Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ กับปรากฏการณ์เพจเลี้ยงลูกชื่อดัง เมื่อพ่อแม่ Gen X/Gen Y คิดว่าลูกในยุคดิจิทัลห่างไกลการควบคุมของตน อิทธิพลทางวัฒนธรรมและศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมลูก ในขณะที่อำนาจทางวัฒนธรรมของพ่อแม่กำลังถูกสั่นคลอนโดยคนรุ่นหลัง


ในฐานะพ่อแม่ คุณอาจกังวลว่าลูกคุณติดเกมมากเกินไป คุณอาจกังวลว่าในโลกโซเชี่ยลลูกคุณอยู่กับสื่อแบบไหน คุยกับใคร มีแฟนหรือยัง

แน่นอนคุณรักลูกของคุณ และปรารถนาดีต่อเขา คุณอยากเห็นเขาเดินไปบนหนทางที่คิดว่าจะทำให้เขาอยู่อย่างสุขสบาย

ดังนั้นคุณควรเตรียมความพร้อมแก่ลูกในทุกด้าน วางเป้าหมาย สร้างโอกาส สนับสนุน แนะแนวทาง เพื่อวันหนึ่ง ลูกจะเป็นในสิ่งที่คุณหวัง

“Dad Mom and Kids” เป็นเพจที่ก่อตั้งโดย นพ.อิทธิฤทธิ์ จุฬาลักษณ์ศิริบุญ แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว และภรรยา พญ.สาริณี จุฬาลักษณ์ศิริบุญ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น มีจุดประสงค์เพื่อแบ่งปันวิธีการเลี้ยงลูกให้กับพ่อแม่ในปัจจุบัน โดยมีแนวคิดว่า

“FanPage นี้ จะเป็นแหล่งข้อมูลที่ผ่านการคัดสรรว่า ดีที่สุด เชื่อถือได้ ผ่านการกลั่นกรองจากหมอทั้ง 2 คน เพราะจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด คือ ครอบครัว ดังนั้น ชีวิตคู่ที่ความสัมพันธ์ดี พ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกได้อย่างถูกวิธี เด็กๆที่มีเป้าหมายในชีวิต เป็นสิ่งสำคัญมาก” (อ้างอิงจาก ‘ความเป็นมา’ ของเพจ)

แต่สิ่งที่ทำให้เพจนี้เป็นกระแสและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เอาเข้าจริงแล้ว กลับเป็นโพสต์ไม่กี่โพสต์ที่มีแนวทางชัดเจน เด็ดขาด เช่น คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ที่เลี้ยงลูก 14 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือการทำตารางสำหรับกิจวัตรประจำวันของลูก หรือการห้ามให้ลูกเล่นเกม การห้ามให้ลูกมีแฟน ซึ่งสิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจในโลกโซเชียลเป็นวงกว้าง ทางเพจเองตอนแรกได้ออกมาตอบโต้ เช่น การขู่ว่าจะฟ้อง จนกลายเป็นกระแสต่อต้านลุกลาม มีการทำการ์ตูนล้อเลียน  หลายเพจออกมาวิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่งล่าสุดวันที่ 30 พ.ค. 60 ทางเพจจึงได้ออกมาแถลงของดการเคลื่อนไหวหนึ่งเดือน

อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนคนกดไลก์เพจกว่าหนึ่งแสนคน อาจถือเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าแนวคิดเช่นนี้ได้รับการยอมรับจากคนจำนวนไม่น้อยในสังคม แนวคิดที่ว่าพ่อแม่ซึ่งมีความรู้ ผ่านประสบการณ์ และปรารถนาดีต่อลูก ควรเป็นคนกำหนดเป้าหมายในชีวิตของลูก เพื่อให้ลูกเดินไปในทิศทางที่ควรจะเป็น และขณะเดียวกันเนื่องมาจากการเป็น “คุณหมอ” เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็ทำให้เพจนี้ได้รับความน่าเชื่อถือจากพ่อแม่จำนวนหนึ่ง

