Skip to main content
sharethis

อภิสิทธิ์ ย้ำอดีตแกนนำ กปปส. กลับมาอยู่กับพรรคต้องยึดอุดมการณ์-หลักการของพรรค คือ การปฏิรูปประเทศ และการต่อสู้กับระบอบทักษิณ  แจ้งไม่ต้องการเห็น ส.ว.ฝืนเจตนารมณ์ประชาชน อัดโมเดลพิชัยให้ 4 พรรคจับมือกันเพื่อสกัดทหารนั้น ไม่ได้เหตุอุดมการณ์และนโยบายไม่ตรงกัน 

ภาพ พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะเนื่องในวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าอาคารรัฐสภา ถ.อู่ทองใน เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva

31 พ.ค. 2560 จากกรณีวานนี้ (30 พ.ค.60) ถาวร เสนเสียม แกนนำ กปปส. พร้อมด้วยอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นกลุ่ม กปปส. ได้เข้าพบ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำพรรค เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที จากนั้น เปิดเผยว่า กปปส. ทุกคนที่ไปทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่มีใครลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค จะยังคงร่วมมือกันเหมือนเดิม คือ ลงสมัครรับเลือกตั้งตามโรดแมป และผลักดันให้การปฏิรูปประเทศสำเร็จตามที่เคยเรียกร้อง (อ่านรายละเอียด)

สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า อภิสิทธิ์ กล่าวภายหลังการหรือร่วมกับอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปทำงานกับกลุ่ม กปปส.ว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็ขาดคุณสมบัติเพราะไปบวช จึงไม่มีประเด็นว่าเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ มีการยืนยันกับตนมานานแล้วว่ายังมีความคิดทำงานการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนที่มาพรรคในเวลานี้ก็เพราะมีความชัดเจนในเรื่องของกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้งกำลังจะออกมาแล้ว จึงคิดว่าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับมา โดยตนได้บอกว่าการมาอยู่กับพรรคต้องยึดอุดมการณ์และหลักการของพรรคซึ่งเป้าหมายของคนเหล่านี้ คือ การปฏิรูปประเทศ และการต่อสู้กับระบอบทักษิณ เป็นแนวทางที่พรรคยึดถือและเดินหน้าปฏิรูปประเทศอยู่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันทำได้ก็อยากให้ทำ แต่ถ้าทำไม่ได้พรรคพร้อมที่จะเดินหน้า เช่น การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปสื่อ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองบนวิถีทางประชาธิปไตยซึ่งตามโรปแมป ที่อีกไม่นานจะมีการเลือกตั้ง ก็ต้องพร้อมเสนอบุคลากรและแนวทางให้แก่ประชาชน โดยทุกคนที่มาวันนี้ก็สนับสนุนแนวทางของพรรค

ส่วนแนวคิดของสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก 5 ปีนั้น อภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้คุยกับเกี่ยวกับความเห็นของสุเทพซึ่งอยู่ในส่วนการเมืองภาคประชาชน ไม่ใช่ในระบบพรรคการเมือง เมื่อคนเหล่านี้เข้ามาต้องอยู่ในระบบพรรค ซึ่งถาวร เสนเนียม ก็ยืนยันที่จะชูธงว่าพรรคประชาธิปัตย์จะปฏิรูปประเทศ ส่วนที่ถาวรระบุว่าหากหัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นนายกฯ ก็ไม่ได้พูดชัดเจนว่าจะสนับสนุนคนอื่นหรือไม่นั้น เป็นเพราะเรื่องของอนาคต ไม่มีใครตอบได้ แต่เมื่อเราเป็นพรรคการเมืองต้องเสนอตัวเป็นทางเลือกให้ประชาชน เคารพการตัดสินใจของประชาชน
 
“วันนี้ยังไม่ได้เลือกตั้ง ยังไม่รู้ว่าใครจะอาสาลงสมัครรับเลือกตั้งบ้าง จะพูดว่ารัฐบาลต้องเป็นอย่างนั้น นายกฯ ต้องเป็นอย่างนี้คงไม่ได้ หลังจากประชาชนตัดสินแล้วค่อยมาดูว่าเป็นอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญเขียนชัดว่านายกฯ ต้องเริ่มจากรายชื่อบัญชีพรรคการเมือง พรรคยืนยันว่าใครที่รวบรวมเสียงข้างมากในสภาได้ก็สมควรจัดตั้งรัฐบาล เพราะผู้ที่รวบรวมเสียงข้างมากได้เท่านั้นจึงจะดำรงความเป็นรัฐบาลได้ และไม่ต้องการเห็น ส.ว.ฝืนเจตนารมณ์ประชาชน เพราะจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต แต่ถ้าไม่สามารถเลือกนายกฯ ในบัญชีได้ก็ต้องไปสู่ขั้นตอนการยกเว้นหลักเกณฑ์ แต่ไม่ควรสรุปล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นก็เป็นการไม่ให้เกียรติประชาชน ผมอยากให้คนที่ให้คำตอบสุดท้ายคือประชาชนหลังจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าไปพูดกันล่วงหน้าว่าพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล พรรคไหนเป็นฝ่ายค้าน หรือใครจะเป็นนายกฯ กระบวนการประชาธิปไตยก็จะเป็นแค่พิธีกรรม เพราะกำหนดกันไปล่วงหน้าแล้ว”
 
อภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ วิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.พรรค สายแกนนำ กปปส.ระบุว่าคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกระสันอยากเลือกตั้งว่า ตนเห็นทุกคนก็บอกว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าอย่างนี้จะเรียกว่ากระสันหรือไม่ เพราะที่กลับมาอยู่พรรคการเมืองก็เพื่อกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ถือเป็นหน้าที่ของนักการเมือง และไม่มีใครในพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องว่าต้องเลือกตั้งพรุ่งนี้ แต่ คสช.เป็นผู้วางโรดแมปก็ อยากให้เดินตามนี้ ส่วนการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญเป็นคนละประเด็น ตนอยู่ในการเมืองนานกว่า 20 ปี เคยตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้งสองครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องว่าจะกระสันเลือกตั้งหรือไม่ แต่เป็นเรื่องการทำหน้าที่ แต่ก็เข้าใจว่าเวลามีการพาดพิงอาจจะมีอารมณ์ตอบโต้ไปมา เมื่อมีโอกาสคุยกันก็เห็นว่ามีการยอมรับแนวคิดและอุดมการณ์พรรค และหลังจากนี้หากสุเทพมีความเห็นที่ไม่ตรงกับพรรคคนกลุ่มนี้ก็ต้องยึดถือแนวทางของพรรค ไม่ควรมีความเห็นที่สวนทางกับแนวทางของพรรค เพราะพรรคต้องมีเอกภาพ และมีจุดยืนที่ชัดเจนกับประชาชน
 
เมื่อถามว่ามีข่าวมาตลอดว่าสุเทพส่งอดีต ส.ส.กลุ่มนี้กลับมาเพื่อยึดพรรคและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าพรรค  อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทุกคนที่มายืนยันว่าไม่ใช่ และสุเทพก็ยืนยันกับตนว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะออกไปทำงานภาคประชาชนแล้วจะไม่เข้ามาแทรกแซงการทำงานพรรคทั้งสิ้น ส่วนที่เอกณัฏ พร้อมพันธุ์ ระบุว่ายังไม่สามารถพูดได้ว่าจะสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรคในการเลือกผู้บริหารพรรคครั้งหน้านั้น ตนก็ไม่มีสิทธิ์บังคับให้ใครมาสนับสนุน เพราะพรรคเป็นประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ์เลือกหัวหน้าพรรค แต่สิ่งสำคัญคือใครก็ตามที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต้องยึดอุดมการณ์พรรค ตอนนี้คนกลุ่มนี้ก็บอกแล้วว่าสนับสนุนคนที่มีรายชื่ออยู่ในพรรคเป็นนายกฯ สิ่งนี้สำคัญกว่าอภิสิทธิ์ ตนจึงไม่กังวลว่าจะมีใครมาแข่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาได้เพราะความเป็นประชาธิปไตย แต่ตนมั่นใจว่าสมาชิกพรรคทุกคนจะตระหนักว่าพรรคอยู่มาได้เพราะอุดมการณ์ และทุกคนที่มีวันนี้ได้ก็เพราะรักษาอุดมการณ์พรรคจนเติบโตทางการเมือง จะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้ พรรคเราเป็นสถาบันไม่เคยเป็นพรรคเฉพาะกิจ จะทำตัวเหมือนพรรคเฉพาะกิจไม่ได้
 
สำหรับกรณีที่พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวคิดให้พรรคการเมือง 4 พรรคจับมือกันเพื่อสกัดทหารนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า พรรคการเมืองจะจับมือก็ได้ก็ต่อเมื่อมีอุดมการณ์ที่ตรงกัน จะบอกว่าให้ 4 พรรคจับมือกันโดยไม่ดูเลยว่าอุดมการณ์และนโยบายของแต่ละพรรคเป็นอย่างไรไม่ได้
 
อภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงคำถาม 4 ข้อที่นายกรัฐมนตรีขอคำตอบจากประชาชนว่า นายกฯ ไม่อยากฟังจากนักการเมือง แต่ตนเห็นว่าถ้าเป็นการตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้ได้รัฐบาลที่ดี มีธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่คำถามนี้มาในจังหวะที่แปลก เพราะคำถามหลายข้อคนที่จะต้องตอบคือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้จัดทำกติกา โดยเฉพาะช่วงที่มีการทำประชามติก็มีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงป้องกันคนเลวได้ เมื่อนายกฯ ตั้งคำถามแบบนี้ก็อาจสะท้อนว่าไม่มั่นใจ ดังนั้นก็ต้องช่วยกันกระตุ้นสังคมให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลกลัวการเลือกตั้ง เพราะนายกฯ ก็ปฏิเสธแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับการขยับโรดแมป จึงไม่ควรทำให้เป็นประเด็นการเมือง ตนพูดมาตลอดว่าวิกฤตการเมืองเกิดจากรัฐธรรมนูญน้อยมาก เมื่อวันนี้ คสช.ตระหนักแล้วว่าลำพังสิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญไม่พอก็ต้องทำงานให้หนักขึ้นในการปฏิรูป
 
“ผมไม่กดดันกับคำถามของนายกฯ เพราะบริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาลอยู่แล้ว แต่คิดว่าคำถามของนายกฯจะย้อนกลับไปกดดัน คสช.เอง เพราะถ้าไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ก็จะกลายเป็นว่าสิ่งที่คสช.ทำมาก็ไม่สำเร็จ ส่วนคำถามที่บอกว่าเลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่นั้น การได้มาซึ่งผู้มีอำนาจไม่มีหลักประกันว่าจะได้ธรรมาภิบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง สรรหา หรือปฏิวัติรัฐประหาร แต่โอกาสที่จะได้ถ้ามีประชาธิปไตยต่อเนื่องมีมากกว่าการผูกขาดอำนาจ จึงไม่ควรสับสน เพราะถ้าไปตั้งเป้าว่าไม่แน่ใจว่าจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหลังการเลือกตั้งหรือไม่ แล้วบอกว่าไม่ต้องเลือกตั้งเป็นข้อสรุปที่ผิดเพราะจะไม่มีประเทศไหนได้เลือกตั้งเลย” อภิสิทธิ์ กล่าว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net