Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ในโอกาสครบรอบ 3 ปี ของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ก็น่าจะลองประเมินดูว่า ในระยะ 3 ปีนี้ สถานะรัฐบาลเผด็จการทหารของไทยมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนในโลกใบนี้

แรกสุดคงต้องพิจารณาว่า ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มีประเทศไหนในโลกที่แก้ปัญหาการเมืองด้วยการรัฐประหาร ปรากฏว่าพบอยู่ 4 กรณี คือ

เยเมน ซึ่งเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อไปถึง 5 เดือน และสร้างความเดือดร้อนอดหยากอย่างหนักแก่ประชาชน

กรณีของแกมเบีย เกิดความพยายามก่อรัฐประหารในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2557 แต่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ในวันเดียว

อีกกรณีหนึ่ง คือ บูร์กินา ฟาโซ ซึ่งเป็นประเทศยากจนมากในแอฟริกาตะวันตก คณะทหารทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2558 แต่ถูกต่อต้านจากประชาชน จากประเทศเพื่อนบ้าน และโลกนานาชาติ ในที่สุด การรัฐประหารก็พ่ายแพ้ภายใน 1 สัปดาห์ คณะทหารที่ยึดอำนาจถูกจับกุมดำเนินคดี

กรณีตุรกี วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2559 คณะทหารกลุ่มหนึ่ง พยายามก่อการรัฐประหาร แต่เผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน และประสบความพ่ายแพ้ในวันรุ่งขึ้น และรัฐบาลก็ถือโอกาสปราบปรามฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร

นอกจากนั้นแล้ว ไม่มีประเทศไหนอีกเลยที่มีการรัฐประหาร จึงสรุปได้ว่า แทบจะไม่มีประเทศไหนในโลก ที่ใช้การรัฐประหารเป็นทางแก้ปัญหาของประเทศ คณะทหารหลงยุคที่พยายามยึดอำนาจในบูร์กินาฟาร์โซ แกมเบีย และ ตุรกี จึงประสบความพ่ายแพ้ รัฐประหารในประเทศไทยจึงกลายเป็นกรณีเดียวที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสะท้อนความล้าหลังอย่างยิ่งของชนชั้นนำไทย

ประการต่อมา ลองพิจารณาว่า มีประเทศไหนในโลกบ้าง ที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารในระยะ 3 ปีที่ผ่านมานี้ ปรากฏว่า มีประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นบนโลกใบนี้ ที่อยู่ภายใต้เผด็จการทหาร ประเทศอื่นไม่มีแล้ว แม้กระทั้ง พม่า ฟิจิ มาดากัสการ์ ต่างก็เปลี่ยนแปลงเป็นรัฐบาลพลเรือนไปแล้วจนหมดสิ้น ประเทศเผด็จการทหารแห่งเดียวของโลก จึงโดดเดี่ยวมาก

ก่อนการรัฐประหาร สุรพงษ์ ชัยนาม เคยเสนอในกลุ่มรัฐบุคคลว่า การรัฐประหารโดยกองทัพสามารถทำได้โดยไม่ต้องสนใจการคัดค้านจากโลกนานาชาติ เพราะทุกประเทศก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตนเองทั้งนั้น เมื่อรัฐประหารแล้ว ก็จะเป็นที่ยอมรับกันไปเอง แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารจริง สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการคว่ำบาตรจากโลกนานาชาติกลายเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มจากกลุ่มประชาคมยุโรปและประเทศสมาชิกทั้งหมดจะยกเลิกการเจรจาทั้งหมด และไม่ลงนามในสัญญาใดกับฝ่ายไทยจนกว่าจะมีการรื้อฟื้นประชาธิปไตย จากนั้น ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ ก็ใช้ท่าทีเช่นเดียวกัน ส่วนสหรัฐฯ ก็ระงับการเจรจาทางการทหารกับฝ่ายไทย และระงับการฝึกฝน การเยือนทางการทหาร และความช่วยเหลือทางการทหาร

ทางด้านในประเทศ สามปีของการรัฐประหารสร้างความเสียหายอย่างมากในทางการเมือง เริ่มจากการที่ระบอบประชาธิปไตย ที่มีการรองรับการใช้สิทธิของประชาชนโดยผ่านการเลือกตั้งถูกทำลายลง และแทนที่ด้วยการปกครองระบอบทหาร ใช้สภาแต่งตั้งแทนสภาเลือกตั้ง และครอบงำประเทศด้วยระบบราชการ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยยังไม่ได้ตั้งไข่และนับหนึ่ง มาจนถึงขณะนี้

ปัญหาสำคัญมาจากการที คณะทหาร คสช. ก็ละเมิดโรดแมปของตนเอง และต่ออายุทางการเมืองไปเรื่อยๆ เพราะในปีแรกที่ก่อการรัฐประหาร คณะทหารออกโรดแมปว่าจะอยู่ในอำนาจเพียงปีเดียว แล้วจะคืนประเทศสู่ประชาธิปไตย เพื่อตอกย้ำแผนการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ถึงกับแต่งเพลงประกาศกับสังคมว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะกลับคืนมา” แต่ในที่สุด เมื่อครบปี คณะทหารก็เลื่อนโรดแมป โดยใช้ข้ออ้างเรื่องรัฐธรรมนูญร่างไม่เสร็จ จากนั้น ก็ต่ออายุโดย พล.อ.ประยุทธ์ แถลงข่าวที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 ว่า จะมีการเลือกตั้งภายในปลายปี หรือต้นปี พ.ศ.2559 จากนั้น ก็เลื่อนต่อมา โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญร่างไม่เสร็จ จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 ในประวัติศาสตร์ไทย ปรากฏว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่ได้สร้างหลักประกันในด้านประชาธิปไตย และยังเป็นที่อธิบายว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจของฝ่ายเผด็จการแม้กระนั้น กำหนดการที่จะมีการเลือกตั้งก็ยังคงไม่แน่นอนชัดเจน โดยฝ่ายสมาชิกสภาแต่งตั้ง เสนอว่า การเลือกตั้งจะต้องขยับไปกลางปี 2561 เพราะพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ทัน

มักจะอ้างกันว่า ผลดีของการรัฐประหาร คือ ความสงบสุขของบ้านเมือง ในส่วนนี้ แม้แต่ฝ่าย คสช.ก็นำมาอ้างเป็นผลงาน คงต้องอธิบายว่า ความสงบสุขนี้ มาจากการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ห้ามประชาชนใช้สิทธิทางการเมือง ควบคุมแม้กระทั่งการจัดงานทางวิชาการในมหาวิทยาลัย โดยรัฐบาลทหารใช้มาตรการจับกุม หรือควบคุมตัวในลักษณะต่างๆ การเรียกตัวไปปรับทัศนคติ และพยายามที่จะควบคุมแม้กระทั่งการใช้โซเชียลมีเดียของประชาชน แต่ไม่ได้มีการแก้ไขความขัดแย้งในทางสังคม ความแตกแยกทางการเมืองคงอยู่และรอการปะทุ และผลจากการกวาดล้างปราบปราม ทำให้ในระยะ 3 ปี สิทธิมนุษยชนในไทยถูกทำลายอย่างหนัก เพราะมีการกวาดล้างจับกุมกลุ่มที่คิดต่างอยู่เสมอ ประมาณว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีและต้องติดคุกในข้อหาทางการเมืองจำนวนมากกว่า 200 คน ผลพวงจากเรื่องนี้ คือ การล่มสลายของระบอบกฎหมายของประเทศ เพราะคำสั่งหรือประกาศตามอำเภอใจของฝ่ายทหาร ก็ได้รับการรับรองให้เป็นกฎหมายที่ถูกต้องเสมอ ศาลไทยก็พร้อมจะยอมรับและดำเนินการ กระบวนการยุติธรรมจึงถูกบิดเบือน

ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลทหารพยายามโฆษณาเรื่อง “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อยกระดับประเทศ แต่นั่นเป็นเพียงเป้าหมายอันสวยหรู เพราะความจริงเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาวิกฤต จากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศ เพราะการตกต่ำของรายได้ในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนก็ลดลงอย่างหนัก มูลค่าของการรับส่งเสริมการลงทุนตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และในด้านการส่งออกก็ขยายตัวต่ำมาก ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาเพียงการท่องเที่ยว และรายจ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผลที่ตามมาก็ไม่เป็นไปตามคาดหมาย ทำให้รายได้ของรัฐลดลงอย่างมาก และเงินคงคลังก็ลดลงจาก 6 แสนล้านบาทเมื่อ พ.ศ.2556 (สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เหลือเพียง 7.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้

ในขณะเดียวกัน ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้นทุกที เริ่มจากเมื่อ พ.ศ.2550 นั้น งบประมาณกลาโหมของประเทศไทย 1.18 แสนล้านบาท เมื่อ พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา สภาแต่งตั้งผ่านงบกลาโหม ในวงเงิน 2.14 แสนล้านบาท หมายถึงว่า งบประมาณด้านกลาโหมเพิ่มเกือบเท่าตัวในเวลา 10 ปี ทั้งที่สถานการณ์โลกอยู่ในภาวะค่อนข้างสงบ ไม่มีแนวโน้มของสงครามระหว่างประเทศในเอเชียเลย และกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของไทยก็มีความสัมพันธ์อันดีอย่างยิ่ง จึงอาจสรุปได้ว่า งบประมาณกลาโหมที่เพิ่มขึ้นนี้เอง คือ ราคาที่ประชาชนไทยต้องจ่ายเพิ่มให้กับการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้น 2 ครั้งในเวลา 10 ปี

และนี่คือตำแหน่งแห่งที่ของเผด็จการทหารของไทย

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 618 วันที่ 27 พฤษภาคม 2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net