หากมองในภาพรวมที่กว้างไปกว่านั้น แนวคิดนี้อาจสะท้อนไปถึงการให้คุณค่าของคนในสังคมไทย “ระบบอาวุโส” “คนดี คนเก่ง” ควรมีสิทธิ์มีโอกาสที่จะตัดสิน ชี้นำ กำหนดเป้าหมายให้กับประเทศนี้จริงหรือไม่ ประชาไทสัมภาษณ์ ฟิล์ม เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการบ้านยังฟิล์มและแอดมินเพจเกรียนศึกษา ซึ่งมีความสนใจในบทบาทของคนรุ่นใหม่ สถาบันครอบครัว และโครงสร้างการศึกษาในสังคมไทย ชวนตั้งคำถามและวิพากษ์จากแนวคิดของสถาบันครอบครัวสู่แนวคิดทางอุดมการณ์ของการเมืองไทย

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ภาพรวมของเพจนี้สะท้อนแนวคิดอะไรในสังคมไทยปัจจุบัน?

วิจารณ์โดยภาพรวม ไอเดียการเลี้ยงลูกของเขาก็มีระดับที่โดนวิจารณ์มาก ถ้าไปดูหนังคาราเต้คิด (The Karate Kid) หรือหนังในยุคนั้น ถ้าจำได้คือตัวเอกป่วยเป็นโรคหอบ แล้วก็ไปเรียนกับอาจารย์คนจีน คู่แข่งคนสำคัญของเขาเป็นเด็กเอเชียที่พ่อแม่ปลูกฝังมาอย่างดี ทุ่มเทและกดดันสุดๆ ให้ลูกชนะ แต่ท้ายสุดก็แพ้ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็เกือบ 20 ปีแล้ว ตัวละครชาวเอเชียจะถูกทำให้มีภาพแบบนี้อยู่ตลอดเวลา การเรียนแข่งขันที่ไม่มีที่สิ้นสุด

เราคิดว่าไอเดียในภาพรวมมันมีปัญหาอยู่ 3 เรื่อง ประเด็นแรก วิธีคิดของพ่อแม่รุ่นนี้กับเด็ก ณ ปัจจุบัน เขารู้สึกว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เด็กคุมยากมากขึ้น แล้วก็ไม่ใช่แค่พ่อแม่คู่นี้รู้สึก ถ้าไปถามพ่อแม่คนอื่นๆ เขาก็จะรู้สึกว่ามีหลายอย่างที่ตามลูกไม่ทัน อย่างโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค หรือกรุ๊ปไลน์ เขารู้สึกว่าโลกของลูกเขาเป็นโลกที่ปิดกั้นตัวเขาออกไป ต่างจากยุคที่เขาโตมา ยุคที่พ่อแม่รุ่นนี้โตมา เขาก็ยังดูทีวีแบบเดียวกับพ่อแม่ปู่ย่า ก็เลยยังอยู่ในคอนโทรล (control) หรืออยู่ในภาษาที่พูดคุยกันได้

แต่เด็กรุ่นนี้กับพ่อแม่รุ่นนี้เขามีมาตรฐานอันหนึ่งคือมาตรฐานทางดิจิตอล พ่อแม่เป็น digital immigrant คือผู้อพยพมาใช้ดิจิตอล ในขณะที่เด็กรุ่นนี้เป็น digital native เป็นคนที่เกิดพร้อมเผ่าพันธุ์ดิจิตอล ดังนั้นความระแวดระวังของพ่อแม่ที่มีต่อเด็กรุ่นนี้จึงมีสูงผิดปกติเป็นธรรมดา

