Skip to main content
sharethis

รองนายกรัฐมนตรี เชื่อการสรรหา กกต. ชุดใหม่คงไม่มีใครโง่ไปสรรหาคนที่ไม่มีประสบการณ์หรือทำอะไรก็ไม่เป็น มาทำงาน ย้ำหาก กกต. ชุดปัจจุบัน ไม่เห็นด้วยกับการเซ็ตซีโร่ ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ด้านมีชัยเชื่อ คนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องเซ็ตซีโร่ กกต. ระบุเตรียมส่งกฎหมาย กสม. 19 มิ.ย. นี้ มีเซ็ตซีโร่ด้วย

12 มิ.ย. 2560 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง(เซตซีโร่) หลังจากที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ประกาศใช้ว่า ตอนนี้การทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังไม่เสร็จ อีกทั้งยังไม่ได้เริ่มการเซตซีโร่กกต. และตนไม่ทราบเรื่องการเซตซีโร่องค์กรอิสระอื่นๆ และเขายังไม่ได้ร่างกฎหมายตรงนี้ขึ้นมาสักตัว อย่างไรก็ตาม กรณีเซ็ตซีโรกกต. ถ้ากกต.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ไม่คัดค้านมติ สนช. สามารถส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ทันที แต่ถ้าคัดค้าน จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างสนช.กับกรธ. ส่วนกกต.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เขาคงรู้วิธีการ อย่าไปเดากันก่อน

เมื่อถามว่าเป็นแนวทางปฏิรูปองค์กรอิสระหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ใช่หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ได้ปฏิรูปไปแล้วในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้วว่าปฏิรูปอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติต้องดู ทั้งนี้กรณีของกกต.ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติ แต่เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างโดยเพิ่มกรรมการจาก 5 คน เป็น 7 คนซึ่งถ้าองค์กรใดเข้าข่ายลักษณะเดียวกัน ก็ต้องถูกดำเนินการตามนี้ เมื่อถามต่อว่ามีบางฝ่ายมองว่าแม้กรรมการกกต.จะมีที่มาแตกต่างกัน ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ และจะทำให้มีการถ่วงดุลอำนาจกัน วิษณุ กล่าวว่า ตนได้ยินว่าเขาพูดอย่างนั้น ถ้าจะทานปลาหลายน้ำแล้วยิ่งอร่อย ก็ไม่เป็นอะไร ตนไม่มีอะไรไปตอบโต้และไม่มีอะไรผสมโรงด้วย

เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่าการสรรหากกต. ชุดใหม่อาจจะวางคนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้าไปด้วย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนการสรรหากกต. ถ้าจะคิดถึงเรื่องวางตัวคนและเดาในแง่ร้าย ก็คิดกันไปได้หมดทั้งนั้น ปัจจุบันมีกรรมการกกต. 5 คน จะต้องสรรหามาอีก 2 คนซึ่งถ้าคิดจะวางคนเข้าไป ก็คงทำในส่วนของ 2 คนนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับ 5 คนที่มีอยู่ จะมีคนที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง 1 คน ผู้เกษียณอายุราชการ 2 คน และผู้ที่มีคดีอยู่ในการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) 1 คน จึงเหลือคนอยู่ในตำแหน่ง 1 คน

“ผมเห็นคุณสมชัย (ศรีสุทธิยากร กกต.) ให้สัมภาษณ์ในรายการทางโทรทัศน์ หลังถูกถามว่าหลังได้กกต.ชุดใหม่แล้วเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเรียบร้อยหรือไม่ คุณสมชัยตอบว่าต่อให้มีกกต.เก่าอยู่ เขาไม่กล้าพูดว่าการเลือกตั้งจะเรียบร้อย เพราะคำว่าเรียบร้อยหรือไม่นั้นอยู่ที่คนอื่นเป็นคนทำ อยู่ที่ผู้สมัคร อยู่ที่ประชาชน แต่คนเป็นกกต.มีหน้าที่ทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเก่าหรือไม่ เหมือนตำรวจกับโจร ถ้าบอกว่าปฏิรูปตำรวจแล้วโจรจะหมดไปมันก็ไม่ใช่ แต่ถ้าไม่ปฏิรูป มันจะยิ่งแย่” วิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่าบางฝ่ายเป็นห่วงว่ากกต.ชุดใหม่อาจไม่มีประสบการณ์เพียงพอในการจัดการเลือกตั้ง วิษณุ กล่าวว่า “ผมพูดมาทั้งหมดนี้ จะยังเป็นห่วงอะไรกันอีก แล้วทำไมถึงจะโง่ไปสรรหาคนที่ไม่มีประสบการณ์หรือทำอะไรก็ไม่เป็น ประสบการณ์มันต้องเริ่มแล้วจึงจะมีทั้งนั้น 5 คนนี้เมื่อก่อนก็ไม่มีประสบการณ์”

มีชัย เชื่อคนส่วนใหญ่เข้าใจเหตุผลเซ็ตซีโร่ กกต. พร้อมเตรียมส่ง พ.ร.ป. กสม. 19 มิ.ย. มีเนื้อเซ็ตซีโร่อยู้ด้วย

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)กล่าวถึงกรณีที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่เข้าใจเหตุผลการเซ็ตซีโร่ กกต.ของ กรธ. ว่า ไม่ต้องการตอบโต้กันไปมา แต่เชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่เข้าใจถึงเหตุผลในการเซ็ตซีโร่ กกต. เนื่องจากมีโครงสร้างและที่มาของ กกต ที่มีปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมองว่า ไม่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนในรูปแบบหรือไม่ ก็ต้องถูกฝ่ายการเมืองวิพากษ์วิจารณ์อยู่ดี  

มีชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากมองว่าการเซ็ตซีโร่ กกต. ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ผู้ที่มีสิทธิจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคือ สนช.  ขณะที่ กกต. และ กรธ. มีหน้าที่แสดงความคิดเห็นว่า ตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่ หากมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็จะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ก่อนส่งก่อนสรุปผลแล้วส่งกลับไปยัง สนช. อีกครั้ง 

มีชัย  ยืนยันว่า ที่ผ่านมา กรธ.พยายามอธิบายความจำเป็นของการเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระอยู่แล้ว  โดยเฉพาะเรื่องปลา 2 น้ำ ที่เมื่อโครงสร้างและที่มาเปลี่ยนไป อาจจะเกิดความซ้ำซ้อนในการทำหน้าที่ และหากปล่อยผ่าน จะทำให้เกิดปัญหาการเลือกตั้งในอนาคตได้

ส่วนกรณีที่ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง มองว่า กรธ ส่งร่างกฎหมายที่ไม่ดีให้ สนช. นั้น มีชัย กล่าวว่า เป็นความเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ร่างกฎหมายดีหรือไม่ดี เพราะในระบบสภา สนช. เป็นถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการพิจารณาปรับแก้ ก่อนที่ออกกฎหมายอยู่แล้ว  

ทั้งนี้มีชัยระบุด้วยว่า กรธ. จะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ สนช.ในวันที่ 19 มิ.ย. โดยมีเนื้อหาให้เซ็ตซีโร่กรรมการกสม. ด้วย

ที่มาจาก: สำนักข่าวไทย , มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net