Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประยุทธ์ ยันยังไม่เคยพูดว่าจะไปกู้เงินใครมาเดินหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน ชี้ดูแค่คนขึ้นอย่างไรก็ไม่คุ้ม ขอให้มองการพัฒนา-ผลประโยชน์ต่อเนื่อง ด้าน สถาปนิก-วิศวะ ยอมเเล้ว ม.44 ดันรถไฟ หลังพบ 'วิษณุ' ขณะที่ 'ศรีสุวรรณ' ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาลรธน.-ศาลปกครอง สอบคำสั่ง ม. 44 สร้างรถไฟฯ

แฟ้มภาพ

20 มิ.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง แหล่งเงินกู้ในการเดินหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน ที่ต้องใช้เม็ดเงิน 1.74 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะกู้เงินจากจีนหรือไม่ เป็นเพียงข้อเสนอจากทางการจีนเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาจากแหล่งเงินกู้ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด รวมถึงพิจารณาแหล่งเงินกู้ในประเทศด้วย

"เรื่องเงินกู้ผมยังไม่เคยพูดเลยว่า จะไปกู้เงินใครมา ในประเทศก็มีพอสมควร ซึ่งจีนก็ไม่เคยเรียกร้อง เพียงแต่เสนอข้อพิจารณามาว่า ถ้าใช้ของเขาดอกเบี้ยเท่าไหร่ ก็เอามาเปรียบเทียบเงินกู้ที่ใช้จากแหล่งอื่นมันต่ำกว่าหรือไม่ ถ้าตรงไหนต่ำกว่าก็ใช่ตรงนั่น เขาไม่เคยมาบังคับตรงนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

หัวหน้า คสช. กล่าวว่า วงเงิน 1.74 แสนล้าน จะใช้ในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน 1.3 แสนล้าน และใช้บริหารจัดการการเดินรถอีก 4 หมื่นล้าน ในส่วนของสัญญาโครงการนี้ ไม่มีผลต่อรถไฟในเส้นทางอื่น ๆ เพราะรถไฟที่เหลืออาจจะดำเนินการในลักษณะอื่น ไม่ว่าจะเป็นไปประมูล ไปร่วมทุน หรือจะให้เอกชนลงทุนในรูป PPP  แต่เส้นนี้ถือเป็นเส้นแรกที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้  จะคิดเฉพาะรายได้จากการโดยสารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปดูข้อกฏหมาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาประโยชน์จากสองข้างทางด้วย  เชื่อว่าจะเกิดการลงทุนอื่น ๆ ตามมา รวมถึงเกิดเมืองใหม่ ซึ่งผลประโยชน์จะตกกับประชาชนโดยตรง

"อันนี้มันเป็นสายแรกที่เราจำเป็นต้องทำให้มันเกิดขึ้น ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเส้นทางความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ มันต้องไปมองว่าประเทศไทยจะไปคาซักสถานอย่างไรโน้น คิดตรงนั้นสิครับ เรื่องผลประโยชน์ตอบแทนจะคิดเอารายได้จากแค่คนขึ้นหรอ มันต้องมองอย่างอื่นด้วย มอง 2 ประโยชน์ข้างทาง มันจะเกิดขึ้นอย่างไร รัฐบาลก็ไปดูกฎหมายตรงนี้ว่าจะเอา 2 ข้างทางมาบริหารจัดการให้เกิดทางธุรกิจอย่างไร ดูแลผู้มีรายได้น้อยได้อย่างไร ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรจากเส้นทางดังกล่าว มีเมืองใหม่เกิดขึ้นไหม มันก็มีการลงทุนอย่างอื่นอีก มากมายตามมา มันก็เป็นผลประโยชน์ตอบแทนไปถึงประชาชนโดยตรงนั่นล่ะ อย่าไปคิดคุ้มค่าไม่คุ้มค่าเฉพาะคนขึ้นรถ อย่างไร มันก็ไม่คุ้ม ถ้าคิดแบบนั้นนะ ไปคิดถึงผลประโยชน์ต่อเนื่องในธุรกิจเยอะแยะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
"วันนี้ผมให้แนวทางข้าราชการใหม่ทั้งหมด ต้องมองว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างไรต่อไปในอนาคต "make different for future" make different คือ ให้มันต่างจากของเดิม ส่วน for future ไม่ใช่มองวันนี้เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่มองข้อขัดแย้ง มองปัญหา มองเรื่องทุจริต ซึ่งเราพยายามแก้ทุกอัน เพื่อไป future วันนี้ทำงานแบบหาเป้าหมายให้เจอ ให้ตรงกลุ่ม ไม่ใช่ทั่งหมดโปรยปรายไปทั้งหมด เท่ากันหมด มันไม่ได้ แต่ต้องจัดสรรงบประมาณให้เหมาะกับทุกภาคส่วน ต้องเฉลี่ยรายได้ให้ลงมาสู่คนที่มีรายได้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลคิดมาตลอดเวลา ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ต้องไม่ได้รับผลประโยชน์ลดลงจากเดิมที่เคยได้อยู่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
หัวหน้า คสช. กล่าวว่า ในส่วนข้อกังวลของวิศวกรรมสถาน ได้หารือกัน และทางวิศวกรรมสถานมีความเข้าใจแล้ว ซึ่งในประเด็นที่มีความกังวล ไม่ว่าเรื่องวิศวกร การถ่ายทอดเทคโนโลยี ทางการไทยได้เจรจามาโดยตลอด ซึ่งมีข้อตกลงมาแล้วถึง 18 ครั้ง ในกิจกรรมใดที่ไทยสามารถทำได้ ก็ให้ดำเนินการไปอยู่แล้ว แต่ติดเพียง 3-4 ข้อ ที่เป็นปัญหา จึงนำไปสู่การออกมาตรา 44 โครงการนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับใครเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว

สถาปนิก-วิศวะ ยอมเเล้ว หลังพบ 'วิษณุ' 

วานนี้ (9 มิ.ย.60) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกสภาสถาปนิกและวิศวกรรมสถานเเห่งประเทศไทยหลังจากที่มีคำสั่ง คสช.มาตรา 44 เพื่อเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งทำให้สภาสถาปนิกและวิศวกรรมสถานเเห่งประเทศไทยออกมาแสดงความเป็นห่วงหารือทำความเข้าใจถึงข้อกังวลต่างๆ  โดย ธเนศ วีระศิริ  นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย  พร้อมด้วย กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกรได้เข้าพบ วิษณุ เพื่อหารือทำความเข้าใจในกรณีดังกล่าว โดยจากการหารือกว่า 1 ชั่วโมง ที่ประชุมยอมให้ดำเนินการตามมาตรา 44 ที่วิศวกรจีนที่เข้ามาทำโครงการไม่จำเป็นต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของไทย แต่จะต้องเข้าอบรมและผ่านการทดสอบตามหลักสูตรที่คณะกรรมการ 5 ฝ่ายจัดขึ้น 

ธเนศ เปิดเผยว่า ไม่มีปัญหาในการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ยกเว้นให้วิศวกรจีนไม่ต้องสอบใบอนุญาตในการเข้ามาทำงานในโครงการนี้ แต่ขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับวิศวกรรมสถานฯ  มหาวิทยาลัยของรัฐ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ยังเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยวิศวกรรมสถานจะเป็นองค์กรกลางในการรวบรวมข้อมูลมานำเสนอและกำหนดข้อเสนอของสมาคมวิชาชีพในสัญญาการก่อสร้างต่อไป

ศรีสุวรรณยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาลรธน.-ศาลปกครอง สอบคำสั่ง ม. 44 สร้างรถไฟฯ

วานนี้เช่นกัน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  นำโดย ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมฯเข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน   ผ่านนายฐนภณ ธนวชิรนนท์ เจ้าหน้าที่สืบสวนอาวุโสระดับสูง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองวินิจฉัยว่า คำสั่งคสช.ที่ 30 /2560 กรณีเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงชาวกรุงเทพ-นครราชสีมา เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.60  มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่   

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Srisuwan Janya

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า การออกคำสั่งดังกล่าวมีผลต่อเอกราช อธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 52 ประกอบมาตรา 26  ทั้งนี้  1 การก่อสร้างรถไฟฯ ดังกล่าวโดยให้การพัฒนาที่ดินด้านข้าง ๆ ละ150 เมตรตลอดเส้นทาง เป็นของชาวจีน  เข้าข่ายทำให้ไทยสูญเสียอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิ  2.คำสั่งคสช.ดังกล่าวยังได้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายปกติไม่น้อย 7 ฉบับในเรื่องเกี่ยวกับการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบว่าด้วยพัสดุ ทั้งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามรณรงค์เรื่องการสร้างความโปร่งใส แต่การยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเท่ากับไม่เคารพกลไกการตรวจสอบ ถ่วงดุล  

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า 3. คำสั่งดังกล่าวไม่สอดคล้องหลักการการใช้อำนาจตาม ม. 44 ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับ 2557  ที่กำหนดให้คสช.ใช้อำนาจออกคำสั่งเฉพาะกับเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงเท่านั้น แต่กรณีรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากนี้การออกคำสั่งยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 265 อีกด้วย  4.เรื่องดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายเป็นเรื่องการทำสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา การมาใช้อำนาจตามม. 44 ออกคำสั่งจึงน่าจะเป็นการกระทำที่ก้าวล่วง หาก สนช.ยกเว้นไม่ดำเนินการก็เท่ากับไม่รักชาติรักแผ่นดิน   อย่างไรก็ตามหากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วพบว่ากรณีการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศจีนก็ขอให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามมาตรา 221 ด้วย 

"คิดว่า 4 ประเด็นน่าจะเพียงพอที่ผู้ตรวจฯ จะใช้อำนาจหน้าที่ยื่นเรื่องดังกล่าวพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพราะคำสั่งคสช. มีศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ เมื่อรัฐธรรมนูญปัจจุบันใช้บังคับ คสช.จะใช้อำนาจเหมือนปกติที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ก็ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งจะมาคิดกัน แต่มีการเจรจากันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องออกคำสั่งเพื่อมาลดขั้นตอนวิธีการในการดำเนินการ หรือใช้อำนาจทุบโต๊ะซึ่งก็ไม่น่าจะเข้าหลักเกณฑ์ที่จะออกคำสั่งม. 44 ด้วย" นายศรีสุวรรณ และว่า  หากรัฐบาลดึงดันจนไปถึงขั้นของการลงนามสัญญากับประเทศไทย ตนก็จะยื่นเรื่องดังกล่าวต่อป.ป.ช.และสตง. เพราะถือว่ามีอำนาจหน้าที่โดยตรง 

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย, สปริงนิวส์ และ ยูทูบ 'ทำเนียบ รัฐบาล'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net