตรแต่ภายนอกเท่านั้น แต่การโจมตีสื่อรวมถึงการแฮ็กบัญชีผู้ใช้เว็บไซต์ของนักข่าวแล้วล้วงเอาข้อมูลส่วนตัวไปเปิดเผยให้สื่อรัฐหรือพวกโทรลอินเทอร์เน็ตจะยังคงมีอยู่

เอกวาดอร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ฟรีดอมส์เฮาส์จัดให้ระดับเสรีภาพสื่ออยู่ในระดับ "ไม่เสรี" โดยที่พวกเขามองว่าในรัฐบาลใม่สื่อรัฐอาจจะมีอิสระมากขึ้นในการเขียนบทบรรณาธิการ 

ทางด้านเฮอร์นัน เรเยส นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิมอน โบลิวาร์ แอนเดียน มีจุดยืนปกป้องกฎหมายควบคุมสื่อนี้โดยอ้างว่าสื่อเอกชน "เป็นปากเสียงให้กับอำนาจเศรษฐกิจใหญ่ๆ" และไม่มีความเป็นกลาง เรเยสประเมินว่าอาจจะไม่มีการยกเลิกใช้กฎหมายนี้ง่ายๆ แต่อาจจะมีการผ่อนผันมากขึ้นอย่างการลดค่าปรับหรือควบคุมเนื้อหาบทบรรณาธิการน้อยลง

โมเรโน เคยทำงานเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของคอร์เรอาช่วงปี 2550-2556 ในช่วงระหว่างปี 2556-2559 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติในการเรียกร้องประเด็นคนพิการและการบริการประชาชนอย่างทั่วถึง ตัวโมเรโนเองก็เป็นนักการเมืองที่มีอาการอัมพาตครึ่งล่างจนต้อนั่งรถเข็น เขาเคยได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลในปี 2555 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเขานำพรรคฝ่ายซ้าย PAIS Alliance เอาชนะพรรคฝ่ายขวาของลาสโซได้ โดยได้รับคะแนนเสียงการเลือกตั้งในรอบที่สองร้อยละ 51.16

 

เรียบเรียงจาก

Ecuador's journalists pin hope on new president after Correa's war on media, 29-05-2017

https://www.theguardian.com/world/2017/may/29/ecuador-journalists-lenin-moreno-correa-press-freedom

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Len%C3%ADn_Moreno

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net