สนช.รับหลักการ กม.พิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งกำหนดให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีชัยระบุได้กำหนดการไต่สวนของศาลฎีกาให้ชัดเจนมากขึ้น และให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

2 มิ.ย. 2560 ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ประชุมได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... (พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเห็นด้วย 190 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 4 เสียง ทั้งนี้ที่ประชุมได้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา19 คน โดยมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 4 คน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 2 คน และ สมาชิก สนช. 13 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาดำเนินงาน 45 วัน

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวได้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน ทั้งการจัดสัมมนาและ นำขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษา และส่งความคิดเห็นมายัง กรธ. จากนั้น กรธ.ได้นำความเห็นทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาและจัดทำบทวิเคราะห์ส่งมาให้ สนช.แล้ว

มีชัย กล่าวว่า กรธ.ไม่ได้แก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ จากที่ศาลฎีกาได้ยกร่างเบื้องต้นมา   เพียงเพิ่มเติม 2 ประเด็น เพื่อขจัดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ คือ เพิ่มเติมการกำหนดวิธีการใช้ระบบไต่สวนของศาลฎีกาให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้การพิจารณาของศาล ไม่ใช่มีเพียงการเอาแพ้เอาชนะในเชิงเทคนิค หรือ ทนายความที่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย และ เพิ่มการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย กรณีจำเลยหลบหนี  เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินคดีได้  จึงได้ปิดช่องโหว่เรื่องนี้ โดยคำนึงถึงหลักสากล และประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งไม่ตัดสิทธิจำเลยที่ตั้งทนายมาต่อสู้คดี

“หลักเกณฑ์การพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ในกรณีที่จำเลยหลบหนี กำหนดอยู่ในมาตรา 26-28 โดยวางหลักไว้ว่า ตามปกติในวันที่ฟ้องคดี ผู้ฟ้องจะต้องนำตัวจำเลยมาที่ศาล แต่หากจำเลยไม่มาที่ศาล และมีหลักฐานว่าได้ออกหมายจับจำเลยแล้ว ไม่ได้ตัวจำเลยมา ก็ให้ศาลรับฟ้องและพิจารณาคดีได้ แต่ยืนยันว่า จะไม่ตัดสิทธิ์จำเลยที่ตั้งทนายความมาต่อสู้”มีชัยกล่าว

ด้านสมาชิก สนช.ได้อภิปรายและให้ความเห็นต่อร่างนี้อย่างหลากหลาย พร้อมสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ที่มองว่า น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมามีนักการเมืองที่ทำผิด แล้วเดินทางหลบหนีไปต่างประเทศ จนไม่สามารถดำเนินคดีได้ และเห็นว่าการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมต้องไม่ล่าช้าและควรมีกรอบเวลาให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี

ด้านมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด สมาชิกสนช. กล่าวว่า ส่วนตัวมีความสงสัยว่าการที่ร่างกฎหมายกำหนดระบบไต่สวนนั้นเป็นการกำหนดในลักษณะหน้าที่ว่าศาลต้องใช้ระบบไต่สวนเท่านั้นหรือเป็นการกำหนดให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าศาลจะใช้ระบบนี้หรือไม่ก็ได้ ขณะเดียวกันการกำหนดให้ศาลรับฟ้องหรือสืบพยานโดยไม่มีตัวจำเลยได้ตามที่กรธ.เสนอ ที่คิดว่าเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหา แต่ส่วนตัวคิดว่าอาจไม่เกิดประสิทธิผลตามที่ตั้งใจไว้ เพราะโดยทั่วไปแล้วหากจะทำให้การพิพากษานำไปสู่การยับยั้งไม่ให้เกิดการก่ออาชญากรรมก็จำเป็นที่ต้องได้ตัวจำเลยมารับโทษ แต่การทำเช่นนี้อาจส่งสัญญาณผิดกับสังคมว่าไม่จำเป็นต้องติดตามตัวจำเลยก็ได้ จึงคิดว่าหากจะแก้ไขปัญหาการไม่ได้ตัวจำเลยมาฟ้องคดี ก็ควรดำเนินการทางกฎหมาย เช่น การไม่ให้นับอายุความระหว่างหลบหนี และใช้กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะได้ประสิทธิผลในการป้องกันอาชญากรรมและการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในเวลาเดียวกัน

มีชัย ชี้แจงว่า กรธ.ยอมรับว่าในทางปฏิบัติคงไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาการทำงานตายตัวให้กับศาลได้ เนื่องจากการทำงานของศาลไม่เหมือนการทำงานตามปกติ ต้องไม่ลืมว่าระยะเวลาในการพิจารณาคดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การสืบพยานโจทย์และจำเลย ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เป็นต้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปกำหนดเวลาให้กับศาล อย่างน้อยที่สุดในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กรธ.ได้บัญญัติหลักการให้ศาลพิจารณาถึงความรวดเร็วในการทำงานด้วย อย่างไรก็ตาม กรธ.อาจพิจารณาเรื่องการกำหนดกรอบเวลาการทำงานไว้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แทน ส่วนกำหนดให้ศาลสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้นั้นกรธ.คิดว่าอย่างน้อยสังคมจะได้รู้ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาผิดหรือถูกผ่านกระบวนการทางศาล นอกจากนี้ถ้าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดจริงจะนำไปสู่การขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

เรียบเรียงจาก: เว็บข่าวรัฐสภา , สำนักข่าวไทย , มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท