วงเสวนาถก 85 ปี ปชต.รธน.ใหม่ รัฐราชการ ทุนจะกดประชาชนกว่าเดิม คาด เลือกตั้งไม่มาตามนัด

สิริพรรณคาดเลือกตั้งไม่มาปีหน้าตามโรดแมป เปิดเส้นทางสู่ประชาธิปไตยต่างชาติ เหลียวดูไทยยังมีแต่คำถาม เมืองไทยยังอิงกติกานอกประาธิปไตย กังขา‘ไพรมารีโหวต’ ทำจริงมีปัญหา ทิศทางการเมืองอนาคตคนชั้นล่างยังคงโดนรัฐ+ทุนกดทับ ชาติชายระบุ รัฐราชการรวมศูนย์ สังคมอุปถัมภ์หล่อเลี้ยงวงจรอุบาทว์ ยัน รธน. ชุดนี้ประกันสิทธิ ปชช. ไม่ยิ่งหย่อนฉบับก่อนๆ ปริญญาอัดคำถาม 4 ข้อประยุทธ์ส่อนัยอยู่ยาว สังคมต้องการรัฐบาลโปร่งใส ตรวจสอบ ถ่วงดุลได้
 
ในภาพอาจจะมี 4 คน, สถานที่ในร่ม
 
จากซ้ายไปขวา: ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  ชาติชาย ณ เชียงใหม่ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี มานพ ทิพย์โอสถ
 
เมื่อ 23 มิ.ย. 2560 สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ "ราชดำเนินเสวนา: 85 ปี ประชาธิปไตยจะไปไหนดี" ร่วมเสวนาโดย ศ.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย มานพ ทิพย์โอสถ บรรณาธิการหนังสือเบื้องแรกประชาธิปตัย
 

สิริพรรณ: เปิด 5 มิติเส้นทางเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยต่างชาติ ของไทยยังเต็มไปด้วยคำถาม

สิริพรรณ กล่าวว่า 85 ปีที่ผ่านมา นักวิชาการไทยและตะวันตกไม่เคยยอมรับว่าไทยเป็นประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น ไม่เคยมีงานวิชาการชิ้นไหนยืนยัน ภาษาที่นักวิชาการเรียกระบอบที่ประเทศไทยใช้ว่าเป็นระบอบลูกผสม (Hybrid Regime) คือการเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สำเร็จ เปลี่ยนแล้วก็เข้า เปลี่ยนแล้วก็ออกตลอดเวลา
 
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่สำเร็จคือการเปลี่ยนการถือครองของอำนาจและการปฏิบัติทางการเมืองให้กระจายไปอยู่ในมือของประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุด และเมื่อเปลี่ยนแล้วจะไม่มีการย้อนกลับหรือถอยหลัง ดังนั้นกระบวนการเปลี่ยนผ่านอาจจะไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างแท้จริง แต่เกิดขึ้นตลอดเวลา มีการถักทอ ร้อยสานความสัมพันธ์และความสำคัญของกระบวนการนี้ไปเรื่อยๆ ในบริบทประเทศไทยที่มีการถอยออกจากระบอบประชาธิปไตยเสมอ เป็นเพราะว่าทั้งชนชั้นนำและประชาชนจำนวนมากไม่ได้มองว่าประชาธิปไตยคือกติกาเดียว(The only game in town) คือเป็นกติกาเดียวที่เราจะใช้แก้ปัญหา ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอะไรเราจะไม่ออกจากประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ยอมรับ พอมีปัญหาเราก็ใช้กติกาอื่น รถถังบ้าง ปืนบ้าง ใช้กรรมการภายนอกซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นกรรมการหรือคู่ขัดแย้ง
 
สิริพรรณกล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยใน 8 ประเทศตามกรอบงานวิจัยที่ได้ทำมาในประเด็นการเปรียบเทียบเส้นทางประชาธิปไตย 8 ประเทศว่าเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างไร พบว่า มีปัจจัยความสำเร็จ 5 มิติ โดยได้นำเสนอพร้อมเปรียบเทียบไปกับบริบทของประเทศไทย ดังนี้ 
 
มิติที่หนึ่ง มีการผนึกกำลังของฝ่ายค้าน หมายรวมถึงพลังฝ่ายค้านทั้งหลายในสังคม เช่น ในโปแลนด์ เมื่อจะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหลังคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง มีการรวมกลุ่มระหว่างสหภาพแรงงาน กลุ่มโบสถ์คาธอลิก และพรรคคอมมิวนิสต์ แม้ในอดีตจะเคยดำเนินงานบนเป้าหมายที่แตกต่าง แต่พอมีการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย กลุ่มที่เคยเป็นปฏิปักษ์กันก็มาร่วมมือกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น เช่น ชิลี แต่ในไทย จะมีการรวมพลังใดที่จะมาต่อกรกับพลังต้านการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยยังคงเป็นคำถามที่ใหญ่มาก ในรัฐธรรมนูญที่ร่างเอาไว้ว่าให้มีนายกฯ คนนอกได้ คำถามจึงมีอยู่ว่า พรรคประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยจะสามารถผนึกกำลังออกเสียงต้านพลังจาก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งได้หรือไม่ นี่คือความหมายของการร่วมผนึกกำลังของฝ่ายค้าน ซึ่งบริบทการรวมตัวเช่นว่าในต่างประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องละทิ้งความบาดหมาง ความแตกต่างทางอุดมการณ์ในอดีต คือต้องใจกว้าง ไม่เอาประเด็นที่เป็นอุปสรรคในการร่วมมือ เป็นหนามยอกอกมาเป็นประเด็นหลัก ต้องมองไปข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรให้พลังที่มีจุดยืนกว้างๆ ร่วมกันว่าต้องการประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่นิดๆ หน่อยๆ ก็ยอมรับกันไม่ได้ 
 
ในกรณีที่พรรคการเมืองไม่สามารถผนึกกำลังต้านเสียงจาก ส.ว. ได้ ผลที่ได้คือจะมีนายกฯ คนนอก ซึ่งจะทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบทำได้ยากขึ้น แต่คำถามคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมองว่า ใครก็ตาม โดยเฉพาะนายกฯ ไม่สามารถจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองได้ จึงมีการเลือกตั้งขั้นต้นหรือ Primary vote เพื่อเลือกผู้สมัครคนที่จะมาเป็นผู้สมัคร ส.ส. ถ้ามีนายกฯ คนนอก นั่นแปลว่า นายกฯ คนนอกจะมีอิทธิพลเหนือกว่าพรรคการเมือง ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่คือการร่างกฎหมายให้ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่แรกหรือไม่ 
 
มิติที่สอง บทบาทผู้นำทางการเมือง จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงแท้จริงแล้วมี 3 แนวทาง คือการลุกฮือของพลังประชาสังคม ดังที่เกิดในชิลี เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย แต่ก็มีหลายประเทศที่พบว่า บทบาทผู้นำทางการเมืองคือตัวแปรหลัก เช่น ในอินโดนีเซีย ประธานาธิบดีซูฮาร์โตที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อเศรษฐกิจถดถอยลง ประชาชนก็รับไม่ได้ก็ออกมาประท้วง แต่ตัวผู้นำที่มีบทบาทสำคัญก็คือรองประธานาธิบดีของซูฮาร์โต เจ.บี.ฮาบีบี ที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีชั่วคราวหลังจากนั้น ฮาบีบีได้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง ได้แก่การเปิดให้พรรคการเมืองมีเสรีภาพในการแข่งขัน แก้ไขระบบเลือกตั้งให้กระจายอำนาจสู่ประชาชนมากขึ้น ให้สหภาพแรงงานสามารถเคลื่อนไหวได้ ในสังคมไทยมีผู้นำทางการเมืองแบบนี้ไหม ผู้นำทางการเมืองที่แม้จะขัดตาทัพได้สร้างเงื่อนไขทางการเมืองพร้อมสำหรับเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และพร้อมจะลงจากตำแหน่งเมื่อถึงเวลาหรือยัง ในชิลีเองก็มีปาทริซิโอ อัลวิน ที่เป็นประธานาธิบดีขัดตาทัพภายหลังระบอบเผด็จการของนายพลปิโนเชต์ล่มสลาย ในเวลานั้น อัลวินได้ทำให้ชิลีเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ โดยปัจจุบันชิลีมีดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ในเมืองไทย เรามองไปในระบบราชการ การเมืองหรือแม้แต่ทหารเอง จะมีใครที่แสดงบทบาทเช่นว่า มีวิสัยทัศน์ สามารถเป็นศูนย์รวมจิตใจ มีความชอบธรรมพอสมควรที่จะพาบ้านเมืองไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ มีทฤษฎีที่ว่า การจะมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง จำเป็นต้องมีชนชั้นกลางที่เข้มแข็ง เพราะชนชั้นกลางมีพลังมากที่สุดในการนำการเปลี่ยนแปลง ทั้งยังมีงานวิจัยทีว่า ถ้าชนชั้นกลางเป็นพันธมิตรกับชนชั้นสูง จะได้ระบบอำนาจนิยมหรือฟาสซิสม์ เช่นอิตาลีหรือเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย ชนชั้นกลางไทยไม่ยอมร่วมเป็นพันธมิตรกับชนชั้นกลางระดับล่างหรือชนชั้นกลางใหม่ แต่มีแนวคิดร่วมมือกับชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม ถ้าชนชั้นกลางไม่ขยับเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งยังรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างคับแคบ นั่นคือพลังเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย คำถามคือทำอย่างไรให้ชนชั้นกลางได้ตระหนักถึงผลประโยชน์ของตนเองที่จะมีร่วมกับชนชั้นกลางอื่นๆ แทนที่จะไปผนึกกับชนชั้นสูงหรือชนชั้นนำทางการเมือง 
 
มิติที่สาม ประเด็นเรื่องการเห็นพ้องยอมรับในรัฐธรรมนูญ หลายประเทศเป็นขั้นตอนสำคัญ คือยอมรับกระบวนการ เนื้อหา และเจตนารมณ์ การบังคับใช้ หลายประเทศพบว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด และใช้เวลาร่างเนื้อหาอย่างยาวนานที่สุด ไม่มีประเทศไหนประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นที่ยอมรับแล้วเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยสำเร็จ ในไทย รัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนถึง 18 ฉบับสะท้อนว่ารัฐธรรมนูญไทยไม่เคยเป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริง ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็คือ ขณะนี้ เรามีกฎหมายสูงสุดถึง 3 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และมาตรา 44 คำถามคือ แล้วอะไรคือกฎหมายสูงสุด เมื่อจัดการอะไรด้วยรัฐธรรมนูญไม่ได้ก็ใช้มาตรา 44 ในขณะที่การทำประชามติยอมรับหรือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญก็มีข้อกังขาตั้งแต่ต้น รวมทั้งเนื้อหาที่พอปฏิบัติใช้จริงก็จะทำให้เกิดปัญหามาก 
 
สิริพรรณ เสนอว่า ไม่ต้องทำพร้อมกันทุกเขต และใช้กองทุนสนับสนุนพรรคการเมืองมาสนับสนุนพรรคเล็ก และอาจจะจัดพร้อมกันในแต่ละเขต เพื่อป้องกันผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกมาถล่มอีกพรรคหนึ่ง ควรขยายฐานผู้ลงคะแนนที่มาจากเงื่อนไขว่าต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น เพราะตอนนี้ฐานสมาชิกพรรคการเมืองไทยน้อยมาก ประชาธิปัตย์มีล้านกว่า เพื่อไทยมีแสนกว่า การจำกัดสิทธิ์แค่สมาชิกพรรคอาจนำไปสู่การกระจุกตัวของการมีส่วนร่วม
 
มิติที่สี่ กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน กองทัพเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น การที่กองทัพยอมรับประชาธิปไตยสะท้อนออกมาจากการที่กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน เป็นหลักการสากลว่าด้วยความเป็นใหญ่ของประชาชนเหนือกองทัพ ยกตัวอย่างอินโดนีเซียที่อยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารกว่า 20 ปี รัฐธรรมนูญอินโดนีเซียที่อนุญาตให้ทหารไปอยู่ในทุกอณูการเมือง เศรษฐกิจและสังคมทำให้กองทัพหยั่งรากลึกลงในอินโดนีเซียมากกว่าไทยเสียอีก เมื่อกองทัพไม่สามารถบริหารภาระมากหลายได้ เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การล่มสลายของความชอบธรรมของกองทัพ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือ มีผู้นำในกองทัพซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดกล่าวว่า นี่เป็นจุดสุดท้ายที่กองทัพอินโดนีเซียจะมาก้าวก่ายการเมือง และได้ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิม
 
มิติที่ห้า ทุกประเทศที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย พบว่า สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในเวลาอันรวดเร็วหลังจุดวิกฤติทางการเมือง เช่น เกาหลีใต้ อาร์เจนตินา จัดการเลือกตั้งได้ภายใน 6 เดือน ตูนิเซีย 10 เดือน อินโดนีเซีย 13 เดือน ชิลีใช้ 14 เดือน ประเทศที่ใช้เวลานานมากคือโปแลนด์ 30 เดือน เพราะต้องใช้เวลาผนึกกำลังฝ่ายค้านอย่างยาวนาน เนื่องจากเปลี่ยนผ่านจากระบอบคอมมิวนิสต์
 
ในประเทศไทยถามว่าต้องใช้เวลาแค่ไหน ถ้านับจากวันที่รัฐประหารก็ 3 ปีกว่า ถ้านับจากประชามติ รัฐธรรมนูญผ่านก็ประมาณ 10 เดือน แล้วถ้าถามว่าจะมีโอกาสการเลือกตั้งปีหน้าไหม ถ้าตามโรดแมปก็ใช่ แต่ถ้าวัดจากความรู้สึกและสัญชาตญาณแล้วคิดว่าไม่ใช่ ถ้าถามว่าต้องการเลือกตั้งให้ยาวออกไป ความชอบธรรมคืออะไร ถ้าประเมินจากความมั่นใจจากการใช้มาตรา 44 และคำถาม 4 คำถามของนายกฯ คิดว่าโอกาสที่จะได้เลือกตั้งในปีหน้านั้นค่อนข้างยาก
 

กังขาภาคปฏิบัติ ‘ไพรมารีโหวต’ ห่วงทิศทางการเมืองอนาคต รัฐ+ทุนกดคนชั้นล่าง

ต่อประเด็นการเลือกตั้งขั้นต้น สิริพรรณกล่าวว่า ตนเห็นด้วย แต่พอมาดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองแล้วก็มีข้อติงอยู่ 3 ข้อ หนึ่ง กระบวนการทำการเลือกตั้งที่กำหนดเสียงข้างมากในการเลือกตั้งไว้เพียง 25 คนหรือ 50 คนเท่านั้น ทำให้เกิดการกระจุกตัวของผู้ลงคะแนนเหลือตามจำนวนเดังกล่าว ตนจึงคิดว่าไม่ควรให้มีการบังคับทำเลือกตั้งเบื้องต้นพร้อมกัน 350 เขต ซึ่งถ้ามีพรรคลงสมัครทั้งหมด 10 พรรค ก็จะมี 3,500 เขต กกต. สามารถลงพื้นที่ตรวจสอบได้ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด จะมีผลใดๆ กับผู้สมัครหรือไม่ แล้วถ้าผู้สมัครได้เป็น ส.ส. แล้วมีคนมาประท้วงทีหลัง ส.ส. จะโดนตัดสิทธิ์หรือเปล่า
 
