สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: วินัยแบบทหารในโรงเรียน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


 

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จากที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ'โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม' และเว็บไซต์ของโรงเรียนโพสต์ภาพบรรยากาศปฐมนิเทศนักเรียนระดับชั้น ป.3 - ป.4 ประจำปีการศึกษา 2560 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม โดยภาพดังกล่าวมีภาพทหารแต่งกายในเครื่องแบบ เข้าร่วมงานปฐมนิเทศของนักเรียนครั้งนี้ด้วย เมื่อภาพเช่นนี้เผยแพร่ออกมา ก็นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามว่า เหตุใดทหารจึงต้องไปยืนคุมแถวเด็กประถมด้วย?
ต่อมา คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว  รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ  ได้อธิบายว่า การเอาทหารฝึกวินัยเด็กชั้นประถมปีที่ 3-4 เป็นเรื่องดี และโรงเรียนทำแบบนี้มานานแล้ว โดยได้ความคิดมาจากโรงเรียนเครือเซนต์คาเบรียล และยังมีโรงเรียนดังในกรุงเทพอีกมากที่เอาทหารฝึกเด็กในปัจจุบัน คณบดีศึกษาศาสตร์ย้ำว่า เด็กนักเรียนสาธิตประสานมิตรวันนี้ไร้วินัย เพราะพ่อแม่เลี้ยงลูกมาอ่อนแอ แม้แต่เข้าแถวยังยืนบิดไปบิดมา และผู้ที่ฝึกวินัยที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นทหาร การเอาทหารมาฝึกจึงไม่ได้ทำเด็กประถมเสียความคิดสร้างสรรค์ แต่เพื่อให้นักเรียนใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีวินัย เช่น ในการเข้าคิว เข้าแถวในการรับประทานอาหาร การเข้าแถวเวลาเช้า และ การเดินขึ้นลงบันไดของนักเรียน ซึ่งผู้ปกครองต้องขอบคุณโรงเรียนที่สอนวินัยให้ลูก

ที่น่าสนใจ คือ คุณประพันธ์ศิริ สุเสารัจ เป็นคนเขียนหนังสือสำคัญ เช่น เรื่อง การพัฒนาการคิด และ การคิดวิเคราะห์ และยังเป็นวิทยากรอภิปรายในเรื่องลักษณะนี้เสมอ แต่ในกรณีนี้ คุณประพันธ์ศิริและโรงเรียนสาธิตถูกโจมตีอย่างหนักว่า เป็นการสร้างความคิดให้เด็กประถมคุ้นเคยกับเผด็จการ และเป็นเรื่องไม่เหมาะสมในยุคทหารครองเมืองเช่นนี้ เพราะการฝึกและสร้างวินัยในเด็กไม่ควรที่จะเอาวินัยทหารมาเป็นต้นแบบ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง กรณีนี้ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยโดยกระแสหลักนั้น เป็นสังคมอำนาจนิยมมาช้านาน เพราะให้การยอมรับและเชื่อถือการใช้อำนาจแบบทหาร จึงมีความพยายามในการเปิดบทบาทให้ทหารกระทำการเกินหน้าที่เสมอ เรื่องที่ใหญ่กว่านี้ คือ กรณีที่ชนชั้นนำไทยเห็นว่าบ้านเมืองมีปัญหาความขัดแย้ง ก็จะพิจารณาว่ากองทัพจะทำหน้าที่เป็นองค์กรแก้ปัญหา จึงชักชวนและเปิดทางให้ฝ่ายทหารก่อการรัฐประหาร เอาทหารมาทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ทั้งที่ไม่มีความรู้ความสามารถ และจะมีแนวคิดในทางชื่นชมว่า ทหารเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อย จัดวินัยให้สังคม เรื่องวินัยจึงถูกทำให้เป็นเรื่องสำคัญ จากความเห็นที่ว่า สังคมไทยเป็นสังคมไร้วินัย จึงสร้างจินตภาพว่า กองทัพน่าจะเป็นองค์กรที่มีวินัยที่สุด และกลายเป็นเหตุผลของการนำวินัยแบบทหารมาสู่โรงเรียน

คำว่า “วินัย” (Discipline) โดยทั่วไปหมายถึง ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ ข้อปฏิบัติในทางที่จะควบคุมพฤติกรรมของบุคคล วินัยที่เก่าแก่และใช้กันมานานแล้ว คือ วินัยสงฆ์ ซึ่งออกมาใช้กับพระสงฆ์ที่เป็นพุทธบริษัท คือ ศีล 227 ข้อ การกระทำผิดวินัยของสงฆ์เรียกว่า “อาบัติ” ซึ่งจะถูกลงโทษหนักเบาต่างกัน ถ้าหากว่า โรงเรียนสาธิตจะเอาพระสงฆ์มาสอนวินัยเด็ก ก็จะได้ภาพในอีกลักษณะหนึ่ง

แต่ในทางหลักการนั้นถือว่า การสร้างวินัยอาจทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การบังคับโดยใช้การลงโทษหรือให้รางวัลเป็นเครื่องสนับสนุน ซึ่งถือเป็นการสร้างวินัยเชิงลบเพราะมีลักษณะบังคับ หรืออีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้การสั่งสอนอบรม ให้เกิดจิตสำนึกในความรับผิดชอบให้เกิดวินัยด้วยตนเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนในสังคม เช่น การสร้างวินัยในการจราจร ถ้าเป็นวินัยแบบบังคับคือ ให้ตำรวจจราจรควบคุม จับกุม และลงโทษ เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎ แต่ถ้าเป็นวินัยโดยสมัครใจ คือ การสร้างจิตสำนึกให้เห็นหน้าที่หรือความสำคัญในการเคารพกฎจราจร ในกรณีนี้ หมายความว่า ถึงจะไม่มีตำรวจและมาตรการบังคับ พลเมืองก็อาจปฏิบัติตามกฎจราจรได้เอง และถือว่านี่คือการสร้างวินัยเชิงบวก

สำหรับวินัยในโลกสมัยใหม่ ยังถือกันว่า จะต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน หมายความว่า การสร้างวินัยต้องมาจากการเคารพซึ่งกันและกัน และเห็นประโยชน์ร่วมกันในการสร้างกฎเกณฑ์ วินัยลักษณะนี้ จึงเน้นความรับผิดชอบร่วมกันในการรักษากฎเกณฑ์ และยอมรับให้การละเมิดกฎเกณฑ์นั้นจะต้องถูกลงโทษ ดังนั้น การสร้างวินัยในสังคมแบบอารยะ จึงต้องเป็นไปตามหลักเหตุและผล และไม่ไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ในกรณีของการสร้างวินัยในเด็ก ก็คือ การสร้างความรู้สึกนึกคิดที่นำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการพูดคุยให้เหตุผล หรือสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และสิ่งสำคัญยังได้เน้นว่า วินัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กเข้าใจว่าพวกเขานั้นต้องรับผิดชอบต่อตนเองและคนหมู่มาก วินัยก็จะสร้างขึ้นได้ด้วยการสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่การปฏิบัติตามคำสั่ง

ปัญหาของวินัยแบบทหารไทย คือ การใช้วินัยแบบใช้อำนาจบังคับ เป็นวินัยแบบลำดับชั้น ให้ทหารชั้นผู้น้อยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายทหารชั้นบนเสมอ ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษ ทหารไทยจะถูกฝึกให้ปฏิบัติเช่นนี้ เพราะอธิบายกันว่า ในเวลาสงคราม คำสั่งของฝ่ายบัญชาการต้องเด็ดขาดและได้รับการปฏิบัติอย่างไม่มีข้อสงสัย ดังนั้น การสร้างวินัยแบบทหารไทย จะนำมาสู่การปฏิบัติตามคำสั่งแบบไม่มีเหตุผล ตัวอย่างในกรณีนี้ คือ การที่ทหารระดับบัญชาการสั่งให้ทหารชั้นผู้น้อยไปฆ่าประชาชนที่คิดต่าง หรือเห็นว่าเป็นภัยต่อรัฐ ทหารชั้นผู้น้อยก็พร้อมที่จะดำเนินการตามคำสั่งเสมอ เพราะขาดระบบกลั่นกรองเหตุผล และนี่คือ ที่มาของการสังหารหมู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า สังคมไทยจะถูกสร้างให้คุ้นเคยกับการใช้การบังคับลงโทษมากกว่าการสร้างจิตสำนึก หมายความว่า ถ้าปราศจากการบังคับควบคุม วินัยจะหมดความหมายไปทันที และในกรณีของโรงเรียน ก็จะพบว่า เป็นเวลานานมาแล้ว ที่สังคมไทยเอาวินัยทหารมาใช้กับเด็กนักเรียน ตั้งแต่บังคับให้นักเรียนเข้าแถวแบบทหาร ให้ตัดผมสั้นเกรียนสำหรับเด็กชายและผมสั้นระดับใบหูสำหรับนักเรียนหญิง และยังบังคับให้แต่งเครื่องแบบนักเรียนอย่างเคร่งครัด และการใช้วินัยเช่นนี้ ยังข้ามจากโรงเรียนสู่มหาวิทยาลัย อันนำมาซึ่งการฝึกฝนแบบบังคับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเพณีรับน้องแบบบังคับ ซึ่งรุ่นพี่จะใช้ระบบว้ากและใช้อำนาจนิยมให้รุ่นน้องยอมรับในกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่ถูกตั้งขึ้น และเมื่อรุ่นน้องไม่ยอมรับก็ถูกลงโทษตามที่รุ่นพี่จะกำหนด โดยข้ออ้างที่ว่า วิธีรับน้องแบบนี้จะเป็นการสร้างความรักต่อสถาบัน และจะสร้างพลเมืองที่ดีให้กับสังคมได้ แต่ในทางปฏิบัติจะเห็นได้ว่า การสร้างวินัยทั้งหมดนี้ล้มเหลว สังคมไทยก็ยังได้ชื่อว่าเป็นสังคมขาดวินัยอย่างมากแห่งหนึ่งของโลก

ความจริงแล้ว อุดมการณ์ดั้งเดิมของโรงเรียนสาธิตในสังคมไทยที่ตั้งขึ้น ก็เพื่ออบรมบ่มเพาะหรือสอนเด็กให้ตื่นรู้แบบสมัยใหม่ ตามปรัชญาการศึกษาแนวก้าวหน้า เพื่อให้มีการทดลองการพัฒนาความรู้และการพัฒนาพฤติกรรมเด็กให้พ้นจากกรอบที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนสาธิตแต่เดิมมา จึงให้อยู่ในสังกัดของแต่ละมหาวิทยาลัย ที่มีการเรียนการสอนคณะศึกษาศาสตร์หรือคุรุศาสตร์ ไม่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่จะเห็นได้ว่า เมื่อโรงเรียนสาธิตเหล่านี้ พัฒนาต่อมา ก็กลายเป็นโรงเรียนแบบธรรมดาที่มิได้มีความแตกต่างกับโรงเรียนลักษณะอื่น เราจึงพบว่า เมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ.2557 โรงเรียนสาธิตก็มิได้ต่างจากโรงเรียนแบบอื่น ในการสอนให้เด็กท่องค่านิยม 12 ประการ ที่หัวหน้าคณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาตามอำเภอใจ และยึดถือราวกับว่า ค่านิยมแบบรัฐประหารนี้เป็นสิ่งดีงามในสังคม โรงเรียนสาธิตจึงกลายเป็นอีกแห่งหนึ่งที่สอนเด็กให้คิดในกรอบของกระแสหลัก

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า แนวคิดแบบผู้บริหารโรงเรียนสาธิต มศว.ประสานมิตรที่ว่า จะต้องใช้ทหารมาฝึกเด็กตั้งแต่ยังเล๊ก จึงจะทำให้เด็กเข้าแถวเป็น เข้าคิวได้ และจะกลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยในสังคม จึงไม่น่าจะถูกต้อง แต่ที่ถูกน่าจะเป็นการฝึกให้เด็กตรงต่อเวลา มีความซื่อสัตย์ รู้จักรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ของตนเอง และเคารพสิทธิของคนอื่นในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งวินัยลักษณะนี้ ทหารไทยคงสอนไม่ได้

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 620 วันที่ 10 มิถุนายน 2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท