Skip to main content
sharethis

โฆษกกองทัพบก แจงซื้อรถเกราะล้อยาง 2.3 พันล้าน คำนึงถึงความทันสมัย มีระบบอาวุธที่หลากหลาย ระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีเกราะป้องกันตัวเอง และความคล่องแคล่วสูง ไม่ได้เกรงใจจีน แต่ได้พิจารณาตามคุณสมบัติที่กำหนด 

16 มิ.ย. 2560 จากกรณี เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติโครงการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง วีเอ็น 1 (VN1) จำนวน 34 คัน จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน งบประมาณ 2,300 ล้านบาท ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำเข้า ครม. โดยอนุมัติงบผูกพัน ปี 2560-2563 และอนุมัติให้กองทัพบก(ทบ.)เดินทางไปเซ็นสัญญาจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) นั้น

วันนี้ (16 มิ.ย.60) สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก แถลงชี้แจงการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง VN-1 จากจีน ดังกล่าวว่า เป็นเรื่องของความจำเป็น เนื่องยานเกราะรุ่นเดิม V-150 ไม่สอดรับกับภารกิจและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ซ่อมไม่คุ้มค่า อีกทั้งกองทัพบกมีแผนปรับกำลังให้มีความพร้อมรบ ในปี พ.ศ.2560 - 2564 การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จึงต้องคำนึงถึงความทันสมัย มีระบบอาวุธที่หลากหลาย ระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีเกราะป้องกันตัวเอง และความคล่องแคล่วสูง 

โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ทางคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ (กมย.) ของกองทัพบก จึงได้พิจารณาคุณสมบัติดังกล่าวจาก 4 ประเทศที่ผลิตยานเกราะ ทั้งยูเครน รัสเซีย สิงค์โปร์ และจีน แต่จีนมีความโดดเด่นเรื่องการส่งกำลังบำรุง รวมถึงความร่วมมือในการตั้งศูนย์ซ่อมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศไทย  ส่วนที่ไม่ได้จัดซื้อจากประเทศยูเครน เหมือนที่แล้วมานั้น เนื่องจากมีปัญหาขัดข้องในการจัดส่งจากสถานการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้  ยืนยันว่าการจัดซื้อยานเกราะไม่ได้จำเพาะที่ประเทศจีน และไม่ได้เกรงใจประเทศจีน แต่ได้พิจารณาตามคุณสมบัติที่กำหนด ซึ่งการจัดซื้อครั้งนี้เป็นรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี จึงมีความน่าเชื่อถือ 

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนที่ไม่ได้พิจารณายานเกราะล้อยาง 8 คูณ 8 (8x8) ที่สถาบันเทคโนโลยีและป้องกันประเทศ (สทป.)  สามารถผลิตต้นแบบได้เองแล้วนั้น เพราะยังอยู่ระหว่างของการวิจัยและพัฒนา ยังไม่เข้าสู่สายพานการผลิต ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี อีกทั้งยังไม่ทราบว่าจะมีราคาเท่าไหร่ ส่วนกรณีที่เอกชนไทยก็สามารถผลิตยานเกราะล้อยางได้นั้น ก็เป็นแบบ 4 คูณ 4  (4x4) ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการ แต่กองทัพบก โดย กอ.รมน. ก็ได้นำมาใช้งานในพื้นที่จังหวัดใช้แดนภาคใต้ แล้ว 13 คัน

โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า กรมสรรพาวุธทหารบก ได้ประกาศราคากลางการจัดซื้อยานเกราะจีน ในเว็บไซต์เพื่อยืนยันถึงความโปร่งใส ถึงแม้จะไม่มีกฎระเบียบที่ต้องประกาศเพราะเป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ  ส่วนการที่ไม่ได้เปิดเผยตั้งแต่แรกเนื่องจากการจัดซื้อ ครั้งนี้เป็นการจัดซื้อเพื่อทดแทนไม่ใช่เป็นการจัดซื้อใหม่ ที่ประชาชนจะให้ความสนใจมากกว่า  เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำ

การจัดซื้ออาวุธในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาจากจีน

- เม.ย.60 ครม.อนุมัติโครงการซื้อรถถัง วีที-4 จากจีน 2,000 ล้านบาท (ก่อนหน้านั้น ปี 59 ทบ.ได้ลงนามซื้อรถถัง วีที-4 จากประเทศจีนไปแล้ว 28 คัน วงเงิน 4,900 ล้าน)
- พ.ค.60 ครม. อนุมัติให้จัดซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาส เอส 26 ที จากจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท จากแผนการของกองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้้ำชนิดดังกล่าวจากจีนทั้งหมด 3 ลำ วงเงิน 36,000 ล้านบาท
- มิ.ย. 60 อนุมัติโครงการจัดซื้อรถเกราะล้อยาง วีเอ็น 1จำนวน 34 คัน จากจีน งบประมาณ 2,300 ล้านบาท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net