Skip to main content
sharethis

เงินเฟ้อพ.ค.เพิ่มขึ้น 0.15% จากราคาเพิ่มขึ้นทั้งอาหารสด ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าการศึกษา ขณะที่ดัชนีธุรกิจกรุงไทยไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2

1 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า สุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนพฤษภาคม 2560 ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 100.64  เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 100.49 แต่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.04 

สาเหตุเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2560 ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าปรับสูงขึ้น 151 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 422 รายการ โดยเฉพาะ จากราคาเพิ่มขึ้นทั้งอาหารสด ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าการศึกษา  สินค้าที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นได้แก่  เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ นมสด ผักสด หัวหอมแดง ผลไม้สด ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเจาะเลือด โฟมล้างหน้า รถจักรยานยนต์ ค่าเล่าเรียนซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงได้แก่ ข้าสารเจ้า ปลาทู กุ้งขาว กระเทียม น้ำมันพืช ก๊าซหุงต้ม ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป(แพมเพิส) น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซยานพาหนะ(LPG) ค่าทัศนาจรต่างประเทศ

ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ประเมินว่า จะเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8-0.9 เพราะในช่วง  5 เดือนแรกปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ  0.81 สำหรับในเดือนพ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงประเมินว่า  อัตราเงินเฟ้อปี 2560 จะยังคงขยายตัวในระดับที่มีเสถียรภาพที่ร้อยละ 1.5-2.2 บนสมมุติฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.5 จากรายได้ส่งออกสินค้าที่มีทิศทางขยายตัวอย่างชัดเจน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่่ค้า รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก เป็นผลดีต่อเนื่องอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคเอกชน ราคาน้ำมันดิบดูไบบาร์เรลละ 55 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทอยู่ในช่วง 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมิถุุนายนที่จะถึงนี้ กระทรวงพาณิชย์จะประเมินอัตราเงินเฟ้อปี 2560 ใหม่้อีกครั้ง จากปัจจัยความผันผวนของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและทิศทางแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนของผู้ผลิตสินค้า

ดัชนีธุรกิจกรุงไทยไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น

พูลพัฒน์ ศรีเปล่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการจัดทำดัชนีธุรกิจกรุงไทย ซึ่งธนาคารสำรวจความเชื่อมั่นของลูกค้านักธุรกิจกว่า 2,200 รายทั่วประเทศ โดยสำรวจทุกไตรมาสนั้น ปรากฏว่าไตรมาสที่ผ่านมาดัชนีเพิ่มขึ้นเหนือระดับปกติต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับการขยายตัวของจีดีพีไตรมาสแรก โดย 4 กลุ่มธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นและอยู่เหนือระดับปกติ ได้แก่ ธุรกิจการเงินและประกันภัย  ธุรกิจก่อสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มรับเหมาโครงการภาครัฐ  ธุรกิจพาณิชยกรรม ได้แก่ ธุรกิจขายรถยนต์ในประเทศ ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ขายปลีกน้ำมันและเชื้อเพลิง ธุรกิจอุตสาหกรรม ประกอบด้วยอุตสาหกรรมเหมืองหิน ทราย ผลิตวัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตอาหาร ผลิตยางแผ่น และยางแท่ง โดยธุรกิจเหล่านี้ ส่วนใหญ่ยอดขายเพิ่มขึ้น หรือได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ หากจำแนกตามภูมิภาคพบว่าความเชื่อมั่นของนักธุรกิจเพิ่มขึ้น 4 ภูมิภาค ได้แก่  กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งได้รับผลบวกจากการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมากที่สุด  ภาคกลางและภาคตะวันตกความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ปัจจัยบวกมาจากการส่งออกสินค้าและการค้าชายแดนฝั่งตะวันตก โดยการส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล และเครื่องดื่มช่วยหนุนธุรกิจในภูมิภาค  ภาคเหนือ ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนของรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปลูกอ้อยและยางพารา อย่างไรก็ดี  ผลกระทบจากน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ และความซบเซาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ความเชื่อมั่นในภาคตะวันออกและภาคใต้ลดลง 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และกองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net