ศาลสูงสุดไอร์แลนด์ตัดสินให้การห้ามผู้ลี้ภัยทำงานขัดหลักรัฐธรรมนูญ

ผู้ลี้ภัยชาวพม่าถูกห้ามทำงานเป็นเวลา 8 ปี ระหว่างรอสถานะผู้ลี้ภัยของไอร์แลนด์ โดยเขาอยู่ด้วยเงินยังชีพจากรัฐ และส่งผลทำให้เขาซึมเศร้า เพราะรู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ล่าสุดศาลสูงสุดตัดสินว่าการห้ามไม่ให้เขาทำงาน ขัดต่อสิทธิการหางานทำตามหลักรัฐธรรมนูญไอร์แลนด์ โดยผลคำตัดสินของคดีนี้จะส่งผลต่อกฎหมายผู้ลี้ภัยของไอร์แลนด์ในอนาคต

องค์คณะของตุลาการศาลสูงสุดไอร์แลนด์ (ที่มาของภาพประกอบ: The Irishtimes)

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2560 ผู้ลี้ภัยชาวพม่าชนะคดีที่เขาฟ้องร้อง เรื่องถูกห้ามไม่ให้ทำงานเพราะยังไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเต็มตัว โดยที่ศาลสูงสุดของไอร์แลนด์ตัดสินว่า "ในเชิงหลักการแล้ว" คำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ขอลี้ภัยที่ยังไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการทำงานเป็นสิ่งที่ขัดกับสิทธิในการหางานทำตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญไอร์แลนด์ โดยคำตัดสินนี้ยังจะส่งผลถึงผู้ขอลี้ภัยคนอื่นๆ ด้วย

ไอร์ริชไทม์รายงานว่าชายชาวพม่าที่อยู่ในไอร์แลนด์ต้องรอถึง 8 ปี จึงจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัย แต่ในช่วงเวลาที่รออยู่นั้นเขาได้รับแต่ค่าเลี้ยงชีพโดยตรง (direct provision) จากระบบผู้ลี้ภัยของรัฐบาลไอร์แลนด์ โดยถูกห้ามสมัครงานเนื่องจากมีมาตรา 9.4 ของกฎหมายผู้ลี้ภัยห้ามไว้

ผู้พิพากษา 7 คนของศาลสูงสุดไอร์แลนด์ตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ให้การสั่งห้ามไม่ให้ผู้กำลังรอสถานะผู้ลี้ภัยห้ามทำงานผิดหลักการรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิในการหางาน แต่ก็มีการประกาศเลื่อนพิจารณาในกรณีนี้อีก 6 เดือนถัดไปเพื่อให้สภานิติบัญญัติพิจารณาว่าจะจัดการประเด็นนี้อย่างไร

ผู้พิพากษา โดนาล โอ ดอนเนลล์ บอกว่าในขณะที่มาตรา 9.4 ของกฎหมายผู้ลี้ภัยจะมีความชอบธรรมในการจำกัดการจ้างงานคนที่ยังอยู่ในระหว่างขอลี้ภัย แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แค่การจำกัดเท่านั้นแต่ยังเป็นการระงับสิทธิในการสมัครงานของพวกเขาทั้งหมด เนื่องด้วยกระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยไม่มีการจำกัดเวลา ทำให้คนๆ หนึ่งที่ขอสถานะอาจจะถูกจำกัดไม่ให้ทำงานไปตลอด ทำให้ดอนเนลลืบอกว่าเขาไม่ยอมรับหลักการกฎหมายข้อนี้แม้จะอ้างว่าเป็นการจัดประเภทให้เห็นความแตกต่างกันระหว่างคนที่เป็นพลเมืองของรัฐและคนที่ไม่ใช่พลเมืองของรัฐก็ตาม

แต่ทำไมผู้ขอลี้ภัยถึงไม่เลือกรับเงินจำนวนเล็กน้อยอยู่เปล่าๆ ทำไมเขาถึงอยากหางานทำ ดอนเนลล์ให้เห็นเหตุผลในเรื่องนี้ว่ากฎหมายไอร์แลนด์ในปัจจุบันไม่เพียงปิดโอกาสการทำงานหารายได้ แต่ยังส่งผผลต่อความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองของบุคคลด้วย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญไอร์แลนด์ให้การคุ้มครองไว้ โดยที่ผู้พิพากษาเปิดเผยว่ามีหลักฐานที่ชายชาวพม่ามีอาการซึมเศร้า ว้าวุ่นใจ และขาดความเชื่อมันในตนเอง จากการที่เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน

ชาวพม่าโต้แย้งว่าถึงแม้ว่าเขาจะได้รับเงินเลี้ยงชีพสัปดาห์ละ 19 ยูโร (ราว 700-750 บาท) แต่เขาก็ประสบภาวะซึมเศร้า รู้สึกแทบจะสูญเสียอิสระในตนเอง การได้รับอนุญาตให้ทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อศักดิ์ศรี การพัฒนาตัวเขา และความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง

หลังจากที่ชาวพม่าผู้นี้เดินทางถึงไอร์แลนด์ในปี 2551 ได้ไม่นานเขาก็ถูกปฏิเสธสถานะผู้ลี้ภัย แต่เขาก็ยื่นอุทธรณ์จนกระทั่งศาลสูงมองเห็นว่ามีการตัดสินผิดพลาดในกระบวนการยื่นคำร้อง จึงมีการนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้งจนกระทั่งศาลอุทธรณ์ผู้ลี้ภัยตัดสินเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วให้เขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในที่สุด

ถึงแม้ว่ารัฐบาลไอร์แลนด์จะโต้แย้งว่าสถานะปัจจุบันของชาวพม่ารายนี้จะสามารถหางานทำได้แล้วทำให้คำสั่งศาลเปล่าประโยชน์ แต่ทางศาลก็ชี้แจงว่าพวกเขาตัดสินใจในกรณีนี้เพื่อชี้ให้เห็นประเด็นทางกฎหมายในระดับสาธารณะ

เรียบเรียงจาก

Asylum seekers’ work ban unconstitutional, says Supreme Court, The Irish Times, 31-05-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท