ประชุมสงวนบ้านชุมชนป้อมมหากาฬไม่คืบ กทม. เผย เมื่อลงพื้นที่ยังมีบกพร่อง

ทีมนักวิชาการ ผู้แทนชุมชน ยัน ชุมชนป้อมฯ เป็นห้องเรียนผังเมือง เหตุการณ์ในอดีตมีชีวิตแห่งสุดท้าย วอน กทม. อย่าสงวนบ้านอย่างเดียวให้เอาชุมชนไว้ด้วย กทม. ระบุ ต้องถามมุมมองคนภายนอกชุมชนด้วย ตอนลงพื้นที่ยังมีที่ต้องตักเตือน หนีตีความ ก.ม. ไม่ได้ ต้องให้ผู้ใหญ่เห็นคุณค่าอย่างแท้จริงจึงจะสำเร็จ

3 มิ.ย. 2560 กลุ่มตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ ทางกรุงเทพมหานคร และนักวิชาการ มีการจัดประชุมหัวข้อ การพิสูจน์คุณค่าของบ้านในการพิจารณากรอบการอนุรักษ์ภายในชุมชนป้อมมหากาฬ ที่หอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพฯ เป็นการประชุมต่อจากเมื่อวานนี้ (2 มิ.ย.) ที่เป็นการถกเถียงกันเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องข้อมูลกรรมสิทธิ์บนที่ดินและผู้อยู่อาศัยจริง และได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าจะเลือกสงวนบ้านที่มีคุณค่าเอาไว้ โดยเมื่อวานอนุมัติให้สงวนไว้แล้ว 2 หลัง และวันนี้จะพิจารณาอีก 16 หลัง(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยข้อสรุปของที่ประชุมจะได้ให้ยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการ กทม. นำไปให้ฝ่ายบริหาร กทม. พิจารณา

มีผู้เข้าร่วมประชุม 3 ฝ่าย ฝ่ายกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณัฐนันทน์ กัลยาศิริ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่ากทม. เป็นต้น ฝ่ายชุมชนและนักวิชาการ ได้แก่ ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ผศ.สุดจิต สนั่นไหว อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต อุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมืองและนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ. สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยามฯ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกุล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ศานนท์ หวังสร้างบุญ กลุ่มมหากาฬโมเดล ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระ อภิชาติ วงสวัสดิ์ อาสาสมัครด้านกฎหมาย ทั้งนี้ยังมีอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เข้าร่วมประชุมด้วย

แจงคุณค่าชุมชนป้อมฯ ชี้ เป็นห้องเรียนผังเมืองและเหตุการณ์ในอดีตมีชีวิตแห่งสุดท้าย

สุดจิต สนั่นไหว พูดถึงเกณฑ์คุณค่าศิลปะ สถาปัตยกรรมว่า บ้านหลังที่ 75 ดูโดยลักษณะแล้วจะอยู่ร่วมสมัย ร.5-7 ลงมา มีปั้นหยาและช่องระบายอากาศ แต่ยังไม่ได้ทำรังวัดสำรวจ ในกลุ่มสีส้ม ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างในสมัย ร.  5-7 ต้องขอเข้าไปทำการสำรวจก่อน แต่ไม่สงสัยว่าทั้งหมดนั้นมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมอยู่ อัชชพล กล่าวว่า 22 หลังที่เสนอให้อนุรักษ์ไว้เพราะมีคุณค่าเพียงพอเกิดจากการทำงานเป็นทีม โดยสมาคมฯ สามารถเข้านำความชำนาญด้านทักษะและเทคโนโลยีไปช่วยเหลือ กทม. ในกรณีที่ต้องมีการก่อสร้างสิ่งที่ทุบไปใหม่ตามข้อมูลเก่าที่มี

ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมืองอิสระ กล่าวว่า ความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ผังเมืองว่า ชุมชนป้อมฯ เป็นยุทธภูมิของการมีชุมชนอยู่กับกำแพงพระนครผนวกกับคูคลอง ความสำคัญไม่ได้แยกตามแบบสถาปัตยกรรม แต่บ้านทุกหลังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ร่วมกันมา ทั้งในจดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ ร.1 ถึงปัจจุบัน ชุมชนป้อมมหากาฬคือชุมชนเก่าแหล่งสุดท้าย แต่ในมุมผังเมือง พื้นที่ศิลปะวัฒนธรรม เป็นตรอกที่มีความสำคัญ เชื่อมต่อกับบ้านที่เป็นข้าราชบริพาร แต่เขตบ้านสีขาว (พื้นที่นอกพิจารณาที่เหลือ – ผู้สื่อข่าว) มีความสำคัญในลักษณะยุทธศาสตร์การตั้งเมืองและเป็นพื้นที่ค้าขาย ดังนั้นต้องดูว่ากิจกรรมการค้าของเขามีความสำคัญกับชุมชนอย่างไร เช่นการทำเศียรพ่อแก่ เป็นชุมชนมุสลิมที่ทำหน้าที่หลอมทอง ซึ่งในอนาคตกำลัง คุณค่าของการเป็นพื้นที่ป้องกันพระนครและเศรษฐกิจ อย่างไรเสีย การแก้ปัญหานี้ก็ต้องแก้ที่ตัวกฎหมาย ยกกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตาก พบว่ามีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการคัดแยกผู้เสียกรรมสิทธิ์ และแก้ไขนโยบายการชดใช้

