Skip to main content
sharethis

ฟอร์บส์ จัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีของไทย ตระกูลเจียรวนนท์ แชมป์ ทรัพย์สินรวม 7.3 แสนล้าน เพิ่มจากมูลค่าของปีที่แล้ว ราวแสนล้าน ทักษิณหลุดท็อป 10 ขณะที่ ครบรอบ 3 ปีแห่งการทำรัฐประหารเศรษฐกิจรวมชะลอตัวลง ปี 56-59 ติดลบเฉลี่ยร้อยละ -2 ต่อปี

 

2 มิ.ย. 2560 เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา เว็บไซต์ฟอร์บส์ เผยแพร่การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีของไทย ปรากฏว่า ตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีของไทย ยังคงเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 21,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.3 แสนล้านบาท) เพิ่มจากมูลค่าของปีที่แล้วกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวหนึ่งแสนล้านบาท

ขณะที่ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อแห่งวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคงครองอันดับ 2 ด้วยทรัพย์สินรวมมูลค่า 15,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.24 แสนล้านบาท) ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ ตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่มีทรัพย์สินรวมมูลค่า 15,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.2 แสนล้านบาท) อันดับ 4 ได้แก่ เฉลิม อยู่วิทยา มีทรัพย์สินรวม 12,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.25 แสนล้านบาท) และอันดับ 5 ได้แก่ วิชัย ศรีวัฒนประภา ซึ่งมีทรัพย์สินรวมมูลค่า 4,700 ล้านดอลลาร์(ราว 1.59 แสนล้านบาท)

อันดับ 6 ได้แก่ กฤตย์ รัตนรักษ์ ทรัพย์สินรวม 3,900 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.32 แสนล้านบาท) อันดับ 7 ได้แก่ วานิช ไชยวรรณ ทรัพย์สินรวม 3,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.29 แสนล้านบาท) อันดับ 8 นายแพทย์ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ ทรัพย์สินรวม 2,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.8 หมื่นล้านบาท) อันดับ 9 สันติ ภิรมย์ภักดี ทรัพย์สินรวม 2,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 7.8 หมื่นล้านบาท) อันดับ 10 ได้แก่ อาลก โลเฮีย ซึ่งเป็นนักธุรกิจเชื้อสายอินเดีย ทรัพย์สินรวม 1,750 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.9 หมื่นล้านบาท) 

10 อันดับเศรษฐกิจที่มีสินทรัพย์สูงสุดของปี 2560
อันดับ รายชื่อ มูลค่าสินทรัพย์ (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ธุรกิจหลัก
1 ตระกูลเจียรวนนท์ 21.5 ธุรกิจกิจอาหาร
2 เจริญ สิริวัฒนภักดี 15.4 ธุรกิจเครื่องดื่มและอสังหาริมทรัพย์
3 ตระกูลจิราธิวัตน์ 15.3 ธุรกิจค้าปลีก
4 เฉลิม อยู่วิทยา 12.5 ธุรกิจเครื่องดื่ม
5 วิชัย ศรีวัฒนประภา 4.7 ธุรกิจสินค้าปลอดภาษี
6 กฤตย์ รัตนรักษ์ 3.9 ธุรกิจสื่อและอสังหาริมทรัพย์
7 นายวานิช ไชยวรรณ 3.8 ธุรกิจประกันชีวิตและเครื่องดื่ม
8 ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ 2.6 ธุรกิจโรงพยาบาล
9 สันติ ภิรมย์ภักดี 2.3 ธุรกิจเครื่องดื่มเบียร์
10 อาลก โลเฮีย 1.75 ธุรกิจปิโตรเคมี

ขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจ และอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ถูกปรับอันดับลงหนึ่งอันดับ จากอันดับ 10 ในปีที่แล้วมาเป็นอันดับ 11 ในปีนี้ โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ราว 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

3 ปี คสช. เศรษฐกิจชะลอตัว

ขณะที่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสการครบรอบ 3 ปีแห่งการทำรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้จัดการแถลงข่าว ในหัวข้อ " ‘3 ปีที่เสียของ’: 3 ปีแห่งการสูญเสียของสังคมไทยภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร” โดยประเด็นหนึ่งที่ คนส. แถลงคือ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารและ คสช. ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการเติบโตก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ ในช่วง พ.ศ. 2541-2556 เศรษฐกิจไทยเคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4-5 ต่อปี แต่ช่วง พ.ศ. 2557-2559 การเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 2-3 ต่อปี เช่นเดียวกับในส่วนของการส่งออกที่ในช่วง พ.ศ. 2550-2556 เคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปี ทว่าในช่วง พ.ศ. 2556-2559 กลับกลายเป็นติดลบเฉลี่ยร้อยละ -2 ต่อปี

นอกจากนี้ การลงทุนภายในประเทศของเอกชนที่เคยเติบโตร้อยละ 11.8 ใน พ.ศ. 2556 กลับกลายเป็นลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -0.8 ใน พ.ศ. 2557 และลดลงอีกร้อยละ -2.2 ใน พ.ศ. 2558 ก่อนจะเติบโตขึ้นมาเพียงร้อยละ 1.8 ใน พ.ศ. 2559 เช่นเดียวกับในส่วนของเงินทุนระหว่างประเทศ ก่อน พ.ศ. 2556 เคยมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ทว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมากลายเป็นเงินทุนไหลออกสุทธิอย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2557 ไหลออกสุทธิ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ใน พ.ศ. 2558 ไหลออก 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และใน พ.ศ. 2559 ไหลออก 2.6 หมื่นล้าน 

ขณะที่เงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่เคยสูงสุด 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ใน พ.ศ. 2556 ลดลงเหลือ 2,553 ล้านดอลลาร์ใน พ.ศ. 2559 โดยภายในกลุ่มอาเซียน ถึง พ.ศ. 2556 ประเทศไทยรับเงินลงทุนต่างชาติจากนอกอาเซียนสูงเป็นอันดับสอง รองจากสิงคโปร์ แต่ถึง พ.ศ. 2558 ประเทศไทยตกเป็นอันดับห้า รองจากสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (รองจากไทยคือ ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา พม่า บรูไน)

นอกจากนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวต่อเนื่อง เช่น 
- การขอใบอนุญาตพื้นที่ก่อสร้างจากที่ขยายตัวร้อยละ 10 ใน พ.ศ. 2556 กลับลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -4.7 ใน พ.ศ. 2557 ลดลงร้อยละ -1.0 ใน พ.ศ. 2558 และลดลงอีกร้อยละ -8.7 ใน พ.ศ. 2559
- ดัชนีวัสดุก่อสร้างจากที่ขยายตัวร้อยละ 10 ใน พ.ศ. 2556 กลับลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -1.7 ใน พ.ศ. 2557 ลดลงร้อยละ -2.4 ใน พ.ศ. 2558 และลดลงร้อยละ -2.0 ใน พ.ศ. 2559
เช่นเดียวกับรายได้ภาคเกษตรที่ลดลงต่อเนื่อง จากลดลง (ติดลบ) ร้อยละ -5.6 ใน พ.ศ. 2557 ลดลงอีกร้อยละ -10 ใน พ.ศ. 2558 และเพิ่มเพียงร้อยละ 1.3 ใน พ.ศ. 2559 ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ใน พ.ศ. 2556 ก็ชะลอลงเป็นร้อยละ 11 ใน พ.ศ. 2559

นอกจากนี้ การใช้จ่ายบริโภคสินค้าคงทนของประชาชนลดลง (ติดลบ) ทุกปี จากลดลงร้อยละ -15.3 ใน พ.ศ. 2557 เป็นร้อยละ -6.7 ใน พ.ศ. 2558 และร้อยละ -1.2 ใน พ.ศ. 2559 สะท้อนความไม่มั่นใจของผู้บริโภคและมาตรฐานการครองชีพที่ไม่กระเตื้องขึ้น ประเทศจึงเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงสามปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร

ที่มา : บีบีซีไทยและมติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net