Skip to main content
sharethis

ธนาวิ โชติประดิษฐ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อภิปรายหัวข้อ "2475 ประวัติศาสตร์บาดใจ" พูดถึงการนำเสนอเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ผ่านพิพิธภัณฑ์ทางการ 2 แห่งคือ มิวเซียมสยาม และ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่านำเสนอประเด็นใด รวมทั้งการตั้งโจทย์ผ่านการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ว่าใครคือผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตยระหว่างรัชกาลที่ 7 หรือคณะราษฎร

การนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของวงเสวนา เรื่องที่พิพิธภัณฑ์(อาจ)ไม่ได้เล่า? เสวนาวิชาการเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์สากล จัดโดย ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย และ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช สถาบันไทยคดีศึกษา ชั้น 9 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ธนาวิ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า จุดร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย และพิพิธภัณฑ์คือ การเป็นองค์กรหรือสถาบันซึ่งทำการผลิต และเผยแพร่ความรู้ ตัวตนของพิพิธภัณฑ์ และมหาวิทยาลัยจึงอยู่ที่การแลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ contention history หรือการเบียดแข่ง/เบียดขับ ซึ่งเป็นพันธกิจโดยตรงขององค์กรที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญคือ ถ้าองค์กรที่ทำหน้าที่เหล่านี้ มีเรื่องที่ไม่อยากจะพูด หรือพูดไม่ได้ หรือไม่มีความพยายามที่จะพูดมันออกมา ก็คงจะต้องตั้งคำถามต่อไปว่า พิพิธภัณฑ์จะยืนยันตัวตน และพันธกิจของตัวเองในฐานะที่เป็นสถาบันเพื่อความรู้ได้อย่างไร ถ้ายังเลือกที่จะไม่พูดถึงสิ่งที่พูดได้ยาก

เธอกล่าวต่อไปว่า สำหรับหัวข้อ 2475 ประวัติศาสตร์บาดใจ ซึ่งทางผู้จัดได้กำหนดขอบเขตการบรรยายมานั้น ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้เมื่อไม่นานนี้คือ การย้ายหมุดคณะราษฎรออกจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เธอเห็นว่าการที่หมุดถูกย้ายออกไปเป็นเพราะหมุดดังกล่าวเป็นเหมือนแผลเล็กๆ ที่บาดตาบาดใจ สร้างความรำคาญจนทำให้เกิดความรู้สึกทนไม่ได้ จนในที่สุดก็ถูกย้ายออกไป

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ต่อไปว่า ความบาดตาบาดใจของ 2475 ไม่ได้อยู่ที่หมุดเพียงอย่างเดียว แต่ตัวตนของประวัติศาสตร์ 2475 ที่อยู่ตามพิพิธภัณฑ์ก็เป็นเรื่องที่ควรได้รับการอภิปราย เพราะปี 2475 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญ เป็นปีที่มีการทำการปฏิวัติของคณะราษฎรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย และคำถามที่น่าสนใจคือ เหตุการณ์ที่ว่าสำคัญนี้ถูกนำเสนออย่างไรในพิพิธภัณฑ์

เธอกล่าวต่อไปถึงพิพิธภัณฑ์สองแห่งที่มีการเล่าถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 คือ พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ และมิวเซียมสยาม โดยทั้งสองแห่งนี้นำเสนอเรื่องราวต่างกันออกไปคนละแง่มุม

“พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของคณะราษฎร เพราะการปฎิวัติ 2475 เกิดขึ้นในสมัยของรัชกาลที่ 7 ทีนี้พิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องของพระปกเกล้าจะเล่าเรื่องราวของคณะราษฎรที่ถือเป็นคู่ขัดแย้งอย่างไร ขณะเดียวกันจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่พูดเรื่องการเมือง เหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 7 อย่างไร”

ธนาวิกล่าวต่อไปว่า อีกที่หนึ่งคือมิวเซียมสยาม ในนิทรรศการความเรียงประเทศไทยซึ่งจัดแสดงมาแล้ว 8 ปีก่อนที่ต่อมาจะมีการปิดปรับปรุงใหม่ โดยในเวลานั้นเคยมีส่วนจัดแสดงในห้องเลขที่ 13 ใช้ชื่อว่า “กำเนิดประเทศไทย” แต่ชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษคือ Politics and Communication ซึ่งชื่อภาษาไทยกับภาษาอังกฤษแปลไม่เหมือนกัน ซึ่งในห้องที่ว่าด้วยคณะราษฎร ก็ไฮไลท์เรื่องของการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย แต่ว่าก็จะมีส่วนจัดแสดงหนึ่งที่ระบุว่า อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่จริงๆ เนื้อหาหลักของห้องนั้นไม่ได้ผู้ถึง 2475 โดยเฉพาะ แต่พูดถึงอย่างอื่นของคณะราษฎรเช่นการเปลี่ยนชื่อจาก สยาม เป็น ไทย บทบาทของกรมโฆษณาการในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมันจะสืบเนื่องต่อไปที่ห้องต่อไปที่จะพูดเรื่องเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องการคณะราษฎร

เธอกล่าวต่อว่า สำหรับพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ ผู้ที่สนใจ และติดตามเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง คงพอมองเห็นว่ามีความพยายามแข่งขันกันในเชิงวาทกรรมว่า ใครคือผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย คือคณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติ หรือว่าเป็นพระปกเกล้าที่มีความต้องการที่พระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ว่าคณะราษฎรมาตัดหน้าก่อน

“การแข่งขันของวาทกรรมนี้เองก็ปรากฎให้เห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า ทั้งนี้ในพิพิธภัณฑ์ได้เล่าถึงประวัติรัชกาลที่ 7 พระราชกรณียกิจ ซึ่งไล่เลียงไปตามลำดับเวลา ขณะที่ช่วงเวลาที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 2475 ก็ได้มีการนำเสนอ และมีเรื่องราวของคณะราษฎรอยู่ด้วยเช่นกัน แต่ด้วยความคิดที่ว่ามีการพระราชทานรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย ก็ทำให้บทบาทของคณะราษฎรในพิพิธภัณฑ์มีอยู่น้อยมาก แต่ก็ยังมีข้อเท็จจริงในเชิงประวัติศาสตร์ว่ามีคณะราษฎรได้รวมตัวกันทำการเปลี่ยนการปกครอง แต่ก็มีส่วนที่อธิบายด้วยว่าพระปกเกล้าเป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตย ผ่านตัวนิทรรศการ ผ่านข้อความเรื่องเล่าที่อยู่ในนั้นหลายๆ แบบ”

เธอกล่าวด้วยว่า บทบาทของ 2475 ในพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าแม้ว่าจะไม่ได้ถูกกล่าวหาอย่างตรงๆ เมื่อเทียบกับสื่อประเภทอื่น หรือบทเรียนประวัติศาสตร์ที่มีโครงเรื่องว่า คณะราษฎรเป็นผู้ชิงสุกก่อนห่าม แต่โดยนัยยะแล้วพิพิธภัณฑ์เองก็เป็นการทำงานที่พยายามและต้องการเชิดชูว่า พระองค์เป็นบิดาแห่งผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตยในสยาม ฉะนั้นภาพของ 2475 ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์จึงเป็นภาพเดียวกันที่ปรากฎอยู่ในสื่อ รวมทั้งการศึกษากระแสหลักที่กลายเป็นความทรงจำร่วมของคนในสังคมไทย

เธอกล่าวต่อไปว่า ในขณะที่มิวเซียมสยาม เลือกที่จะพูดถึงยุค 2475 โดยเลือกเอาช่วงเวลาอื่นๆ ในยุคของคณะราษฎรในช่วงเวลา 15 ปี ระหว่าง 2475-2490 มิวเซียมสยามเลือกที่จะนำเสนอเรื่องของคณะราษฎรโดยเริ่มต้นที่การเปลี่ยนชื่อจาก สยาม เป็น ไทย กับบทบาทของกรมโภชนาการ ซึ่งเป็นช่วงเวลาในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเป็นยุคที่มีความเป็นประชาธิปไตยน้อย เมื่อเทียบกับยุคที่คนอื่นๆ เป็นรัฐบาล เมื่อเทียบระยะเวลา 15 ปี ของคณะราษฎร

“นิทรรศการต่างจากหนังสือตรงที่ว่า มันมีข้อจำกัดของพื้นที่ คล้ายกับงานศิลปะกับวรรณกรรม วรรณเป็นศิลปะที่ขยายไปได้เรื่อยๆ สามารถมีหน้ากระดาษเป็นร้อยเป็นพัน ในขณะที่งานศิลปะโดยอย่างยิ่งงานจิตรกรรมเป็นศิลปะของพื้นที่ มีการจำกัดกรอบขอบเขตอันหนึ่ง ในทำนองเดียวกันพิพิธภัณฑ์ก็มีข้อจำกัด คุณมีพื้นที่เท่านี้จะเลือกเล่าอะไร ในประวัติศาสตร์ที่มีระยะเวลายาวนาน ฉะนั้นในพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า รวมทั้งมิวเซียมสยามจึงเลือกเวลา หรือเหตุการณ์สำคัญอันใดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่าง 15 ปี ขึ้นมาเป็นไฮไลท์ ซึ่งนั้นหมายความว่า ตัวองค์กรที่นำเสนอมองว่าอะไรสำคัญ และเป็นสิ่งที่อยากเล่า กลายเป็นว่าเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของคณะราษฎรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้สิ่งที่ถูกไฮไลท์ แต่กลับเป็นเรื่องอื่นแทน ซึ่งน่าสนใจว่ามันไมจึงเลือกนำเสนอแง่มุมนั้น แทนที่จะเลือกเรื่องที่เด่นที่สุด ซึ่งอาจจะย้อนกลับไปดูว่า เพราะมันมีการแข่งขันกันอยู่ระหว่างความคิดที่ว่าใครคือผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย”

เธอยังกล่าวเสริมต่อไปว่า นอกจากเรื่องของพิพิธภัณฑ์ และการเล่าเรื่อง 2475 แล้ว ทุกวันนี้เรื่องราวของ 2475 ยังคงโลดแล่นอยู่ในสังคมร่วมสมัยอยู่ โดยก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหารในปี 2549 เรื่องของคณะราษฎรหรือความสนใจเกี่ยวกับศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎรไม่ได้เป็นความสนใจที่แพร่หลายในวงกว้าง

“คุณอาจจะนั่งรถผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทุกวันแต่คุณไม่คิดว่าใครเป็นคนสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา เช่นเดียวกันกับมรดกอื่นๆ ของคณะราษฎรที่ทุกวันนี้ยังมีอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเราเห็น แต่เหมือนไม่เห็นไปพร้อมๆ คือเห็นเป็นวัตถุ แต่ไม่เห็นคนสร้าง หรือไม่ได้เห็นความหมายที่แฝงอยู่กับสิ่งซึ่งโยงอยู่กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ นั่นคือสถานการณ์ของคณะราษฎร และมรดกทางวัฒนธรรมของคณะราษฎรก่อนปี 2549”

เธอกล่าวต่อไปว่าสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นผลของการกล่อมเกลาจากระบบการศึกษาที่ยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์กระแสหลัก อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจของการรับรู้ประวัติศาสตร์ 2475 หลังจากการรัฐประหารปี 2549 ความสนใจเรื่องราวของคณะราษฎรได้กลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ พร้อมๆ กับกระแสต้านการกลับมาของพลังอนุรักษนิยม เริ่มมีการจัดพิธีรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองที่หมุดคณะราษฎร ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจจะไม่มีใครรู้ว่ามีหมุดดังกล่าวอยู่ และยิ่งล่าสุดหมุดถูกถอนออกไปคนก็ยิ่งรู้จักหมุดคณะราษฎรเพิ่มมากขึ้นไปอีก

“การรื้อฟื้นอดีตขึ้นมาจึงไม่ได้เป็นเรื่องของอดีตล้วนๆ เพราะว่ามันเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ แต่มันถูกผลักดันด้วยเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เกิดการรื้อฟื้นอดีตขึ้นมาเพื่อที่จะพูดเรื่องปัจจุบัน คนที่ติดตามการเมืองคงเห็นว่า คณะราษฎรถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ โดยขบวนการต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งพ่วงอยู่กับการเรียกร้องการเลือกตั้ง การปกครองของประชาชน และอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net