อรอนงค์ ทิพย์พิมล: การเมืองเรื่องกฎหมายชารีอะห์ในอาเจะห์

ที่มาของการใช้กฎหมายอิสลาม หรือชารีอะห์ ในดินแดนอาเจะห์ ทางตะวันตกของอินโดนีเซีย ที่เกิดจากบทบาทของกลุ่มอุลามาอฺ หรือผู้รู้ทางศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลส่วนกลางของอินโดนีเซียในยุคปฏิรูปอนุมัติข้อเรียกร้องนี้ และประเด็นกฎหมายอิสลามนี้เองที่กลายมาเป็นอาวุธทางการเมืองเล่นงานคู่ต่อสู้ในอาเจะห์ ในขณะที่กลุ่มเรียกร้องเอกราชอาเจะห์ หรือ GAM ที่มีข้อเสนอเรื่องสิทธิเหนือดินแดน รวมทั้งเรียกร้องการลงประชามติ กลับไม่เคยเรียกร้องได้สำเร็จจากรัฐบาลอินโดนีเซีย

Banda Aceh (ที่มาของภาพประกอบ: Arto Marttinen/Wikipedia)

อรอนงค์ ทิพย์พิมล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาเกี่ยวกับการบทบาทของกลุ่มอุลามาอฺในอาเจะห์ ดินแดนที่เคยเป็นรัฐเอกราช ต่อมาถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ในวงเสวนาหัวข้อ “การเมืองเรื่องกฎหมายชารีอะห์ ในอินโดนีเซีย" ซึ่งจัดเมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมา ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อรอนงค์นำเสนออย่างเจาะลึกถึงบทบาทของกลุ่มอุลามาอฺต่างๆ เกี่ยวกับความพยายามในการประกาศใช้กฎหมายอิสลาม หรือ กฎหมายชารีอะห์ ตั้งแต่ยุคสุลต่าน ยุคอาณานิคมฮอลันดา ยุคอาณานิคมญี่ปุ่น ยุคช่วงเริ่มการถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ยุคระเบียบใหม่ ยุคการปฏิรูปประเทศ จนถึงยุคปัจจุบัน

อรอนงค์นำเสนอไว้ว่า จากหนังสือต่างๆ ที่ได้พูดถึงผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเด็นนี้ ส่วนใหญ่จะสรุปเหมารวมว่าเป็นกลุ่มอุลามาอฺ ซึ่งมันไม่ชัดเจนว่าเป็นอุลามาอฺกลุ่มไหน เพราะกลุ่มอุลามาอฺในอาเจะห์ก็มีอยู่หลายกลุ่มที่ต่อมาได้ปรับตัวมาต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ โดยสลับอำนาจกันไปมาตามความสามารถและโอกาสทางการเมืองในช่วงยุคสมัยต่างๆ จนสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มอุลามาอฺที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์ คือ กลุ่มอุลามาอฺมัดราซะฮ์ ที่ผันตัวเองมาเป็นกลุ่มอุลามาอฺกัมปุสในที่สุด

 

ยุคสุลต่าน ช่วงศตวรรษที่ 17 - กฎหมายอิสลามกับกฎจารีต

ยุคที่มีการบันทึกว่าอาเจะห์มีการใช้กฎหมายอิสลาม หรือ กฎหมายชารีอะฮ์ (Syariah) คือ ช่วงปี ค.ศ.1607–1636 หรือยุคของสุลต่านอิสกันดาร์ มูดา (Sultan Iskandar Muda) กับช่วงปี ค.ศ.1636–1641 หรือสุลต่านอิสกันดาร์ ตานี (Sultan Iskandar Tani) หรือช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งมีหลักฐานที่เขียนโดยอุลามาอฺ ซึ่งเป็นนักปราชญ์ทางศาสนาอิสลาม หรือ ผู้รู้ศาสนาอิสลาม และการบันทึกจากนักเดินทางชาวต่างชาติที่เข้ามาในอาเจะห์ในช่วงเวลานั้น โดยถูกค้นพบทั้งตำราด้านกฎหมายและศาสนา เช่น มีรูปวาดที่คนอาเจะห์ถูกตัดมือ ตัดขา หรือรูปแบบการลงโทษผู้ที่ลักขโมยด้วยกฎหมายอิสลาม

พบหลักฐานเกี่ยวกับโครงสร้างของศาลที่ใช้ในยุคดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ศาลส่วนกลางกับศาลท้องถิ่น โดยจะมีสุลต่าน (กษัตริย์) เป็นศูนย์กลางอำนาจและใช้อำนาจผ่านอูแลบาลัง (Uleebalang) กับอุลามาอฺ (Ulama) ซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจในสังคมอาเจะห์ขณะนั้น โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี

มีบันทึกจากนักเดินทางชาวต่างชาติว่า ศาลที่อาเจะห์มีการดำเนินคดีต่อชาวต่างชาติด้วยข้อหาที่ไม่ยอมนับถือศาสนาอิสลามจึงถูกจับขัง ซึ่งเห็นได้ว่าในยุคนั้นมีการผสมผสานกับสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายจารีต หรือ อาดัต (Adat) เข้าไปด้วย เพราะในตัวบทกฎหมายอิสลามจะไม่มีบทลงโทษเกี่ยวกับการบังคับนับถือศาสนา

ในสังคมอาเจะห์ขาให้ความสำคัญต่อเรื่องจารีตนิยมมาก จนทุกวันนี้ยังเห็นได้ทั่วไปจากแผ่นป้ายริมถนน แสดงให้เห็นว่าที่อาเจะห์นอกจากด้านความเป็นมุสลิมที่เคร่งครัดแล้ว กฎจารีตก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน

 

ยุคภายใต้อาณานิคมฮอลันดา - อุลามาอฺมัดราซะห์ - สร้างระบบการศึกษาใหม่

ระบบศาลและการลงโทษเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากอาณาจักรอาเจะห์ล่มสลายจากการแพ้สงครามที่ยาวนานถึง 30 ปี กับประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ ฮอลแลนด์ หรือ ฮอลันดา

สิ่งที่ฮอลันดาทำ คือ สร้างระบบศาลใหม่ที่สามารถเป็นเครื่องมือในการทำลายโครงสร้างอำนาจเก่าระหว่างสุลต่าน อูแลบาลัง และอุลามาอฺ โดยเพิ่มบทบาทให้อูแลบาลัง ในขณะเดียวกันก็ลดบทบาทของอุลามาอฺเป็นเพียงที่ปรึกษา แต่ศูนย์กลางอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ฮอลันดา

อุลามาอฺถูกลดอำนาจลงเพราะเป็นกลุ่มอำนาจกลุ่มเดียวที่ต่อต้านและต่อสู้กับฮอลันดาอย่างหนักมาตลอด ในขณะที่อูแลบาลังยอมสยบต่ออำนาจของฮอลันดา ส่วนสุลต่านก็ถูกเนรเทศไป

วิธีการต่อสู้ของกลุ่มอุลามาอฺ คือ การลอบฆ่าชาวฮาลันดาเป็นรายบุคคล จนมีการเขียนบันทึกว่ากลุ่มอุลามาอฺมีความผิดปกติทางด้านจิตใจหลังจากสูญเสียอำนาจไป ทำให้ฮอลันดาทำการปรามปราม ควบคุม รวมไปถึงการเพ่งเล็งกลุ่มนี้อย่างหนัก ผลที่ตามมา คือ สถาบันปอเนาะ (สถาบันสอนศาสนาอิสลาม) ถูกเผา ถูกทำลาย และค่อยๆ เสื่อมลงไปในที่สุด

ในขณะเดียวกันฮอลันดาก็นำระบบการศึกษาแบบตะวันตกพร้อมเปิดโรงเรียนใหม่ขึ้นมาในอาเจะห์ และออกกฎหมายบังคับลงโทษพ่อแม่ที่ไม่ยอมส่งลูกไปโรงเรียนของเขา เพราะชาวอาเจะห์ไม่ยอมส่งลูกไปเรียน มีการต่อต้านระบบการศึกษาของฮอลันดาโดยใช้วาทกรรมโรงเรียนกาฟิร (นอกศาสนา) ในการรณรงค์ห้ามส่งลูกไปเรียน

ปี ค.ศ.1920 กลุ่มอุลามาอฺได้สร้างระบบการศึกษาแบบใหม่ เรียกว่า มัดราซะห์ (Madrasah) หรือ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่บูรณาการหลักสูตรจากการสอนวิชาศาสนาอย่างเดียว เป็นการสอนควบคู่กันระหว่างภาควิชาศาสนาและสามัญ ระบบการศึกษาแบบนี้เป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น มีการเปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนต่อมากลายเป็นกลุ่ม “อุลามาอฺมัดราซะห์ (Ulama Madrasah) ”

 

ยุคอาณานิคมญี่ปุ่น - อุลามาอฺปูซา - ร่วมมือซูการ์โนขับไล่ฮอลันดา

ปี ค.ศ.1939 ผู้นำอุลามาอฺที่เป็นผู้บริหารตามโรงเรียนต่างๆ มีการนัดประชุมกันครั้งแรกหลังจากมีปัญหาเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนที่ต่างกัน ผลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ คือ มติเห็นควรที่ต้องก่อตั้งองค์กรร่มในการขับเคลื่อน โดยใช้ชื่อว่า “สมาคมอูลามาอฺแห่งอาเจะห์ (Persatuan Ulama Seluruh Aceh - PUSA)” หรือ “อุลามาอฺปูซา” มีพันธกิจในการสร้างและควบคุมระบบการเรียนการศึกษาในรูปแบบมัดราซะห์ให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้ คือ ตึงกู ดาวูด เบอเรอเอะห์ (Tengku Daud Beureueh)

ต่อมาหลังการก่อตั้งองค์กรอุลามาอฺปูซา โดยการรวมกลุ่มของกลุ่มอุลามาอฺมัดราซะห์ ทำให้กลุ่มนี้ค่อยๆ มีอิทธิพลมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมอาเจะห์ อีกทั้งยังมีการก่อตั้งองค์กรฐานขึ้นมาอีกมากมาย เช่น องค์กรเยาวชนปูซา (Pemuda PUSA) และองค์กรสตรีปูซา (Pemudi PUSA) เป็นต้น

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มองค์กรอุลามาอฺปูซาได้ส่งตัวแทนไปเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีเจตนารมณ์เพื่อขับไล่อาณานิคมฮอลันดาออกจากอาเจะห์

ญี่ปุ่นตกลงเข้าไปหนุนเสริมจนทำให้อุลามอฺกลุ่มนี้มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น

ต่อมาซูการ์โน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซียคนแรกได้ทำข้อตกลงกับชาวอาเจะห์ในการร่วมกันขับไล่ฮาณานิคมฮอลันดา โดยแลกกับการประกาศใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์หลังจากอินโดนีเซียได้รับเอกราช

 

ยุคซูการ์โน – ขบวนการดารุลอิสลาม - สัญญาสงบศึก

ปี ค.ศ.1949 สาธารณรัฐอินโดนีเซียได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์โดยการยอมรับจากฮอลันดา แต่ซูการ์โนกลับไม่ทำตามสัญญาอีกทั้งยังมีการผนวกอาเจะห์ให้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซียอีกด้วย ทำให้อุลามาอฺมัดราซะห์จากองค์กรอุลามาอฺปูซาค่อยๆ สลายตัวไปพร้อมๆ กับอำนาจที่เคยมีอยู่

ปี ค.ศ. 1949 ชาวชวานำโดยเอส เอ็ม การ์โตซูวีโยร์ (S.M.Kartosoewirjor) ได้ก่อตั้ง “ขบวนการดารุลอิสลาม” (The Darul Islam Movement) ขึ้นมาในอินโดนีเซีย เป็นกลุ่มที่ต้องการให้สาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นรัฐอิสลามแทนระบบปัจจุบัน

ปี ค.ศ.1953 กลุ่มอุลามาอฺมัดราซะห์ที่เคยมีบทบาทในองค์กรอุลามาอฺปูซาบางคนได้เข้าร่วมกับขบวนการดังกล่าว แต่บางคนกลับไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอุลามาอฺที่ชื่อว่า อาบูยา มูดา วาลี (Abuya Muda Wali) เพราะเขาถือว่าการต่อต้านผู้นำที่นับถือศาสนาอิสลามเหมือนกันมันผิดต่อหลักการศาสนาอิสลามซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

ขบวนการดารุลอิสลามในอาเจะห์ดำเนินการต่อสู้อยู่นานหลายปีและจบลงด้วยการเซ็นสัญญาสงบศึกระหว่างรัฐบาลจาการ์ตากับฮาซัน สาเละห์ (Hasan Saleh) ซึ่งเคยเป็นสมาชิกขององค์กรอุลามาอฺปูซาด้วย

แต่ ตึงกู ดาวูด เบอเรอเอะห์ ผู้นำองค์กรอูลามาอฺปูซา กลับสู้ต่อร่วมกับขบวนการดารุลอิสลามจนถึงปี ค.ศ.1962 หลังจากเอส เอ็ม การ์โตซูวีโยร์ ผู้นำขบวนการดารุลอิสลามอินโดนีเซียถูกรัฐบาลจาการ์ตาจับกุมและประหารชีวิต

ในสัญญาสงบศึกระบุว่า รัฐบาลจาการ์ตาให้การรับรองเรื่องสิทธิพิเศษโนใน 3 ด้าน คือ ด้านศาสนา จารีต และการศึกษา ซึ่งสัญญาฉบับนี้สามารถตีความถึงการอนุญาตการประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์ด้วย

แต่เนื่องด้วยยุคประธานธิบดีซูการ์โนเกิดความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งมีความพยายามทำรัฐประหารยึดอำนาจของเขาด้วย จนมีการละเลยต่อสัญญาที่เคยให้ไว้กับชาวอาเจะห์์อีกครั้ง ซึ่งชาวอาเจะห์์ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์การทรยศครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลจาการ์ตาทำกับอาเจะห์ มีการเล่าขานต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน

ข้อสังเกตก็คือ ทำไมองค์กรอุลามาอฺปูซา ไม่ช่วงชิงโอกาสใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์หลังจากปี ค.ศ.1945 ที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม เพราะในช่วงเวลานั้นกลุ่มอูลามาอฺกลุ่มนี้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลจาการ์ตาก็อ่อนแอมาก

 

ยุคซูฮาร์โต - อุลามาอฺดายาห์ - สภาอุลามาอฺ

ผลจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจของรัฐบาลประธานาธิบดีซูการ์โน ทำให้ซูฮาร์โต ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปถือโอกาสนี้ในการกล่าวหาพรรคคอมมิวนิสต์โดยการรับลูกจากการฟัตวา หรือ การพิพากษาของกลุ่มอุลามาอฺดายาห์ (Ulama Dayah) หรือ กลุ่มอุลามาอฺที่สอนตามสถาบันปอเนาะต่างๆ ในอาเจะห์ว่า พรรคคอมมิวนิสต์เป็นองค์กรที่ผิดต่อหลักการศาสนาอิสลาม นำมาสู่การกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อย่างกว้างขวาง

ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีซูฮาร์โตได้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอุลามาอฺดายาห์และมอบอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมสภาอุลามาอฺที่ก่อตั้งโดยกลุ่มอุลามาอฺกลุ่มนี้

ผลหลังจากนั้นมีการก่อตั้งสภาอูลามาอฺทั่วประเทศในอินโดนีเซียมีการทำงานเป็นเครือข่ายโดยมีสภาอุลามาอฺจาการ์ตาเป็นศูนย์กลาง

กลุ่มอุลามาอฺสายต่างๆ ในอาเจะห์ถูกควบคุมโดยสภาอูลามาอฺผ่านการให้งบประมาณ ฉะนั้นการดำเนินงานต่างๆ ก็จะอยู่ภายใต้การดูแลของสภาอูลามาอฺจาการ์ตาที่รับนโยบายจากรัฐบาลจาการ์ตาอีกทีหนึ่ง

ในขณะเดียวกันกลุ่มอูลามาอฺมัดราซะห์มีการพัฒนาศักยภาพกลุ่มตัวเองอย่างต่อเนื่องจนสามารถผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ จนกลายเป็นกลุ่ม “อุลามาอฺกัมปุส (Ulama Kampus)” ในเวลาต่อมา

กล่าวโดยสรุปในยุคระเบียบใหม่ รัฐบาลกลางสามารถคุมอุลามาอฺทั้งสองกลุ่มได้เบ็ดเสร็จผ่านโครงสร้างสภาอุลามาอฺและโครงสร้างสถาบันการศึกษาของรัฐ