ทีนี้วิธีที่เขาจัดการลูกก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะเขาเริ่มรู้สึกว่าเขาคอนโทรลลูกไม่ได้ เขาเลยยิ่งต้องตอกย้ำ อย่างเช่นการมีกฎระเบียบ ห้ามเล่นเกม ห้ามมีแฟน ในเมื่อลูกเป็นวัตถุที่ควบคุมยากเขาก็ควรจะต้องควบคุมลูกด้วยความรัก เขาทำบนฐานของความรัก ให้ลูกประสบความสำเร็จ โดยสรุปประเด็นที่หนึ่งก็คือเขารู้สึกว่าลูกเป็นอะไรที่ควบคุมยาก ถ้าสังเกตดีๆ เขาก็ไม่ได้ใช้แค่วิธีนี้ควบคุมลูกนะ เขาใช้วิธีนี้ตอบสนองต่อสิ่งอื่นที่เขาควบคุมไม่ได้ด้วย เช่น มือถือ จะสังเกตว่าพวกเครือข่ายผู้ปกครองต่อให้มีความรู้ ไปเข้ากระบวนการอบรมสสส. อะไรก็ตามแต่ วิธีที่เขาแนะนำกันโดยการให้ลูกรู้เท่าทันสื่อ ไม่ให้ไปเสพสื่อเลวๆ ก็คือว่า คอยดูมือถือลูก คอยดูว่าลูกเข้าเว็บอะไรบ้าง ซึ่งเขาไม่เคยรู้ว่าจริงๆ การดูมือถือลูกมันคือการละเมิดสิทธิที่ชัดเจนมาก

ประเด็นที่สอง เราคิดว่ามันเรื้อรังมากๆในสังคมไทย พ่อแม่ไม่ได้เป็นพ่อแม่โดยสายเลือดโดดๆ แต่ว่ามันมีอิทธิพลจากศาสนาและวัฒนธรรมด้วย ซึ่งก็เป็นปัญหาของประเทศไทย การมองพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ หรือการมองพ่อแม่เป็นอะไรที่ไม่ใช่แค่พ่อแม่ เป็นอะไรที่เหนือมนุษย์ พอเป็นลักษณะนี้แล้วลูกที่อยู่ในบ้านที่ถูกกดก็เป็นไปได้ยากที่จะพูดกับพ่อแม่ตรงๆ เพราะมันก็มีวาทกรรมลักษณะเช่น “แค่คิดก็บาปแล้ว” หรือ “ถ้าเถียงพ่อแม่จะปากเท่ารูเข็ม” วิธีคิดแบบนี้ก็เป็นวิธีคิดเชิงศาสนาที่ทำให้ลูกกลัวการเถียง พอลูกโดนกดมากๆ ในสังคมที่คนพูดคุยกันไมไ่ด้ เขาก็ต้องเลือกแสดงออกด้วยวิธีอื่นซึ่งหลายครั้งก็รุนแรง อาจจะเป็นเคสฆาตกรรม อาจจะเป็นเคสหนีออกจากบ้าน หรืออื่นๆ

ลูกเองก็กลัวพ่อแม่จนเกินเหตุ มันมีหนังมีสื่อที่วิพากษ์พ่อแม่เยอะ แต่ไม่ค่อยมีหนังหรือสื่อที่วิพากษ์ลูกบ้างว่าจริงๆ ลูกก็มีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะไม่ชอบพ่อแม่ ที่จะคิดร้ายต่อพ่อแม่ ที่ไม่รุนแรงยังอยู่ในกฎหมาย เกลียดเขาในบางครั้งที่เขาทำอะไรที่ผิด

อย่างรุ่นเราเราอยู่กับปัญหาแบบนี้ เราเลยไม่ชัวร์ว่าเรามีสิทธิเกลียดพ่อแม่รึเปล่า สมมติว่าเราเกลียดพ่อแม่แต่เราพูดออกไปไม่ได้ว่าเราเกลียด เราเลยแสดงความเกลียดด้วยการอ่านหนังสืออย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์แทน คนยุคเราชอบอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ เพราะแฮร์รี่ พอตเตอร์พ่อแม่มันตาย ก็ชอบเพราะนี่คือความฝันลึกๆ แค่ไม่กล้าพูดมันออกไป ลูกเองก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธพ่อแม่และมันไม่ใช่เรื่องผิดบาป แต่ในรุ่นลูกๆ ของพ่อแม่ที่อยู่ในเพจ Dad Mom and Kids ถ้าเขาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเมื่อไหร่เขาก็มีโลกที่ปลอดภัยของเขา

ประเด็นสุดท้ายคือประเด็นที่เราคิดว่าต้องเห็นใจพวกเขา เห็นใจไม่ใช่ไม่ทำอะไรนะ แต่วิพากษ์เขาด้วยความเมตตา ต้องเข้าใจว่าพ่อแม่ยุคนั้นคือพ่อแม่เราและถัดจากรุ่นเราลงมา ช่วงเบบี้บูมก็เสียทรัพยากรอย่างหนักหนามากๆ แล้วก็ถือครองอำนาจนานมากๆ อย่างยุคคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือคุณประยุทธ์ ก็ถือครองอำนาจมานานกี่ปีแล้ว ทีนี้รุ่นต่อมาที่เป็นเจนเอกซ์ หรือเจนวายที่เริ่มเป็นพ่อแม่คน กว่าที่เขาจะได้ถือครองอำนาจทางวัฒนธรรมเขาก็แก่มากแล้ว เขาก็สามสิบสี่สิบกว่าแล้ว ขณะเดียวกันเจนเอกซ์กับเจนวายก็มีความกลัวเพราะเด็กรุ่นใหม่อย่างเนติวิทย์ อย่างใครอีกหลายคนก็มีมันสมองมาก ดูเป็นเรี่ยวเป็นแรงของประเทศ เขาก็รู้สึกว่าอำนาจวัฒนธรรมเขากำลังสั่นคลอน เขาก็กลัวมากพราะตัวเขาก็แก่มากแล้ว กว่าจะได้มาอยู่ในอำนาจวัฒนธรรมอันนี้ แล้วเด็กรุ่นใหม่ยังเก่งกว่าเขาอีก

มันมีคำพูดหนึ่งที่เราเอามาโคว้ทเป็นของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ “มันเป็นความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องสร้างกำลังคนออกมารับใช้การพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ต้องผลิตผู้มีวุฒิการศึกษาที่ไร้การศึกษาจำนวนมาก เป็นหมอ เป็นวิศวะ เป็นสถาปนิก เป็นนักการบัญชี เป็นนักนู้นนี่ แต่ไม่เป็นอะไรอื่นอีกเลย ไม่รู้และไม่รู้สึกอะไรอีก นอกจากความรู้เฉพาะด้านของตนเอง จึงดำรงทัศนคติทางการเมืองและสังคมที่ไร้เดียงสาของตนไว้ได้ด้วยเงินเดือนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ”

น่าสนใจมากๆ เพราะคนที่ออกไปเป่านกหวีด หรือคนที่สนับสนุนวิธีการเลี้ยงลูกแบบกดขี่แบบนี้ ถ้าในระดับอีลีทหรือชนชั้นกลางค่อนบนเนี่ยก็พบว่าทุกคนเป็นพวกมีวิชาชีพหมดเลย ยิ่งมีความกังวลว่าวิชาชีพของตัวเองจะสั่นคลอนกับการที่ลูกไม่ได้ดิบได้ดีในมาตรฐานของตัวเอง

แล้วปรากฎการณ์ที่มีคนจำนวนหนึ่งออกมาต่อต้านเพจนี้ก็อาจสะท้อนว่าสังคมเริ่มมีแนวคิดแบบวิพากษ์มากขึ้น?

ถ้าเป็นยุคก่อนหน้านี้การเป็นหมอมันก็ดูน่าศรัทธา เป็นอะไรที่มากกว่าหมอ มีนัยยะของการเป็นคนดี คนเก่ง ที่เราต้องเชื่อถือ ในบางหมู่บ้าน 40-50 ปีก่อน บางหมู่บ้านที่เริ่มมีแพทย์ชนบทไปลง บางเคสที่ชาวบ้านมีคดีเขาให้แพทย์ที่เป็นคนนอกเป็นคนช่วยตัดสินคดีให้ คือให้แพทย์ทำหน้าที่ผู้พิพากษา เพราะเข้าใจว่าแพทย์มีความรู้มากกว่าตนก็ย่อมมีความเป็นธรรมมากกว่า มันก็มีวิธีคิดแบบนี้ดำรงอยู่ แต่ว่าในยุคนี้ความเป็นหมอมันก็เริ่มถูกสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ จากสังคมที่มันอุดมปัญญามากขึ้น หมอเองก็เป็นวงการที่ถูกตรวจสอบมากขึ้นด้วย

มองว่าเป็นการต่อสู้ของแนวคิดทางการเมืองรึเปล่า?

อาจพูดว่าเป็นการต่อสู้ของคนที่มีวิธีเลี้ยงลูกแบบเปิดกว้าง กับคนที่มีวิธีการเลี้ยงลูกแบบปิด พูดตรงๆก็เป็นแบบโซตัส แต่กลุ่มพ่อแม่ที่เข้าไปเถียงในเพจจำนวนไม่น้อยก็เป็นกลุ่มที่มีตังค์ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนทางเลือกที่ราคาเป็นหมื่นเป็นแสน ได้รับการเรียนการสอนที่ไม่กดดัน เลี้ยงลูกด้วยความสุข เป็นแบบวอร์ดอฟสคูล หรือแบบซัมเมอร์ฮิลล์ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็เป็นชนชั้นกลางระดับบนซึ่งเข้าถึงทรัพยากรและแน่นอน เป่านกหวีด ดังนั้นไม่ได้แปลว่าคนที่สนับสนุนคุณหมอเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงเท่านั้น หรือคนที่เห็นต่างก็อาจจะไม่ได้เป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงด้วย

เรื่องประเด็นการศึกษา อยู่ที่มองการศึกษาแบบไหน วิธีการเลี้ยงลูกมองการศึกษาผ่านฮาร์ดแวร์  คือมองผ่านตัวเลข ชั่วโมงการเรียน รูปแบบการเรียนรู้ ส่วนใหญ่คนที่ออกนโยบายหรือคนที่เข้าถึงแหล่งทุนเขามองแบบฮาร์ดแวร์ จะสังเกตว่ามีแต่คนที่เคลื่อนไหวในเชิง ลดเวลาเรียน เปลี่ยนการปิดเทอม แต่ไม่มีใครเคลื่อนไหวในเชิงซอฟท์แวร์ ในเชิงวัฒนธรรม เช่น เราควรยกเลิกผมเกรียน คนที่เคลื่อนไหวเรื่องราวเหล่านี้ก็เข้าไม่ถึงแหล่งทุน เช่น เนติวิทย์

ถ้ามองเชิงซอฟท์แวร์ก็ค่อนข้างพูดได้ว่าคนที่เห็นด้วยกับซอฟท์แวร์ที่มันลิเบอรัลก็อาจเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงหรือกลุ่มคนที่หัวก้าวหน้ามากกว่า

จริงๆ เราว่ามันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองเชิงอายุ สังเกตว่าคนที่เข้าไปคอมเมนต์ในเชิง radical แล้วได้รับความนิยมเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีลูก คนรุ่นใหม่ทั้งนั้น แล้วกลุ่มพ่อแม่ก็จะไปคอมเมนต์อีกแบบหนึ่ง แบบ ‘อยู่เป็น’ หน่อย

เราพบว่าสังคมไทยเองหรือองค์กรที่ทำงานด้านนี้ก็ไม่มีใครพูดประเด็นนี้เท่าไหร่ เรื่องการเหยียดอายุ เรื่องอายุกับโครงสร้างอำนาจ จะสังเกตว่ามันมีศูนย์บริการให้คำปรึกษาหรือคลินิกเยอะมากเลยที่พ่อแม่พาลูกไปแก้ไข กลัวลูกเป็นตุ๊ด หรือกลัวลูกติดยาก็พาไปแก้ไขได้ แต่ไม่เห็นมีศูนย์ไหนให้ลูกพาพ่อแม่ที่สงสัยในเพศสภาพ ทัศนคติ หรือไลฟ์สไตล์ในตัวลูก ไปให้หมอวินิจฉัย (หัวเราะ) พ่อแม่ก็อยู่ในสถานะที่ควบคุมลูก แล้วเอาเข้าจริงก็มีเสื้อแดงที่เหยียดคนรุ่นใหม่ เหยียดเพศอยู่ดี

ดูมีความย้อนแย้งในตัวเองจนเราไม่สามารถเหมารวมอะไรได้เลยรึเปล่า?

จริงๆ เราพูดเป็นเซ้นส์ได้ มันเป็นท่าทีเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือเขาก็เรียกมันว่าเป็น Zeitgeist หรือ จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย อำนาจที่เป็นอำนาจหลักของประเทศนี้กำลังถูกท้าทายมากขึ้น อำนาจที่มันน่ากลัวที่สุดในประเทศนี้ไม่ใช่อำนาจรัฐหรือไม่ใช่สถาบันหลักหรือไม่ใช่อำนาจทุน มันคืออำนาจพ่อแม่นี่แหละ เพราะมันผูกกับศาสนา ผูกกับความเชื่อ ผูกกับสายเลือดอยู่ เพราะรัฐบาลกลัวที่จะปกครองประชาชน หมายถึงรัฐบาลไม่มีเสรีภาพพอที่จะกดขี่ประชาชนแบบเกาหลีเหนือแล้ว เขาเลยต้องถ่ายเทอำนาจบางประการของเขาให้พ่อแม่ช่วยกดดันลูกแทน

คนรุ่นใหม่มันอันตราย ดังนั้นถ้าควบคุมพวกมันได้ตั้งแต่อยู่ในบ้าน เขาก็จะไม่ไปประท้วงเมื่อเขาโตขึ้น

แนวคิดการควบคุมโดยคนที่อาวุโสกว่าทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิแบบนี้มันรวมถึงความพยายามของผู้มีอำนาจที่จะควบคุม กำหนดทิศทางทางการเมืองด้วยรึเปล่า?

คิดว่าถ้ามีหมอสองคนนี้คิดกันแค่สองคนมันก็เป็นแค่ความคิดปัจเจก คืออาจจะยอมรับได้ในฐานะความแตกต่าง แต่มันไม่ใช่แค่หมอสองคนนี้คิด คือพอไปมองคนอื่นที่อยู่ในสถานะใกล้เคียงกับหมอ หรือมองวิธีคิดของเทคโนแครตเอง มันก็เป็นแบบนี้ แสดงว่ามันต้องมีปัจจัยทางวัฒนธรรมบางอย่างที่รองรับอยู่

อันหนึ่งที่น่าสนใจคือบิล คลินตัน เขาเป็นประธานาธิบดีจากฝั่งเดโมแครต ช่วงนั้นเดโมแครตแพ้การเลือกตั้งมายาวนานมาก แล้วมีคนไปเก็บสถิติช่วงปราศรัยก่อนจะถึงวาระของบิล คลินตัน ผู้แทนแต่ละคนเขาพูดอะไรกันบ้าง ก็พบว่าผู้แทนของเดโมแครตก็พูดแต่อะไรเชิงหลักการ นโยบายสวัสดิการ การศึกษา ประชาธิปไตย ในขณะที่ผู้แทนฝั่งรีพลับบลิกัน โรนัลด์ เรแกน พูดคำว่าพระเจ้าหรือ God เกือบ 30 ครั้งภายในครึ่งชั่วโมง คือเขาพูดอะไรที่เป็น hyper-reality มากๆ หรือพูดอะไรที่มัน collective มากๆ ถ้ามาเทียบกับพ่อแม่ในเพจนี้เขาก็มีวิธีคิดที่อิงกับอะไรแบบนั้น คือมันมีอำนาจสูงสุดบางอย่างควบคุมลูกๆ ควบคุมประชากรอยู่

บิล คลินตันเขาก็เลยคิดว่าจะทำยังไงให้ชนะการเลือกตั้งในยุคนั้นหลังจากเดโมแครตแพ้มานาน เขาก็เลยออกนโยบาย “คุณพ่อรู้ดี” ในทางปฏิบัติมันมีหลายอย่างมาก แต่คือเรื่องการตรวจสอบ เช่น การเข้าไปทำงานกับนโยบายการศึกษาให้พ่อแม่มีอำนาจในตัวลูกมากขึ้น รู้ว่าลูกเรียนอะไร ยุคนั้นบิล คลินตันก็เลยได้รับเลือกมา เพราะอะไรแบบนี้มันโรแมนติกสำหรับพ่อแม่ การได้ควบคุมลูก การรู้สึกว่าลูกได้รับช่วงต่อของตัวเองไป ก็จะเป็นวิธีคิดเดียวกับคนในประเทศเรา เช่น รัฐบาล หรือกลุ่มคนที่วางนโยบายอยู่ 20 ปีนี่เขาอยู่ไม่ถึงหรอก เป็นวิธีคิดที่ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมเดินลงจากเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net