รุ่งโรจน์ กล่าวว่า หลักฐานที่พบว่าชุมชนมีแนวโน้มมีร่องรอยการอยู่อาศัยตั้งแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ คือการพบพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่มาขยายตัวเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์และตั้งป้อมมหากาฬ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมในการตั้งเมือง เพราะติดคลองโอ่งอ่างอันเป็นพื้นที่สัญจรสำคัญสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และทางออกทางตะวันออก หลังสมัย ร. 5 เริ่มมีการนำระบบผังเมือง สิ่งปลูกสร้างตามแบบแผนตะวันตกขึ้น ซึ่งล้อมรอบชุมชนป้อมฯ ทำให้ชุมชนเหมือนถูกแช่แข็งเอาไว้ รวมถึงสภาพการจัดตั้งชุมชนที่เป็นพื้นที่ลาดลงสู่แม่น้ำ ซึ่งปัจจุบันไม่มี ทำให้เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับภูมิปัญญาในอดีต

รุ่งโรจน์ เห็นว่า เมื่อเรามองเรื่องศิลปะ สถาปัตยกรรม คนไทยมักมองไปที่วัด วัง แต่สภาพชุมชนของประชาชนไม่ค่อยมีใครนึกถึง แต่กลุ่มบ้านเหล่านี้สามารถเป็นห้องเรียนเรื่องเทคนิคงานช่างในอดีต แบบที่ญี่ปุ่นมีทักษะในการเลียนแบบของเ่กาได้เหมือน แต่ของเราทำไมไม่เหมือน เพราะว่าเรามักไม่เก็บของเก่าไว้ ปัจจุบัน ชุมชนชานพระนครเช่นนี้ได้หายไปเกือบจะหมดแล้ว

อาจารย์จาก ม.รามคำแหง ระบุเพิ่มเติมว่า หลังสร้างกำแพงกรุงฯ แล้ว กิจกรรมใหญ่คือการสร้างภูเขาทอง ชุมชนใกล้เคียงจึงเป็นที่อยู่ของแรงงานด้วย ถือเป็นความเกี่ยวพันระหว่างชุมชนกับพื้นที่ตรงข้ามฝั่งคลองด้วยกัน ทั้งรูปแบบการอยู่อาศัยสามารถอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้หลายๆอย่าง เช่น เหตุผลของการเสียชีวิตเพราะโรคระบาดจำนวนมากในพระนคร

สุพิชชา กล่าวว่า ชุมชนป้อมฯ ยังเชื่อมต่อกับคนภายนอกด้วย มีภาคีกับทั้งองค์กรอิสระด้านสิทธิที่ดิน ด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ สังคม และกลุ่มนักวิชาการทั่วประเทศ เพราะนักวิชาการเชื่อว่าที่ชุมชนมีสิ่งที่น่าสนใจ มีต้นทุนทางวิชาการอยู่ในชุมชน ชุมชนยังเป็นพื้นที่กรณีศึกษาให้กับอาจารย์ นักศึกษาเข้ามาทำวิทยานิพนธ์หรือทำการวิจัยหลายต่อหลายกรณีแล้ว เคยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเข้ามาทำวิจัยด้วย

นักวิชาการชี้ ชุมชนยังเข้มแข็ง วอน กทม. ดันแก้ พ.ร.ฎ. ขอสงวนทัังบ้านทั้งคนอยู่

สุพิชชา กล่าวว่า ในเชิงวิชาการจะให้ค่าความสำคัญกับความเข้มแข็งของชุมชนมาก มีสมการที่ว่า ความพินาศย่อยยับ = ภัยอันตราย หารด้วยความอ่อนแอ (Disaster = Hazard/Vulnerability) ตัวแปรของความย่อยยับคือความเข้มแข็ง และความสามารถในการปรับตัวของชุมชน ถ้าชุมชนมีการรวมตัวกัน จะทำให้มีความเข้มแข็งต่อเหตุการณ์ต่างๆ ดังนั้นการรวมกลุ่่มกันต้องมาจำแนกให้ดี ไม่ใช่เพราะทางกายภาพนั้นอาศัยอยู่หลังกำแพงพระนครด้วยกัน แต่รวมไปถึงความสนใจร่วมของคนในชุมชนด้วย

สุพิชชาได้ยกคุณลักษณะของชุมชน 3 ประการในการระบุคุณค่าของชุมชนป้อมมหากาฬ ได้แก่ สภาพชุมชนที่มีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ชาติพันธุ์ สิ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษ สภาพชุมชนทางวิชาชีพ ในเรื่องภูมิปัญญา และสภาพชุมชนที่มีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ และพบว่า คุณค่าความเป็นชุมชนนั้นมีอยู่สูง เช่น การมีลานกลางชุมชน การไ้หว้ต้นไหม้ใหญ่ พิธีสมาพ่อปู่ ทางภูมิปัญญา ก็ยังมีคนที่สามารถเล่นดนตรีได้ ยังมีวิชาชีพการทำกรงนก การหลอมทอง การทำอาหาร หัตถกรรม เครื่องปั้นดินเผา

ในส่วนของสภาพชุมชนมีความสามารถในการร่วมกันเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ คือรวมกลุ่มกันเองและมีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน เด็กๆ มีการร่วมจัดการห้องสมุด ฝึกรำ เรียนรู้ระบบนิเวศ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาสุขภาวะเมือง กลุ่มแม่บ้านมีความเหนียวแน่นเป็นพิเศษ มีกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย มีการฝึกอาชีพ ทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เคยมีกลุ่มดีไซเนอร์ ศิลปินมาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และกลุ่มออมทรัพย์ แสดงออกถึงความมีวินัยของคนในชุมชน ไม่ใช่อยากอยู่กันแบบไม่มีมาตรฐาน ไม่คิดถึงการมีเงินออม และเงินออมในสหกรณ์มีจำนวนนับแสนบาท ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นบรรษัทที่มีผู้ร่วมถือหุ้นได้

ในเวทีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก การรวมกลุ่มของชุมชนถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ที่เป็นตัวสร้างความเข้มแข็งให้บ้านแต่ละหลัง ชุมชนป้อมมหากาฬ รวมถึงพื้นที่ชุมชนใน กทม. ที่กำลังขยายตัวให้มองเป็นตัวแบบด้วย และยังทิ้งคำถามไว้ว่า พระราชกฤษฎีกา ซึ่งโดยธรรมชาติ เกิดจากมติ ครม. นั้นสามารถแนบรายละเอียดเรื่องการให้สิทธิ์การบริหารพื้นที่ชุมชน และบ้านที่สงวนไว้กับชาวชุมชนได้หรือไม่

ทั้งนี้ อภิชาติ ระุบว่า ควรคุยเรื่องข้อกฎหมายให้จบด้วย ต้องให้ทาง กทม. และฝ่ายชุมชน นักวิชาการ คุยเรื่องนี้ให้ตก เพราะการพิสูจน์คุณค่าของชุมชน หมายรวมถึงการให้สิทธิที่อยู่ กรรมสิทธิ์แก่ผู้อยู่อาศัยด้วย แต่ยุทธพันธ์กล่าวว่า ถ้าให้คุยกันในข้อกฎหมายตั้งแต่กฤษฎีกาเวนคืนคือต้องทำให้พื้นที่ป้อมฯ เป็นสวนสาธารณะก็ไม่ต้องพูดอะไรกันอีก แต่ว่าขณะนี้ พื้นที่ชุมชนยังมีอยู่ และมีการเรียกร้องการเวนคืน จึงควรมาถกกันบนกรอบเรื่องคุณค่าต่างๆ โดยไม่เอากฎหมายมานำ

กทม. ระบุ ต้องถามมุมมองคนภายนอกชุมชนด้วย ตอนลงพื้นที่ยังมีที่ต้องตักเตือน

ยุทธพันธ์ กล่าวว่า คุณค่าทางสังคมต้องให้คนข้างนอกชุมชนช่วยกันพิจารณาด้วย ว่ามีมุมมองต่อชุมชนป้อมฯ อย่างไร แต่วันนี้การเห็นพ้องว่าควรสงวนบ้านโบราณไว้ 2 หลัง เป็นสัญญาณว่า กทม. เองก็ให้ความสำคัญแล้ว แต่การปรับแก้ หรือการทบทวนพระราชกฤษฎีกาจะต้องมีต่อไปในอนาคต พร้อมทื้งโจทย์ให้กลุ่มนักวิชาการและชุมชนอธิบายให้คนภายนอกชุมชนป้อมฯ ที่มีมุมมองต่างออกไปอย่างไร สังคมโดยรอบได้อะไรจากการตัดสินใจเกี่ยวกับชุมชน คนในชุมชนได้อะไร ถ้าคนหมู่มากเห็นชอบแล้ว กฎหมายกฤษฎีกาก็จะถูกแก้ แต่ขอให้ที่ประชุม ตัวแทนฝ่ายชุมชน นักวิชาการคะนึงถึงข้อเสีย จุดอ่อนที่ชุมชนมีด้วยในความเป็นจริง เพื่อให้ตน ที่จะเป็นผู้แทนเข้าไปพูดคุยในที่ประชุมบริหารของ กทม. ได้ตอบคำถามต่างๆได้อย่างชัดเจน

เลขานุการ กทม. กล่าวว่า เรื่องที่ต้องคุยต่อคือการเอารายละเอียดแต่ละแปลงพร้อมโฉนดที่ดินมาแจ้ง จะมีการปรับผังให้ตรงกับโฉนด ปรับผังบ้านให้ดูง่าย และจะคุยต่อเรื่องการระบุคุณค่าเชิงสังคมและวิถีชีวิต และประเด็นข้อกฎหมายที่ถ้าหากติดขัดก็ต้องหาทางออกกันต่อไป ทั้งนี้ ตอนที่ตนไปลงพื้นที่ ยังพบว่าบ้านเรือนหลายหลังยังมีสภาพทรุดโทรม ไม่สะอาด และยังมีประทัดขายอยู่ซึ่งตนได้ตักเตือนไปแล้ว

ฝั่ง กทม. ชี้ หนีตีความ ก.ม. ไม่ได้ ต้องให้ผู้ใหญ่เห็นคุณค่าอย่างแท้จริงจึงจะสำเร็จ

ณัฐนันทน์ ระบุว่า เรื่องกฎหมายพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ไม่ได้เป็นเรื่องของกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลสมัยก่อนที่เห็นคุณค่าของป้อมมหากาฬ ขณะนั้นคือ ต้องการให้ป้อมโดดเด่น จึงยังไม่เห็นคุณค่าของบ้านไม้ ณ ขณะนั้น ประเด็นที่ละเอียดอ่อนคือ ไม่ใช่ที่บุกรุก แต่เป็นที่ๆต้องอยู่่ร่วมกัน กฎหมายนั้นระบุว่า ไม่จำเป็น ไม่เวนคืน เพราะถือว่าลิดรอนกรรมสิทธิ์ประชาชน ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีความสำคัญมากกว่าสิทธิในกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น สมัยนั้น รัฐบาลเห็นป้อมสำคัญกว่าชุมชน ที่ประชุมนี้เดินมาถูกทางตรงที่เราพูดคุยตรงการบรรลุถึงผลลัพธ์เชิงคุณค่า หลังจากนั้นหากจะไปติดขัดที่กฎหมายตรงไหนก็เสนอให้องค์กรที่มีอำนาจแก้ไขต่อไป

ในสมัยอภิรักษ์ โกษะโยธิน ต้องการทำพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต จึงมอบหมายหน้าที่ให้กรมศิลปากรดูแล แต่การตีความตามกฎหมายนั้นหลีกหนีไม่ได้ ถ้าเราเอาคุณค่ามาคุยกันแล้วจะไม่ให้เสียเปล่า ให้เกิดการโน้มน้าว ก็ต้องให้ผู้มีอำนาจเข้าใจถึงคุณค่าเช่นว่าด้วย และต้องมีอำนาจที่ใหญ่กว่าอำนาจกฤษฎีกามาแก้ไข่ ทั้งนี้ การระบุคุณค่าในที่ประชุมนั้นควรพิจารณาให้ตกผลึก ได้คุณค่าที่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการพิจารณาในฝ่ายบริหารของ กทม.

สำหรับการนัดประชุมครั้งต่อไป เป็นวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย. 2560 เวลา 10.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ

หมายเหตุ:

- ประชาไทแก้ไขชื่อเลขานุการ ผู้ว่าฯ กทม. จาก ธีรพันธ์ มีชัย เป็น ยุทธภัณฑ์ มีชัย เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2560 เวลา 16.25 น.

- ประชาไทได้ตัดเนื้อความที่ว่า "ภายใต้การนำของ ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ทำการศึกษาอย่างละเอียดแล้วส่งเรื่องมายังสมาคมสถาปนิกฯ จากทั้งหมด 102 หลัง เสนอเบื้องต้นขึ้นมา 16 หลัง หลังเหตุการณ์สวรรคตของในหลวง ร.9 ก็ได้เร่งให้มีการสำรวจต่อ" ในหัวข้อ  "แจงคุณค่าชุมชนป้อมฯ ชี้ เป็นห้องเรียนผังเมืองและเหตุการณ์ในอดีตมีชีวิตแห่งสุดท้าย" เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2560 เวลา 17.08 น. เนื่องจากพบความไม่ชัดเจนในข้อเท็จจริง 

- ประชาไทแก้ไขชื่อเลขานุการ ผู้ว่าฯ กทม. จากยุทธภัณฑ์ มีชัย เป็น ยุทธพันธ์ มีชัย เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2560 เวลา 11.48 น.

     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท