ครม.ปรับปรุงเกณฑ์ใหม่ เยียวยาผู้รับผลกระทบชุมนุมการเมืองปี 56-57

ครม.เห็นชอบปรับปรุงเกณฑ์ใหม่ เยียวยาผู้รับผลกระทบชุมนุมการเมืองปี 56-57 โดยให้เงินยังชีพรายเดือนจนจบปริญญาตรีใบเดียว และมีอายุไม่เกิน 25 ปี พร้อมมอบเงินช่วยเหลือวีรชน 14 ตุลา ที่ค้างจ่ายตั้งแต่ปี 52

แฟ้มภาพ : ประชาไท

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ ดังนี้ 1. ยกเลิกมติครม. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2556 เรื่อง ข้อเสนอเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม สำหรับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 2. ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556-2557 ตามมติ ครม. เมื่อ วันที่ 8 ก.ย. 2558

และ 3. ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2555 รวมทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556-2557 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2558 และมอบหมายให้ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม ทั้งนี้ ให้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้ดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ โดยตรงต่อไป

ทั้งนี้ ให้ สำนักงบประมาณ ดำเนินการดังนี้ 1) ให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบผู้มีสิทธิได้รับการเยียวยาให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตามหลักเกณฑ์อย่างแท้จริง 2) ให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของ มติคณะรัฐมนตรีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เช่น มติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 และวันที่ 6 มี.ค. 2555 และหากพิจารณาแล้วเห็นว่า มติ ครม.หมดความจำเป็นแล้ว ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณายกเลิกต่อไป และ 3) ให้กระทรวงการคลังเร่งรัดการจัดทำกฎหมายหรือระเบียบเงื่อนไข และวิธีการในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาที่ครอบคลุมในทุกกรณี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2559 (เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทาง เรื่องค่าบริการทางการแพทย์และเงินเหมาจ่ายช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล กรณีผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์เหตุระเบิดแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 ของกระทรวงสาธารณสุข) ให้แล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

คมชัดลึกออนไลน์ รายงานรายละเอียดเพิ่มเติมว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ว่า ครม.เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ว่า 1. เงินยังชีพรายเดือนที่จะให้แก่บุตรผู้เสียหายกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพที่ได้รับเงินยังชีพรายเดือนจนกระทั่งจบการศึกษาปริญญาตรี ให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้เบิกจ่ายนั้น ในครั้งนี้ขอเปลี่ยนให้ได้รับเงินยังชีพรายเดือนจบปริญญาตรีใบแรกใบเดียว โดยอายุไม่เกิน 25 ปี  และ 2. เงินทุนการศึกษารายปี ต่อเนื่องที่ให้เด็กกำพร้าหรือเด็กที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากบิดา มารดาหรือผู้อุปการะเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ ที่กำลังศึกษาอยู่ในสิทธิได้รับจนจบปริญญาตรีหลักสูตรแรก หลักสูตรเดียว อายุไม่เกิน 25 ปี  อย่างไรก็ตามให้นำหลักการดังกล่าวไปใช้กับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาในปี 2555 ด้วย ขณะเดียวกันมีการสำรวจพบว่า ผู้ที่มีผลกระทบมีอยู่ประมาณ 100 ราย คิดเป็นวงเงินเยียว 6 ล้านกว่าบาท

ช่วยเหลือวีรชน 14 ตุลา ที่ค้างจ่ายตั้งแต่ปี 52

ครม.ยังมีมติเห็นชอบในหลักการการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ ดังนี้ 1. กรณีค่าจัดการศพ ให้ความช่วยเหลือแก่วีรชนในกรณีที่เสียชีวิตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รายละ 20,000 บาท

และ 2. ให้ความช่วยเหลือเงินดำรงชีพแก่วีรชนและญาติวีรชนในอัตราเดียวกัน โดยให้ความช่วยเหลือในอัตรารายละ 3,000 บาทต่อเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต  ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 2560 และให้ พม. จัดทำหลักฐานว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมแล้ว และจะไม่ขอเรียกร้องขอรับเงินช่วยเหลืออื่นใดจากทางราชการอีก

โดย สำนักกข่าวไทย รายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า ขณะที่การให้ความช่วยเหลือเงินดำรงชีพให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งที่ผ่านมามีการช่วยเหลือแล้วในปี 2549-2550  โดยผู้เสียชีวิตมีทั้งสิ้น 43 ราย ได้เงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 740,000 บาทต่อราย และผู้ที่บาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพ จิตฟั่นเฟือน มี 47 คน ได้รับเงินช่วยเหลือ 4,900,000 บาทต่อคน ซึ่งจำนวนเงินค่อนข้างแตกต่าง เนื่องจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต

“ทั้งนี้การช่วยเหลือต่าง ๆ มีจนถึงปี 2550 และยังติดค้างการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ดังนั้นวันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติจ่ายเงินจัดการศพแก่วีรชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว รายละ 20,000 บาท  และเงินช่วยเหลือค่าดำรงชีพแก่วีรชน และญาติวีรชน รายละ 3,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต” พล.ท.สรรเสริญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท