Skip to main content
sharethis
 
ก.แรงงาน เตรียมรับ 12 คนงานไทย กลับจากซาอุฯ หลังทางการประกาศนิรโทษกรรมบุคคลไม่มีใบรับรองถิ่นที่อยู่
 
กระทรวงแรงงาน โดย สนร.ริยาด ให้ความช่วยเหลือส่งแรงงานไทย 12 คน กลับจากซาอุดิอาระเบีย ประสานหางานทำให้ตามความต้องการ หากลุ่มแรงงานที่ได้รับนิรโทษกรรมเดินทางกลับประเทศไทย เหตุแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ จนทางการกักตัวไว้นานกว่า 25 ปี ภายหลังได้ประกาศนิรโทษกรรมปล่อยตัวออกมา
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการข่าวสารกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่ทางการซาอุดิอาระเบียได้ประกาศนิรโทษกรรมให้กับบุคคลต่างชาติที่ไม่มีหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ (ใบอีกาม่า) ให้สามารถเดินทางกลับประเทศของตนเองได้โดยยกเว้นโทษปรับในจำนวน 10,000 รียาล หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ เกือบหนึ่งแสนบาทนั้น สำหรับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้มีระยะเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2560 ถึง 26 มิถุนายน 2560 จึงทำให้มีชาวต่างชาติที่พำนักอย่างไม่ถูกต้องได้เข้ามารายงานตัวเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้ได้มีคนไทยและแรงงานไทยรวมอยู่ด้วย โดยแต่ละคนนั้นได้อยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นเวลานานกว่า 25 ปี และมีอายุเกินกว่า 60 ปี เกือบทุกคน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้ให้ความช่วยเหลือให้บุคคลกลุ่มนี้ออกมาลงทะเบียน จึงมีผู้ออกมารายงานตัวจำนวน 86 คน แบ่งเป็น เขตความรับผิดชอบ สอท.ริยาด จำนวน 23 คน และ สกญ.เจดดาห์ จำนวน 58 คน ซึ่งบางส่วนได้เดินทางกลับไปบ้างแล้ว 
 
นายสุทธิ ยังกล่าวต่อว่า ในวันที่ 3 มิถุนายนนี้ จะมีแรงงานไทย เดินทางกลับ จำนวน 12 คน โดยออกเดินทางจากเมืองริยาดจำนวน 7 คน โดยสายการบินคูเวต เที่ยวบินที่ KU 411 ในเวลา 18.30 น. และจะถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 10.50 น.ของวันที่ 4 มิถุนายนนี้ ส่วนแรงงานไทยที่เหลืออีก 5 คน จะเดินทางออกจากเมืองดัมมั่ม โดยสายการบินกาตาร์ เที่ยวบินที่ FZ 0523 ในเวลา 19.00 น. และจะถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 12.35 น.ของวันที่ 4 มิถุนายนนี้เช่นเดียวกัน
 
อย่างไรก็ดี กลุ่มแรงงานไทยที่ได้เดินทางกลับพร้อมทั้งครอบครัวต่างมีความรู้สึกซาบซึ้งยินดีที่ได้รับการอภัยโทษ ทั้งนี้ สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย (สนร.ริยาด) จะได้ดำเนินการหาคนกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มได้รับการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ได้เดินทางกลับมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และคนกลุ่มนี้ถือเป็นแรงงาน
 
สูงวัย นอกจากนี้ สนร.ริยาด ยังได้ประสานกับแรงงานไทยบางคน ที่มีความประสงค์จะทำงานต่อไปและได้จัดหางานให้ด้วยแล้ว ซึ่งการประกาศนิรโทษกรรมในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียด้วย
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 4/6/2560
 
นายจ้างใช้เด็กทำงานต้องแจ้งต่อพนักงานใน 15 วัน
 
กระทรวงแรงงาน กำชับนายจ้างจ้างเด็กอายุ 15 ถึง 18 ปี เข้าทำงาน ต้องแจ้งการจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเด็กทำงานฝ่าฝืนมีโทษอาญา
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า จากการดำเนินการตรวจเข้มสถานประกอบกิจการที่มีการใช้แรงงานเด็กตามมาตรการ 3-3-2 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 15 พฤษภาคม 2560 มีสถานประกอบกิจการผ่านการตรวจ 843 แห่ง พบสถานประกอบกิจการปฏิบัติไม่ถูกต้อง 161 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็ก 29 แห่ง ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้กำกับให้ปฏิบัติถูกต้องแล้ว ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบความผิดที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องมากที่สุดคือการไม่แจ้งการจ้างแรงงานเด็ก จำนวน 18 แห่ง ทั้งนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดห้ามไม่ให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าทำงาน สำหรับการจ้างเด็กอายุ 15 ปี ถึง 18 ปี เข้าทำงานนายจ้างจะต้องแจ้งการจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีโทษทางอาญา
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจ้างเด็กเข้าทำงานเป็นเรื่องที่สามารถทำได้และเป็นประโยชน์แก่เด็กที่ต้องการหาประสบการณ์หรือเรียนรู้ที่จะปรับตัว เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน แต่นายจ้างต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เป็นการจ้างแรงงานเท่านั้นไม่ได้หมายรวมถึงการที่พ่อแม่ ผู้ปกครองให้เด็กทำงานในครอบครัว หากนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการใดมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2245 7170, 0 2246 6389 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 10 พื้นที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1546
 
 
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผย ยอดตั้งโรงงาน พ.ค.เพิ่มขึ้น 18.31 % เงินลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท
 
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และการขยายกิจการในเดือนพฤษภาคม 2560 มีจำนวนโรงงานขอทั้งสิ้น 433 โรงงาน เพิ่มขึ้น 18.31% มูลค่าการลงทุนรวม 50,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.94% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจดประกอบกิจการใหม่มากที่สุด 3 อันดับแรกในเดือนพฤษภาคม คือ อุตสาหกรรมอาหาร 46 โรงงาน มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5,691 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 50.83% อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 40 โรงงาน มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,680 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 181.53% อุตสาหกรรมพลาสติก 32 โรงงาน มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 1,473 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ก่อน เพิ่มขึ้น 114.11%
 
สำหรับข้อมูล การขอใบอนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงานเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2560 มีจำนวน 1,975 โรงงาน แรงงาน 82,610 คน มูลค่าการลงทุนรวม 167,283 ล้านบาท ส่วนการแจ้งเริ่มประกอบกิจการและแจ้งเริ่มส่วนขยายกิจการ จำนวน 1,527 โรงงาน แรงงาน 66,255 คน มูลค่าการลงทุนรวม 145,867 ล้านบาท
 
 
กสถ.เตรียมเปิดรับสมัครสอบบรรจุข้าราชการท้องถิ่น 2.1 หมื่นอัตราปลายเดือน มิ.ย. นี้
 
วันที่ 4 มิถุนายน นายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย ในฐานะ คณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ขอให้ผู้สนใจสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นในองค์การบริหารส่วนจังหวัด อบต. และเทศบาล ทั่วประเทศเตรียมตัวให้พร้อม คาดว่า กสถ.จะมีประชุมและกำหนดเปิดรับสมัครสอบทางอินเตอร์เน็ตได้ช่วงปลายเดือนมิถุนายน นี้ โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการจัดสอบภายใน 4 เดือน เพื่อให้ทันบรรจุข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นรอบแรกได้ในวันที่ 1 ตุลาคม นี้ ล่าสุดมีอัตรากว่า 21,000 ตำแหน่ง เพื่อใช้บรรจุในองค์กรปกครองท้องถิ่น( อปท.) ทั่วประเทศ
 
นายเชื้อ กล่าวว่า สำหรับการสอบภาค ก ภาครู้ความสามารถทั่วไป 100 ข้อ คณะกรรมการกลางข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น ได้ประชุมเพื่อพิจารณามีมติเห็นชอบตามที่ กสถ. เสนอ โดยให้มีการสอบวิชาภาษาอังกฤษ 20 ข้อ เป็นคะแนนส่วนหนึ่งในการสอบภาค ก ของทุกตำแหน่ง โดยผู้สอบผ่านภาค ก ต้องได้คะแนนรวมทุกวิชาไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ถือว่าสอบผ่าน ทั้งนี้ การทดสอบภาษาอังกฤษ จะมีการสอบในตำแหน่งสายทั่วไป วุฒิ ปวช.และ ปวส. และตำแหน่งสายวิชาการ ใช้วุฒิปริญญาตรี เช่นเดียวกับการสอบบรรจุของข้าราชการพลเรือน คาดว่าจะมีผู้สนใจสมัครสอบแข่งขันครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 6 แสนคน ซึ่งมีมาตรฐานเดียวกันในการป้องกันการทุจริตเช่นเดียวกับการจัดสอบเมื่อปี 2556
 
 
กอช.แนะสมาชิกออมต่อได้ แม้ผันตัวเป็นแรงงานในระบบ
 
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. แนะนำสมาชิกเมื่อเปลี่ยนอาชีพเข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบยังสามารถออมเงินกับ กอช. ต่อได้ หากอายุครบ 60 ปี มีโอกาสรับเงินบำนาญจาก กอช.
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. กล่าวว่า กอช. เป็นเครื่องมือการออมระยะยาวเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายยามชราภาพ ซึ่งเป็นสวัสดิการทางสังคมภายใต้การกำกับดูแลของรัฐที่เป็นที่พึ่งพาของกลุ่มคนทำงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่เคยเป็นสมาชิก กอช. แล้ว และได้ผันตนเองไปเป็นแรงงานในระบบ ไม่ว่าจะรับราชการหรือเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ก็ยังคงรักษาสถานภาพการเป็นสมาชิก กอช. ต่อไปได้ เพียงแต่ในขณะที่สมาชิกเป็นแรงงานในระบบนั้น จะไม่ได้รับเงินในส่วนที่รัฐบาลสมทบให้ แต่ยังสามารถส่งเงินสะสมและได้รับดอกผลอย่างต่อเนื่อง และเมื่ออายุครบ 60 ปี ก็มีโอกาสได้รับเงินบำนาญเช่นเดียวกัน
 
"นักเรียนนักศึกษาที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถสมัครเป็นสมาชิก กอช. ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าการออมจะสูญเปล่าเมื่อเรียนจบและได้เข้าทำงานเป็นแรงงานในระบบ เนื่องจากเงินที่สะสมและเงินที่รัฐสมทบที่ผ่านมาจะถูกนำไปลงทุนในตราสารประเภทที่ให้ผลประโยชน์อย่างมั่นคงในระยะยาว เพื่อสร้างผลตอบแทนแก่การออมระยะยาวของสมาชิก ทั้งนี้สมาชิกควรมีวินัยทางการออม เมื่อมีการออมที่สม่ำเสมอบวกกับระยะเวลาในการเก็บออมและอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน ย่อมส่งผลให้มีหลักประกันขั้นพื้นฐาน มีเงินใช้จ่ายในยามชราภาพอย่างแน่นอน”นายสมพรกล่าว
 
อย่างไรก็ดี ยังมีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ของ กอช. ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจออม จึงขอให้ประชาชนศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ กอช. ให้ถี่ถ้วน โดยสามารถศึกษาข้อมูลเบื้องต้นผ่านทาง www.nsf.or.th เฟซบุ๊ก (Facebook) กองทุนการออมแห่งชาติ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทาง สายด่วนเงินออม 02-017-0789 เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง
 
สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนการออมแห่งชาติได้ที่ กอช. สายด่วนเงินออม 02-017-0789 ในวันและเวลาทำการ และติดต่อสมัครสมาชิกได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ
 
 
กระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำ 7 สายหลักทั่วประเทศ พบโรงงานริมน้ำปล่อยน้ำเสียเกินมาตรฐาน 68 แห่ง จาก 1,044 แห่ง
 
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมชาย หาญหิรัญ ระบุว่า สถานการณ์ฝนที่ตกหนักในขณะนี้ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ โดยเฉพาะริมแม่น้ำสายหลัก 7 สาย ประกอบด้วย แม่น้ำท่าจีน เจ้าพระยาตอนบนและล่าง น้ำพอง บางปะกง แม่กลอง และทะเล สาบสงขลาซึ่งมีโรงงานจำนวน 1,400 โรง ซึ่งได้มีการตรวจสอบเสร็จแล้ว 1,044 โรง คิดเป็นร้อยละ 75 โดยพบว่า คุณภาพน้ำจากปลายท่อน้ำทิ้งโรงงาน มีค่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเป็นส่วนใหญ่ แต่มีโรงงานที่มีผลการตรวจวัดเกินกว่าเกณฑ์ จำนวน 68 โรง จึงมีคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงตาม พ.ร.บ.โรงงาน ปี 2535 มาตรา 37 แล้ว
 
 
ก.แรงงาน หารือปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมงทะเล โดยได้มอบหมายให้จัดหางานจัดประชุมผู้ประกอบการประมงจังหวัด 12 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สงชลา ตรัง ตราด สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระนอง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ปัตตานี กระบี่ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
 
เบื้องต้นที่ประชุมมีข้อเสนอเกี่ยวกับค่าตอบแทน โดยให้จ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนๆ ละ 12,000 บาท นอกจากนี้ยังเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราวันละไม่น้อยกว่า 400 บาทอีกด้วย
 
 
ดันลูกจ้าง "ประมงทะเล" เงินเดือน 12,000 บาท บวกค่าที่พัก-อาหาร-รักษา-ประกันชีวิต
 
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยและเห็นความสำคัญของแรงงานในภาคประมงที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ จึงได้สั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งรัดดำเนินการหารือผู้เกี่ยวข้องในการปรับปรุงสภาพการจ้างและการทำงานพร้อมจัดสวัสดิการทุกรูปแบบให้กับแรงงานในภาคประมงเพื่อจูงใจให้แรงงานที่ทำงานในกิจการประมงทะเลโดยเฉพาะแรงงานไทยไม่ต้องห่างครอบครัวไปลงเรือประมงในต่างแดน ดังนั้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานจึงร่วมมือกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทยผลักดันให้มีการปรับสภาพการจ้างงานเพื่อจูงใจแรงงานไทยหันมาทำงานในกิจการประมงทะเลเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเบื้องต้นทั้งสองฝ่ายมีข้อยุติร่วมกันว่าจะจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเป็นรายเดือนๆละ 12,000 บาท พร้อมกับจัดสวัสดิการด้านที่พัก อาหาร การรักษาพยาบาล ประกันสุขภาพ ประกันสังคม รวมทั้งประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุให้กับแรงงานภาคประมงอีกด้วย โดยจะต้องมีการทำสัญญาจ้างที่กำหนดอัตราค่าจ้างและสวัสดิการต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับแรงงาน
 
นายอนันต์ชัย กล่าวว่า การปรับสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม รวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ จะช่วยให้แรงงานไทยมีรายได้ที่ดี มีความมั่นคงในชีวิตการทำงาน และจะช่วยจูงใจให้แรงงานไทยไม่ปฏิเสธงานประมง และไม่ต้องใช้ชีวิตบนท้องทะเลในต่างแดน หากท่านใดสนใจสามารถติดต่อรายละเอียดหรือสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
 
กระทรวงแรงงานเผยสถิติเดือนพฤษภาคม คนงานไทยไปทำงานต่างประเทศเพิ่มขึ้น พบนิยมไปไต้หวันมากสุดกว่า 3,000 คน
 
กรมการจัดหางาน เผยสถิติเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คนงานไทยนิยมไปทำงานไต้หวันมากที่สุด 3,375 คน คิดเป็นร้อยละ 37.14 ของจำนวนคนงานไทยที่เดินทางไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวน 9,087 คน ขณะที่ยอดระงับการเดินทางของผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ มีจำนวน 13 คน โดยระงับไปบาห์เรนมากที่สุด
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คนงานไทยยังนิยมไปทำงานต่างประเทศโดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีคนงานไทย เดินทางไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ จำนวน 9,087 คน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนพบว่ามีจำนวน เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 22.90 ซึ่งมีจำนวน 7,390 คน โดยไปทำงานไต้หวันมากที่สุด 3,375 คน รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 1,070 คน อิสราเอล 801 คน ญี่ปุ่น 668 คน ตามลำดับ ขณะที่มีการระงับการเดินทางของผู้ที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศ รวม 13 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนน้อยลง คิดเป็นร้อยละ 56.67 ซึ่งมีจำนวน 30 คน โดยประเทศที่ถูกระงับการเดินทางมากที่สุดเป็นบาห์เรน รองลงมาเป็น สิงคโปร์ อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
 
นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีการหลอกลวงคนหางานผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก จึงขอย้ำเตือนอีกครั้งว่าการไปทำงานต่างประเทศจะต้องไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงาน มีสัญญาจ้างที่ผ่านการรับรองสัญญาจ้างจากหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองประเทศ ใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการทำงานไม่ได้ เพื่อป้องกันการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ จึงขอให้ตรวจสอบกับกรมการจัดหางานก่อน โดยสอบถามข้อมูล แจ้งเรื่องร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางานได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 0-2248-2278 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 10/6/2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net