Skip to main content
sharethis

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จ่อร้อง 'ศาล รธน. - ผู้ตรวจฯ' พิจารณาคำสั่งหัวหน้า คสช.ปลดล็อครถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จันทร์ที่ 19 มิ.ย. นี้ ระบุทำให้ไทยสูญเสียบูรณภาพแห่งอธิปไตยของชาติ ขัดต่อ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 52

แฟ้มภาพ

16 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่าทางสมาคมฯ ออกแถลงการณ์ เรือง คัดค้านคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 30/2560 กรณีปลดล็อครถไฟความเร็วสูงไทย-จีน พร้อมระบุว่า ทำให้ไทยสูญเสียบูรณภาพแห่งอธิปไตยของชาติ ขัดต่อ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 52 โดยระบุด้วยว่า จึงจะนำความดังกล่าวไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อวินิจฉัยและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ? ใ นวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย. นี้ เวลา 10.00 น. ณ ห้อง 903 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการฯ อาคาร B ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม.

รายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้

แถลงการณ์สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
เรือง คัดค้านคำสั่งคสช.ที่ 30/2560 กรณีปลดล็อครถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
ทำให้ไทยสูญเสียบูรณภาพแห่งอธิปไตยของชาติ ขัดต่อรธน.2560 มาตรา 52

ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงชาวงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา เมื่อวันที่15 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมานั้น การออกคำสั่งดังกล่าว มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 52 โดยชัดแจ้งเนื่องจากเป็นคำสั่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียอธิปไตยบูรณภาพแห่งอาณาเขตที่ประเทศไทยมีอธิปไตย และก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน และอาจเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ

ทั้งนี้เนื่องจากในคำสั่ง คสช.ที่30/2560 กำหนดให้บุคคลธรรมดา นิติบุคคลวิศวกรและสถาปนิกของจีนได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติวิศวกร 2542และพระราชบัญญัติสถาปนิก 2543 ซึ่งหากบุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับโครงการฯหรือกับสภาพแวดล้อมและคนไทย จะไม่สามารถนำกฎหมายดังกล่าวมาดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายไทยหรือขึ้นต่อศาลไทยได้ นอกจากนั้นยังเป็นการยกเว้นการนำกฎหมายของไทยมาใช้ปฏิบัติบังคับกับโครงการฯอีกกว่า 7 ฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยความผอดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ฯลฯ จะทำให้โครงการฯและบุคคลธรรมดา นิติบุคคล วิศวกรและสถาปนิกของจีน มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของคนไทยโดยชัดแจ้ง อีกทั้งคำสั่งดังกล่าวเป็นการขัดต่อหลักธรรมาภิบาล (มาตรา 75 ) ขัดต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ (มาตรา 62, 76) และเป็นการเลือกปฏิบัติ (มาตรา 27) ที่กำหนดให้มีการใช้อำนาจการกำหนดราคากลางได้ตามอำเภอใจโดยการใช้อำนาจการยกเว้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 107/3 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2554

นอกจากนั้น หากโครงการดังกล่าวนำไปสู่การปฏิบัติและลงนามในสัญญากันระหว่างไทย-จีน รัฐบาลจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อนไม่เช่นนั้นก็จะเข้าข่ายขัดต่อาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ทันทีด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยไม่อาจปล่อยให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ใช้อำนาจไปโดยไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ต่อไปได้

จึงจะนำความดังกล่าวไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อวินิจฉัยและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่? ในวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2560 เวลา 10.00 น. ณ ห้อง 903 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการฯ อาคาร B ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม.

ประกาศมา ณ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2560
ศรีสุวรรณ  จรรยา
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net