 

ยุคการปฏิรูป - อุลามาอฺกัมปุส - ขบวนการอาเจะห์เอกราช (GAM)

แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะห์ (Gerakan Aceh Merdeka ; GAM) ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1976 โดย ฮาซัน ดี ติโร (Hasan Di Tiro) ที่สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านองค์สุดท้ายของอาเจะห์

กลุ่ม GAM ชูข้อเสนอเรื่องสิทธิเหนือดินแดน ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีความประสงค์ที่จะแยกอาเจะห์ออกจากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย แต่จะไม่เคยชูเรื่องกฎหมายอิสลามในการต่อสู้ อาจเป็นเพราะเขาต้องการเสียงสนับสนุนจากโลกตะวันตก

กลุ่ม GAM ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอุลามาอฺดายาห์บางส่วน แต่กลุ่มอุลามาอฺกัมปุสไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนี้ โดยให้เหตุผลว่า GAM เป็นขบวนการที่ก่อความวุ่นวายด้วยการใช้ความรุนแรง

ช่วงเวลาเดียวกันรัฐบาลยุคการปฏิรูปได้ดำเนินนโยบายการการกระจายอำนาจทั่วทั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีการพิจารณาอนุมัติการประกาศใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์ แต่ชาวอาเจะห์กลับต้องการสิ่งอื่นแทน คือ สิทธิเหนือดินแดน โดยการนำของกลุ่มนักศึกษาเพื่อเรียกร้องการลงประชามติให้อาเจะห์ได้รับเอกราชจากสาธารณรัฐอินโดนีเซียแต่ไม่สำเร็จ

ปี ค.ศ.1999 รัฐบาลออกกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 44 ความว่า “ให้เพิ่มบทบาทกับอุลามาอฺอาเจะห์อย่างเต็มที่” ซึ่งความหมายของคำว่า “อุลามาอฺ” ในตัวบทกฎหมายจากที่ได้การศึกษาจะหมายถึงอูลามาอฺดายาห์ หรือกลุ่มอุลามาอฺที่สอนตามสถาบันปอเนาะต่างๆ

แต่ปรากฎว่ากลุ่มอุลามาอฺที่เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายกลับเป็นกลุ่มอุลามาอฺกัมปุส หรือกลุ่มอุลามาอฺที่เป็นอาจารย์สอนตามมหาวิทยาลัย

ฉะนั้นสามารถสรุปได้ว่า ประเด็นเรื่องกฎหมายอิสลามในอาเจะห์เป็นเรื่องการเมืองที่ฝ่ายต่างๆ นำมาใช้หาเสียงหรือทำลายคู่ต่อสู้ หรือ ฝ่ายตรงข้าม

แต่การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการประกาศใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์เป็นผลจากการต่อสู้ของกลุ่มอุลามาอฺไม่ใช่กลุ่ม GAM ซึ่งกลุ่มอุลามาอฺที่ประสบความสำเร็จในการฉวยโอกาสตรงนี้คือ กลุ่มอุลามาอฺกัมปุส หรือกลุ่มอุลามาอฺที่เป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

เริ่มต้นจากการร่างตัวบทกฎหมายอิสลาม นำเสนอ และควบคุมการใช้กฎหมายอิสลามในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สรุป คือ กลุ่มอูลามาอฺดายาห์ หรือ อูลามาอฺที่เป็นครูสอนตามสถาบันปอเนาะต่างๆ ไม่เคยมีส่วนร่วมในการร่างและไม่มีตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแม้แต่องค์กรเดียว

ปัจจุบันกลุ่มอุลามาอฺดายาห์ได้มีการก่อตั้งพรรคการเมืองที่ชื่อว่า “พรรคสันติภาพอาเจะห์ (Partai Damai Aceh)” โดยมีนโยบายหลักคือการใช้กฎหมายอิสลามที่สมบูรณ์แบบ แต่พรรคนี้กลับไม่เคยได้รับชนะแม้แต่ครั้งเดียว ในขณะพรรคที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง คือ “พรรคอาเจะห์ (The Aceh Party/Partai Aceh)” ซึ่งเป็นพรรคของแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะห์ หรือ GAM นั่นเอง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท