86 ประชาสังคมออก จม.เปิดผนึกเสนอออก พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. ให้อิสระ-ตามหลักสากล

86 องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม พร้อม 71 รายชื่อ ร้อง ประธาน สนช. และ มีชัย ออกพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิฯ ให้มีความเป็นอิสระ ตามหลักการแห่งกรุงปารีส

20 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม นำโดย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) 86 องค์กร พร้อมด้วยรายชื่อบุคคลอีก 71 รายชื่อ รวมออกจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ความเห็นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ..... ถึง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 

โดยจดหมายฯ ระบุว่า ร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ยังคงมีบางมาตรา ที่บัญญัติขึ้นตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการสากลที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องมีความเป็นอิสระ ตามหลักการแห่งกรุงปารีส พร้อมทั้งมีข้อแนะนำเพื่อให้ ร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น คุณสมบัติของคณะกรรมการฯ องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา หน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องต่อศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ หน้าที่และอำนาจจัดทำรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม การเปิดเผยข้อมูลและสำนักงานคณะกรรมการฯ รวมทั้งบทเฉพาะกาล

โดยมีรายละเอียดดังนี้ :

 

จดหมายเปิดผนึกของภาคประชาสังคม 

เรื่อง  ความเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.....

เรียน  ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เรียน  นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

 

ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดทำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ... และจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ภาคประชาสังคมและบุคคล ดังรายชื่อข้างท้ายนี้ ขอแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ โดยมีหลักการและเหตุผล รวมทั้งข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

หลักการและเหตุผล

1. โดยที่รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับรอง“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับการคุ้มครอง” และรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่มีภารกิจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนจะต้องสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ และนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แผนปฏิบัติการกรุงเวียนนา 2536  และ “หลักการแห่งกรุงปารีสว่าด้วยแนวทางในการจัดตั้งและดำเนินการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

2. โดยที่ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 มีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอำนาจหน้าที่ที่ไม่ครอบคลุมถึงการฟ้องร้องคดีและนำกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งความเป็นอิสระของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 2550 จึงได้เพิ่มเติมอำนาจให้สามารถนำเรื่องขึ้นสู่ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ และการกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น  แต่การแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพื่ออนุวัตรการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

3. แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะมีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ครอบคลุมถึงการฟ้องร้องคดีและนำกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการให้สำนักงานที่เป็นอิสระ แต่กลับกำหนดให้วิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายรัฐ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ทั้งยังมีการลดจำนวนคณะกรรมการจากสิบเอ็ดคนเหลือเจ็ดคน ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ได้กำหนดให้มติและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีผลผูกพันหน่วยงานรัฐ และประกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งและไม่อาจบรรลุภารกิจ

4. ปลายเดือนธันวาคม 2557 คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นสมาชิกอยู่ ได้มีมติ “ปรับลด” สถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจาก ระดับ “A” มาเป็น “B” เนื่องจากเมื่อได้ประเมินการทำงาน ตรวจสอบคุณสมบัติโดยเฉพาะกระบวนการสรรหากรรมการ ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญของภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการแสดงบทบาทและดำเนินภารกิจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว เห็นว่าไม่สอดคล้องกับ “หลักการแห่งกรุงปารีสว่าด้วยแนวทางในการจัดตั้งและดำเนินการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติมาตั้งแต่ ปี 2536

5. ร่าง พ.ร.ป.ยังคงมีบางมาตรา ที่บัญญัติขึ้นตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการสากลที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องมีความเป็นอิสระ ตามหลักการแห่งกรุงปารีส เช่น มาตรา 26  หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  (4) ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม เป็นต้น

6. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .. มีพัฒนาการขึ้นในหลายประเด็น เช่น  มาตรา 11 มีการปรับแก้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  มาตรา 13 มีการปรับปรุงกระบวนการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  มาตรา 37 กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย มีอำนาจร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษแทนผู้เสียหายที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ โดยให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 40  กำหนดระยะเวลาในการจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศประจำปีให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ  มาตรา 43  กำหนดให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยเร็ว กรณีใดไม่อาจดำเนินการได้ หรือต้องใช้เวลาในการดำเนินการให้แจ้งเหตุผลให้คณะกรรมการทราบโดยไม่ชักช้า  มาตรา 53  กำหนดให้เลขาธิการขึ้นตรงต่อคณะกรรมการแทนที่จะขึ้นตรงต่อประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  มาตรา 60 กำหนดให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้มีการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ

เพื่อให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ....     มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ควรพิจารณาร่าง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .... อย่างรอบคอบโดยให้เป็นไปตามหลักการปารีสที่กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะต้องทำหน้าที่อย่างอิสระจากหน่วยงานของรัฐในการตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ   องค์กรภาคประชาสังคมและบุคคล ดังรายชื่อข้างท้ายนี้ จึงมีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนี้

1. คุณสมบัติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ร่างมาตรา 8 วรรคหนึ่งกำหนดคุณสมบัติด้านต่าง ๆ ของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้ 5 ด้าน คือ (1) ประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน (2) มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอน หรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา (3) มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ (4) ความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐ และ (5) มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทย โดยส่วนใหญ่จะกำหนดจำนวนปีไว้ 5 ปี และ 10 ปี และกำหนดให้มีอย่างน้อยด้านละคนไม่เกินด้านละ 2 คน

เห็นว่าการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติห้าด้านดังกล่าว เป็นการกำหนดที่ไม่สอดคล้องจากหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (Paris Principles) และเป็นการขยายความรัฐธรรมนูญมาตรา 246 ที่กำหนดคุณสมบัติไว้ว่า “...ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”  จึงควรกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 246 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพียงเท่านั้น และควรเพิ่ม “คำนึงถึงการมีส่วนของหญิงและชาย” เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติใน พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542

2. องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา

ร่างมาตรา 11 (5) กำหนดให้ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคนเป็นกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่าองค์กรวิชาชีพดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมจรรยาวิชาชีพของแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้รับบริการสาธารสุขเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ อันแตกต่างจากสภาทนายความที่มีหน้าช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ จึงควรตัดผู้แทนกรรมการวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขออกจากการเป็นกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

3. หน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องต่อศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ

เห็นด้วยกับมาตรา 37 ที่กำหนดให้หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษแทนผู้เสียหาย ที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ โดยให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เห็นว่า ควรเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 1) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  และ 2) การเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาที่เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนมักเกิดจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อันอยู่ในขอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือเกิดจากกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองอันอยู่ในขอบอำนาจของศาลปกครอง ทั้งเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น

4. หน้าที่และอำนาจจัดทำรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม

มาตรา 44 กำหนดว่าเมื่อปรากฏว่ามีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม ให้คณะกรรมการต้องตรวจสอบและชี้แจง หรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

เห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมิได้มีหน้าที่ปกป้องรัฐในเวทีระหว่างประเทศ  แต่ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจริง หรือไม่อย่างไร นอกจากนั้น ในปีหนึ่ง ๆ อาจมีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมากมายจากภาครัฐและประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนในประเทศต่าง ๆ ทั้งการดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจทำให้สังคมและนานาชาติเข้าใจว่ามีบทบาทเป็นปากเสียงของรัฐบาลไทยมากกว่าการตรวจสอบการละเมิด หรือละเลยสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐ และที่สำคัญอาจขัดกับหลักความเป็นอิสระตามหลักการแห่งกรุงปารีส ดังนั้น จึงควรเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่าควรนำรายงานใดขึ้นมาพิจารณามากกว่าที่กำหนดว่า “ต้องตรวจสอบและชี้แจง หรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง”

5. การเปิดเผยข้อมูล

มาตรา 46 กำหนดความผิดและผู้ที่อาจต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 ซึ่งมีโทษจำคุกหกเดือนปรับหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจกระทบกระเทือนต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ร้องเรียน พยาน เจ้าหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนให้ต้องรับผิด เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าข้อมูลข่าวสาร หรือข้อเท็จจริงใดสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ ดังนั้นควรปรับปรุงดังนี้

                (1) บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้กำหนดชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารที่จะต้องปกปิดไว้เป็นความลับ ซึ่งผู้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจถือเป็นความผิด โดยยึดหลักการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นสำคัญ

               (2) ข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดคือข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยไปแล้วอาจเกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น ประชาชน และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

               (3) ความรับผิดควรจำกัดอยู่เฉพาะเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นเท่านั้น

6. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เห็นว่ามาตรา 47 การกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นนิติบุคคลนั้น ย่อมทำให้สำนักงานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สนองตอบกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีความเป็นอิสระในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการ ดังที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550

7. บทเฉพาะกาล

เห็นว่าควรคงบทเฉพาะกาล มาตรา 60 วรรค 1 ที่บัญญัติว่า “ให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่” ทั้งนี้ เพื่อให้มีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นไปตามหลักการสากล โดยมิชักช้า ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ที่มาจากคณะกรรมการสรรหาที่หลากหลาย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นไปตามหลักการแห่งกรุงปารีส และสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ

ด้วยเหตุที่ กระบวนการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นกว้างขวางมากนัก การเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ย่อมส่งผลให้กระบวนการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักการแห่งกรุงปารีสว่าด้วยแนวทางในการจัดตั้งและดำเนินการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งประเทศไทยเองได้รับรองไว้ นอกจากจะส่งผลต่อการเลื่อนสถานะภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ดีขึ้นจากระดับ B เป็น A ในอนาคตแล้ว ยังจะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะได้มาเป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจในการเป็นที่พึ่งพาของประชาชนในการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างแท้จริง

ด้วยความเชื่อมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน

20 มิถุนายน พ.ศ. 2560 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท