แผ่นดินจึงดาล: เกษียร เตชะพีระ การเมืองและพื้นที่สุดท้ายที่ต้องรักษาเอาไว้

บทสัมภาษณ์ 9 นักวิชาการในชุด ‘แผ่นดินจึงดาล’ นี้ ประชาไทตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในหนังสือ ‘แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ’ เพื่อมองอดีต ปัจจุบัน และอนาคตประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร

มุมมองการวิเคราะห์ของเกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ นำพาเราออกมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในภาพเล็กไปสู่ภาพที่ใหญ่ของการปะทะต่อสู้ระหว่าง Deep State กับ Deep Society เมื่อฝ่ายแรกพยายามเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ระบอบไม่ประชาธิปไตย การพยายามสร้างอำนาจนำหรืออนุญาโตตุลาการสุดท้ายขึ้นใหม่ที่ไม่ได้มาจากประชาชน อันเป็นความพยายามที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน

ภายใต้กติกาปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจนถึงการวางกลไกจำนวนมากเอาไว้เพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพที่ถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ และแทบจะปิดช่องสำหรับการแก้ไข เหล่านี้ทำให้เกิดแนวโน้มที่พลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ที่ถูกกดปรามจากรัฐธรรมนูญจนไม่มีช่องทางให้เล่นภายใต้กติกาจะก้าวลงสู่ท้องถนน และแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงตามที่มีการวิเคราะห์กันไว้พอสมควร

พินิจจากถ้อยคำของเกษียร เขาเองก็พอจะเห็นเค้าลางนี้และมองว่านี่คือสงครามยืดเยื้อ การชนะในศึกใดศึกหนึ่งหรือสมรภูมิใดสมรภูมิหนึ่ง มิได้หมายถึงการชนะสงคราม การต่อสู้ครั้งนี้ไม่จบง่ายๆ และท่ามกลางการสู้รบ (หากเราจะเรียกเช่นนั้น) การบาดเจ็บล้มตายอาจหลีกเลี่ยงได้ยาก

แต่เกษียรยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ว่าการสู้รบระหว่าง Deep State กับ Deep Society รอบนี้จะดุเดือดแหลมคมเพียงใด ที่มั่นหรือพื้นที่สุดท้ายที่ทุกๆ ฝ่ายจะต้องรักษาไว้ให้ได้คือพื้นที่สันติวิธีและสิทธิมนุษยชน เราไม่สามารถปล่อยปละละเลยให้ต้นทุนแพงไปกว่านี้ได้อีกแล้ว

ความระส่ำในยุคขาด ‘อำนาจนำ’ และ ‘รัฐพันลึก’

ช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญจะเห็นชัดเจนถึงความหลากหลายผันแปรอยู่ ที่ว่าเครือข่ายหรือกลุ่มที่เข้าไปกุมการร่างรัฐธรรมนูญมีความไว้ใจหรือศรัทธาต่อสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสถาบันไหน คุณบวรศักดิ์ อุ วรรณโณ มอบอำนาจให้กับตัวแทนเครือข่ายเอ็นจีโอ หรือพูดแรงๆ ก็ได้ว่า ขุนนางเอ็นจีโอ ส่วนคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ฝากไว้กับตุลาการภิวัตน์ กับศาลรัฐธรรมนูญ ส่วน คสช. ก็ฝากไว้กับวุฒิสภาแบบแต่งตั้ง เป็นทางเลือกแบบ ความมั่นคงสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบยุคป๋าเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์)

ทั้งหมดนี้คืออะไร มันคือการเมืองที่ไม่มีอำนาจนำ (Hegemony) ไม่มีพลังทางการเมืองที่จะชักจูงใจคนส่วนใหญ่ของประเทศได้โดยที่ไม่ต้องบังคับให้ยอมรับ พอขาดพร่องอันนี้ไปก็วิ่งหาการทดแทน เพราะไม่ไว้ วางใจว่าเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งจะยอมรับระเบียบการเมืองเดิมที่เป็นอยู่ได้ แต่ก่อนนี้ยังมีอำนาจนำที่กล่อมเกลา ที่ชักจูง ที่เชื่อมโยงเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งให้ยอมรับระเบียบอำนาจบางอย่างได้ ในภาวะที่อำนาจนำเสื่อมถอยก็มองหากติกาใหม่ขึ้นมา ทางออกก็คือสร้างระเบียบที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง มันก็เป็นอย่างนี้

มีนักวิชาการยืมแนวคิดเรื่อง ‘รัฐพันลึก’ หรือ Deep State มาใช้ คำแปลนี้มาจากอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งคิดว่าแปลได้ลงตัวดีมาก ไอเดียเรื่อง Deep State มาจากตุรกี แล้วพวกนักวิเคราะห์เอาไปใช้กับลาติ นอเมริกา พูดง่ายๆ ว่ามันคือกลไกรัฐทั้งหลาย อาจเป็นระบบราชการ อาจเป็นตุลาการ อาจเป็นกองทัพ อาจจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ที่พอไปอยู่ใต้ระบอบการเลือกตั้งประชาธิปไตย โครงสร้างส่วนลึกเหล่านี้มีความยึดมั่น ถือมั่นในเรื่องความมั่นคง หรือระเบียบการเมือง หรือผลประโยชน์ที่ไม่ไปกันกับระบอบประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง มันจึงกลายเป็นว่าเวลาคุณมองดูประเทศเหล่านี้ มองดูตุรกี มองดูประเทศในลาตินอเมริกาบางประเทศ ข้างบนจะเป็นการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย แต่ข้างล่างจะมีโครงสร้างส่วนลึกซึ่งไม่ค่อยยอมรับระเบียบนี้เท่าไร ดังนั้น จะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังเหล่านี้โดยตำแหน่งฐานะในโครงสร้างรัฐที่มีอยู่ เคลื่อนไหวในทิศทางที่ท้ายที่สุดนำมาซึ่งการสั่นคลอนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

Deep State vs. Deep Society

ในแง่กลับกัน อยากเสนอว่าเรามี ‘สังคมพันลึก’ ด้วย นี่เป็นการพูดในแง่ดี เราไม่เพียงมี Deep State แต่เรามี Deep Society อยากชวนเข้าใจด้วยตัวอย่างเหตุการณ์นี้ว่า เมื่อหลายวันก่อนมีคนเอารูปของอาจารย์

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สมัยหนุ่มฟ้อหลังจบจากฮาวายใหม่ๆ นั่งอยู่ในเวทีเสวนา คาดว่าเป็นหอประชุมใหญ่ คนนั่งขนาบสองสามคน คนหนึ่งคือมารุต บุนนาค เป็นผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานรัฐสภา คนถัดมาคือสุวัฒน์ วรดิลก หรือรพีพร นักเขียนนิยายชื่อดัง อีกข้างคือสุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส นี่คือพลังประชาธิปไตยฝ่ายก้าวหน้าในธรรมศาสตร์และสังคมไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และนั่นคือการอภิปรายหลังจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เสียชีวิตเมื่อปี 2526 เป็นงานรำลึกอาจารย์ปรีดี

ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ ความขัดแย้งครั้งนี้ยาวนานนัก อย่าคิดว่า Deep State ชนะแล้วโดยง่าย สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าเราจะยืนยาวไปอีกหลายปี มันเป็นการต่อสู้ระหว่าง Deep State กับ Deep Society ไม่จบเร็ว ไม่จบง่าย บรรยากาศที่ผ่านมาบางทีก็ทำให้เราหดหู่หมดกำลังใจ สิบปีก็อยู่กันตรงนี้ เป็นระลอกๆ ไม่จบ แต่น่าสนใจว่าทำตั้งหลายรอบไม่ยักจบสักทีใช่ไหม พวกเขาเองก็คงรู้สึกอยู่ว่ามันน่าอึดอัด อยากให้จบเร็วๆ ไม่อย่างนั้นคุณปีย์ มาลากุล ณ อยุธยาคงไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ดุเดือดยาวเหยียด ไม่อย่างนั้นหม่อมเต่า (ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล) ก็คงไม่มาให้สัมภาษณ์เปิดเผยยาวเหยียด ทำไมมันยุ่งยากอย่างนี้ ไม่จบและชนะเบ็ดเสร็จสักที ก็เพราะมันมี Deep Society ไง

รักษาพื้นที่สิทธิมนุษยชนเอาไว้ให้ได้

หลายคนมักบอกว่าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ อาจต้องมีการสูญเสีย ถ้าเราคิดว่าแบบนั้นต้นทุนมันแพง ถ้าทางเลือกแบบที่คนทำนายไว้นี้ มันน่ากลัว คุณก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำอย่างไรจะรักษาพื้นที่ต่อสู้แบบสันติวิธีระหว่างสังคมพันลึกกับรัฐพันลึกให้เป็นไปได้

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือ เราต้องรักษาสิทธิมนุษยชนให้ได้ ไม่ได้พูดถึงประชาธิปไตยด้วยซ้ำ แต่พูดถึงอะไรที่เบสิกกว่านั้นเยอะ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะอยู่ในความเชื่อทางการเมืองแบบไหน อยู่ค่ายอะไร ต้องมีหลักสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยว่าพลังที่มีโอกาสจะใช้ความรุนแรงได้มากกว่าคือพลังที่มีเครื่องมือเครื่องไม้ในมือ ซึ่งก็คืออำนาจรัฐ ดังนั้น สิทธิมนุษยชนจึงยิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่จะจำกัดอำนาจรัฐไว้ หัวใจสำคัญที่สุดของสิทธิมนุษยชนคือการจำกัดอำนาจรัฐ หยุดแค่นี้ สิทธิมนุษยชนเริ่มตรงนี้ เส้นอยู่ตรงนี้ แล้วเปิดพื้นที่โล่งให้คนสู้กันอย่างสันติ เพราะ Deep State vs. Deep Society มัน Long Term! หน้าที่เราระหว่างที่จะต้องมีศึกย่อยอีกหลายครั้งที่สังคมไทยต้องลุกขึ้นมาทะเลาะกันอีกหลายยกก็คือ การรักษาพื้นที่สันติ รักษาสิทธิมนุษยชนไว้ ถ้าผมเข้าใจถูกว่าเราจะต้องฟัดกันอีกยาวนาน จนกว่าจะหาข้อตกลงร่วมกันได้ว่า อะไรคือระเบียบการเมืองที่ Deep State และ Deep Society จะอยู่ร่วมกันได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท