Skip to main content
sharethis

ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นแย้งกรณีจ่อเซ็ตซีโร่ กกต.-กสม. ระบุปลา 2 น้ำอาจจะอร่อยกว่าปลาน้ำเดียว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเป็นปลากี่หน้า แต่ต้องดูว่าปลาตัวนั้นทำหน้าที่ได้หรือไม่ พร้อมขอความเมตตาให้องค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณาคุณสมบัติเป็นรายๆ ไป เผยหากพ้นตำแหน่งอาจกลับไปเลี้ยงหลาน ท่องเที่ยว หรือปฏิบัติธรรม

9 มิ.ย. 2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) วัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการเซ็ตซีโร่ทั้งกกต.และ กสม. เนื่องจากมีการเปลี่ยนเหตุผลในการเซ็ตซีโร่ไปเรื่อย ๆ ในส่วนของกสม. ได้รับร่างกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นครั้งที่สอง โดยจะส่งความเห็นของกสม. กลับไปให้ กรธ. ภายในสัปดาห์หน้า โดยมีประมาณ 20 ประเด็นที่เห็นว่าจะมีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงมาตรา 60 ที่ให้เซ็ตซีโร่ กสม. ด้วย ล่าสุดมีการให้เหตุผลว่าหากไม่เซ็ตซีโร่จะมีปัญหาเรื่องปลาสองน้ำในการทำงาน ทั้งๆ ที่เกือบทุกองค์กรก็มีลักษณะปลาสองน้ำ แม้แต่องค์กรอิสระที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ถูกเซ็ตซีโร่ ดังนั้นเหตุผลนี้จึงไม่ถูกต้อง

”ปลาน้ำเดียวไม่ว่าจะน้ำจืดหรือน้ำเค็ม ที่บอกว่าอร่อย ปลาสองน้ำอร่อยกว่า เช่นปลาแซลมอนเกิดในน้ำจืดจากภูเขา แต่โตในน้ำเค็มจากนั้นว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่และตายในน้ำจืด เป็นปลาสองน้ำที่ ทั้งอร่อยและมีประโยชน์ แต่ที่อร่อยกว่าปลาสองน้ำคือปลาสามน้ำ คือปลาคัง ที่อ.โขงเจียม เกิดจาก 3 น้ำมารวมกันคือโขง ชี และมูล เป็นปลาที่อร่อยที่สุด ดังนั้นจะปลาน้ำเดียว สองน้ำหรือสามน้ำ ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สำคัญที่ว่าปลาเหล่านั้นอร่อยและมีประโยชน์หรือไม่ เทียบกับองค์กรอิสระก็ทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นปลาสองน้ำแล้วทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ ก็ควรให้ทำหน้าที่ต่อ ผมขอวิงวอนให้องค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วยความเมตตามากๆ ก่อนที่จะคิดว่าจะรีเซ็ตหรือให้ทำหน้าที่ต่อ เพราะถ้าให้พ้นจากหน้าที่ไปโดยที่กรรมการในองค์กรอิสระขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามซึ่งจะเป็นเรื่องเฉพาะรายที่เป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะคนที่เข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระยอมทิ้งงานอื่นมารับใช้ประเทศ ถ้าทำงานไม่ดี ก็มีทางถอดถอนได้อยู่แล้ว” วัส กล่าว

วัส กล่าวอีกว่า หลังจากนี้กสม. ก็จะทำความเห็นไปให้กรธ.ตามขั้นตอน แต่ถ้าไม่สามารถยับยั้งได้แล้วมีการประกาศใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว ก็ต้องยอมรับ เนื่องจากเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยจะไม่ใช้สิทธิส่วนตัวไปร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกเพราะคงเป็นเรื่องไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้ตัวเองจะถูกละเมิดแต่ถ้าจะต้องไปร้องเพื่อประโยชน์ตัวเอง ก็จะกลายเป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนหรือแพ้แล้วไม่ยอมเลิก ดังนั้นถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้ตามร่างของกรธ.นี้จริงก็คงไม่สามารถทำอะไรได้ ตนก็คงกลับไปเลี้ยงหลาน หรือไม่ก็ท่องเที่ยว ปฎิบัติธรรม แต่ยืนยันในทางวิชาการว่าเซ็ตซีโร่ทั้งนี้ไมมีเหตุผลเพียงพอ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติ่มว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้กล่าวถึงกรณีการเซ็ตซีโร่ กกต. ว่า ที่ประชุมคณะกรรมมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. กกต. นั้น กรธ.ส่งตัวแทนเข้าไป  2 คน คือ ภัทระ คําพิทักษ์กับ ปกรณ์ นิลประพันธ์  เมื่อไปประชุมก็จะนำกลับมาเล่าให้กรธ.ได้ฟัง ในตอนสุดท้ายของการประชุมกมธ. เหลือประเด็นบทเฉพาะกาลที่จะทำอย่างไรกับกกต.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรธ.เสนอไปคือ ให้ดูคุณสมบัติ ถ้าใครมีคุณสมบัติครบก็อยู่ต่อใครขาดคุณสมบัติก็ต้องหมดไป  ส่วนสนช.ขอแปรญัตติให้กกต.อยู่หมด กมธ.ได้ขอให้กรธ.ช่วยหาทางออก ภัทระและปกรณ์ได้บอกว่าถ้าจะหาทางออกต้องดูหมดทุกทาง มี 3 ทาง คือ 1.เซ็ตซีโร่  2.อยู่เฉพาะคนที่มีคุณสมบัติครบ และ3.ให้อยู่หมดเมื่อพูดคุยกันที่ประชุมจึงมีข้อตกลงให้เซ็ตซีโร เมื่อกรธ.ทราบแนวแทางเซ็ตซีโร่ของกมธ. ก็รู้สึกเห็นด้วยว่าสามารถทำได้โดยไม่กระทบต่อองค์กรอิสระอื่น เนื่องด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป  การเซ็ตซีโร่กกต.ดีที่สุด เพราะสอดคล้องรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ กกต.คือองค์กรอิสระเดียว ที่มีการเปลี่ยนแปลงเยอะที่สุด 

มีชัย กล่าวอีกว่า หากจะโทษกรธ.ว่าเปลี่ยนใจ ก็โทษได้ แต่อย่างที่เราเคยบอกว่า การทำกฎหมายลูก สุดท้ายจะขึ้นกับสนช. ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากมีเหตุผลและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม กรธ.ก็ไม่ขัดข้อง ที่กรธ.เห็นด้วยกับกมธ.สนช.ก็เพราะมันจะมีประโยชน์ต่อการเลือกตั้งมากที่สุด ที่ยังไม่รู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายปี61 หรือต้นปี 62 เมื่อถึงตอนนั้น กกต.ชุดเดิมจะพ้นจากตำแหน่งหลายคน การทำหน้าที่อาจจะสะดุด เพราะต้องทยอยสรรหาเพิ่ม แต่หากเซ็ตซีโร่เลยจะไม่สะดุด  ส่วนข้อกล่าวหาว่า เซ็ตซีโร่กกต.แล้วจะลากยาวเลือกตั้งนั้น ไม่จริง เนื่องจากไม่ว่า จะสรรหากกต.ตอนไหน ก็จะใช้เวลาตามกรอบที่วางไว้คือ 90 วัน ไม่กระทบต่อการเลือกตั้ง  และไม่ว่าจะสรรหรองค์กรอิสระตอนไหน กลไกการจะหลุดไปจากอำนาจของฝ่ายบริหาร โครงสร้างคณะกรรมการสรรหากำหนดชัด ให้มาจากประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง ประธานรัฐสภา และตัวแทนจากองค์กรอิสระอื่นที่ไม่ใช่องค์กรที่จะสรรหา และการเลือกต้องใช้มติ 2 ใน 3 ดังนั้นไม่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจของคสช.เลย

เมื่อถามถึงบรรทัดฐานการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระอื่น อย่างป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญที่คุณสมบัติคณะกรรมการ คล้ายกับกกต. มีชัย กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับคุณสมบัติการเซ็ตซีโร่ต้องขึ้นอยู่กับบทเฉพาะกาล ที่ต้องดูแต่ละองค์กรไป อย่างกสม.เราต้องการเซ็ตซีโร ให้เป็นไปตามหลักการปารีส ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นกับการพิจารณาของสนช. ส่วนใครจะไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความก็เป็นสิทธิตามกฎหมาย  เพราะก่อนจะนำร่างกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องให้ความเห็นชอบ  “การปฏิรูปมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องกระทบนั่นนิดกระทบนี่หน่อย โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง การตรวจสอบต้องเข้มงวดกว่าเดิม เมื่อจะปฏิรูปก็ต้องยอมเจ็บกันบ้าง”  มีชัยกล่าว

ที่มาจาก: มติชนออนไลน์ , คมชัดลึกออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net