ต่อทิศทางการเมืองไทยในอนาคต อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันพยายามจัดสมดุลทางการเมืองและอำนาจใหม่อย่างสุดโต่ง พิเศษไปกว่า 17 ฉบับที่ผ่านมา การจัดอำนาจใหม่มีความพยายามย้ายอำนาจจากสถาบันการเมืองของภาคประชาชน เช่น พรรคการเมือง สถาบันการเลือกตั้ง ไปสู่อำนาจที่เป็นระบบราชการ ถ้าผนวกกับทิศทางการปฏิรูปประเทศตามนโยบายต่างๆ จะเห็นว่า องคาพยพที่จะครอบงำสังคมคือระบบราชการและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ สิ่งที่ผู้สร้างคาดหวังก็คือการย้ายอำนาจจากฐานอำนาจเดิมไปสู่ฐานใหม่ก็คือระบบราชการที่มีคนดีเป็นตัวตั้ง บวกกับกลุ่มทุนที่ใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งจะมีหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ก็หวังว่าจะมีระบบราชการและทุนจะมีคนดีมาอภิบาลปกครองคนชั้นล่าง คนชั้นกลางล่าง โดยที่ไม่ต้องให้มีส่วนร่วมอะไรมากมาย แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นจากการที่คนชั้นล่างถูกกดเอาไว้ โครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญจะสามารถพยุงและรักษาความขัดแย้งและกดทับคนชั้นล่างซึง่ไม่ถูกนับไว้ได้นานแค่ไหน กองทัพที่เป็นผู้ค้ำจุนโครงสร้างจะมีความชอบธรรม เจตนารมณ์ และสามารถพยุงและรักษาสภาวะดังกล่าวได้หรือไม่ หากตามการประเมินที่ว่าปีหน้าไม่มีการเลือกตั้ง ความไม่พอใจจะถูกกระเพื่อมมากแค่ไหน ดุลอำนาจใหม่ถูกใส่มาด้วยการครอบงำแบบบนลงล่าง ซึ่งตนคิดว่ารัฐบาลพยายามสร้างสัญญาประชาคม ที่ตามเนื้อไม่มีส่วนที่รัฐบาลจะทำอะไรให้ประชาชน มีแต่ประชาชนจะต้องยอมรับในสิ่งที่รัฐบาลสั่งลงมา
 

ชาติชาย: รัฐราชการรวมศูนย์ผนวกสังคมอุปถัมภ์หล่อเลี้ยงวงจรอุบาทว์ ยัน รธน. ชุดนี้ประกันสิทธิ ปชช. ไม่ยิ่งหย่อนฉบับก่อนๆ

ชาติชาย กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันว่าการเมืองบ้านเราอยู่ในสภาพที่เป็นวงจรอุบาทว์ หลายคนยังไม่มั่นใจว่าจะหลุดพ้นได้หรือไม่ ตั้งแต่การปฏิวัติและผ่านการเลือกตั้งก็ซ้ำแล้วซ้ำอีกในรอบ85 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมองว่าเหตุใดประเทศไทยถึงออกจากวงจรนี้ไม่ได้ ทำไมวงจรเช่นนี้ถึงยังดำเนินต่อไปได้ แล้ว รธน ปัจจุบันจนถึงฉบับปี 2540 ที่พยายามสร้างเงื่อนไขให้ออกจากวงจรอุบาทว์แต่ก็ยังออกไม่ได้ โดยพบว่า เงื่อนไขใหญ่มี 2 ประเด็น หนึ่ง ประเด็นเชิงโครงสร้าง ไทยมีวัฒนธรรม ประเพณีแบบรัฐรวมศูนย์ เป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ อำนาจรัฐมีมากกว่าประชาชน การที่เป็นรัฐเดี่ยว มีประวัติศาสตร์ที่รบกับประเทศเพื่อนบ้านหรืออาณานิคม และเอาตัวรอดมาได้ด้วยการสร้างรูปแบบการรวมศูนย์ การบริหารราชการที่รัฐอยู่เหนือประชาชน แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปเมื่อปี 2540 ที่เราคิดว่าดีที่สุดในช่วงร่วมสมัยที่เราเกิดทัน ก็ไม่สามารถลดทอนอำนาจดังกล่าวได้ การปฏิรูปราชการจึงไม่เคยได้ผล แรงเฉื่อย แรงต้านจากระบบรัฐแรงมาก ทำให้เรายังไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนได้อย่างแท้จริง แม้เราจะพูดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ สิทธิชุมชน สิทธิต่างๆ มานานแล้วก็ตามที แต่ในความเป็นจริง ระบบกฎหมาย การตีความกฎหมายก็ยังไม่ใช่พื้นที่ของประชาชน จะได้อะไรก็ต้องไปต่อสู้ เรียกร้องให้เป็นเรื่องใหญ่ 
 
ในขณะเดียวกัน โครงสร้างราชการขนาดใหญ่สร้างแรงต้านให้กับพรรคการเมืองที่หวังจะปฏิรูประบบราชการให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ประกอบกับความจำเป็นของพรรคการเมืองที่ต้องสถาปนาตัวเองเป็นสถาบันเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กับประชาชนในระดับพรรคกับประชาชนมากกว่าพรรคกับตัวบุคคล แก้ไขเรื่องสิทธิประชาชน รักษาฐานเสียงและประนีประนอมผลประโยชน์กับกลุ่มการเมืองที่มีหลายที่มาในพรรคที่ต้องใช้ทุนรอนในการดำเนินการทั้งสิ้น ซึ่งทุนรอนดังกล่าวก็มาจากส่วนต่างค่าเช่าของโครงการต่างๆ ที่พรรคยื่นไว้กับงบประมาณรัฐ จึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือ ผสมผสานกับฝ่ายราชการที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ทำให้เกิดอาการหยิกเล็บเจ็บเนื้อ 
 
ไทยยังมีโครงสร้างสังคมสถานะ เรายังให้ความสำคัญกับยศฐาบรรดาศักดิ์ ตระกูล สิ่งที่อธิบายไม่ได้ในเชิงความสามารถ ถ้าไม่มีสังกัดก็อยู่ยาก ซึ่งเวลา 85 ปีที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จในการลบโครงสร้างนี้ออกไป ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ไทยเคยชินกับมัน โครงสร้าสงสถานะก็เป็นกลไกที่พรรคการเมืองใช้เพื่อหาความนิยม โดยไปหาคนที่มีบารมีมาอยู่กับพรรค ประชาธิปไตยไทยจึงต้องเดินอยู่บนเส้นทางของโครงสร้างสังคมสถานะแทนที่จะได้แล่นไปบนเส้นทางของมันเอง และปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ยิ่งเสริมให้โครงสร้างสังคมสถานะยิ่งเข้มแข็งขึ้นไปอีก “มือซ้ายมีระบบราขการซึ่งอวดใหญ่ ดื้อรั้น แรงเอื่อยและอำนาจต่อรองสูง พรรคการเมืองทำอะไรได้ยากมาก ในขณะที่ที่มือขวาก็มีโครงสร้างสังคมสถานะที่การเมืองก็วิ่งอยู่บนโครงสร้างนี้เหมือนกัน” เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 ออกมา ผู้คนคิดว่าระบบราชการจะจบแล้ว แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ เพราะพรรคการเมืองทั้งหลายกลับเป็นตัวฉุดไม่ให้เราคลายออกจากระบบราชการ พรรคการเมืองยังไม่แข็งแรงมากพอ ทำงานร่วมกันไม่ดีพอ ในเรื่องการร่วมมือกันอาจจะยากเพราะมาจากหลายที่ แต่อย่างน้อยควรมีเป้าร่วมกันว่าจะต้องเดินงานการเมืองเหนือการยึดกุมของระบบราชการและโครงสร้างสังคมเชิงสถานะ แต่ผ่านมาจนปัจจุบันก็ยังไม่พ้นโครงสร้างทั้งสอง ตราบใดที่เรายังสร้างดุลยภาพที่ดีขึ้นมาไม่ได้ มันก็จะวนอยู่กับวงจรอุบาทว์นี้
 
เมื่อสมัย พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ที่ได้รับการเชิญเข้ามา พลังของพรรคการเมืองก็อ่อนแรงแล้ว พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าเพื่อนก็ไม่สามารถคุมเกมบริหารได้จริง เมื่อพรรคการเมืองอ่อนแรงแล้ว มีความขัดแย้งกัน เขา(พล.อ.เปรม) ก็ไปดึงเอาพลังที่มีอยู่แล้วในสังคม ก็คืออำนาจราชการ โดยเฉพาะทหาร ให้มาเป็นตัวกลางให้ ประชาชนในสังคมที่ยอมรับอำนาจรัฐอยู่ก็รู้สึกดีใจเพราะคลายความสับสนอลหม่านที่เกิดจากการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับนักศึกษาหัวสมัยใหม่มาตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 
 
เวลานี้เรามีเงื่อนไขพื้นฐานในรัฐธรรมนูญใหม่ ที่สนับสนุนการมีอยู่ของรัฐราชการเป็นใหญ่ และโครงสร้างสังคมสืบสถานะที่เป็นตัวกั้นให้มีการเมืองแบบทะเลาะกัน มีความเหลื่อมล้ำ แตกแยกทางความคิด ระบบราชการ การเมืองไม่มีประสิทธิภาพ เรารู้ และพยายามแก้ด้วยการทำให้ประชาชนแข็งแรงก่อน ด้วยการบัญญัติในเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่างๆ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วมา ประชาชนสามารถเอาไปต่อสู้กับศาล ฟ้องรัฐได้ถ้ารัฐละเมิดสิทธิประชาชนหรือถ้ารัฐละเลยต่อหน้าที่ ทั้งยังมีการระบุถึงหน้าที่ของรัฐ เพื่อบีบภาครัฐ ทั้งมีการใส่มาตรา 77 ให้มีการสอบถามประชาชนที่เกี่ยวข้องเมื่อจะออกกฎหมายที่มีผลกระทบกับชาวบ้าน รวมถึงกฎหมายปฏิรูปหลายประการที่เขียนไว้ให้ครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงพื้นฐานเสียก่อน โดยสรุป รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้พยายามลดอำนาจของภาครัฐลง และพยายามปฏิรูป โดยเฉพาะการศึกษาที่เปลี่ยนทัศนคติคนให้ทำงานตามความถนัด ไม่ใช่เน้นใบปริญญา
 

ปริญญา: อัดคำถาม 4 ข้อประยุทธ์ หวั่นส่อนัยอยู่ยาว สังคมต้องการรัฐบาลโปร่งใส ตรวจสอบ ถ่วงดุลได้

ปริญญา ถามคำถาม 4 ข้อ หนึ่ง คนไทยต้องการประชาธิปไตยจริงหรือไม่ การที่ คสช. ยึดอำนาจได้ เป็นเพราะคนจำนวนมากไม่ต้องการประชาธิปไตย คำถาม 4 ข้อของนายกฯ สะท้อนว่าแม้มีการเลือกตั้งก็ไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ดังนั้นก็ให้ คสช. อยู่ต่อไปเรื่อยๆ สอง รัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก้สภาพปัญหาของประชาธิปไตยไทย และพาไทยออกจากวังวนได้จริงหรือไม่ สาม ภายใต้กติกาใหม่ การเมืองไทยจะเดินหน้าไปสู่การเมืองแบบไหน ข้อสุดท้าย พวกเราจะทำอะไรกันได้บ้าง
 
ปริญญาเห็นว่า โซเชียลมีเดียคือพลังใหม่ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง พลเมืองไม่จำเป็นต้องออกมาชุมนุมอย่างเดียว ต่อคำถาม 4 คำถามของนายกฯ ตนได้ไปอ่านในโซเชียลเน็ตเวิร์ค มีคนตอบคำถาม ถ้าหากเลือกตั้งแล้วไม่มีธรรมาภิบาลจะทำอย่างไร ด้วยคำถามที่ว่า ถ้าหากรัฐประหารแล้วไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลจะทำอย่างไร ในแง่นี้ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือปฏิวัติก็แล้วแต่ผิดธรรมาภิบาลได้เหมือนกัน สิ่งที่เราต้องการคือกติกาที่ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามามีอำนาจต้องได้รับการตรวจสอบ ถ่วงดุลได้ มีความโปร่งใส ความจริงแล้ว โรดแมปมีขึ้นมาเพื่อจัดการกติกาที่มีปัญหาเพื่อกลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง ตามโรดแมป เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วก็ต้องกลับประชาธิปไตย แต่คำถาม 4 ข้อของนายกฯ ทำให้สงสัยว่า ถ้ามีโรดแมปแล้วจะมีคำถามขึ้นมาทำไม ไม่ใช่ว่าจะมองประชาธิปไตยเป็นแค่การเลือกตั้ง แต่ว่ามันเป็นเพียงกระบวนการส่วนหนึ่งที่จะให้ประชาชน ผู้เป็นเจ้าของประเทศได้แสดงออกซึ่งความต้องการของเขาเท่านั้น
 
แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่มาตรา 265 ของบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงให้อำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. ก็คือ ม.44 เท่ากับประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้ ม. 44 ไปเรื่อยๆ คำถามที่ตั้งขึ้นมา 4 ข้อนั้น แนวโน้มเหมือนกับว่า จะอยู่ไปเรื่อยๆ โดยใช้ ม.44 ซึ่งเป็นปัญหาด้วยสถานะของคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด และทำหน้าที่เป็นทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ หากเกิดข้อผิดพลาดในคำสั่งภายใต้ ม.44 ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจ ในระบอบที่มีการแบ่งแยกอำนาจนั้น ถ้ารัฐบาลทำผิดขึ้นมา ประชาชนสามารถฟ้องศาลได้ มีกติกาที่มาจากประชาชน เพราะเรารู้ว่าผู้มีอำนาจอาจใช้อำนาจโดยมิชอบ จึงมีฝ่ายตุลาการมาถ่วงดุลในกรณีที่เกิดการทำผิดกติกา ภายใต้ ม.44 ประชาชนตรวจสอบรัฐบาลไม่ได้ ต่อให้หัวหน้า คสช. ไม่หวั่นไหวต่อผลประโยชน์ แต่ไม่มีใครมั่นใจว่าลูกน้องท่านจะเป็นเหมือนกัน อีกอย่างไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ทุกคนมีเวลาที่ต้องจากโลกนี้ไป แล้วคนที่มาเป็นหัวหน้าต่อจะเป็นใคร สิ่งที่ต้องการคือระบอบที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลได้ ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่การถ่ายโอนอำนาจให้ประชาชนอย่างกว้างขวางเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการที่รัฐบาลมีความโปร่งใส ถูกตรวจสอบและถ่วงดุลได้ หลักการคือผู้มีประโยชน์ในเรื่องใดจะไม่มีอำนาจในเรื่องนั้น ผู้มีอำนาจในเรื่องใดจะไม่มีประโยชน์ในเรื่องนั้น แล้วก็มีศาลคอยควบคุม แล้วมีประชาชนคอยควบคุมอำนาจทั้ง 3 ฝ่ายอีกที 
 
อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวด้วยว่า ตนอยากให้ คสช .นึกถึงความตั้งใจอยู่ในอำนาจชั่วคราว การอยู่ยาวไม่ใช่เรื่องดีต่อใครทั้งสิ้น เพราะมีบทเรียนจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่มีคนกลางที่มาควบคุมอำนาจ แต่คนกลางกลับไปเป็นรัฐบาลและเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง ก็จบด้วยเหตุการณ์นองเลือดอันเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดอีกแล้ว พรรคการเมืองเองก็ต้องปฏิรูปตัวเองให้ดีกว่าทหารให้ประชาชนศรัทธา ถ้าไม่ทะเลาะกันเสียแล้ว ทหารจะมายุ่งทำไม ทั้งนี้ ถ้าจะเทียบเคียงสถานการณ์ขณะนี้กับปี 2535 ยังมีความต่างกันเพราะในปี 2535 ประชาชนไม่ได้แตกแยก แต่คราวนี้เพราะประชาชนยังแตกแยกกันอยู่ ฝ่ายที่ไม่นิยมประชาธิปไตยอยู่ได้เพราะประชาชนแตกแยก ดังนั้นต้องเทียบกับเหตุการณ์เมื่อปี 2519 ที่ประชาชนแตกแยกยาวนานถึงปี 2531 แต่ปัจจุบันนี้จะยาวนานแค่ไหนก็อยู่ที่ประชาชน
 
หมายเหตุ: ประชาไทได้แก้ไขเนื้อหาของข่าวนี้ทั้งหมดด้วยการเพิ่มเนื้อหาตามที่วิทยากรได้กล่าวในวันงานอย่างละเอียด พร้อมแก้ไขพาดหัวพร้อมคำโปรยให้สอดคล้องกับรายละเอียดที่เพิ่มขึ้นมา แก้ไขเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2560 เวลา 03.24 น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท